ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

ระบบผิวหนัง (Integumentary system)

ระบบผิวหนัง

ผิวหนังเป็นเนื้อเยื่อห่อหุ้มร่างกายที่อยู่ชั้นนอกสุด  โดยผิวหนังของผู้ใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ  3,000  ตารางนิ้ว มีความหนา 1 – 4 มิลลิเมตร ภายในชั้นผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึกจำนวนมาก เพื่อรับรู้การสัมผัส การกด ความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น และหน้าที่สำคัญ ๆ อีกหลายอย่าง

 

โครงสร้างของผิวหนัง

ผิวหนังแบ่งตามโครงสร้างออกได้เป็น  3  ชั้นคือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

  1. ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นผิวหนังที่อยู่ชั้นบนสุด คลุมอยู่บนหนังแท้ มีความหนาตั้งแต่ 0.05 ถึง 5 มิลลิเมตร บริเวณที่บางสุดคือรอบดวงตา บริเวณที่หนาสุดคือฝ่าเท้า หนังกำพร้าประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันเป็นชั้นบาง ๆ อีก 5 ชั้นย่อย โดยเซลล์ชั้นในจะเลื่อนตัวดันเซลล์ชั้นบนหรือชั้นนอกสุด ให้หลุดเป็นขี้ไคลออกไป ผิวหนังชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือด เส้นประสาทรวมถึงต่อมต่าง ๆ หากผิวหนังชั้นนี้ได้รับอันตราย เราจะไม่รู้สึกแต่อย่างใด ทั้งนี้หนังกำพร้าจะเป็นทางผ่านของรูเหงื่อ เส้นขนและไขมัน ชั้นนี้จะมีเซลล์เม็ดสี (Melanin) โดยมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน
  2. ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นผิวหนังที่อยู่ชั้นล่างถัดจากชั้นหนังกำพร้า มี 2 ชั้นย่อย ผิวหนังชั้นนี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่อคอลลาเจน (Collagen) อีลาสติน (Elastin) และตัวประสานเนื้อเยื่อไฮยารูรอน (Hyaluronic acid) ทำให้ผิวหนังมีความแข็งแรง และมีความยืดหยุ่นโดยมีหลอดเลือดฝอย ปลายประสาทรับความรู้สึก ระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และรากขน/ผม กระจายอยู่ทั่วไปในชั้นหนังแท้
  3. ผิวหนังชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutis) อยู่ในสุดของชั้นผิวหนัง ประกอบด้วยไขมัน คอลลาเจน หลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ความหนาของชั้นใต้ผิวหนังจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะ และเพศ ผิวหนังชั้นนี้ช่วยในการรับแรงกระแทก เป็นฉนวนกันอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และยึดเหนี่ยวระบบผิวหนังไว้กับร่างกาย

 

หน้าที่ของผิวหนัง

  1. ป้องกันและปกปิดอวัยวะภายในไม่ให้ได้รับอันตราย
  2. ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง
  3. ป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกาย และน้ำในร่างกายระเหยออกไป
  4. ขับเหงื่อซึ่งเป็นของเสียออกจากร่างกาย ทางต่อมเหงื่อ
  5. ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ผ่านทางหลอดเลือดฝอยและการระเหยของเหงื่อ
  6. รับความรู้สึกสัมผัส เช่น ร้อน หนาว เจ็บ เป็นต้น
  7. ช่วงสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย โดยแสงแดดจะเปลี่ยนไขมันที่ผิวหนังให้เป็นวิตามินดีได้

 

ส่วนของผิวหนังที่เปลี่ยนรูปแบบ

เล็บ พัฒนามาจากหนังกำพร้า เป็นแผ่นแข็งยืดหยุ่นได้ มีลักษณะโปร่งแสง ส่วนที่ยื่นพ้นปลายนิ้ว ไม่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยง ทำให้สามารถตัดเล็บได้ ส่วนที่ฝังอยู่ในผิวหนังเรียก รากเล็บ ด้านใต้ของเล็บมีปลายประสาทและหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก การงอกของเล็บเฉลี่ย 1 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์ โดยเล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือ

ขนหรือผม พัฒนามาจากหนังกำพร้าชั้นที่อยู่ลึก โดยอยู่ในรูขุมขน มีส่วนที่โผล่พ้นผิวหนังขึ้นมาเรียก เส้นขน/ผม และส่วนที่ฝังอยู่ในรูขุมขนเรียก รากขน/ผม  ที่โคนของรากขน/ผม จะมีกระเปาะรากขน/ผม ภายในกระเปาะนี้จะมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงและมีปลายประสาทมาควบคุม พร้อมทั้งยังมีการเชื่อมต่อกับต่อมไขมันและกล้ามเนื้อเส้นขน ขน/ผมจะมีเซลล์เม็ดสีซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ รวมถึงการมีอายุมากขึ้นเซลล์เม็ดสีจะมีน้อยลง ทำให้เกิดขน/ผมหงอกได้

 

ต่อมที่อยู่ในชั้นของผิวหนัง

ต่อมไขมัน (Sebaceous gland) เป็นต่อมรูปกระเปาะเล็ก ๆ อยู่ในชั้นหนังแท้ พบได้ในผิวหนังเกือบทั้งหมดที่มีขน โดยมีมากที่หนังศีรษะ ใบหน้าและรอบๆ รูเปิดต่างๆ เช่น ทวารหนัก จมูก ปาก โดยไม่พบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันจะเคลือบผิวหนัง ขน/ผมเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น

ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) เป็นต่อมอยู่ที่ผิวหนังเกือบทุกแห่งของร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปากและบางส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเส้นเลือดบริเวณต่อมเหงื่อจะส่งของเสียเข้าสู่ท่อของต่อมเหงื่อ ของเสียหรือเหงื่อที่ได้นั้นจะถูกต่อมเหงื่อขับถ่ายออกทางผิวหนังชั้นนอกสุด และมีการระเหยอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ ครั้งร่างกายไม่รู้สึก แต่เมื่ออุณหภูมิภายนอกหรืออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมาในปริมาณมากขึ้น เห็นเป็นเหงื่อที่เปียกค้างรอการระเหยอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย

เหงื่อ (Sweat) ประกอบด้วยน้ำถึงร้อยละ 99 และสารอื่น ๆ อีกร้อยละ 1 เช่น เกลือโซเดียมคลอไรด์ สารอินทรีย์พวกยูเรีย แอมโมเนีย กรดอะมิโน น้ำตาล และกรดแลกติก โดยเหงื่อมีสภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ

 

โรคระบบผิวหนังที่พบบ่อย

ผิวหนังอักเสบ   ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง   โรคงูสวัด   โรคเริม

 

ผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง ทำให้เกิดอาการผื่นคัน บวม แดง อาจมีแผลพุพอง มีหนอง มีการตกสะเก็ด เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยโรคที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นผิวแห้ง โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ทั้งนี้โรคหรือภาวะที่เป็นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะไม่มีการติดต่อไปยังผู้อื่น แต่จะทำให้รู้สึกคัน ระคายเคือง ปวดหรือเจ็บได้

โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) โดยเชื้อไวรัสนี้จะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากหายแล้ว เชื้อสามารถหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทของร่างกายเป็นระยะเวลานาน ในระหว่างนั้น เมื่อร่างกายอยู่ในช่วงที่อ่อนแอ เช่น พักผ่อนน้อย อดนอนต่อเนื่อง อายุมากขึ้น  เป็นผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง เชื้อจะเกิดการแบ่งตัวและแสดงอาการในรอบที่สอง เป็นโรคงูสวัด

โรคเริม  เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสเชื้อ สัมผัสกับแผล ใช้ของร่วมกับผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่แม้อาการสงบลง และจะกลับมาแสดงอาการอีกในช่วงที่ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ ทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นตามบริเวณต่าง ๆ และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบในเด็กมากกว่าวัยอื่น ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยตรง แต่อาจรักษาได้โดยบรรเทาอาการและป้องกันการลุกลามไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.webmd.com  en.wikipedia.org  www.eucerin.co.th  www.med.cmu.ac.th
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

     

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก