ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-Ankle-sprain.jpg

ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด (Ankle sprain) มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้มแล้วข้อเท้าบิด ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเท้าเคล็ดได้บ่อย คือ เคยมีประวัติข้อเท้าเคล็ดมาก่อน รองเท้าไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นรอบข้อเท้าไม่แข็งแรง กีฬาบางชนิด เช่น บาสเกตบอล แบดมินตัน เป็นต้น เอกซเรย์ข้อเท้า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ถ้ามีอุบัติเหตุรุนแรง อาจพบมีกระดูกหัก ร่วมด้วย

ระดับความรุนแรง ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด

  • ระดับที่หนึ่ง เส้นเอ็นยึดข้อถูกเหยียดออกมากเกินไป และบางเส้นใยอาจฉีกขาด จะมีอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือเคลื่อนไหวข้อ แต่มักจะไม่บวม ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์
  • ระดับที่สอง เส้นเอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร รวมทั้งมีอาการบวมและฟกช้ำ เพราะเส้นเลือดล็ก ๆ ฉีดขาด ทำให้มีเลือดออก เวลาลงน้ำหนักจะรู้สึกปวด มักจะหายใน 4 – 6 อาทิตย์
  • ระดับที่สาม เส้นเอ็นยึดข้อเส้นหนึ่งหรือหลายเส้นฉีกขาดจากกันทั้งหมด มีอาการปวด บวมและฟกช้ำมาก เคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักไม่ได้ อาจใช้เวลารักษา 6 – 10 เดือนจึงจะหายสนิท ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงมาก ในกรณีเป็นนักกีฬาอาชีพ อาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น

ถ้าข้อเท้าบวมมาก เดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือลองรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 วัน จะต้องตรวจหาสาเหตุว่า เกิดจากอะไร

แนวทางการรักษา ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด 

แนวทางรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งมีแนวทางทั่วไปดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น การใช้ไม้ดาม ใส่
    เฝือก ใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าพยุงเวลาเดิน
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 1 ใช้ผ้ายืดพัน หรืออุปกรณ์พยุงข้อเท้า
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 2 ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์
  • ถ้าเป็นข้อเท้าเคล็ด ระดับที่ 3 ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
  1. ในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรกให้ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง เป็นต้น
  • เมื่อพ้นระยะ 24 – 48 ชั่วโมง จึงประคบด้วยความร้อน เช่น น้ำอุ่น กระเป๋าไฟฟ้า ครีมนวด เป็นต้น
  • ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
  • ถ้าปวดมากอาจรับประทานเลือด เช่น ยาพาราเซตตามอล หรือยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ (NSAIDs)
  1. บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเท้า
  • เคลื่อนไหวข้อ 6 ทิศทาง (กระดกขึ้น-งอลง บิดเข้า-บิดออก หมุนวนเข้า-หมุนวนออก) หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหวปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ ๆ ก็ได้
    ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
  • บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น งอลง บิดเท้าเข้าด้านใน และบิดเท้าออกด้านนอก ถ้าไม่ปวด ให้ถ่วงน้ำหนัก 0.5 – 4 กิโลกรัมที่บริเวณปลายเท้า หรือใช้เท้าดันกับขอบโต๊ะ อาจใช้ยางยืดหรือผ้ารัดที่ปลายเท้าเพื่อเพิ่มแรงต้านให้มากขึ้น ร่วมกับยืนยกส้นเท้า ยกปลายเท้าขึ้น
    ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด
  1. บริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า
  • ยืนหรือนั่ง เหยียบบนหมอนนุ่ม ๆ แล้วลงน้ำหนัก ตามส่วนต่าง ๆ คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอก
  • วางเท้าบนแผ่นไม้ ที่เอียงกระดกได้ แล้วเหยียบให้แผ่นไม้กระดกไปทั้ง 4 ทิศทาง
  • ยืนเท้าเดียว แล้วบิดตัว
  • กระโดดเชือก (ต้องรอให้หายปวด ไม่มีอาการเสียวในข้อ ไม่มีข้อบวม)

ข้อเท้าเคล็ด เส้นเอ็นฉีกขาด

อาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง

โดยส่วนใหญ่ข้อเท้าเคล็ดมักจะหายใกล้เคียงปกติ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่มีผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง (ปวดนานกว่า 6 อาทิตย์) เคลื่อนไหวข้อได้ไม่เต็มที่ และเกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจาก

  • ไม่ได้ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ไม่ดี กล้ามเนื้อลีบ
  • มีเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าที่ฉีกขาดยื่นเข้าไปในข้อเท้า เมื่อกระดกข้อเท้าขึ้นก็จะถูกกระดูกหนีบทำให้ปวด
  • มีกระดูกแตกร่วมด้วย แล้วมีกระดูกติดผิดรูป
  • เส้นเอ็นฉีดขาดหลายเส้น แล้วไม่ได้รักษา ทำให้เส้นเอ็นไม่ติด หรือเส้นเอ็นติดในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม 

 

เมื่อไรถึงจะกลับไปเหมือนกับปกติ

  • เมื่อเคลื่อนไหวข้อเท้า และเดินลงน้ำหนักโดยไม่ปวด สามารถยืนเขย่งยกส้นเท้าขึ้น นานกว่า 20 วินาที ยืนขาข้างเดียว (หลับตา) นานกว่า 30 วินาที และเส้นเอ็นกล้ามเนื้อข้อเท้า มีความแข็งแรง 70 – 80% เทียบกับข้างปกติ
  • ถ้าลองวิ่งในแนวตรง วิ่งวนเป็นวงกลมหรือรูปเลขแปด แล้วไม่ปวด ก็ให้ลองวิ่งแบบสลับฟันปลา ถ้าสามารถวิ่งสลับฟันปลา โดยไม่ปวด และรู้สึกว่าข้อเท้ามั่นคงดี ก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้แต่ต้องค่อยปรับความเร็ว-ความหนัก และถ้ารู้สึกผิดปกติ เจ็บ-บวมผิดปกติ ให้หยุด หรือลดความเร็ว-ความหนัก ต้องปรับเพิ่มลดตามอาการให้เหมาะสม
  • ข้อเท้าเคล็ดจะหายเป็นปกติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ระดับความรุนแรง วิธีรักษาที่เหมาะสม การบริหารหรือทำกายภาพบำบัดเป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลารักษา ประมาณ 2 – 6 อาทิตย์ แต่เส้นเอ็นจะหายเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน จึงควรใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อเท้าเคล็ดซ้ำ

 


ภาพประกอบจาก : www.iwalk-free.com

 


-Hypertension.jpg

ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งใน 4 สัญญาณชีพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) และความดันโลหิต ที่สามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้

 

ความดันโลหิตหรือความดันเลือด (Blood pressure) คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน วัดที่แขนซึ่งจะได้ค่าที่วัด 2 ค่า โดยค่าตัวแรกหรือค่าตัวบน เรียกค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าตัวตามหรือค่าตัวล่าง เรียกค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว โดยความดันปกติควรจะต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท หากสูงกว่าแต่ไม่ถึง 140/90 มม.ปรอท จัดอยู่ในระดับปกติค่อนข้างสูง ทั้งนี้การวัดความดันโลหิตควรวัดในขณะพัก และวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที แล้วหาค่าเฉลี่ยของความดันที่วัดได้

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) จะหมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป โดยการแบ่งระดับความรุนแรงสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

ตารางระดับความรุนแรงโรคความดันโลหิตสูง
ค่าตัวบน (มม.ปรอท) ค่าตัวล่าง (มม.ปรอท)
ปกติ < 130 < 85
ปกติค่อนข้างสูง 130 - 139 85 - 89
ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก 140 - 159 90 - 99
ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง 160 - 179 100 - 109
ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง 180 - 209 110 - 119
ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรงมาก ≥ 210 ≥ 120
WordPress Tables Plugin

 

ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจากการวัดอย่างต่อเนื่อง โดยความดันโลหิตที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราว เช่น ขณะเครียด ดีใจ ตื่นเต้น ออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด

ในบางกรณีอาจพบผู้ที่มีความดันตัวบนสูงเดี่ยว เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยบางโรค อาทิ  ผู้ป่วยหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษ ในขณะที่ผู้ที่มีความดันตัวล่างสูงเดี่ยว พบได้น้อยและมีวิธีการรักษาและข้อแนะนำเหมือนกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ และมักตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่น ๆ ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ ในรายที่เป็นมานาน ๆ หรือความดันสูงมาก ๆ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว

โดยเมื่อปล่อยความดันโลหิตสูงทิ้งไว้นาน ๆ จะส่งผลต่ออวัยวะที่สำคัญ ๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น

  • ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก (Stroke) กรณีเฉียบพลันอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ (Paresis) อัมพาต (Paralysis) หรือเสียชีวิต ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ได้
  • ภาวะผนังหัวใจหนาตัวและยืดออก ส่งผลให้หัวใจโต และเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart failure) ได้
  • ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) และเกิดหัวใจวาย อาจเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนได้
  • ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้ไตกรองของเสียได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะไตวาย (Renal failure) และส่งผลกลับทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นอีก
  • ภาวะหลอดเลือดแดงในตาเสื่อม อาจมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวหรือตาบอดได้

โดยจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษา 60 – 45% จะเสียชีวิตจากหัวใจวาย 20 – 30% จะเสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก และ 5 – 10% จะเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง

 

สาเหตุ

  • ผู้ป่วย 90 – 95% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เรียกความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary hypertension) โดยแพทย์จะตรวจไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุ เริ่มพบภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ที่มีอายุประมาณ 25 – 55 ปี พบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากโอกาสพบภาวะนี้ยิ่งสูงขึ้น
  • ผู้ป่วย 5 – 10% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ เรียกว่าความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ(Secondary hypertension) มักพบความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นก่อนอายุ 25 ปี หรือหลังอายุ 55 ปี โดยตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ในกลุ่มนี้ ได้แก่
    • ป่วยด้วยโรคไต เช่น โรคไตเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง หน่วยไตอักเสบ โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง หลอดเลือดแดงไตเสื่อม ฯลฯ
    • ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ
    • ป่วยด้วยโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น คอพอก เนื้องอกบางชนิดของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง โรคคุชชิง
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด/เอสโตรเจน, อะดรีนาลิน/ซูโดอีเฟดรีน, ไซโคลสปอริน, อิริโทรมัยซิน, อีริโทรโพอิติน, รวมไปถึงการใช้สารเสพติดอย่างแอมเฟตามีน/โคเคน

 

การวินิจฉัย

การวัดระดับความดันโลหิตเป็นสิ่งสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวัดความดันโลหิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยเครื่องวัดฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ยต่อการบันทึก 1 ครั้ง ในกรณีที่อยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง แพทย์อาจพิจารณานัดวัดซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ใน 4 สัปดาห์ถัดมา ในกรณียังมีความดันโลหิตสูง นอกเหนือจากการซักประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุหรือผลข้างเคียงจากโรคอื่น  เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG, EKG) ตรวจไขมัน หรือตรวจด้วย CT scan ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

การรักษา

สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะแรก  แพทย์จะให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดการกินอาหารเค็ม งดสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG, EKG) เพื่อหาสาเหตุที่อาจมาจากโรคอื่น และนัดตรวจวัดความดันเป็นระยะ ๆ ในกรณีที่ค่าความดันยังสูงอยู่ เช่นเดียวกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะปานกลางและรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิต

การให้ยาลดความดันโลหิต แพทย์จะเริ่มพิจารณาให้ในแบบยาตัวเดียว และใช้โดสน้อย ๆ ก่อน ถ้าไม่ได้ผลจะมีการปรับโดสเพิ่มขึ้น ในกรณีที่การให้ยาตัวเดียวไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ยา 2 – 3 ชนิดร่วมกัน

ทั้งนี้ในการรักษาความดันโลหิตสูง แพทย์จะมีการวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นและเกี่ยวเนื่องกับความดันโลหิต ทั้งโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โรคที่เป็นผลแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ปรับพฤติกรรมการกิน มีหลายข้อที่ควรทำ เช่น หลีกเลี่ยง หรือลดการใช้เนย ไขมัน และน้ำมัน ในการปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารทอดให้รับประทานอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม แทน รับประทานอาหารประเภทผัก ถั่ว ผลไม้ ให้มากขึ้น ดื่มน้ำ กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน นมพร่องไขมัน และน้ำผลไม้
  • ลดการรับประทานอาหารเค็ม การรับประทานเกลือมาก จะทำให้ความดันโลหิตสูง และไตทำงานหนักควรศึกษาปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร เพื่อวางแผนการลดการบริโภค รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารประเภทของดองเค็ม เนื้อเค็ม ซุปกระป๋อง ใช้เครื่องเทศแทนเกลือ หรือผงชูรส เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำ
  • หยุดสูบบุหรี่ รวมทั้งงด หรือ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด รวมถึงความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
  • เพิ่มการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่เหมาะสม หัวใจ หลอดเลือด ปอด กล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำงานดีขึ้น ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อร่างกายในการควบคุมความดันโลหิต
  • ลดน้ำหนัก เน้นลดการกินอาหารประเภทไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น อาหารมัน อาหารทอด ขาหมู และคาร์โบไฮเดรต พวกแป้งและน้ำตาล เช่น ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน น้ำอัดลม อาหารที่มีความหวานมาก ควบคู่กับการออกกำลังกาย เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน แม้ผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องความอ้วน การลดน้ำหนัก ยังสามารถช่วยลดความดันโลหิตและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เครียด พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เครียด ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน ฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ทำสมาธิ บริหารจิต ฟังเพลง การพักผ่อน เป็นต้น
  • รับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง แจ้งให้แพทย์ท่านทราบถึงยาต่าง ๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวด เป็นต้น รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมียาชนิดใดที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าแพทย์บอกให้หยุด
  • ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ สัปดาห์ละครั้ง โดยควรจดบันทึกวัน เวลา ค่าที่วัดได้ทุกครั้ง พร้อมสื่อสารกับแพทย์ หากมีปัญหาในการควบคุมความดันโลหิต

 

แหล่งข้อมูล : www.honestdocs.co  www.thaihypertension.org  www.medthai.com  
ภาพประกอบ : www.freepik.com
.
เครื่องวัดความดัน

.jpg

ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งใน 4 สัญญาณชีพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) และความดันโลหิต ที่สามารถบอกถึงสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้

 

ความดันโลหิตหรือความดันเลือด (Blood pressure) คือ แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน วัดที่แขนซึ่งจะได้ค่าที่วัด 2 ค่า โดยค่าตัวแรกหรือค่าตัวบน เรียกค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือด และค่าตัวตามหรือค่าตัวล่าง เรียกค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว โดยความดันปกติควรจะต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท โดยหากสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตสูง และหากต่ำกว่า 90/60 มม.ปรอท จะเป็นความดันโลหิตต่ำ ทั้งนี้การวัดความดันโลหิตควรวัดในขณะพัก และวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ห่างกันและหาค่าเฉลี่ยที่วัดได้

โดยความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) อาจต่ำเพียงความดันซีสโตลิค หรือไดแอสโตลิกตัวใดตัวหนึ่ง หรือต่ำทั้งสองตัวก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์ไม่จัดความดันโลหิตต่ำเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา พบได้ทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน และพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ภาวะความดันโลหิตต่ำบางคนไม่มีอาการใด ๆ ในรายที่มีอาการสามารถพบได้ดังนี้ ตาลาย ตาพร่า มองไม่ชัดเจน ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง ทรงตัวไม่อยู่ หน้ามืด เป็นลม กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ผิวซีด/ตัวเย็น โดยอาการที่เป็นชั่วคราว สามารถนั่งพัก ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ในรายที่เป็นบ่อยๆ พักแล้วก็ไม่หายหรือมีอาการอย่างอื่นด้วย ควรพบแพทย์ทันทีเพราะปล่อยไว้อาจทำให้สมองขาดเลือด หมดสติ ชัก นำไปสู่โรคแทรกซ้อนหรืออุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้

 

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ โดยต้องระวังภาวะนี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียน เกิดการล้มได้ง่าย
  • ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน รุนแรง หรือภาวะลมแดด ดื่มน้ำน้อย
  • ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคของต่อมไทรอยด์ และภาวะซีด
  • ผู้ที่กินยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาโรคความดันโลหิตสูง และยาโรคเบาหวาน

 

สาเหตุ

ภาวะความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต การแพ้ยา สารเคมี อาหารอย่างรุนแรง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตสูง ยาไวอากร้า (Viagra) ยาทางจิตเวชบางชนิด
  • การตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนแรก
  • โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคของต่อมหมวกไต โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับหัวใจละหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคพาร์กินสัน
  • สุดท้ายจากพันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาภาวะช็อก ตรวจระดับความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตต่ำ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด (Blood Tests) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter and Event Monitors) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ จะขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

การรักษา

แนวทางการรักษาจะเป็นการเพิ่มความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้

  • การรักษาด้วยการใช้ยา โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ โดยยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยาเพิ่มความดันโลหิต (Vasodilator) ยาแอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone) ยาทางจิตเวชบางตัว (Antipsychotic agents) และยาสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นต้น
  • การให้น้ำเกลือ ในผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือในผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อกขึ้น อาจได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
  • การปรับเปลี่ยนยา หากสาเหตุความดันโลหิตต่ำมาจากการทานยาตัวใดตัวหนึ่งเป็นประจำอยู่

นอกจากนี้ แพทย์จะวางแผนการรักษาโรคหลักที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันต่ำควบคู่ไปด้วย เช่น หากความดันต่ำจากฮอร์โมนผิดปกติ อาจส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ หากความดันต่ำจากการติดเชื้อ อาจส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อ หรือวางแผนการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วยตัวเอง เป็นต้น

 

ข้อแนะนำ และการป้องกัน

  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หรือมากกว่านั้น หากอากาศร้อน เป็นหวัด หรือเสียน้ำมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ และเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
  • ควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ และแบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือ เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน ควรหาที่ยึดจับเมื่อเปลี่ยนท่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • เลือกสวมถุงน่องที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  • ควรยกระดับศีรษะให้สูงกว่าลำตัวในขณะนอน
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ควบคู่ไปกับภาวะความดันโลหิตต่ำ

 

แหล่งข้อมูล

  1. www.pobpad.com
  2. www.mayoclinic.org

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรัง โดยมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณข้อต่อหลาย ๆ ข้อในร่างกาย สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ มองเนื้อเยื่อข้อต่อเป็นสิ่งแปลกปลอม โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20 – 30 ปี และ 50 – 60 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในช่วงอายุน้อย แต่ในช่วงอายุมาก พบได้ทั้ง 2 เพศเท่า ๆ กัน

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้อ่อน ๆ น้ำหนักตัวลดลง และอาการอักเสบรอบ ๆ ข้อ ได้แก่

  • อาการปวด บวม แดง อุ่น ตามข้อต่อขนาดเล็กพร้อมกันหลาย ๆ ข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า บางครั้งอาจพบที่ข้อขนาดใหญ่ เช่น ข้อไหล่ ข้อศอก โดยอาการนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เมื่อใช้งานข้อนาน ๆ จะปวดมากขึ้น
  • อาการข้อฝืดแข็ง ข้อขยับลำบาก มักจะเกิดขึ้นหลังจากไม่ได้เคลื่อนไหวข้อสักระยะเวลาหนึ่ง เช่น ตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ

นอกจากนี้ ยังสามารถพบความผิดปกติที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ปุ่มเนื้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules) ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อนิ่ม ๆ บริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย เช่น ข้อศอก เนื้อเยื่อปลายแขน อาการอักเสบที่กล้ามเนื้อ ปอด เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือด อาการของระบบประสาท เช่น อาการชาและอ่อนแรง และอาจมีอาการอักเสบร่วมกับมีม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ สามารถติดเชื้อและอาจเสียชีวิตได้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการปวดตามข้อ ข้อฝืดข้อติดขัดเวลาไม่ขยับตัวนาน ๆ หรือหลังตื่นนอน โดยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุวางแผนการรักษาทันที

 

สาเหตุ

เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากเกินไป จนทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงเยื่อหุ้มข้อ จนเกิดการปวดและอักเสบขึ้นมา โดยนานไปจะมีการทำลายกระดูก กระดูกอ่อนปลายข้อต่อและเอ็นกล้ามเนื้อ จนทำให้ข้อต่อผิดรูป โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น ได้แก่

  • พันธุกรรม โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วยมีญาติที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย
  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
  • การสูบบุหรี่ ความอ้วน
  • ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางรังสี และตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเกณฑ์ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะอยู่ใน 4 จาก 7 ข้อ ดังนี้

  • อาการข้อแข็งฝืดในตอนเช้า เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง แล้วอาการข้อฝืดหรือขยับไม่ได้นั้นหายไป
  • มีอาการปวดและบวมข้อมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป
  • มีอาการอักเสบของข้อในมือร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น นิ้วมือ ฝ่ามือหรือข้อมือ
  • อาการอักเสบที่เกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นทั้งข้างซ้ายและขวา
  • พบปุ่มเนื้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารภูมิต้านทาน Rheumatoid Factor ในเลือด
  • การตรวจด้วยรังสี พบความผิดปกติของกระดูกรอบข้อ เช่น กระดูกรอบข้อบางลง

 

การรักษา

เป้าหมายในการรักษา เน้นลดการปวด บวม อักเสบของข้อ ป้องกันการเสียหายและผิดรูปของข้อเพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงการรักษาภาวะอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับตัวโรค โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • การใช้ยา โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหลาย ๆ ตัวร่วมกัน ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อลดอาการและป้องกันการทำลายข้อในระยะยาว โดยกลุ่มยาที่ใช้ ได้แก่
    • ยาต้านการอักเสบเอนเสด (NSAIDs) เพื่อลดอาการบวมและอักเสบของข้อต่อเท่านั้น
    • ยาสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดความรุนแรงของการอักเสบและลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง
    • ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรคหรือยากลุ่ม DMARDs (Disease-Modifying Antirheumatic Drugs) เพื่อลดความรุนแรง ชะลอการดำเนินของโรค อีกทั้งควบคุมอาการที่เกิดจากการอักเสบ
    • ยาต้านการทำงานของสารเคมีในกระบวนการอักเสบ เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการจากการอักเสบและลดการดำเนินของโรคได้
    • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกาย กรณีการใช้ยากลุ่ม DMARDs ไม่ได้ผล
  • การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อ เช่น การบริหารข้อมือ ข้อต่อต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น ขยับได้ง่ายขึ้น การแนะนำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วย ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ
  • การผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียม เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว ช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ

ทั้งนี้โรคที่สงบแล้ว อาจกลับมากำเริบได้อีก ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องติดตามการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับมารุนแรง และเพื่อให้การรักษาได้ผลดี ควรมาพบแพทย์ภายใน 1 ปีแรกที่เริ่มมีอาการ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และดูแลป้องกันไม่ดี อาจเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคติดเชื้อ โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) โรคหัวใจ เป็นต้น

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 

 


.jpg

โรคกลาก (Ringworm Tinea, Dermatophytosis) และโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor, Tinea versicolo) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) พบได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย โดยโรคกลากจะเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว อาจมีอาการอักเสบและคันร่วมด้วย สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย ส่วนโรคเกลื้อนจะเป็นผื่นทรงกลมหรือทรงรี ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะมีสีจางหรือเข้มกว่าผิวปกติ โรคเกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ

 

โรคกลาก

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนัง ผิวหนังเป็นจุดแดงหรือปื้นแดง ขอบผื่นมีทั้งแบบที่ยกนูนหรือแบบเรียบ มีตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำรอบผื่น ผิวหนังแห้งเป็นขุยลอกหรือแตก กลากสามารถเกิดได้ในหลาย ๆ จุดของร่างกายและมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น กลากหรือเชื้อราที่ศีรษะ กลากที่เท้า กลากที่มือ กลากที่เล็บ กลากที่ลำตัว กลากที่ใบหน้า กลากที่ขาหนีบ เป็นต้น

กลากและเกลื้อน

ภาพจาก :  Thailandonlinehospital.com/th

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

เมื่อพบว่ามีผื่นหรือตุ่มแดงเป็นวงขึ้นตามร่างกาย รักษาด้วยการทายารักษากลากด้วยตนเอง ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการลุกลามมากขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย

สำหรับอาการที่ตำแหน่งอื่น เช่น ที่หนังศรีษะ หากมีอาการผมร่วง เป็นรังแค มีผื่นแดงที่โคนผม หรือที่เล็บ หากมีอาการ เล็บหนา เปราะ มีสีเปลี่ยนไป หรือเล็บแยกตัวออกจากหนังใต้เล็บ ควรไปพบแพทย์ทันที

 

สาเหตุ

โรคกลากเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนอยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม โรคกลากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรค หรือสัมผัสเชื้อราที่อยู่ในดินและทราย

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกลาก ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่เปียกชื้นบ่อย ๆ ผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีสูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงสูงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน

 

การวินิจฉัย

เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเซลล์ผิวหนังมาย้อมสี เพื่อตรวจหาเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมักจะพบการเปลี่ยนแปลง โดยผิวหนังชั้นนอกหนาตัวขึ้นและมีการสร้างเคราติน (Keratin) มากขึ้น ผิวหนังชั้นในที่เป็นหนังกำพร้ามีการบวมน้ำ พบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่รอบ ๆ หลอดเลือดในชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) และสามารถพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค

 

การรักษา

เมื่อเริ่มมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยให้โรคลุกลาม ยาที่ใช้รักษาอาจจะใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา สำหรับยาทาเฉพาะที่ แพทย์จะให้ยาชนิดที่เหมาะกับสภาพของผื่น เช่น ถ้าเป็นตามตัว มีสะเก็ด ผิวค่อนข้างแห้ง อาจใช้ยาทาที่เป็นขี้ผึ้ง แต่ถ้าเป็นบริเวณซอกที่อับชื้นหรือผื่นมีตุ่มหนอง ตุ่มน้ำใส ต้องใช้ยาประเภท ครีม ผง น้ำยาป้ายทา เป็นต้น

ส่วนยากิน ขนาดและระยะเวลาที่ให้จะต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเชื้อราที่ใด ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะหรือผิวหนัง จะกินยานานประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเชื้อราที่เล็บมือจะให้กินนานประมาณ 4 – 6 เดือน ส่วนเชื้อราของเล็บเท้าไม่นิยมให้ยากิน เพราะไม่ทำให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือ ต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เท้าอบ หรือเท้าเปียกชื้น เชื้อราตามซอกเท้าจะดีขึ้นโดยการใช้ยาทาเฉพาะที่

 

ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน

โดยทั่วไปโรคกลากมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมคุ้มกัน ที่อาจทำให้การรักษาหายช้า นอกจากนี้ การเกาผิวหนังบ่อย ๆ อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น

สำหรับการป้องกันนั้น เนื่องจากการติดเชื้อจากการสัมผัสเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผิวหนังหรืออวัยวะส่วนอื่น

 

โรคเกลื้อน

อาการ

ผู้ป่วยจะเป็นผื่นแบนราบ รูปทรงกลมหรือทรงรี มีขอบเขตของผื่นที่ชัดเจน ผิวสัมผัสบริเวณที่เป็นผื่นจะเป็นขุยละเอียด อาจมีสีแตกต่างกันเนื่องจากการทำงานของเม็ดสีเปลี่ยนไป เช่น สีชมพู เทา น้ำตาล สีขาว ระยะเริ่มจะเป็นผื่นวงขนาดเล็กหลายวง ต่อมาวงผื่นอาจเชื่อมกัน กลายเป็นผื่นผิวหนังขนาดใหญ่ มักเป็นตามบริเวณลำตัว โดยเฉพาะที่หน้าอกและแผ่นหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค

กลากและเกลื้อน

ภาพจาก : Medthai.com

 

สาเหตุ

โรคเกลื้อนมีสาเหตุจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia spp.) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่สามารถก่อโรคได้แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ Malassezia globosa, Malassezia sympodialis, Malassezia furfur เชื้อราเหล่านี้ปกติอาศัยอยู่เฉพาะผิวหนังชั้นนอก ในชั้นที่เรียกว่าชั้นขี้ไคลเท่านั้น เมื่อมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สภาพอากาศที่ร้อนชื้นมาก ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด ปริมาณและชนิดของไขมันบนผิวหนัง ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่าง ทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนัง

สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเกลื้อน ได้แก่ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานมาก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค

 

การรักษา

โรคเกลื้อนสามารถรักษาให้หายด้วยยาต้านเชื้อราในรูปแชมพู ครีม หรือยารับประทานก็ได้

  • การใช้ครีมหรือเจลขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา มีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นจุด อาจรักษาด้วยการทาครีมขจัดเชื้อรา วันละ 1 – 2 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก
  • การใช้แชมพูขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา เป็นผื่นกว้าง การทาแชมพูบริเวณที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออก และทาซ้ำนาน 5 – 7 วัน ทั้งนี้อาจต้องผสมน้ำเพื่อให้เจือจางลงก่อนทา
  • การใช้ยาต้านเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง หรือการใช้แชมพูและครีมไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจได้รับยาชนิดรับประทานจากแพทย์ เป็นระยะเวลา 1 – 4 สัปดาห์

ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เกลื้อนจะค่อย ๆ หายและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยผิวหนังจะเริ่มกลับมาเป็นสีปกติภายในระยะเวลา 1 – 2 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นแต่อย่างใด ทั้งนี้การตากแดดบ่อย ๆ จะช่วยเร่งผิวที่เป็นรอยด่างให้กลับมาเป็นสีเดิมได้เร็วขึ้น

ส่วนในผู้ที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ และมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราให้รับประทาน 2 – 3 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก

 

ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน

เกลื้อนไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพียงแต่จะทำให้ผิวหนังเกิดรอยด่างเป็นดวง ๆ แลดูไม่สวยงาม และอาจก่อให้เกิดความรำคาญในขณะที่มีอาการคัน โดยโรคเกลื้อนมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดเชื้อราเป็นประจำ ทุก 2 – 4 สัปดาห์ หรือวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 2 – 3 วันก่อนออกไปทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอากาศร้อนนาน ๆ หรือทำให้มีเหงื่อออกมาก

 

แหล่งที่มา

  1. www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online
  2. www.pobpad.com
  3. www.medthai.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease, STD) หรือกามโรค หรือโรคผู้หญิง (Venereal disease, VD)  คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสทางเพศ เชื้อโรคจะติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือสารคัดหลั่งจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ การติดต่อนั้นไม่ใช่จากการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการติดต่อทางเลือด จากแม่สู่ลูก การถ่ายเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอาการได้หลากหลาย บางครั้งอาจไม่ปรากฏอาการจนกระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนหรือรู้ว่าอาจติดโรคเมื่อคู่นอนมีอาการและได้รับการวินิจฉัยว่าติดโรคแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้ออาจมีอาการดังนี้

  • มีตุ่มนูนหรือก้อนบวม เป็นแผล บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ปาก หรือทวารหนัก
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ผู้ชายอาจมีน้ำหรือหนองออกมาจากอวัยวะเพศ ผู้หญิงอาจมีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ
  • เจ็บที่ท้องน้อย
  • มีไข้ หนาวเย็น ปวดเมื่อย
  • ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศ อาจมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า
  • รู้สึกเจ็บระหว่างสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ ภายหลังมีอาการหนึ่งอาการใดข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที ทั้งนี้อาการจะแสดงหลังจากการได้รับเชื้อ 2 – 3 วัน แต่บางรายอาจใช้เวลาเป็นปี แต่ระหว่างนั้นอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น นอกเหนือจากผู้มีอาการ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์และคิดว่าตนเองมีโอกาสรับเชื้อ แม้ยังไม่มีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคเช่นเดียวกัน

 

สาเหตุ

เชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ มีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และปรสิต ตัวอย่างเช่น

  • เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อโกโนเรีย (Neisseria gonorrhea) ทำให้เกิดโรคหนองใน เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม เชื้อไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) ทำให้เกิดโรคที่อาการคล้ายหนองในเทียม เชื้อทริปโปนีมา (Treponema Pallidum) ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส เป็นต้น
  • เชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus, HPV) ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูก เชื้อเอชเอสวี (Herpes simplex virus, HSV) ทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ และเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) ทำให้เกิดโรคเอดส์ เป็นต้น
  • เชื้ออื่น ๆ ได้แก่ เชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) ทำให้เกิดโรคพยาธิช่องคลอด และเชื้อรา เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงในการเป็นโรค

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย สวมถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อบางตัวได้เช่นกัน
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย โดยการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสเป็นซ้ำสูง ขณะที่คู่นอนจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงด้วยเช่นกัน
  • การร่วมเพศทางทวารหนัก เพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อสูง หากไม่ป้องกันดีพอ
  • การใช้สารเสพติด เช่น ผู้ที่ใช้เข็มฉีดร่วมกับผู้อื่นมีโอกาสในการติดเชื้อสูง
  • สตรีมีครรภ์

  

การวินิจฉัย

สำหรับผู้ที่มีอาการ แพทย์จะมีการซักถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจหาอาการแสดง การเจาะเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะ สารคัดหลั่งเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่อาจได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ก็ต้องได้รับการตรวจคัดกรองด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองด้วย เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี  สตรีมีครรภ์ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส หนองในแท้ ไวรัสตับอักเสบซี ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

 

การรักษา

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ละโรคมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นการให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตนั้นรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) โดยผู้ป่วยต้องทานยาจนครบกำหนด และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา
  • ยาต้านไวรัส ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่อาจทำให้คู่นอนของผู้ป่วยติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ

 

ภาวะแทรกซ้อน

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น ข้ออักเสบ ติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ภาวะมีบุตรยาก ป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ เกิดภาวะแทรกซ้อนในสตรีมีครรภ์ ทารกติดเชื้อที่ดวงตา เป็นต้น

 

การป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ทำได้โดยเริ่มจากการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น วิธีป้องกันมีดังนี้

  • ยึดมั่นในคู่ครองเพียงคนเดียว ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งนี้อีกฝ่ายต้องไม่เคยได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว
  • ควรเลี่ยงการสอดใส่ หากสงสัยว่าคู่นอนอาจมีเชื้อ ทั้งนี้ตนเองและคู่นอนควรเข้ารับการตรวจการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างละเอียดก่อน
  • เมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์และสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทำออรัลเซ็กส์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ รวมทั้งไม่ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ ร่วมกับถุงยางอนามัย เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยขาดได้
  • ควรตกลงกับคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่ทำได้และไม่ได้เมื่อร่วมเพศกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือใช้สารเสพติด เนื่องจากจะทำให้ขาดสติ และทำพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
  • ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยให้สังเกตอาการของโรคและป้องกันตัวเองได้อย่างปลอดภัยและถูกวิธี

วิธีดูแลและป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคมีวิธีดูแลอาการของโรคและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • หยุดมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ รวมทั้งคู่นอนต้องได้รับการรักษาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอยู่จนหายก่อน
  • การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้ป้องกันกามโรคได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพประกอบด้วย วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสรักษาเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจัดอยู่ในวัคซีนฟรีสำหรับเด็กไทยทุกคนด้วย

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 

 


.jpg

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญที่อื่นที่ไม่ใช่มดลูก โดยส่วนใหญ่พบบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้อง เป็นต้น ต่อมาเยื่อบุดังกล่าวมีการสะสมของเลือด กลายเป็น “ช็อกโกแลตซีส” (Chocolate cyst)” ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน  

 

โรคนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และสูงได้ถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ที่มีอาการปวดประจำเดือนร่วมกับปัญหามีบุตรยาก ทั้งนี้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไม่ถูกจัดเป็นโรคร้ายแรง บางคนอาจไม่มีอาการ ในรายที่มีอาการ มีความรุนแรงได้หลายระดับ ตั้งแต่อาการปวดประจำเดือนน้อย ๆ ไปถึงปวดประจำเดือนมาก หรือปวดเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
อาการของภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่อาจแตกต่างกันไป โดยที่สังเกตได้โดยทั่วไปมีดังนี้

  • ปวดท้องน้อยหรือปวดอุ้งเชิงกรานในช่วงก่อนมีประจำเดือน และปวดมากในช่วงที่มีรอบเดือน
  • เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีอาการเจ็บลึกภายในช่องคลอด ซึ่งจะต่างจากอาการเจ็บจากการสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เจ็บท้องส่วนล่างเมื่อถ่ายหนักหรือปัสสาวะ บางรายอาจมีเลือดปน
  • เลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่ใช่รอบเดือน หรือเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติในช่วงที่มีรอบเดือน
  • อาการระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด หรือรู้สึกคลื่นไส้ โดยเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน
  • ภาวะมีลูกยากหรือตั้งครรภ์ไม่ได้ มีการอุดตันของรังไข่
  • อาการอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค เช่น โรคเกิดที่ระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการปวดปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด โรคเกิดที่ลำไส้ อาจทำให้มีอาการปวดถ่ายอุจจาระ ถ่ายอุจจาระลำบาก เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ปวดประจำเดือนจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน ระบบย่อยอาหาร ระบบปัสสาวะ

 

ภาวะแทรกซ้อน

  1. ภาวะมีบุตรยาก โดยเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ทำให้ท่อนำไข่อุดตัน ไข่ตกไม่สามารถผสมกับอสุจิ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  2. มะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าหญิงทั่วไป

 

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โดยเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่

  • ภาวะประจำเดือนไหลย้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อย โดยเลือดประจำเดือนที่มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก ได้ไหลย้อนเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะอยู่ตามผนังอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ต่อมาได้หนาตัวและสลายเป็นเลือดออกมาตามช่วงของรอบเดือน
  • ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนทำให้เซลล์เยื่อบุช่องท้องเปลี่ยนแปลงและทำงานคล้ายเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก โดยมีการหนาตัวและสลายเป็นเลือดออกมาตามรอบเดือน
  • การไหลของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปตามหลอดเลือดหรือระบบน้ำเหลือง และไปเกาะอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ต่อมามีการหนาตัวและสลายเป็นเลือดออกมาตามรอบเดือน
  • ผู้ที่ผ่าตัดมดลูกหรือผ่าคลอดอาจเสี่ยงต่อโรคนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดไปเกาะอยู่ตามอวัยวะอื่น ๆ ได้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญภายนอกมดลูกได้

 

การวินิจฉัย

สูตินรีแพทย์จะทำการสอบถามอาการและซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และบุคคลในครอบครัวอย่างละเอียด ทั้งการปวดท้อง ปวดประจำเดือน การมีบุตร รวมทั้งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ ตามเหมาะสม เช่น

  • การตรวจภายใน โดยแพทย์จะคลำหาก้อนหรือตรวจความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วย
  • การตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์ MRI เพื่อตรวจความผิดปกติที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • การตรวจส่องกล้อง เป็นการส่องกล้องผ่านรอยผ่าขนาดเล็กใกล้ ๆ สะดือ เพื่อดูว่ามีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่ โดยอาจมีการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดส่องกล้องทุกราย

 

การรักษา

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่บางรายอาการดีขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บางรายยังต้องรับการรักษาเพื่อลดหรือกำจัดอาการ โดยแพทย์สามารถพิจารณารักษาโดย

  • การรักษาด้วยยาและฮอร์โมนบำบัด ใช้ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือน โดยที่ไม่มีหรือมีถุงน้ำที่รังไข่ขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 – 3 เซนติเมตร มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตร เนื่องจากยาจะมีผลต่อฮอร์โมนเพศและกดการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ในระหว่างการรักษา โดยยาที่ใช้ในการรักษามี
    • การใช้ยา เช่น การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์
    • การใช้ฮอร์โมนบำบัด เช่น ยาเม็ด/ยาฉีดคุมกำเนิด ทั้งนี้ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า น้ำหนักตัวเพิ่ม นอกจากนั้นยังมียาฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงลักษณะของเพศชายได้ เช่น ผิวมัน หน้ามัน เป็นสิว มีขนหรือหนวดขึ้น โดยอาการส่วนใหญ่จะหายไปหลังหยุดใช้ยา, ยาฮอร์โมนกอนาโดโทรฟิน ( Gonadotropin-releasing hormone, GnRH) ชนิดฉีด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตร โดยหลังจากหยุดยาแล้ว รังไข่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติทันที แต่ยามีผลข้างเคียง เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ใช้เป็นเวลานานอาจมีภาวะกระดูกพรุน
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร แต่มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง หรือรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดแล้วไม่ได้ผล อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่กระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ แต่จะมีโอกาสกลับมาป่วยได้อีก

โดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ช่วยให้เจ็บน้อย แผลเล็ก โอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดลดลง และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร (Minilaparotomy Myomectomy) และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง (Abdominal Myomectomy)

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพังผืดปริมาณมาก หรือเคยผ่าตัดมาก่อนแล้วพบว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดส่องกล้องจะค่อนข้างเหมาะสมมากกว่า

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


off-disease.jpg

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นที่ทราบกันว่า อาการปวดกล้ามเนื้อคอ หลังและไหล่ เป็นอาการที่เกิดได้ปกติ ในผู้ที่ออกกำลังกายแต่ขาดการอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ แต่ในปัจจุบัน อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ที่ออกกำลังกายเท่านั้น ยังเกิดในผู้ที่ทำงานประจำ โดยเฉพาะงานในลักษณะที่ต้องนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ จึงเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจสำหรับหลายๆคนในวัยทำงาน

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถแบ่งแยกตามระบบของกระดูกและกล้ามเนื้อได้เป็น 9 ประเภท คือ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofacial pain syndrome) เอ็นรัดข้อมืออักเสบและกดทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) เส้นประสาทตึงตัวผิดปกติ (Nerve tension) กล้ามเนื้อด้านนอกของแขนช่วงล่างอักเสบ (Tennis elbow) ปลอกหุ้มเส้นเอ็น ข้อมืออักเสบ (De Quervain’s tenosynovitis) นิ้วล็อก (Trigger finger) เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis) ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (Postural back pain) และหลังยึดในลักษณะแอ่นตัว (Back dysfunction)

ทั้งนี้ยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะตามความรุนแรง คือ

  • ระยะที่ 1 อาการเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หลังจากทำงาน แต่เมื่อได้นวด ยืดกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายก็หายได้
  • ระยะที่ 2 อาการปวดอักเสบคงอยู่ยาวนาน แม้จะนวด ยืดกล้ามเนื้อหรือนอนหลับพักผ่อนแล้ว ก็ยังรู้สึกปวดอยู่
  • ระยะที่ 3 อาการปวดไม่ทุเลาลงเลย ยังปวดมาก แม้จะทำงานเบาแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการอย่างรุนแรง มักมีอาการปวดกระบอกตา ตาแห้ง ตาพร่า หรือแสบตาง่าย เนื่องจากการจ้องคอมพิวเตอร์ยาวนาน ทำให้ดวงตากะพริบน้อยกว่า 20 ครั้งต่อนาที ทำให้เสี่ยงเป็นโรคตาแห้ง หรือ Dry eye syndrome ร่วมด้วย

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
มีอาการปวดเจ็บ พัก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็ไม่หาย มีแนวโน้มเป็นถี่ขึ้นจนกระทบกระเทือนการดำเนินชีวิตปกติ

 

สาเหตุ

ออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการอักเสบที่บริเวณเส้นประสาท กล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด ของอวัยวะส่วนที่ใช้งาน หรือมีการกดทับด้วยน้ำหนักที่มากกว่าปกติ เช่น นิ้วมือ ข้อมือ ลำคอ แขน และหลัง โดยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ประการ คือ

  • การทำงานในท่าเดิมอย่างต่อเนื่อง การอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เช่น โอเปอเรเตอร์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน นักธุรกิจออนไลน์ ฯลฯ ล้วนต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ยาวนานต่อเนื่องวันละมากกว่า 6 ชั่วโมงรวมถึงความเคยชินบางอย่าง เช่น นั่งไขว่ห้าง นั่งหลังค่อม ก้มหรือเงยคอมากเกินไป ทำให้เกิดการทิ้งน้ำหนักอย่างไม่สมดุล จึงเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากกว่าอาชีพอื่น ๆ
  • การออกกำลังกาย โดยขาดการอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอ ปัจจุบันคนวัยทำงานหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง ขี่จักรยาน ไตรกีฬา (วิ่ง-ว่ายน้ำ-และปั่นจักรยาน) และอื่น ๆ การขาดการอบอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายที่เพียงพอ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ง่าย
  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้ขยับตัว ข้อนี้อาจคล้ายกับข้อแรก แต่จะไม่เกี่ยวกับการนั่งทำงาน เช่น การติดมือถือ การติดเกมออนไลน์ กีฬาอีสปอร์ต แม้เป็นวิธีคลายเครียดของคนที่ทำงานออฟฟิศจำนวนหนึ่ง แต่ก็เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจากกล้ามเนื้ออักเสบในระยะยาวได้

การรักษา

อาการออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการพักสายตา ยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทได้ผ่อนคลาย โดยอาจทายาบรรเทาอาการได้ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้ ในระยะเริ่มต้น

แต่หากอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ และยาบรรเทาอาการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการนั่งยืนเดิน ทั้งในและนอกเวลางาน

ในส่วนของการใช้ยานั้น แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ โดยมียาหลายรูปแบบ ให้เลือกใช้ได้ตามความสะดวก อาทิ

  1. ยาเม็ดแก้ปวดทั่วไป คือ ยาพาราเซตามอล เพื่อลดปวด-แก้ไข้ ที่มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบ
  2. ยาเม็ดแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants) ได้แก่ ยา Orphenadrine และยา Tolperisone ซึ่งมีผลข้างเคียง คือทำให้รู้สึกง่วง จึงต้องระวังการขับขี่ยานพาหนะ และเลี่ยงการทำงานที่ต้องมีความละเอียดหรือต้องตัดสินใจสูง
  3. ยาเม็ดแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ได้แก่ ยา Diclofenac, Naproxen, Piroxicam, Aspirin และ Indomethacin เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ เนื่องจากมีโอกาสแพ้ยาสูง (มักมีอาการผื่นแดงคัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก) เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเป็นพิษต่อไตในระยะยาวได้
  4. ยาเม็ดแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids) เป็นยาที่แก้ปวดอักเสบได้ดี แต่มีผลเสียมาก หากใช้ต่อเนื่อง เช่น เกิดอาการบวม กดภูมิคุ้มกันร่างกายทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลหายช้า ฯลฯ
  5. ยาทาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นตัวยาเดียวกับ NSAIDs รูปแบบรับประทาน ในข้อ 3 เช่น ตัวยา Diclofenac ต้องระวังการแพ้ยาเช่นเดียวกัน
  6. ยาทาแก้ปวด ที่ไม่มีส่วนผสมของ ยากลุ่ม NSAIDs (ทำให้ลดโอกาสแพ้ได้) และสามารถใช้ทาได้บ่อย ๆ เนื่องจากออกฤทธิ์เฉพาะที่ โดยนิยมใช้ส่วนผสมจากน้ำมันระกำ (Methyl salicylate) และเมนทอล (Mentol) จึงทำให้มีทั้งสูตรร้อนและสูตรเย็น ให้เลือกใช้ได้ เช่น แบรนด์น้ำมันมวย เคาเตอร์เพน นีโอติก้าบาล์ม เป็นต้น
  7. แผ่นปิดแก้ปวด ตัวยาเดียวกับ ข้อ 6 แต่มีความสะดวกในการใช้ยิ่งขึ้น สามารถปิดแผ่นกาวตามร่างกาย เช่น ข้อมือ หลังคอ บ่า ไหล่ และหลัง เพื่อให้ออกฤทธิ์แก้ปวดอย่างยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมง มีทั้งสูตรร้อนและเย็นเช่นกัน
  8. ยาทาแก้ปวดที่ทำจากสารสมุนไพร ผ่านการวิจัยระดับสากลมาแล้วว่าสามารถลดอาการปวดอักเสบในโรคออฟฟิศซินโดรมได้ เช่น สารสกัดจากเม็ดลำไย สารสกัดแคปไซซิน (Capsicin) จากพริก เป็นต้น

 

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่รีบรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายเรื้อรังต่อกล้ามเนื้อและระบบประสาท (โดยเฉพาะที่นิ้ว ข้อมือและแขนแล้ว) ยังมีอาการแทรกซ้อนในระบบอื่น ๆ ตามมาอีกมาก เช่น อาการหูอื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดไมเกรน วูบหรือวิงเวียนบ้านหมุน ชามือและแขน แขนขาอ่อนแรง กระดูกสันหลังคด จนถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาท

รวมทั้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Chronic non-communicable diseases ,NCDs) อันได้แก่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมการกินอาหารจุบจิบ ของทอด-มัน ขนมหวาน น้ำอัดลมและเครื่องดื่มต่าง ๆ มากขึ้น ในระหว่างการนั่งทำงานอยู่กับที่

นอกจากนี้ ออฟฟิศซินโดรมยังมีผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วย มีการวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่มีอุปนิสัย “บ้างาน” หรือทำงานหักโหม นอกจากจะมีอาการทางกายของโรคออฟฟิศซินโดรมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคทางอารมณ์ หรือ โรคทางจิตเวชมากขึ้นได้ ราว ๆ 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น (Attenteion Deficit Hyperactivity Disorder, ADHD) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder, OCD) โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคเครียด (Stress disorder) และโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่แสดงออกเป็นอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกเมื่อยล้า ฯลฯ

 

การป้องกัน โรคออฟฟิศซินโดรม

การดูแลตนเองและแนะนำคนใกล้ชิด เพื่อป้องกัน “โรคออฟฟิศซินโดรม” ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. การไม่สวมรองเท้าส้นสูงโดยไม่จำเป็น เพราะทำให้การถ่ายเทน้ำหนักไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ในระยะยาวจะมีปัญหาที่กระดูกสันหลังได้ง่าย
  2. เช็คระดับเบาะเก้าอี้ ควรให้ต่ำกว่าเข่า และปรับพนักพิงให้พอดีกับหลัง หรือเสริมเบาะให้พอดีเมื่อนั่งทำงาน
  3. ปรับท่าทางทำงานทุก 20 นาที ด้วยการบิดตัวไปมา ลุกเดินไปดื่มน้ำ-เข้าห้องน้ำ ยืนแกว่งแขนทุก ๆ ชั่วโมง เป็นต้น
  4. การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น เมาส์คอมพิวเตอร์ควรเลือกแบบที่ใช้งานได้ถนัด ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ รวมถึงเม้าส์ปากกา ที่เหมาะกับงานแต่ละอย่าง รวมถึงการวางระดับจอคอมพิวเตอร์ ควรให้พอดีกับระดับสายตา ไม่ควรก้มหน้าหรือเงยหน้าเป็นเวลานาน
  5. วอร์มอัพกล้ามเนื้อ ด้วยท่าทางและเวลาที่เหมาะสมเพียงพอ ก่อนการออกกำลังกาย และคูลดาว์นหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง
  6. ไม่นอนพับแขน เพราะทำให้เกิดการกดทับกล้ามเนื้อคอ ไหล่ และทำให้กล้ามเนื้อที่หลังตึงอักเสบ

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


.jpg

ปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain) คือ ภาวะตึง ปวด หรืออักเสบของกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยร่างกายมีกล้ามเนื้อลายอยู่ 696 มัด มีความหนักรวมเกือบครึ่งของน้ำหนักตัว การใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ หรือมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน

 

อาการ

อาการที่พบได้บ่อย
ปวดกล้ามเนื้อมีอาการได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ปวดหนัก ๆ  ปวดเมื่อยล้า ปวดตึง ปวดเสียวเมื่อยกแขน หรือปวดเมื่อเอี้ยวตัว เป็นต้น โดยอาจปวดเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะช่วงขยับตัว ปกติแล้วผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อสามารถบอกลักษณะการปวด รวมถึงสาเหตุได้ด้วยตัวเอง เช่น ปวดบริเวณหลังจากการไปออกกำลังกาย หรือไปยกของหนักมา เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อใด
อาการปวดมากจนส่งผลต่อการทำงานหรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นร่วม เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ข้อยึดติด น้ำหนักลดลงมากกว่า 10% หรืออาการรุนแรงมากขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

โดยหากปวดไม่มาก ไม่มีอาการอื่นร่วม โดยผู้ที่ปวดอาจรู้สาเหตุ เช่น ภายหลังจากการออกกำลังกาย การยกของหนัก อาจใช้การพักเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ พิจารณาทานยาแก้ปวดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพราะยาอาจมีผลข้างเคียง

สาเหตุ

สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ มักเป็นผลมาจากการใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไปหรือใช้ท่าเดิมซ้ำ ๆ จนเกิดการสะสมของของเสียในกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดตัวและขาดออกซิเจน ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ

แต่ในบางครั้งการปวดกล้ามเนื้อ อาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น การเจ็บป่วยด้วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome/MPS) โรคในกลุ่มออโตอิมมูน (Autoimmune) โรคในกลุ่มผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) กลุ่มอาการล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคติดเชื้อบางชนิด และผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว การปวดกล้ามเนื้อยังมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น ภาวะติดเชื้อ ปวดหลังการฉีดวัคซีน เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ มะเร็ง ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัย โดยการตรวจที่เกี่ยวกับอาการปวด เช่น ตำแหน่งปวด จุดกดเจ็บ ลักษณะการปวด อาการบวม แดง ร้อน ก้อนหรือไตแข็งบริเวณปวด การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวความผิดปกติของข้อบริเวณใกล้เคียง และอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไข้ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน อาการชา อ่อนเพลีย เหนื่อย ผื่นผิวหนัง บวมน้ำ ปัสสาวะน้อย หายใจลำบาก โดยหากแพทย์สงสัยว่าไม่ใช่การปวดกล้ามเนื้อธรรมดา แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจความผิดปกติของเอ็นไซม์และเนื้อเยื่อ การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electrodiagnostic study) เป็นต้น

 

การรักษา

อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากสาเหตุทั่วไป เช่น การใช้กล้ามเนื้อทำงานหนัก ใช้กล้ามเนื้อทำงานซ้ำซาก  สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ด้วยต้วเอง โดยการ

  • ลดกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ช่วง 1 – 3 วันแรก หลังจากนั้นประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ
  • ทำกายบริหารเบา ๆ เพื่อยืดและบริหารกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดอย่างระมัดระวัง

ปกติแล้วอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วไปสามารถดีขึ้นได้ โดยการทำวิธีการที่กล่าวมาด้วยตนเองที่บ้าน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วม แพทย์จะวางแผนการรักษาเพิ่มเติม โดยรักษาอาการปวด เช่น การบำบัดด้วยคลื่นความร้อนลึก การฉีดยา/พ่นสเปรย์ให้ชา การปรับรูปแบบการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล พร้อมไปกับการรักษาเฉพาะโรคที่เป็นสาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

อาการปวดกล้ามเนื้อหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น อาจรบกวนการนอน จนเกิดภาวะนอนไม่หลับ ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้าตามมา หรือบางรายอาจนำไปสู่โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ผู้ป่วยจะมีประสาทสัมผัสไวต่ออาการปวด จนทำให้เกิดภาวะปวดทั่วร่างกาย

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ปวดกล้ามเนื้อ

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยเฉพาะก่อนและหลังการออกกำลังกาย
  2. ยืดกล้ามเนื้อหรืออบุอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนัก ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การยกแบกของ เป็นต้น
  3. ในระหว่างการใช้กล้ามเนื้อซ้ำเป็นเวลานาน เช่น นั่ง ยืน เดินนานๆเป็นชั่วโมง ให้ลุก พัก เปลี่ยนอริยาบทเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย กลับสู่ภาวะพร้อมทำงานใหม่อยู่เสมอ ๆ

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


.jpg

อาการซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบปัญหาหรือภาวะกดดันทางจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดจากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การไม่สมหวังจากการเรียนหรือการทำงาน มีบางเรื่องที่ไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการจะหายไปเมื่อภาวะกดดันลดลง อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยกดดันและความแตกต่างในแต่ละบุคคล ทำให้อาการต่อเนื่องจนเกิดเป็น โรคซึมเศร้า (Depression disorder) ได้

 

อาการ

อาการของโรคซึมเศร้า มีตั้งแต่ระดับที่รุนแรงน้อยไปถึงรุนแรงมาก สามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น เบื่อหน่าย ไม่สบายใจ ไม่อยากทำกิจกรรมอะไร นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ขาดสมาธิ ขาดความมั่นใจในตัวเอง มองโลกแง่ร้าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวมักเกิดติดต่อเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ส่งผลทำให้ผู้ที่มีอาการไม่สามารถดำเนินชีวิตหรือทำงานได้อย่างปกติ

เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีแบบประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง โดยให้ผู้สนใจลงคะแนนลักษณะแต่ละข้อที่เกิดขึ้นดังนี้

คลิกไปกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th

 

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอารมณ์ซึมเศร้าเกือบตลอดเวลา และความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงทั้งหมดเกือบตลอดเวลาเช่นเดียวกัน หรืออาจมี 1 – 2 อาการเพิ่มเติมดังนี้ น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน เบื่ออาหารหรือกินอาหารมาก นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากไป กระวนกระวาย อยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า สมาธิลดลง ใจลอยหรือลังเลใจไปหมด รวมถึงการคิดเรื่องการตาย

 

สาเหตุ

โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่

  • กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
  • สารเคมีในสมอง พบว่าสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง
  • ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

ทั้งนี้โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่มักจะเกิดจากหลายๆปัจจัยประกอบเข้าด้วยกันโดยมีบางปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น แม้ว่าบางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย ตัวอย่างของปัจจัยที่กดดันภาวะทางจิตใจจนอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า ได้แก่ การเคยถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก การเข้มงวดเลี้ยงดูแบบคาดหวังสูง การพลัดพรากจากพ่อแม่ ความกดดันในช่วงสอบเรียนต่อหรือเข้าทำงานที่ใหม่ การต้องรับผิดชอบงานที่ยากหรือไม่ถนัด การสูญเสียทรัพย์สินอย่างกะทันหัน ผิดหวังในความรัก วัยทองที่เพิ่งเกษียณและยังปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้กับผู้ที่เป็นโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

ในเบื้องต้นแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เนื่องจากมีโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคแพนิค และโรคทางร่างกาย รวมถึงการรับประทานยาบางตัวทำให้เกิดอาการคล้ายโรคซึมเศร้าได้ เช่น สมองอักเสบ ตับอักเสบ โรคระบบประสาท เนื้องอกในสมอง โรคเอส แอล อี (SLE) วัณโรค ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคคุชชิ่ง หรือการทานยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยากลุ่มสเตียรอยด์และฮอร์โมน บางตัว เป็นต้น

ในการวินิจฉัย โดยทั่วไปแพทย์จะมีขั้นตอนการซักประวัติ ถามอาการหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถามปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้น ถามประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในอดีต โรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำ ถามประวัติความเจ็บป่วยในญาติสายเลือดเดียวกัน รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมจากญาติหรือผู้ใกล้ชิด นอกจากนี้จะมีการตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษที่จำเป็น ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ที่พบ

 

การรักษา

ภายหลังแพทย์ได้ตรวจร่างกายและทำการคัดกรองแยกโรคอื่นๆ รวมถึงประเมินความรุนแรงของอาการซึมเศร้าแล้ว  ในการรักษาแพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน ทั้งการใช้ยาควบคู่กับการใช้เทคนิคทางจิตบำบัด ดังนี้

  • การใช้ยาต้านซึมเศร้าทางการแพทย์ โดยมียาอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยากลุ่ม TCAs เช่น ยา Amitriptyline, Nortryptyline, Imipramine ยากลุ่ม SSRIs เช่น ยา Fluoxetine, Fluvoxamine, Sertraline, Paroxetine, Escitalopam ยากลุ่ม SNRIs เช่น ยา Venlafaxine, Desvenlafaxine และ Duloxetine และยากลุ่ม SARIs เช่น ยา Trazodone นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ยาช่วยนอนหลับ (Sedative drugs) หรือ ยาคลายภาวะวิตกกังวล (Anxiolytic drugs) เป็นต้น
  • การใช้วิธีการทางจิตบำบัด (Psychotherapy) ที่ได้ผลดีในการรักษาโรคซึมเศร้าคู่กับการใช้ยา โดยมุ่งเน้นที่การปรับทัศนคติและมุมมองต่อสิ่งรอบตัว จากที่เป็นเชิงลบ ให้มีความผ่อนคลายและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้สมาธิบำบัด (Mindfulness-based stress reduction) เป็นการตามรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อเรียกสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ลดความฟุ้งซ่าน คิดมาก ที่ทำให้วิตกกังวลและซึมเศร้า

โดยโรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจจะกลับมาดีขึ้น จนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น โดยข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นอาจต่างกันไปในแต่ละคน แต่หากได้รับการรักษาถูกต้องตามสาเหตุและบำบัดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยลดระยะเวลาให้อยู่ในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคซึมเศร้า

  1. พบแพทย์ตามนัด เพื่อการประเมินอาการ ปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนไปใช้กิจกรรมบำบัดตามความเหมาะสม
  2. หาเวลาทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ช่วยเสริมผลดีให้แก่การรักษา เช่น การพูดคุยกับผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวก เช่น เพื่อน พี่น้อง เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ที่ผ่อนคลายขึ้น การได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ทำอาหาร วาดรูป ต่อจิ๊กซอว์ ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสมาธิและลดความฟุ้งซ่าน หรือการออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก เช่น โยคะ แอร์โรบิคพื้นฐาน เป็นต้น

สำหรับการป้องกัน แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • วางลำดับสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลัง ตามความเร่งด่วนและความสำคัญ
  • ฝึกปฏิเสธงานที่เกินความสามารถ โดยเฉพาะงานที่ทำให้ความกดดันและความเครียดเพิ่มมากขึ้น
  • ฝึกปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ที่เกิด โดยมุ่งเน้นการทำงานต่างๆให้ดีที่สุด
  • ลดการตั้งเป้าหมายที่สมบูรณ์แบบ หรือเต็ม 100% ซึ่งทำให้เคร่งเครียด และเสี่ยงกับความผิดหวังสูง
  • ฝึกทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เช่น พาคนสายตาพิการออกกำลังกาย อ่านหนังสือนิยายสนุก ๆ ให้คนพิการทางสายตาฟัง หรือการเป็นอาสาสมัครสร้างบ้าน-โรงเรียน-สอนอาชีพให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ฯลฯ เพื่อสร้างความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง
  • ฝึกฝนการมองโลกในบวกอยู่เสมอ ด้วยการอ่านหนังสือ รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้ที่มองโลกแง่บวก

 

แหล่งที่มา

  1. www.med.mahidol.ac.th/ramamental/
  2. www.manarom.com, โรงพยาบาลมนารมย์

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก