ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease, PID) เป็นการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์หญิงส่วนบน ประกอบด้วย มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน โดยมักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธ์ุส่วนล่างแล้วลุกลามขึ้นไปยังส่วนบน มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์มากกว่า ขณะที่พบน้อยในหญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยก่อนและหลังมีประจำเดือน หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ในระยะแรกอาจยังไม่แสดงอาการ ต่อมาเชื้อลุกลาม และอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องน้อย บริเวณด้านขวาหรือทั้ง 2 ข้าง ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ตกขาวลักษณะผิดปกติ หรือตกขาวลักษณะเหมือนหนอง
  • ไข้สูง หนาวสั่น
  • เจ็บลึก ๆ เวลามีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องซีกขวา กดเจ็บใต้ชายโครงด้านขวา เจ็บที่หน้าอกเวลาสูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือภาวะ “Fitz-Hugh-Curtis syndrome”

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
มีไข้ ปวดท้องน้อย ตกขาวผิดปกติ เช่น มีลักษณะเหมือนหนอง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บลึก ๆ เวลามีเพศสัมพันธ์ อาการใดอาการหนึ่งหรือหลายอาการ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

 

ภาวะแทรกซ้อน

อุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถรักษาให้หายได้  แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงกว่าตามมา เช่น การเจ็บปวดจากภาวะอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ฝีที่ท่อนำไข่หรือรังไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

 

สาเหตุ

สาเหตุการอักเสบของอุ้งเชิงกราน มีทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนี้

  • สาเหตุจากการติดเชื้อ โดยเป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted disease, STD) จัดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ โดยที่พบบ่อยได้แก่
  • เชื้อโกโนเรีย (Neisseria gonorrhea) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองใน โดย 15% ของหญิงที่ติดเชื้อ gonorrheae จะพัฒนากลายเป็นภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ โดยมักจะมีอาการรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ภายหลังรักษาหายมีโอกาสกลายเป็นฝีที่ท่อนำไข่น้อยกว่าเชื้ออื่น
  • เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม โดย 33% ของผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ จะพบเชื้อนี้ร่วมด้วย โดยอาการของการติดเชื้อโรคนี้จะไม่รุนแรง และบางรายไม่แสดงอาการใดๆ ก่อนการมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • เชื้อไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) เป็นอีกเชื้อก่อโรคชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อย โดยสามารถตรวจพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • ทั้งนี้ 35% ของอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถเกิดได้จากเชื้อโรคหลายชนิดร่วมกัน เชื้อชนิดอื่น ๆ ได้แก่ coli, Staphylococcus, Streptococcus, Peptococcus, Anaerobic Streptococcus, Prevotella, Gardnerella vaginalis, Cytomegalovirus, M.hominis เป็นต้น
  • สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การอักเสบจากการตรวจภายใน การรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การอักเสบหลังคลอด การอักเสบจากการทำแท้ง การมีสุขลักษณะเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ที่ผิด เช่น การสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไป การคุมกำเนิดแบบใส่ห่วง เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยง

  1. การมีคู่นอนหลายคน ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเพิ่มสูงขึ้น เช่น มีการศึกษาพบว่าหญิงที่มีคู่นอนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไปในช่วงเวลา 6 เดือนจะมีโอกาสต่อการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบมากกว่าหญิงทั่วไป 3.4 เท่า เป็นต้น
  2. การที่คู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI in partner) ตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายอาจมีเชื้อคลาไมเดียแต่ไม่พบอาการ หญิงคู่นอนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น
  3. หญิงอายุช่วง 15 – 25 ปี มีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าวัยอื่น โดยยิ่งเกิดภาวะนี้ในช่วงอายุน้อยเท่าไร โอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำยิ่งสูงขึ้น
  4. หญิงที่เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบในอดีต มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้
  5. การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device/ IUD) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบให้มากขึ้น แต่ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยไม่ต้องถอดห่วงคุมกำเนิด
  6. ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของเชื้อในช่องคลอด

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะตรวจร่างกาย เพื่อหาเกณฑ์การวินิจฉัยขั้นต่ำข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจมีทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

  1. รู้สึกเจ็บเมื่อโยกปากมดลูก (Cervical motion tenderness)
  2. รู้สึกเจ็บเมื่อกดมดลูก (Uterine tenderness)
  3. รู้สึกเจ็บเมื่อกดที่ปีกมดลูก (Adnexal tenderness)

โดยอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย โดยมีข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  1. มีไข้สูงกว่า 38.3°C
  2. มีมูกที่ปากมดลูกมีลักษณะคล้ายหนอง
  3. พบจำนวนเม็ดเลือกขาวเพิ่มขึ้นจากสารคัดหลั่งในช่องคลอด
  4. พบค่าอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate, ESR) สูงขึ้น
  5. พบค่า C-reactive protein เพิ่มขึ้น
  6. ตรวจพบการติดเชื้อ gonorrhea / C. trachomatis ที่บริเวณปากมดลูก

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การสุ่มตรวจชิ้นเนื้อ (Endometrial sampling) การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonography) การผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปทางหน้าท้อง (Laparoscopic examination) เป็นต้น

 

การรักษา

หากอาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณารักษาแบบผู้ป่วยใน หากมีอาการดังนี้

  1. ไม่สามารถแยกโรคกับภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดได้
  2. ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน
  3. อาการรุนแรง เช่น ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก
  4. โรคดำเนินต่อจนกลายเป็นฝีบริเวณปีกมดลูก
  5. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบระหว่างการตั้งครรภ์
  6. ไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานได้

สำหรับในการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาที่เหมาะสมกับภาวะความรุนแรงของโรคในแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ แบบฉีดใน 1 – 2 วันแรก ก่อนจะปรับเป็นยารูปแบบเม็ด รับประทานต่อเนื่องจนครบ 2 สัปดาห์ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น Cefotetan, Clindamycin, Gentamycin ยาเม็ด Doxycycline และอาจใช้ยากลุ่มเอนเสด (NSAIDs)  เพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ จึงจำเป็นต้องรักษาคู่นอนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะคู่นอนในช่วง 60 วันก่อนหน้าจะมีอาการ และควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา
  2. หญิงตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ก่อนการรับการรักษา เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม
  3. ในส่วนของการป้องกัน ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์ และลดความเสี่ยงด้วยการ มีคู่นอนเพียง 1 คน นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงของการอักเสบจากสาเหตุอื่น เช่น งดการสวนล้างช่องคลอด เลือกกินยาเม็ด ยาฉีดคุมกำเนิดและสวมถุงยางอนามัย แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด
  4. หากพบความผิดปกติของร่างกาย เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง

 

แหล่งที่มา

  1. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. www.pobpad.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


.jpg

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) นั้น เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ทั้งเพศชายและหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการของโรคเมื่ออายุ 30 – 40 ปี มีผู้เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1 – 3 ของประชากรทั่วโลก สาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน มีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการแสดงทางผิวหนังและข้อ

อาการผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายรูปแบบที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง ลอกเป็นขุย เป็น ๆ หาย ๆ คนไข้บางรายเป็นเฉียบพลัน แล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบ คือ เล็บผิดรูป หรือมีอาการปวดข้อตามหลังอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยน้อยรายที่มีอาการปวดข้อนำมาก่อน บางครั้งอาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

 

 

ทำไมถึงเรียกสะเก็ดเงิน 

ที่ชื่อ “โรคสะเก็ดเงิน” เพราะลักษณะของผื่นจะเป็นปื้นหรือตุ่มสีแดง ขอบเขตชัดเจน บนผิวของผื่นผิวหนังอักเสบจะมีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ เมื่อแกะเกาสะเก็ดให้หลุดลอกออกจากผิวหนังจะเห็นจุดเลือดออกบนผิวของผื่นที่อักเสบแดง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีตุ่มหรือปื้นแดงที่มีสะเก็ดสีขาวให้เห็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค

 

ปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ

  • ความเครียด เป็นสาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 70
  • การแกะเกา เสียดสี ขูดขีดผิวหนัง
  • ได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด
  • ติดเชื้อไข้หวัด หรือเชื้อฝีหนองอื่น ๆ

 

พบอาการของโรคที่อวัยวะใดบ้าง

โรคสะเก็ดเงินจะเกิดอาการกับอวัยวะาง ๆ หลายแห่งดังนี้

  1. ผิวหนังตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
    บางรายมีตุ่มหรือปื้นผิวหนังอักเสบเฉพาะที่ศอก เข่า แขน ขา เพียง 2 – 3 แห่งเท่านั้น หรืออาจเป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ ร่องก้น มีตุ่มหนองตามฝ่ามือฝ่าเท้าหรือเฉพาะที่ปลายนิ้วมือหรือเท้าคนไข้ที่มีอาการรุนแรง จะมีผื่นผิวหนังอักเสบแดงทั่วทั้งตัวและลอกเป็นสะเก็ด อันเป็นสาเหตุของการเสียโปรตีนไปกับสะเก็ดผิวหนัง นอกจากนี้ยังเสียความร้อนในร่างกายหรือน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ ทำให้อ่อนเพลีย หนาวสะท้าน เพราะเสียความร้อนออกทางผิวหนังตลอดเวลา บางรายเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เกิดตุ่มหนองกระจายทั่วตัว

  1. เล็บมือและเล็บเท้า
    เล็บของคนไข้จะมีความผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น ผิวเล็บเป็นหลุมเล็ก ๆ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ นอกจากนี้บางรายอาจมีเล็บหนา เป็นขุยขาวใต้เล็บ เล็บล่อน เป็นต้น

  1. ข้อต่อของแขนขาทุกตำแหน่ง รวมทั้งข้อกระดูกสันหลัง
    อาการข้ออักเสบมักเกิดตามหลังผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เป็นมานานนับปี หรืออาจเกิดพร้อม ๆ กับผื่นผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการทางข้ออักเสบนำมาก่อน ข้อที่เกิดการอักเสบบ่อย ๆ คือ ข้อนิ้วมือส่วนปลาย ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อกระดูกคอ โดยทั่วไปหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะเกิดการพิการของข้อตามมาได้

 

การรักษา

ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาใหม่ ๆ ทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมาก วิธีรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

  1. ผื่นเป็นน้อย ผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกิน ร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวหนัง จะใช้ยาทาเป็นหลัก ยาทากลุ่ม สเตียรอยด์ เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้ ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง แต่ถ้าใช้สเตียรอยด์ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว และการดื้อยา นอกจากนั้นโรคยังกลับเป็นซ้ำได้  ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าจะซื้อใช้เองต้องมีความรู้เรื่องยาสเตียรอยด์เป็นอย่างดี
  2. ผื่นเป็นมากเกิน ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ผิวหนัง จำเป็นต้องใช้ยารับประทานและใช้แสงแดดเทียมในการรักษา ข้อจำกัดที่สำคัญของการใช้ตู้แสงแดดเทียมคือ คนไข้ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 – 3 เดือนติดต่อกัน

 

รศ. นพ. ป่วน สุทธิพินิจธรรม
ภาควิชาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ที่มา : www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=706


.jpg

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในลำไส้ใหญ่ และเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้จัดอยู่ในหนึ่งในสามของชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด

 

อาการแสดง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในบางครั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งอาการที่พบอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นอืดท้อง อุจจาระผิดปกติ (ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระลำเล็กลง) อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีอาการเหล่านี้หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • อายุมากกว่า 50 ปี โดยพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่กว่า 90 % พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรืออาหารที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียมเป็นประจำ และทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย
  • ผู้ที่มีประวัติเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้
  • มีประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เป็นเวลานาน

 

การตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เชื่อว่ามีการพัฒนาเป็นขั้นตอนจากเนื้อเยื่อปกติ เกิดเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ (Colonic polyps) และพัฒนาไปจนเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 10 – 15 ปี ดังนั้น การตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่และทำการตัดออก จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 88 – 90 เทียบกับกลุ่มที่มีติ่งเนื้อแต่ไม่ได้ตัดออก และแม้จะพบเมื่อเป็นมะเร็งแล้ว หากพบในระยะเริ่มต้นก็ยังสามารถทำการรักษาได้

เนื่องจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการร่วมกับอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบค่อนข้างมาก จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ปานกลาง ควรเริ่มตรวจคัดกรอง เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือติ่งเนื้อในลำไส้ ควรเริ่มทำการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น โดยทั่วไปมักเริ่มทำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี

 

วิธีการตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระ (Fecal occult blood test: FOBT) พบว่าช่วยให้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 33% เมื่อตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ และมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน และเมื่อตรวจพบความผิดปกติแล้วจำเป็นต้องใช้การตรวจอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยต่อไป
  • การส่องกล้อง Sigmoid (Sigmoidosopy) เป็นการส่องกล้องทางทวารหนัก โดยใช้กล้องแบบอ่อนยาว 60 เซนติเมตร ซึ่งจะดูลำไส้ส่วนปลายทางด้านซ้ายได้ แต่ดูได้ไม่ตลอดความยาวลำไส้ โดยถ้าพบติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อทุกราย
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ถือเป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจสูงที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด กรณีที่ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางกล้องเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้หากผลตรวจปกติ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 5-10 ปี
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ (CT colonography) เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติขึ้นมา มีความไวและความจำเพาะสูงพอสมควร โดยขึ้นกับขนาดของติ่งเนื้อ ถ้าติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ความไวและความจำเพาะของการตรวจจะลดลง และเมื่อตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่แล้ว ต้องทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
  • การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Barium enema) โดยการสวนแป้งแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบรังสีให้ผู้ป่วย และถ่ายภาพเอกซ์เรย์การเคลื่อนตัวของแป้งแบเรียมผ่านระบบทางเดินอาหารในส่วนของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพื่อตรวจหาเนื้องอกหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีความไวและความจำเพาะค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และพบว่ามีโอกาสตรวจไม่พบมะเร็งในผู้ป่วยที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ถึง 1 ใน 5
  • การตรวจค่า Carcino embryonic antigen (CEA) มีความไวและความจำเพาะต่ำ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปการตรวจเลือดหาค่า CEA จะมีประโยชน์ในการติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า

 

การรักษา โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องดูความรุนแรงของโรคและชนิดของมะเร็ง  ลำไส้ใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็น ทั้งนี้อาจใช้การรักษาเพียงวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน

  1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดบริเวณส่วนใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน การรักษาด้วยการผ่าตัดมักต้องรักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัด อาจเป็นก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  2. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยเป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้หลังการผ่าตัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งได้มีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลือง และช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาของเซลล์มะเร็งได้ หรืออาจใช้ก่อนวิธีการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลง ในผู้ป่วยที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วร่างกายจะช่วยบรรเทาอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. การฉายรังสี (Radiation Therapy) โดยการฉายรังสีพลังงานสูงเข้าไปบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกให้เล็กลงก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้กำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเติบโตขึ้นมาใหม่หลังการผ่าตัด รวมไปถึงบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค วิธีนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด 

 

แหล่งที่มา

  1. Sleisenger and Fordtran’s Gastrointestinal and liver disease.10th edition, 2016
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่; www.pobpad.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis) เป็นหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลำไส้ โดยเกิดจากเนื้อเยื่อบุผิวภายในลำไส้เกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งมีทั้งลำไส้เล็กอักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบ บางรายอาจมีกระเพาะอาหารหรือทวารหนักอักเสบร่วมด้วย โรคนี้สามารถแบ่งตามระยะเวลาในการแสดงอาการเป็น “ลำไส้อักเสบฉับพลัน” และ “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง”

 

อาการ

  • ปวดมวนท้อง ปวดท้องแบบบิด ๆ ร่วมกับท้องเสียหรือท้องร่วง
  • อุจจาระมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ มีมูกหรือมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นคาว มีสีซีดกว่าเดิม
  • มีไข้ ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาวสั่น เหนื่อย อ่อนเพลีย ซึม
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ถ้าท้องเสียมาก ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการจากภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาโหล มือเท้าเย็น ใจสั่น ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หน้ามืดจะเป็นลม อาจหมดสติได้

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

เมื่ออาการข้างต้นไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงใน 24 ชั่วโมง ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ถ้ามีไข้สูง ปวดท้องมาก และ/หรืออาการจากภาวะขาดน้ำตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องรีบไปโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินทันที

 

สาเหตุ

เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • ลำไส้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ปรสิต และเชื้อรา
  • เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยและทำให้ลำไส้อักเสบ ได้แก่ เชื้อ coli เชื้อ S.aureus เชื้อนี้ยังสามารถทำให้เกิดโรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรคอีกด้วย
  • เชื้อไวรัสที่ทำให้ลำไส้อักเสบ ได้แก่ เชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) เชื้ออดีโนไวรัส (Adenovirus) เชื้อซีเอมวีไวรัส (Cytomegalovirus) เป็นต้น
  • ปรสิต ได้แก่ อะมีบา (Amoeba) ไกอาเดีย (Giadia) พยาธิตัวกลม เป็นต้น
  • ส่วนเชื้อรา มักพบในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
  • ลำไส้อักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ พบได้ไม่มาก เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ทานอาหารที่มีสารพิษหรือสารเคมีปะปน ทานอาหารไม่ตรงเวลา ความเครียดและวิตกกังวล เกิดอุบัติเหตุ ลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

  1. สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การใช้ห้องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหารที่ไม่สะอาด การใช้ภาชนะในการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  2. พฤติกรรมการกินไม่ถูกโภชนาการ และขาดสุขลักษณะนิสัยที่ดี เช่น การกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ การกินอาหารเก่าเก็บหรืออาหารที่ทิ้งไว้นาน การใช้สิ่งของ จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น การรับประทานอาหารโดยไม่ล้างมือ เป็นต้น
  3. กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่ภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรง ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ ผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวลสูง อาจส่งผลทำให้ให้ภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรง

 

ภาวะแทรกซ้อน

ลำไส้อักเสบ นอกจากสร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น โรคกระดูกพรุน ท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis, PSC) ลำไส้โป่งพอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการลุกลามเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ทะลุ หรือลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยหาสาเหตุโดย

  • การซักประวัติต่าง ๆ เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัย ประวัติการเดินทาง ประวัติการติดต่อกับผู้ป่วย การระบาดของโรค เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย เน้นการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนัก
  • การตรวจเลือด ดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count, CBC) ซึ่งอาจสูญเสียไปกับการขับถ่าย ภาวะโลหิตจาง การดูค่าเกลือแร่ต่างๆ ที่อาจเป็นผลจากการขาดน้ำ เป็นต้น
  • การตรวจอุจาระ เพื่อการตรวจหาเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบและอื่น ๆ

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม ตามอาการและความผิดปกติที่ตรวจพบ เช่น

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูการอักเสบบริเวณผนังลำไส้ และนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจทางพยาธิเพิ่มเติม
  • การสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ซึ่งอาจมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้อง
  • การทำ CT-Scan เพื่อตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนและขอบเขตของการอักเสบ

 

การรักษา

สำหรับการรักษาโรคลำไส้อักเสบ แพทย์จะทำการรักษาทั้งแบบตามอาการและแบบตามสาเหตุ

การรักษาแบบตามอาการ ที่สำคัญ ได้แก่

  • การให้ทานผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรืออาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยขาดน้ำมาก
  • การให้ยาแก้ท้องเสีย การให้ยาแก้ปวด การให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว รวมถึงการให้ผู้ป่วยทานธาตุเหล็กเสริมเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • การให้ยาต้านการอักเสบ เพื่อควบคุมอาการอักเสบ

การรักษาแบบตามสาเหตุ ที่สำคัญ

  • การให้ยา เช่น การให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น
  • การให้ยากดภูมิต้านทานเพื่อระงับการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายหรือยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นต้น

ในกรณีที่ลำไส้อักเสบรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมีผลข้างเคียง แพทย์จะพิจารณาในกรณีที่วิธีอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ลำไส้อักเสบ

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่

  1. การดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อนที่ปรุงสดใหม่
  2. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองเช่น ปลาร้า ปลาจ่อม หอยดอง เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  4. งดการสูบบุหรี่
  5. ใช้ส้วมในการขับถ่ายเพื่อลดการระบาดของโรค
  6. พักผ่อนอย่างเหมาะสม
  7. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และอย่าลืมไปพบแพทย์ตามกำหนด
  8. ปรับปรุงสภาพของที่อยู่อาศัยให้สะอาด รักษาความสะอาดของห้องครัวและอุปกรณ์ทำอาหาร หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สกปรกและแออัด
  9. ล้างมือทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหาร
  10. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและผลไม้สุกเนื้อนิ่มเพื่อช่วยในการขับถ่าย เช่น กล้วย มะละกอ แก้วมังกรเป็นต้น
  11. รับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน เพื่อสร้างความแข็งแรงแก่ลำไส้ เช่น ฟักทอง ผักคะน้า แตงโม แคนตาลูปเป็นต้น
  12. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลหิตจาง เช่น ปลา กุ้ง ผักโขม เป็นต้น
  13. ระมัดระวังการนำสิ่งของเข้าปากในเด็กเล็กซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
  14. ผ่อนคลายความเครียดโดยเลือกกิจกรรมที่ไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย เช่น การปฏิบัติธรรม การดูหนัง การฟังดนตรี เป็นต้น
  15. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย

 

แหล่งข้อมูล : www.medicalnewstoday.com  www.nakhonthon.com  www.podpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


OAB.jpg

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (overactive bladder หรือ OAB) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ การปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน ไม่สามารถรอหรือกลั้นได้ โดยอาจจะมีภาวะปัสสาวะเล็ดหลังอาการดังกล่าว รวมด้วยหรือไม่ก็ได้ ทำให้ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างเร่งรีบหลาย ๆ ครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ เป็นปัญหาที่พบบ่อย ที่สร้างความกังวลและความยุ่งยากในการชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

 

OAB เป็นภาวะที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder, OAB) เป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่ประกอบด้วย

  • ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน โดยรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาอย่างฉับพลัน รอต่อไม่ได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาการนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีน้ำปัสสาวะเพียงเล็กน้อยในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะออกมาไม่มาก
  • ปัสสาวะบ่อย มักมีการถ่ายปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งในตอนกลางวัน และมากกว่า 1 ครั้ง ในตอนกลางคืน
  • บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา จากการปวดปัสสาวะเฉียบพลัน และเข้าห้องน้ำไม่ทันเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน การเดินทาง อื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษา เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

 

สาเหตุ

ในระบบขับถ่ายปัสสาวะนั้น เมื่อไตผลิตน้ำปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะไหลผ่านท่อไตมาเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ โดยรอยต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะจะมีชุดกล้ามเนื้อที่ทำงานเป็นหูรูดเปิดปิดการไหลของน้ำปัสสาวะ หูรูดนี้จะถูกควบคุมโดยระบบประสาท โดยเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก และอยู่ในสถานที่ที่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ สมองจะสั่งงานให้หูรูดคลายตัว กระเพาะปัสสาวะบีบตัวให้การขับปัสสาวะเป็นไปอย่างปกติ

ในผู้ที่มีภาวะ OAB จะมีความผิดปกติของสัญญาณดังกล่าว ทำให้มีการการคลายตัวของหูรูดอย่างเฉียบพลัน อาจรวมถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทั้งที่น้ำในกระเพาะปัสสาวะอาจยังไม่เต็มความจุ สาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจส่งผล ดังนี้

  • โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคของระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและท่อปัสสาวะมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะเองมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณ จากการมีอายุที่เพิ่มขึ้น
  • การรับประทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
  • การรับประทานเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป

 

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะ OAB ได้โดยการสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติทางสูตินรีเวชในผู้หญิงร่วมกับการตรวจร่างกาย  และตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ได้แก่

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อหรือมีเม็ดเลือดแดงในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แยกโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันออกไปได้
  • การทำบันทึกเวลาปัสสาวะ (Voiding diary) เพื่อดูความถี่ปริมาณ และอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา และกิจกรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ว่าดื่มเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร และปริมาณน้ำปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถกลั้นอยู่ได้
  • การตรวจวัดปัสสาวะตกค้างหลังถ่ายปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าซาวด์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจยูโรไดนามิกส์ (Urodynamics) ในผู้ป่วยบางราย และในบางสถานพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาตรวจยูโรไดนามิกส์ เพื่อตรวจดูว่ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง หรือมีปัสสาวะตกค้างหลังขับถ่ายหรือไม่

 

การรักษา

การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธี ทั้งนี้การรักษามักเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะทำให้อาการลดลง ในบางรายถึงขั้นอาการดีขึ้นจนหายไปเลย หลังจากนั้นจึงพิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่าง เช่น
    • ลดปริมาณการดื่มน้ำ โดยเฉพาะการดื่มน้ำก่อนเข้านอน และการลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา น้ำอดลม โซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์
    • ฝึกกลั้นปัสสาวะ โดยพยายามยืดระยะระหว่างการเข้าห้องน้ำในแต่ละครั้งให้นานขึ้น เช่น จากทุก 1 ชม. ยืดออกเป็น 2 หรือ 3 ชม. ก่อนเข้าห้องน้ำในครั้งถัดไป
    • ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise) จะทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน  และกล้ามเนื้อหูรูดส่วนนอกของท่อปัสสาวะมีการหนาตัวและแข็งแรงมากขึ้น โดยการบริหารดังกล่าวจะเพิ่มแรงต้านในท่อปัสสาวะให้สูงขึ้น มี reflex ไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และป้องกันปัสสาวะไม่เล็ดราดได้อีกด้วย
  • การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด หลักๆเป็นยาช่วยคลายหรือลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ 2 กลุ่ม คือ ยากลุ่ม Anticholinergic Drug อาจมีผลข้างเคียง คือ ปากแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะค้าง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ท้องผูก การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป และยากลุ่ม Beta 3-adrenoceptor agonist  อาจมีผลข้างเคียง คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้น จนบางครั้งสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายยังจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการต่างๆ

  • การรักษาด้วยวิธีอื่น กรณีการรักษาโดยวิธีข้างต้นไม่หาย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้
    • การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ โดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวและอาการปวดปัสสาวะฉับพลันลดลง โดยยาจะให้ผลการรักษาประมาณ 5-9 เดือน จากนั้นอาจต้องฉีดซ้ำหากจำเป็น วิธีนี้สามารถพิจารณาในผู้ป่วยที่ทานยาไม่ได้ผล หรือต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารับประทาน อย่างไรก็ตามยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการปัสสาวะไม่ออกได้
    • การใช้อุปกรณ์ปรับสมดุลระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ (Neuromodulator) โดยการฝังเข็ม การใช้แผ่นแปะเพื่อส่งกระแสไฟฟ้า หรือการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดจะทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
    • การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บน้ำปัสสาวะ แต่มีผลข้างเคียงหลายด้าน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเพิ่มเติม

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ควรควบคุมปริมาณการดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ให้มากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย เช่น กาแฟ น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ เครื่องดืมแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย จนรบกวนคุณภาพการนอนหลับได้
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูกซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้น และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ปัญหาของการปัสสาวะจะลดน้อยลง
  • ฝึกกลั้นปัสสาวะหรือฝึกกำหนดเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำ หรืออย่างน้อย ๆ ต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์ เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น

 

แหล่งข้อมูล : www.mayoclinic.org  www.si.mahidol.ac.th  www.bumrungrad.com International Urogynecological Association (IUGA). Overactive bladder: A Guide for Women. 2011.
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


-Sinusitis.jpg

โรคที่พบได้บ่อยในหน้าฝน คือ โพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ไข้หวัด (Common cold) และไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ซึ่งโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้มักมีอาการตลอดทั้งปี โดยจะมีอาการมากในหน้าฝนและหนาว อาการเด่น คือ คัดจมูก น้ำมูกใส นอนกรน ไม่มีไข้ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเป็นหวัดบ่อยทำให้มีการติดเชื้อตามมาได้ โดยการแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและภูมิแพ้ คือ ภูมิแพ้ไม่มีไข้และอาการคงอยู่ตลอด ส่วนหวัดจะมีไข้ ไอ น้ำมูกและมักจะหายภายใน 7 – 10 วัน

 

โดยปกติในเด็กจะเป็นหวัดปีละ 4 – 6 ครั้ง โดยผู้ใหญ่เป็นหวัดปีละ 2 ครั้ง กรณีเป็นหวัดบ่อย หรือเรื้อรังเกิน 7 – 10 วัน ต้องระวังว่าจะมีภาวะไซนัสอักเสบแทรกซ้อนได้

 

ข้อมูลเบื้องต้น

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคแพ้อากาศ

ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบ ๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตำแหน่งเป็นคู่ ๆ คือ บริเวณหน้าผาก ใกล้กับหัวคิ้วทั้งสองข้าง บริเวณข้างจมูกทั้งสองข้าง บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง และบริเวณกะโหลกศีรษะใกล้กับฐานสมอง โดยหน้าที่หลัก ๆ ของไซนัส คือ ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

ไซนัสอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อจมูกมีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นหวัดไม่สบาย ส่งผลให้บริเวณท่อที่เชื่อมต่อระหว่างจมูกกับไซนัสอุดตัน ทำให้มีน้ำมูกคั่งค้าง เมื่อน้ำมูกมีการสะสมมากขึ้นจะมีความหนืด และเป็นแหล่งของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นไซนัสอักเสบได้ นอกจากนี้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากการเป็นภูมิแพ้ มีสารระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกได้อีกด้วย

 

 

ประเภทของไซนัสอักเสบ

โดยไซนัสอักเสบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันและไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง

  • ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) จะมีอาการทั่วไปคล้ายกับเป็นไข้หวัด มีไข้สูงหรือต่ำก็ได้ เมื่อเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสผู้ป่วยจะมีอาการปวดจมูก ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ น้ำมูกและเสมหะจะมีสีเหลืองอมเขียว ไอมีเสมหะไหลลงคอ ไซนัสอักเสบชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยอาการจะเป็นอยู่น้อยกว่า 8-12 สัปดาห์ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษามีโอกาสที่จะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังได้
  • ไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ซึ่งจะมีอาการมากกว่า 3 เดือน และในช่วงที่เป็นนั้นอาการจะหนักเบาสลับกันไป แต่ไม่มีช่วงที่หายสนิท โดยมักมีอาการไอเรื้อรัง น้ำมูกใสสลับเขียว มีเสมหะเหนียวในลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง ไข้เป็นๆหายๆ ร่วมกับอาการคัดจมูกเรื้อรัง และประสิทธิภาพในการดมกลิ่นลดลง ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักพบร่วมกับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้บ่อย ดังนั้นควรตรวจภาวะนี้ในคนไข้กลุ่มนี้ด้วย

 

ความรุนแรงและความน่ากลัวของไซนัสอักเสบ

หากปล่อยให้เป็นนาน ๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ ตาอักเสบ เกิดเป็นฝีรอบตา และอาจถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดฝีใต้เยื่อหุ้มสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็อาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

 

การวินิจฉัย ไซนัสอักเสบ

วิธีการที่ดีที่สุด คือ เช็คประวัติและตรวจร่างกายที่มีอาการคล้ายหวัด แต่ไม่หายภายใน 10 วันหรือเป็นหวัดบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งจะบอกได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นกรณีอาการไม่ชัดเจน เช่น ประวัติไม่ชัดเจนหรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น จึงจะมีการเอกซเรย์ไซนัส แต่การเอกซเรย์ไซนัสบางครั้งก็บอกได้ยาก ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ซึ่งจะบอกได้ดีกว่า การส่งคนไข้ไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนักหรืออาการไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่ต้องส่งผ่าตัดเท่านั้น เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในโครงสร้างของจมูกหรือไม่ เช่น มีจมูกคด เป็นต้น แต่ทั้งนี้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็ยังนิยมการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก

 

วิธีการรักษา 

ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะและแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ควบคู่ไปด้วยนอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีการอุดตันของเสมหะข้างในโพรงไซนัสอาจใช้การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยได้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่ ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด ซึ่งจะถูกพิจารณาเป็นกรณีสุดท้าย มักใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยเท่านั้น ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเป็นบ่อยเกิน 4 ครั้ง/ปี หรือ 3 ครั้งใน 6 เดือน ควรได้รับการตรวจและรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ด้วย

ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหวัด ที่อาจนำไปสู่ไซนัสอักเสบได้

 

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหืด โรคภูมิแพ้ และโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ

 


-ไบโพลาร์.jpg

Bipolar disorders หรือ BP เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่ผู้ป่วยมีอารมณ์คลุ้มคลั่งครื้นเครงมากกว่าปกติหรือ อารมณ์ครื้นเครงไปจากภาวะปกติเล็กน้อย สลับกับมีภาวะอารมณ์เศร้าซึม

 

ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีเพียงอาการอารมณ์คลุ้มคลั่งครื้นเครงมากกว่าปกติเท่านั้น ในแต่ละครั้งที่อาการกำเริบ โดยไม่มีระยะที่มีอาการซึมเศร้าเลย แต่ยังคงให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าอารมณ์แปรปรวน ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินโรค ประวัติของโรคในครอบครัว ตลอดจนการตอบสนองต่อการรักษาไม่ต่างไปจากผู้ป่วยที่มีอาการทั้ง 2 ด้าน อีกทั้งผู้ป่วยประเภทนี้พบได้ไม่มาก (ประมาณร้อยละ 10)

 

ลักษณะอาการทางคลินิก

อาการของผู้ป่วยอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่

  • อาการด้านอารมณ์ ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี พูดจามีอารมณ์ขัน ล้อเลียนผู้อื่น คึกคะนอง ไม่สำรวม มีการแสดงออกของอารมณ์หรือความต้องการอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ค่อยคำนึงถึงผู้อื่นหรือกฎเกณฑ์ของสังคม หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ตนต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว
  • อาการด้านพฤติกรรม ผู้ป่วยจะรู้สึกคึกคัก มีกำลังวังชา ขยันมากกว่าปกติแต่มักทำได้ไม่ค่อยดี ความต้องการนอนลดลง ชอบพูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายสิ้นเปลือง
  • อาการด้านความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดสร้างสรรค์มากมาย มีโครงการในกิจการต่างๆ ซึ่งเกินตัว เชื่อมั่นในตนเองมากร่วมกับมีการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน โดยเนื้อหามักเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจวิเศษ ศาสนา หรือบางครั้งอาจมีลักษณะแปลกๆ เช่นเดียวกับที่พบในโรคจิตเภท

 

ระบาดวิทยา

ความชุกโดยคำนวณตลอดชีวิต ร้อยละ 1 หญิงและชายพบได้พอๆ กัน อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการประมาณ 30 ปี

 

สาเหตุ

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุเป็นจากปัจจัยด้านชีวภาพ ซึ่งพบเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมค่อนข้างสูง และเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง ในแง่ของสารสื่อนำประสาทในสมองหลายตัว โดยพบว่าในระยะที่มีอารมณ์เศร้า มีสารสื่อนำประสาทนอร์อิพิเนฟรินและซีโรโทนินลดลง และในระยะอารมณ์คลั่งมีนอร์อิพิเนฟรินสูง

 

การดำเนินโรค

ผู้ป่วยชายส่วนใหญ่จะมีอาการครั้งแรกเป็นภาวะอารมณ์คลั่ง ส่วนผู้ป่วยหญิงจะมีอาการครั้งแรกเป็นแบบภาวะอารมณ์เศร้า ระยะเวลาที่เป็น หากไม่ได้รักษาโดยเฉลี่ยนาน 4 เดือน ผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะอารมณ์คลั่ง พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นอีกมากกว่าร้อยละ 90 และโรคนี้มีโอกาสเกิดซ้ำของโรค สูงกว่าพวกที่มาด้วยภาวะอารมณ์เศร้า

 

การรักษา

รับไว้รักษาในโรงพยาบาลในรายที่อาการรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ทำลายข้าวของ มีอาการโรคจิต หรือไม่พักผ่อน รบกวนคนในครอบครัวหรือผู้อื่น ญาติควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ เป็นต้น

ยาหลักใน การรักษา ได้แก่ ลิเทียม ให้ขนาด 600-9000 มก./วัน โดยให้ระดับยาในเลือดอยู่ระหว่าง 0.8-1.4 mEq/ลิตร ในรายที่มีอาการมากในช่วงแรกจำเป็นต้องให้ยารักษาโรคจิต หรือยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในขนาดสูงร่วมไปด้วย เพื่อควบคุมพฤติกรรม ลดอาการวุ่นวาย ก้าวร้าว เมื่ออาการด้านอารมณ์ลดลงจึงค่อยๆ ลดยารักษาโรคจิตลงจนหยุด ผู้ป่วยอารมณ์คลั่งที่มีอาการโรคจิตร่วมด้วยนั้นต้องให้การรักษาด้วยยารักษา โรคจิต และลดยาลงเมื่อหายอาการเช่นกัน

ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยลิเทียม หลังจากให้ยาในขนาดที่เหมาะสมไปนาน 4 สัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่เป็น rapid cycling อาจให้การรักษาด้วย carbamazepine หรือ sodium valproate

หลังจากผู้ป่วยอาการกลับสู่ปกติแล้ว ให้ลิเทียมต่อไปอีก 3-4 เดือน แล้วลดยาลงจนหยุด ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นมาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไป ควรให้การรักษาแบบดูแลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ โดยมีระยะเวลาที่ให้ควรนานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป

ขณะให้ยารักษาเพื่อดูแลต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ หากผู้ป่วยที่กลับมามีอาการ อารมณ์คลั่งให้เพิ่มขนาดลิเทียม หรือให้ยารักษาโรคจิตร่วม หากมีอาการซึมเศร้าให้เพิ่มขนาดลิเทียม ร่วมกับทำจิตบำบัด ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจให้ยาแก้เศร้า แต่ไม่ควรให้นาน เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้โรคเกิดกำเริบบ่อยขึ้นได้

 

เอกสารอ้างอิง :

  1. มานิต ศรีสุรภานนท์. ตำราจิตเวชศาสตร์, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 2 เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, เชียงใหม่: หน้า 165, พ.ศ. 2544.
  2. ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล. จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 6 สวิชาการพิมพ์, กรุงเทพฯ: หน้า 153-157, พ.ศ. 2544.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก bipolar-disorders-โรคอารมณ์เศร้าอารมณ์
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


.jpg

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบที่เยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศเข้าไปยังปอด กระบวนการอักเสบส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมมีการบวมและหนาตัว  มีการปล่อยสารคัดหลั่งเป็นมูกเหนียวออกมามากขึ้น สารคัดหลั่งจะไปอุดตันทางเดินหายใจ ขวางทางเดินของอากาศ อาการหลักของผู้ป่วยคืออาการไอ นอกจากนั้นอาจพบอาการหายใจไม่สะดวก เหนื่อย หายใจมีเสียงดัง และมีเสมหะร่วมด้วย

 

ประเภทของหลอดลมอักเสบ

ภาวะหลอดลมอักเสบ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ดังนี้

  1. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis)1 เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม อาการมักเป็นแบบชั่วคราวและสามารถหายได้เองในระยะเวลาหลักวันหรือสัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะ โดยอาการไออาจยาวนานถึง 2 – 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัส โดยพบว่าเพียงแค่ประมาณ 1-10% เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
  2. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis)2 หลอดลมอักเสบเรื้อรังเป็นภาวะที่ค่อนข้างร้ายแรงกว่าหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง โดยอาจไอนานกว่า 3 เดือน ในแต่ละช่วงของปี และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 2 ปี ผู้ป่วยจะมีการอักเสบที่ผิวเยื่อบุในหลอดลม ซึ่งเป็นผลมาจากสารที่สร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุในหลอดลมอย่างต่อเนื่อง เช่น สารพิษในควันบุหรี่ หรือจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยจะมีการหลั่งเมือกและเสมหะออกมาค่อนมาก เสมหะจะเหนียวข้น และกำจัดได้ยาก จนอาจปิดกั้นหลอดลม ทำให้มีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหลอดลมอักเสบเรื้อรังมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • สาเหตุของหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ประมาณเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมักเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อินฟลูเอนซ่า ชนิด เอ และ บี (Influenza A and B), พาราอินฟลูเอนซ่า (Parainfluenza), โคโรไวรัส (Coronavirus), อะดีโนไวรัส (Adenovirus), และไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นต้น
    .
    ส่วนน้อยที่หลอดลมอักเสบเฉียบพลันอาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ไมโคพลาสมา (Mycoplasma), คลาไมเดีย นิวโมนิเอ (Chlamydia pneumonia), สเตรปโตคอคคัท นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumonia), โมแรกเซลล่า คาทาราลิส (Moraxella catarrhalis), ฮิโมฟิลลุส อินฟลูเอนซ่า (Haemophilus influenza), บอร์ดาเทลเลีย เพอร์ทัสสีส (Bordatelia pertussis) โดยการติดเชื้อแบคทีเรียมักเป็นเชื้อแทรกซ้อนที่พบในผู้สูงอายุ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเด็กเล็ก
    .
    หลอดลมอักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยบางราย มีสาเหตุจากสารที่สร้างความระคายเคืองให้ทางเดินหายใจ ได้แก่ ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ควันไอเสียรถยนต์ หรือน้ำย่อยที่ขย้อนขึ้นมาในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
    .
  • สาเหตุของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เกิดจากสารพิษหรือสารที่สร้างความระคายเคืองให้ทางเดินหายใจ ที่เรารู้จักกันดีคือสารพิษในบุหรี่ โดยจะทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอด สาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ ฝุ่น ควันไฟ สารเคมีที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เป็นต้น
    .
    นอกจากนี้ภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรังอาจพบได้ใน ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้เป็นเวลานาน และคนที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย ๆ ในช่วงวัยเด็ก

 

อาการ

ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบมีอาการไอเป็นอาการหลัก ร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการสำคัญของภาวะหลอดลมอักเสบเฉียบพลันคือ อาการไอ ในวันแรก ๆ ผู้ป่วยจะไอและมีเสมหะเพียงเล็กน้อย เสมหะจะใสหรือเป็นสีขาว อาจพบอาการของโรคหวัดร่วมด้วย เช่น การมีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะโดยอาจพบว่ามีไข้ได้ในวันแรก ๆ โดยเป็นที่น่าสนใจว่าแม้เสมหะจะข้นเป็นสีเหลืองเขียวปนก็ไม่ได้บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียเสมอไป3 อาการไออาจอยู่ได้นานกว่า 2 – 3 สัปดาห์ บางคนอาจไอมากจนเจ็บหน้าอก มีอาการหายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด และอาจมีเสียงแหบได้
  • อาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรังคือ อาการไอและมีเสมหะอย่างเรื้อรัง ไอนานกว่า 3 เดือน และติดต่อกันนานกว่า 2 ปี ในระยะแรกจะมีสีเสมหะสีขาว และมักมีเสมหะออกมามากในช่วงตื่นนอน จนหลายคนต้องขากเสมหะในตอนเช้า ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะไอมากขึ้นและมีเสมหะมากขึ้นตลอดวัน เสมหะอาจเป็นสีเหลืองเขียว หายใจมีเสียงหวีด หายใจเหนื่อย หายใจไม่ทันโดยเฉพาะเวลาออกแรกมาก โดยพบว่าหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นลักษณะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease; COPD) ชนิดหนึ่ง

 

การวินิจฉัย 

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหลอดลมอักเสบจากการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยซักประวัติอาการ การไอ ลักษณะเสมหะ ช่วงเวลาไอ ระยะเวลาที่ไอหรือมีเสมหะ ประวัติการสูบบุหรี่ การได้รับสารพิษที่อาจสร้างความระคายเคืองทางเดินหายใจ สถานที่อยู่ อาชีพ ประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจ และโรคร่วมอื่นๆ

การตรวจร่างกาย โดยใช้อุปกรณ์หูฟัง (Stethoscope) ฟังปอดจากการหายใจของผู้ป่วย หรืออาจตรวจเพิ่มเติม โดยตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ตรวจเพาะเชื้อจากเลือดหรือเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด (Pulmonary function test หรือ Spirometry) ทั้งนี้ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์

 

การรักษา

โรคหลอดลมอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

  • การรักษาหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและทำให้ไอมากขึ้น เช่น อากาศเย็น ฝุ่น ควัน เป็นต้น
    .
    แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ หรือยาละลายเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือมีเสมหะเหนียวข้นระคายคอ ยาลดไข้ในผู้ป่วยที่มีไข้ ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูกในผู้ป่วยที่มีน้ำมูก ส่วนน้อยที่จะเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ จึงแนะนำว่าควรพยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่จำเป็น โดยข้อมูลพบว่าการให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ลดระยะเวลาการไออย่างมีนัยสำคัญ และพบว่าอาจเพิ่มโอกาสของเชื้อที่จะดื้อยาและผลข้างเคียงจากการได้รับยาปฏิชีวนะ1 เนื่องจากส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงแนะนำให้รักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสตามความจำเป็น นอกจากนั้นถ้าแพทย์ตรวจพบว่ามีเสียงปอดที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ อาจพิจารณาให้ยาพ่นขยายหลอดลม แต่ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น มือสั่น เป็นต้น
    .
    โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนไข้ไต เบาหวาน จะมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนและเกิดโรคที่รุนแรงขึ้น เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด และรีบพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงขึ้น.
  • การรักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง2 โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้รุนแรงได้ ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรังควรเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลอดลมอักเสบ และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ หรือมลพิษที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ รักษาประคับประคองตามอาการโดยใช้ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาพ่นขยายหลอดลม ยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ พบว่าภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกต้อง จะมีการอักเสบและทำลายหลอดลมต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการลดลงของสมรรถภาพปอด พัฒนาเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอย่างเด็ดขาด เพื่อช่วยชะลอและควบคุมการดำเนินของโรค

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

ข้อแนะนำ

  1. หลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักเกิดหลังจากป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และถึงแม้เชื้อก่อโรคจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่ผู้ป่วยมักจะยังมีอาการไอเรื้อรังต่ออีกเป็นเดือน ซึ่งเกิดเนื่องจากหลอดลมที่ถูกกระตุ้นจากกระบวนการอักเสบ จะยังมีความไวต่อสารที่มากระตุ้น เช่น ควัน ฝุ่น ลม อากาศเย็น มากกว่าปกติ ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
  2. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ดื่มน้ำสะอาด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด และรีบมาพบแพทย์เมื่ออาการแย่ลง เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป
  4. ผู้ป่วยที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้กลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอมีเลือดปน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
  5. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรังที่มีอาการในระยะเริ่มแรก ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุและควรเลิกสูบบุหรี่ เพื่อรักษาสภาพหลอดลมและปอด ไม่ให้ถูกทำลายไปจนส่งผลต่อสมรรถภาพปอดในระยะยาว
  6. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าคลินิกเลิกสูบบุหรี่
  7. ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ควรรับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

.
การป้องกัน

  1. เลิกสูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีมลภาวะ เช่น ควัน ละออง สารเคมี และควรใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานเมื่อจำเป็นต้องอยู่ในมลภาวะเป็นเวลานาน
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อนิวโมคอกคัส โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ โรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. ใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานเมื่อต้องอยู่สภาวะที่อาจมีการระบาดของโรคติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ


เอกสารอ้างอิง
 

  1. Kinkade S, Long NA. Acute Bronchitis. Am Fam Physician. 2016;94(7):560-5.
  2. Kim V, Criner GJ. Chronic bronchitis and chronic obstructive pulmonary disease. Am J Respir Crit Care Med. 2013;187(3):228-37.
  3. Altiner A, Wilm S, Däubener W, et al. Sputum colour for diagnosis of a bacterial infection in patients with acute cough. Scand J Prim Health Care. 2009;27(2):70-3.


ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


.jpg

โรคมะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย โดยพบบ่อยเป็นอันดับสองในชายไทย และ พบบ่อยเป็นอันดับสี่ในหญิงไทย โดยมีการประมาณว่าผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอดรายใหม่ปีละสองหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ แปดพันกว่าคนในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือการสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่มีรายงานไว้คือ การอาศัยหรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศ

 

อาการที่ชวนสงสัย

ไอเรื้อรังนานกว่าสามสัปดาห์ ไอแล้วมีเลือดปนออกมากับเสมหะ เสียงแหบ โดยเฉพาะยิ่งในบุคคลที่สูบบุหรี่ อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยเช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ท่านที่มีอาการเช่นนี้ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าท่านจะเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่

 

การตรวจวินิจฉัยโรค

ภาพถ่ายรังสีปอด พบว่ามีก้อนในปอด (ดังรูปที่แสดง) หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

โรคมะเร็งปอด

แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายคือ การตรวจพบเซลล์มะเร็งจากเสมหะ หรือ จากการเจาะน้ำในช่องปอด การตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอไปตรวจ หรือ การส่องกล้องหลอดลมเพื่อตัดชิ้นเนื้อจากหลอดลม

โรคมะเร็งปอด

นอกจากนี้แพทย์จะส่งตรวจพิเศษอื่นๆอีกเพื่อประเมินระยะของโรค เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ปอดและช่องท้องส่วนบน ตรวจหามะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก (Bone scan)

 

การวางแผนการรักษา

วิธีรักษาโรคมะเร็งปอดมีวิธีหลักอยู่สามวิธี คือ ผ่าตัด ฉายรังสี และการรักษาด้วยยา แพทย์จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น

  • ระยะที่หนึ่ง และระยะที่สอง ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดได้สูง ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยวิธีผ่าตัด แต่ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรงพอที่จะผ่าตัดได้ แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาโดยวิธีการฉายรังสีแทน
  • ส่วนระยะที่สาม อาจเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ยาเคมีบำบัดไปก่อน เมื่อโรคยุบดีค่อยผ่าตัด แต่ถ้าไม่ค่อยยุบอาจเปลี่ยนไปใช้วิธีฉายรังสี หรือ แพทย์อาจแนะนำให้ยาเคมีบำบัดไปพร้อมๆกับการฉายรังสีตั้งแต่แรก
  • ระยะที่สี่ ถ้ามีร่างกายแข็งแรง แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งแม้จะไม่หายขาดแต่อาจช่วยให้ก้อนเนื้อยุบเล็กลง ทำให้มีอาการดีขึ้น และอาจช่วยเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตให้ยาวนานขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมียาใหม่หลายชนิด ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาเก่าและมีอาการข้างเคียงที่น้อยกว่าให้เลือกใช้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ แพทย์อาจแนะนำแค่รักษาตามอาการ

 

พ.อ. ผศ. กสานติ์ สีตลารมณ์
แพทยศาสตร์บัณฑิต วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ อายุรศาสตร์ทั่วไป
อ.ว. อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


.jpg

ท้องผูก เป็นภาวะที่พบบ่อย ประมาณร้อยละ 15 – 20 ของคนทั่วไปมักจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน บางคนหงุดหงิด ไม่สบายใจ บางคนแน่นท้อง ไม่สบายท้อง บางคนถึงกับนอนไม่หลับกระสับกระส่าย สมาธิการทำงานเสียไป ปัญหาท้องผูกมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ

 

จากการรวบรวมการศึกษาคุณภาพดี 13 การศึกษา (3 การศึกษาในเด็ก) พบว่า อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านกาย ใจ สังคมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กมักจะให้คะแนนคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์ และสังคมของเด็กต่ำกว่าที่เด็กให้คะแนนตัวเอง เพราะเด็กมักจะไม่คิดว่าท้องผูกเป็นปัญหาของตัวเอง

สำหรับผู้ใหญ่ อาการท้องผูกเรื้อรังมีผลด้านจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น มีผลต่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย มากกว่าความรู้สึกไม่สบายท้อง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังลดลงพอ ๆ กับผู้ป่วยเบาหวาน เข่าเสื่อมเรื้อรัง โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคภูมิแพ้เรื้อรัง สรุปว่า ท้องผูกเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ท้องผูกเป็นประจำในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด (Constipation and risk of cardiovascular disease among postmenopausal women. Salmorirago-Blotcher E.Am J Med2011; 124:714)

 

ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมแบบชาวตะวันตก รวมทั้งสังคมไทย (เขตเมือง)

ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนปี ค.ศ. 2000 มีการประเมินว่า คนอเมริกันพบแพทย์ด้วยปัญหาท้องผูก 2.5 ล้านคน/ปี และเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรังมาก

ประเทศไทยยาแก้ท้องผูกเป็นยาที่ใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จากการศึกษาที่ผ่านมาบอกให้เรารู้ว่า ท้องผูกมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ท้องผูกเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย (ผัก ผลไม้) น้อยเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพิ่มโอกาสเบาหวาน ดังนั้น อาการท้องผูกน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาที่ชื่อว่า Women’s Health Initiative ในผู้หญิงชาวอเมริกัน 9 หมื่น 3 พันกว่าคน ที่ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 6.9 ปี จากข้อมูลการขับถ่ายที่รายงานโดยผู้หญิงในโครงการ 7 หมื่น 3 พันกว่าคน พบว่า อาการท้องผูกพบร้อยละ 34.7 แบ่งเป็นอาการไม่มาก (ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน) ร้อยละ 25.7 อาการปานกลาง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง) ร้อยละ 7.4 และอาการรุนแรง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากถึงมากที่สุด) ร้อยละ 1.6

 

อาการท้องผูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ (อายุยิ่งมาก โอกาสท้องผูกจะยิ่งมากขึ้น) ตามการสูบบุหรี่ เบาหวาน ไขมัน โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง อ้วน การออกกำลังกายน้อย รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ภาวะซึมเศร้า และประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย

สำหรับอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหรือใส่ขดลวดในหลอดเลือด และการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังปานกลางถึงรุนแรง เกิดโรคหรือภาวะดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 1.42 และ 1.91 ในเวลา 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก เกิดโรคดังกล่าวร้อยละ 0.96 หมายความว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ เพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการท้องผูก แต่หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นแล้ว พบว่าผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเท่านั้น ที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก สรุปว่า อาการท้องผูกเป็นตัวบ่งบอกพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น รับประทาน เส้นใยอาหารน้อย มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่) และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความอ้วน เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า) ขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยบอกโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ

 

ทำอย่างไรดีถ้าท้องผูกเรื้อรัง

  • อันดับแรกคือ หาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราท้องผูก ตัวเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากหรือไม่ ควรรับประทานผักสดอย่างน้อย 2 ฝ่ามือ/มื้อ (ผักสุก 1 ฝ่ามือ/มื้อ) ผลไม้ 15 คำ/วัน ธัญพืชได้รับประทานบ้างหรือเปล่า
  • ยาหรืออาหารบางอย่างที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยาแคลเซียมเม็ด ฝรั่ง ชา กาแฟ
  • นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ยอมขยับทั้งวันหรือไม่มีโอกาสเดินเร็ว ออกกำลังกาย วันละครึ่งชั่วโมงหรือยัง เครียด หงุดหงิด ซึมเศร้าทั้งวัน ยิ่งเครียด ลำไส้ยิ่งไม่ทำงาน ท้องยิ่งผูก
  • ลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช เส้นใยอาหาร เช่น มะขาม มะละกอ ลูกพรุน ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายป็นประจำ อารมณ์เบิกบาน แจ่มใส คลายเครียด คลายกังวล

 

ถ้าอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุท้องผูกเรื้อรังและแก้ไขต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

 

ผศ.นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก