ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Sinusitis.jpg

โรคที่พบได้บ่อยในหน้าฝน คือ โพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ไข้หวัด (Common cold) และไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ซึ่งโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้มักมีอาการตลอดทั้งปี โดยจะมีอาการมากในหน้าฝนและหนาว อาการเด่น คือ คัดจมูก น้ำมูกใส นอนกรน ไม่มีไข้ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเป็นหวัดบ่อยทำให้มีการติดเชื้อตามมาได้ โดยการแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและภูมิแพ้ คือ ภูมิแพ้ไม่มีไข้และอาการคงอยู่ตลอด ส่วนหวัดจะมีไข้ ไอ น้ำมูกและมักจะหายภายใน 7 – 10 วัน

 

โดยปกติในเด็กจะเป็นหวัดปีละ 4 – 6 ครั้ง โดยผู้ใหญ่เป็นหวัดปีละ 2 ครั้ง กรณีเป็นหวัดบ่อย หรือเรื้อรังเกิน 7 – 10 วัน ต้องระวังว่าจะมีภาวะไซนัสอักเสบแทรกซ้อนได้

 

ข้อมูลเบื้องต้น

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคแพ้อากาศ

ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบ ๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตำแหน่งเป็นคู่ ๆ คือ บริเวณหน้าผาก ใกล้กับหัวคิ้วทั้งสองข้าง บริเวณข้างจมูกทั้งสองข้าง บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง และบริเวณกะโหลกศีรษะใกล้กับฐานสมอง โดยหน้าที่หลัก ๆ ของไซนัส คือ ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

ไซนัสอักเสบจะเกิดขึ้นเมื่อจมูกมีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นหวัดไม่สบาย ส่งผลให้บริเวณท่อที่เชื่อมต่อระหว่างจมูกกับไซนัสอุดตัน ทำให้มีน้ำมูกคั่งค้าง เมื่อน้ำมูกมีการสะสมมากขึ้นจะมีความหนืด และเป็นแหล่งของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นไซนัสอักเสบได้ นอกจากนี้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากการเป็นภูมิแพ้ มีสารระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกได้อีกด้วย

 

 

ประเภทของไซนัสอักเสบ

โดยไซนัสอักเสบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันและไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง

  • ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) จะมีอาการทั่วไปคล้ายกับเป็นไข้หวัด มีไข้สูงหรือต่ำก็ได้ เมื่อเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสผู้ป่วยจะมีอาการปวดจมูก ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ น้ำมูกและเสมหะจะมีสีเหลืองอมเขียว ไอมีเสมหะไหลลงคอ ไซนัสอักเสบชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยอาการจะเป็นอยู่น้อยกว่า 8-12 สัปดาห์ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษามีโอกาสที่จะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังได้
  • ไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ซึ่งจะมีอาการมากกว่า 3 เดือน และในช่วงที่เป็นนั้นอาการจะหนักเบาสลับกันไป แต่ไม่มีช่วงที่หายสนิท โดยมักมีอาการไอเรื้อรัง น้ำมูกใสสลับเขียว มีเสมหะเหนียวในลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง ไข้เป็นๆหายๆ ร่วมกับอาการคัดจมูกเรื้อรัง และประสิทธิภาพในการดมกลิ่นลดลง ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักพบร่วมกับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้บ่อย ดังนั้นควรตรวจภาวะนี้ในคนไข้กลุ่มนี้ด้วย

 

ความรุนแรงและความน่ากลัวของไซนัสอักเสบ

หากปล่อยให้เป็นนาน ๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ ตาอักเสบ เกิดเป็นฝีรอบตา และอาจถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดฝีใต้เยื่อหุ้มสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็อาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

 

การวินิจฉัย ไซนัสอักเสบ

วิธีการที่ดีที่สุด คือ เช็คประวัติและตรวจร่างกายที่มีอาการคล้ายหวัด แต่ไม่หายภายใน 10 วันหรือเป็นหวัดบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งจะบอกได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นกรณีอาการไม่ชัดเจน เช่น ประวัติไม่ชัดเจนหรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น จึงจะมีการเอกซเรย์ไซนัส แต่การเอกซเรย์ไซนัสบางครั้งก็บอกได้ยาก ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ซึ่งจะบอกได้ดีกว่า การส่งคนไข้ไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่คนไข้มีอาการหนักหรืออาการไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่ต้องส่งผ่าตัดเท่านั้น เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในโครงสร้างของจมูกหรือไม่ เช่น มีจมูกคด เป็นต้น แต่ทั้งนี้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็ยังนิยมการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก

 

วิธีการรักษา 

ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะและแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ควบคู่ไปด้วยนอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีการอุดตันของเสมหะข้างในโพรงไซนัสอาจใช้การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยได้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่ ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด ซึ่งจะถูกพิจารณาเป็นกรณีสุดท้าย มักใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยเท่านั้น ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเป็นบ่อยเกิน 4 ครั้ง/ปี หรือ 3 ครั้งใน 6 เดือน ควรได้รับการตรวจและรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ด้วย

ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหวัด ที่อาจนำไปสู่ไซนัสอักเสบได้

 

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหืด โรคภูมิแพ้ และโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ที่ระบุใต้ภาพ

 


-1.jpg

โรคภูมิแพ้ (Allergy) ด้วยลักษณะการทำงานของคนออฟฟิศที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ต้องตื่นเช้าเพราะหนีรถติดและส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน ทำให้ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อภาวะภูมิแพ้หรือไม่

 

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คือ โรคที่เกิดจากภาวะร่างกายตอบสนองต่อสารกระตุ้น (โดยในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อย่างเช่น พวกไรฝุ่น ละอองเกสรพืช) แล้วเกิดการตอบสนองมากผิดปกติจนทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) นั้น เช่น ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูกสารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกแล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ทำให้คัดจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ คันจมูก

ส่วนกรณีที่เป็นโรคหืดเมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลมก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง ทำให้เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้

 

โรคภูมิแพ้มีหลายชนิด

โรคภูมิแพ้แบ่งเป็นหลายชนิด ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ทางตา และแพ้อาหาร โดยโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยคือ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหืด สถิติในประเทศไทยเราพบว่า อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23 – 30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10 – 15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 5

 

สาเหตุ

สาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะภูมิแพ้ คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีสารกระตุ้นภูมิแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญในคนไทยคือ ไรฝุ่น ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มักอยู่ตามที่นอน พรม ม่าน ดังนั้น คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพรม ม่านหรือแอร์ที่เก่า ไม่ค่อยได้ล้างก็อาจทำให้เป็นภูมิแพ้ หรือคนที่เป็นอยู่แล้วอาจมีผลทำให้อาการกำเริบได้

ดังนั้นคนที่ทำงานออฟฟิศอาจประสบกับภาวะนี้ เพราะต้องอยู่ในที่ทำงานที่มีสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นมาก อาจมีผลให้อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจกำเริบได้ นอกจากนี้การทำงานหนัก พักผ่อนน้อยมีผลทำให้อาการของโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้กำเริบ และติดเชื้อหวัดได้ง่าย

 

วิธีสังเกต

วิธีสังเกตว่าเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ จะมีอาการน้ำมูกใส โดยจะไหลออกมาหรือไหลลงคอ จาม คันจมูก อาจมีอาการไอเรื้อรังหรือกระแอม ซึ่งเกิดจากเสมหะไหลลงคอ บางคนมีอาการปวดศรีษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อย ๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตาโดยไม่มีอาการตาแดง ผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่นว่า มีอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท คุณภาพการนอนหลับลดลง ทำให้ร่างกายไม่สดใสตื่นตัว มีผลกระทบต่อการทำงาน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ อย่างไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ หรือนอนกรน นอกจากนี้ในคนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจพบว่ามีโรคหืดร่วมด้วยในคนเดียวกัน ทำให้มีอาการไอบ่อย เหนื่อยง่าย หายใจดังวี้ด

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเข้าได้กับภาวะเหล่านี้ ก็สามารถดูแลตนเองได้โดย การควบคุมสิ่งแวดล้อม การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ จัดบ้านและที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่ควรมีพรมหรือม่านในที่ทำงาน ควรใช้มู่ลี่จะดีกว่า ทำความสะอาดแอร์ในที่ทำงานสม่ำเสมอ นอกจากนี้ไม่ควรปรับลดยาเอง ให้ใช้ยาสม่ำเสมอ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจนั้นอาการจะกำเริบได้ง่ายหากอดนอน ดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้น

 

 

สำหรับท่านที่มีสมาร์ทโฟน สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตนเอง การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการใช้ยาได้ที่แอพพลิเคชั่นที่หมอและทีมงานของชมรมผู้ป่วยโรคหืดธรรมศาสตร์พัฒนาขึ้นมาเรียกว่า แอสมาแคร์ (Asthma Care) ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพได้ฟรี โดยใช้คำค้นหาเช่น หืด หอบ การพ่นยา การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เป็นต้น

 

ภาพประกอบ : www.wowamazing.com

 


-ในผู้ที่มีภาวะแพ้อาหาร-H2C.jpg

กินเจอย่างไร ในผู้ที่มีภาวะแพ้อาหาร อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์ โดยได้โปรตีนจากพืชเป็นหลัก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ธัญพืช ส่วนประกอบหลักของอาหารเจ ได้แก่ ธัญพืชพวกถั่ว งา ผัก และผลไม้ 5 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดง เขียว เหลือง

 

โดยทั่วไปการรับประทานเจต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุ และสภาพร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อาหารเจอาจมีผลต่อภาวะภูมิแพ้อาหารได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่าย หรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก เป็นเวลานาน ก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ ถึงแม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อน โดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว โดยพบว่าอาหารที่คนไทยแพ้บ่อย ได้แก่ นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว  ไข่ แป้งสาลี และอาหารทะเล ซึ่งผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยร้อยละ 15 – 30  

นอกจากนี้ ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรระวังการบริโภคอาหารเจในผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลี

ในกรณีต้องการบริโภคอาหารเจ อาจเลี่ยงไปบริโภคอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ที่ไม่ก่อให้แพ้และได้พลังงานเช่นกัน

 

ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจ

สำหรับผู้ที่แพ้อาหาร มีข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจ  

กรณีที่แพ้นมวัว ควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลือง เพราะอาจพบว่าแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยได้ โดยอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ หอยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจอย่างโปรตีนเกษตร ซึ่งของพวกนี้ทำจากถั่วเหลืองแทบทั้งสิ้น เป็นต้น

สำหรับอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม ได้แก่ อาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบอย่างพวก ขนมปัง เส้นพาสต้าต่าง ๆ เค้ก ขนมอบ เบเกอรี่ต่าง ๆ อาหารชุบแป้งทอดหรือเกล็ดขนมปัง เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระวังในการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร

 

วิธีสังเกตภาวะแพ้อาหาร

  • อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นเล็ก ๆ นูนแดง คัน บวม คล้ายลมพิษ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น นอกจากนี้ อาจมีผื่นอีกประเภทที่แดง คัน แห้ง ลอก ซึ่งในเด็กเล็กมักมีจะมีผื่นที่แก้ม ข้อศอก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับ ซึ่งผื่นลักษณะนี้มักจะเป็นภายหลังได้รับอาหารชนิดนั้นเป็นเวลาหลายวันถึงสัปดาห์
  • อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องแบบบิด
  • อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ จาม หายใจไม่สะดวก
  • กรณีที่มีอาการรุนแรง มักมีอาการหลายระบบ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหมุนเวียนโลหิต ซึ่งหากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรงอาจมีผลทำให้ผู้ป่วย ช็อค หมดสติ เขียว และเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่มั่นใจว่าแพ้อาหารชนิดไหน ก่อนบริโภคควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดว่ามีภาวะแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่

ดังนั้น เราควรใส่ใจกับส่วนผสมของอาหารที่รับประทาน และสังเกตอาการก็จะทำให้ชีวิตเป็นสุขแบบไม่เสี่ยง

 

ศ.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นความเลิศด้านโรคหืด โรคภูมิแพ้ และโรคระบบหายหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาพประกอบจาก: อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ใต้รูป     

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก