ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในลำไส้ใหญ่ และเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้จัดอยู่ในหนึ่งในสามของชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด

 

อาการแสดง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในบางครั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งอาการที่พบอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นอืดท้อง อุจจาระผิดปกติ (ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระลำเล็กลง) อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีอาการเหล่านี้หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • อายุมากกว่า 50 ปี โดยพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่กว่า 90 % พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรืออาหารที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียมเป็นประจำ และทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย
  • ผู้ที่มีประวัติเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้
  • มีประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เป็นเวลานาน

 

การตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เชื่อว่ามีการพัฒนาเป็นขั้นตอนจากเนื้อเยื่อปกติ เกิดเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ (Colonic polyps) และพัฒนาไปจนเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 10 – 15 ปี ดังนั้น การตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่และทำการตัดออก จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 88 – 90 เทียบกับกลุ่มที่มีติ่งเนื้อแต่ไม่ได้ตัดออก และแม้จะพบเมื่อเป็นมะเร็งแล้ว หากพบในระยะเริ่มต้นก็ยังสามารถทำการรักษาได้

เนื่องจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการร่วมกับอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบค่อนข้างมาก จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ปานกลาง ควรเริ่มตรวจคัดกรอง เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือติ่งเนื้อในลำไส้ ควรเริ่มทำการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น โดยทั่วไปมักเริ่มทำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี

 

วิธีการตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระ (Fecal occult blood test: FOBT) พบว่าช่วยให้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 33% เมื่อตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ และมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน และเมื่อตรวจพบความผิดปกติแล้วจำเป็นต้องใช้การตรวจอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยต่อไป
  • การส่องกล้อง Sigmoid (Sigmoidosopy) เป็นการส่องกล้องทางทวารหนัก โดยใช้กล้องแบบอ่อนยาว 60 เซนติเมตร ซึ่งจะดูลำไส้ส่วนปลายทางด้านซ้ายได้ แต่ดูได้ไม่ตลอดความยาวลำไส้ โดยถ้าพบติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อทุกราย
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ถือเป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจสูงที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด กรณีที่ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางกล้องเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้หากผลตรวจปกติ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 5-10 ปี
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ (CT colonography) เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติขึ้นมา มีความไวและความจำเพาะสูงพอสมควร โดยขึ้นกับขนาดของติ่งเนื้อ ถ้าติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ความไวและความจำเพาะของการตรวจจะลดลง และเมื่อตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่แล้ว ต้องทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
  • การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Barium enema) โดยการสวนแป้งแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบรังสีให้ผู้ป่วย และถ่ายภาพเอกซ์เรย์การเคลื่อนตัวของแป้งแบเรียมผ่านระบบทางเดินอาหารในส่วนของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพื่อตรวจหาเนื้องอกหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีความไวและความจำเพาะค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และพบว่ามีโอกาสตรวจไม่พบมะเร็งในผู้ป่วยที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ถึง 1 ใน 5
  • การตรวจค่า Carcino embryonic antigen (CEA) มีความไวและความจำเพาะต่ำ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปการตรวจเลือดหาค่า CEA จะมีประโยชน์ในการติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า

 

การรักษา โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องดูความรุนแรงของโรคและชนิดของมะเร็ง  ลำไส้ใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็น ทั้งนี้อาจใช้การรักษาเพียงวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน

  1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดบริเวณส่วนใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน การรักษาด้วยการผ่าตัดมักต้องรักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัด อาจเป็นก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  2. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยเป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้หลังการผ่าตัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งได้มีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลือง และช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาของเซลล์มะเร็งได้ หรืออาจใช้ก่อนวิธีการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลง ในผู้ป่วยที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วร่างกายจะช่วยบรรเทาอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. การฉายรังสี (Radiation Therapy) โดยการฉายรังสีพลังงานสูงเข้าไปบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกให้เล็กลงก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้กำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเติบโตขึ้นมาใหม่หลังการผ่าตัด รวมไปถึงบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค วิธีนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด 

 

แหล่งที่มา

  1. Sleisenger and Fordtran’s Gastrointestinal and liver disease.10th edition, 2016
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่; www.pobpad.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

ท้องผูก เป็นภาวะที่พบบ่อย ประมาณร้อยละ 15 – 20 ของคนทั่วไปมักจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน บางคนหงุดหงิด ไม่สบายใจ บางคนแน่นท้อง ไม่สบายท้อง บางคนถึงกับนอนไม่หลับกระสับกระส่าย สมาธิการทำงานเสียไป ปัญหาท้องผูกมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ

 

จากการรวบรวมการศึกษาคุณภาพดี 13 การศึกษา (3 การศึกษาในเด็ก) พบว่า อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านกาย ใจ สังคมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กมักจะให้คะแนนคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์ และสังคมของเด็กต่ำกว่าที่เด็กให้คะแนนตัวเอง เพราะเด็กมักจะไม่คิดว่าท้องผูกเป็นปัญหาของตัวเอง

สำหรับผู้ใหญ่ อาการท้องผูกเรื้อรังมีผลด้านจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น มีผลต่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย มากกว่าความรู้สึกไม่สบายท้อง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังลดลงพอ ๆ กับผู้ป่วยเบาหวาน เข่าเสื่อมเรื้อรัง โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคภูมิแพ้เรื้อรัง สรุปว่า ท้องผูกเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ท้องผูกเป็นประจำในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด (Constipation and risk of cardiovascular disease among postmenopausal women. Salmorirago-Blotcher E.Am J Med2011; 124:714)

 

ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมแบบชาวตะวันตก รวมทั้งสังคมไทย (เขตเมือง)

ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนปี ค.ศ. 2000 มีการประเมินว่า คนอเมริกันพบแพทย์ด้วยปัญหาท้องผูก 2.5 ล้านคน/ปี และเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรังมาก

ประเทศไทยยาแก้ท้องผูกเป็นยาที่ใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จากการศึกษาที่ผ่านมาบอกให้เรารู้ว่า ท้องผูกมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ท้องผูกเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย (ผัก ผลไม้) น้อยเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพิ่มโอกาสเบาหวาน ดังนั้น อาการท้องผูกน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาที่ชื่อว่า Women’s Health Initiative ในผู้หญิงชาวอเมริกัน 9 หมื่น 3 พันกว่าคน ที่ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 6.9 ปี จากข้อมูลการขับถ่ายที่รายงานโดยผู้หญิงในโครงการ 7 หมื่น 3 พันกว่าคน พบว่า อาการท้องผูกพบร้อยละ 34.7 แบ่งเป็นอาการไม่มาก (ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน) ร้อยละ 25.7 อาการปานกลาง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง) ร้อยละ 7.4 และอาการรุนแรง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากถึงมากที่สุด) ร้อยละ 1.6

 

อาการท้องผูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ (อายุยิ่งมาก โอกาสท้องผูกจะยิ่งมากขึ้น) ตามการสูบบุหรี่ เบาหวาน ไขมัน โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง อ้วน การออกกำลังกายน้อย รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ภาวะซึมเศร้า และประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย

สำหรับอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหรือใส่ขดลวดในหลอดเลือด และการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังปานกลางถึงรุนแรง เกิดโรคหรือภาวะดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 1.42 และ 1.91 ในเวลา 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก เกิดโรคดังกล่าวร้อยละ 0.96 หมายความว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ เพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการท้องผูก แต่หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นแล้ว พบว่าผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเท่านั้น ที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก สรุปว่า อาการท้องผูกเป็นตัวบ่งบอกพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น รับประทาน เส้นใยอาหารน้อย มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่) และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความอ้วน เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า) ขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยบอกโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ

 

ทำอย่างไรดีถ้าท้องผูกเรื้อรัง

  • อันดับแรกคือ หาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราท้องผูก ตัวเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากหรือไม่ ควรรับประทานผักสดอย่างน้อย 2 ฝ่ามือ/มื้อ (ผักสุก 1 ฝ่ามือ/มื้อ) ผลไม้ 15 คำ/วัน ธัญพืชได้รับประทานบ้างหรือเปล่า
  • ยาหรืออาหารบางอย่างที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยาแคลเซียมเม็ด ฝรั่ง ชา กาแฟ
  • นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ยอมขยับทั้งวันหรือไม่มีโอกาสเดินเร็ว ออกกำลังกาย วันละครึ่งชั่วโมงหรือยัง เครียด หงุดหงิด ซึมเศร้าทั้งวัน ยิ่งเครียด ลำไส้ยิ่งไม่ทำงาน ท้องยิ่งผูก
  • ลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช เส้นใยอาหาร เช่น มะขาม มะละกอ ลูกพรุน ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายป็นประจำ อารมณ์เบิกบาน แจ่มใส คลายเครียด คลายกังวล

 

ถ้าอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุท้องผูกเรื้อรังและแก้ไขต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

 

ผศ.นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-เมื่อต้องเดินทาง.jpg

อาหาร และการกินสำหรับผู้ดูแลสุขภาพหรืออยู่ระหว่างการลดน้ำหนัก หากต้องเดินทาง ซึ่งมีทั้งในและต่างประเทศ โดยรูปแบบการกินไม่สามารถกำหนดเป็นแบบที่กินอยู่ประจำได้ มาดูแนวทางเบื้องต้นบ้างว่า ควรทำอย่างไร

 

การเลือก ” อาหาร หรือ การกิน ” สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

 

  1. เลือกอาหาร และของว่างที่ดีต่อสุขภาพไว้ก่อน เลือกอาหารแบบที่คุณทานตามปกติเมื่ออยู่บ้าน เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ซึ่งปลอดภัยและดีกว่าของว่างกรุบกรอบ หากไม่มั่นใจในความสะอาดของผลไม้ ใช้น้ำขวดที่พกไปด้วยล้างผักผลไม้ให้สะอาดอีกรอบ หรือปอกเปลือกผลไม้เลยก็ได้
  2. เตรียมขนมและของว่างจากบ้านไปเอง บางสายการบินอนุญาตให้เอาของว่างขึ้นเครื่องได้ อย่าลืมตรวจสอบกับสายการบินด้วยว่ามีข้อห้ามอะไรหรือไม่เรื่องการนำอาหารไปเอง เมื่อไปพักโรงแรม คุณอาจไปสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดใกล้ ๆ เพื่อซื้ออาหารสดและกล่องอาหารเล็ก ๆ แล้วเตรียมอาหารง่าย ๆ แช่ตู้เย็นไว้รับประทานเอง
  3. หากจำเป็นต้องสั่งอาหาร ขอดูเมนูภาษาอังกฤษเสมอ อย่าสั่งอาหารที่คุณไม่รู้จักหรือแค่อยากลองของแปลก หากอยู่ในประเทศที่พูดคนละภาษา พยายามจดจำคำศัพท์ง่าย ๆ พื้นฐานไว้ เช่นไข่ ผัก น้ำสะอาด นม เนื้อไก่ ขนมปัง เผื่อในกรณีที่ไม่มีคนรอบข้างพูดอังกฤษได้เลย คุณจะยังสั่งอาหารได้อย่างปลอดภัย
  4. ในสถานที่ซึ่งผลไม้ดูแล้วไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด ให้เลือกผลไม้ที่มีเปลือกหนาเอาไว้ก่อน เช่น กล้วย ส้ม และถ้าอยากสั่งผัก เลือกผักลวกหรือต้มปลอดภัยกว่าผักสด
  5. หากสั่งอาหารที่ต้องปรุงสุก ดูให้แน่ใจว่าปรุงสุกทั่วถึงดีแล้ว ไม่จำเป็นอย่าสั่งอาหารดิบ เลือกรับประทานแต่อาหารที่ปรุงร้อนควันกรุ่น ๆ เท่านั้น
  6. ดื่มน้ำบรรจุขวดที่ดูน่าเชื่อถือ สังเกตความใสของน้ำทุกครั้ง อย่าดื่มน้ำจากก๊อก เพราะบางประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับความสะอาดของน้ำ และน้ำแข็งก็อาจทำจากน้ำก๊อกก็ได้ เพื่อความปลอดภัยพยายามใช้น้ำบรรจุขวดเท่านั้นเพื่อแปรงฟัน
  7. เลือกร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเอาไว้ก่อน หลีกเลี่ยงร้านเล็ก ๆ ตามตรอกซอยซึ่งอาจไม่สะอาดนัก และหลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารดิบ
  8. ถ้าไม่มั่นใจ อย่าดื่มนม เพราะมาตรฐานความสะอาดในการผลิตนมของแต่ละประเทศต่างกัน
  9. เลือกผลไม้เปลือกหนาที่ต้องปอกเปลือกเสมอ และพยายามปอกเองด้วยหากทำได้

 

นอกจากทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว พยายามอย่ากินอาหารแบบเดิมซ้ำ ๆ และสำรวจตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหลังจากกินอาหารอะไรบ้าง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง เพื่อครั้งต่อไปจะได้หลีกเลี่ยง หากทำได้เช่นนี้ คุณจะปลอดภัยจากเชื้อโรค ห่างไกลอาการไม่พึงประสงค์ เช่น การแพ้อาหาร อาหารไม่ย่อย และยังคงบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ แม้เมื่ออยู่ไกลบ้าน

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.everydayhealth.com
ภาพประกอบ : www.unsplash.com


-และมีประโยชน์อะไรบ้าง.jpg

มะนาว (Lemon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus aurantifolia Swing. มีสารสำคัญได้แก่ ผิวของผลมีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ประกอบด้วย Citral, Imonnene, linadol, linalylacetate cymene, terpineol

 

มะนาวมี Citric acid และวิตามินซีในใบม้ำมันหอมระเหยจำพวก coumarin, isopimpinellin และยังประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี วิตามินบี 1, 2 และ 4

 

มะนาวจึงสามารถใช้รักษาอาการเบื้องต้นของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น

  1. โรคลักปิดลักเปิด น้ำมะนาวมีวิตามินซีสูงมาก จึงมีฤทธิ์รักษาโรคลักปิดลักเปิด โดยการดื่มน้ำมะนาวเป็นประจำ
  2. อาการไอ เจ็บคอ เสียงแหบแห้ง ใช้น้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย กรดที่มีในน้ำมะนาวจะช่วยกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมา ทำให้เกิดการชุ่มคอ และลดการระคายคอ
  3. แก้ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้เปลือกมะนาวคลึงให้น้ำมันออก แล้วชงน้ำดื่ม น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกจะช่วยแก้อาการปวดท้อง และท้องอืดท้องเฟ้อได้
  4. บรรเทาการปวดศีรษะ โดยการนำปูนแดงทาบนมะนาวที่ฝานผ่าครึ่ง แล้วปิดบริเวณขมับ จะบรรเทาอาการปวดศีรษะได้
  5. แก้ก้างปลาติดคอ โดยบีบน้ำมะนาวลงคอ กรดในน้ำมะนาวจะทำให้ก้างปลาอ่อนลง และหลุดได้
  6. แก้หัวโน นำน้ำมะนาวผสมดินสอพองพอกบริเวณที่โน จะทำให้เย็นและยุบตัวเร็ว

 

ประโยชน์อื่น ๆ ของมะนาว

มะนาวนอกจากจะช่วยรักษาอาการเบื้องต้นของโรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประโยชน์อีก เช่น น้ำมะนาวสามารถนำมาปรุงแต่งอาหารให้มีรสเปรี้ยว และดับกลิ่นคาว เช่น ใส่ในน้ำพริกกะปิ ต้มยำ อาหารประเภทยำ ลาบ ส้มตำ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังใช้ทำน้ำมะนาวคั้น บ๊วยรสมะนาว มะนาวแช่อิ่ม มะนาวดอง รับประทานเป็นขนมหรือของว่างได้ ส่วนประโยชน์ในด้านความงามนั้น นำน้ำมะนาวผสมกับดินสอพอง ขมิ้นชันผง พอกหน้าลดการอักเสบของสิวได้ดี หรือเปลือกมะนาวที่เหลือนำมาถูตามข้อศอก หัวเข่า ซอกเล็บ และส้นเท้า จะช่วยลดการด้าน และส้นเท้าแตกได้

การจะใช้น้ำมะนาวให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น มีข้อแนะนำว่า วิตามินซีในน้ำมะนาวจะสลายตัวง่ายในความร้อน จึงควรที่จะปรุงน้ำมะนาวเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบอาหาร


-ใช้สมุนไพรอะไรไดบ้าง.jpg

ก่อนที่จะหาสมุนไพรมารับประทานเพื่อลดความอ้วน ควรมารู้จักโรคอ้วนก่อนว่า หมายถึงอะไรและเกิดจากอะไร

 

โรคอ้วน หมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากเกินไป โดยการวัดจากดรรชนีมวลรวมของร่างกาย (Body Mass Index) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BMI

 

ส่วนสาเหตุของโรคอ้วน นั้นเกิดมาจาก

  1. พฤติกรรมการรับประทานอาหารตามใจปากมากเกินไป เกินความต้องการของร่างกาย จึงถูกสะสมไว้ในร่างกาย เมื่อมีมากเกินไปก็จะกลายเป็นไขมันพอกพูนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  2. ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไธรอยด์ และกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกาย คือ อัตราความสามารถในการใช้พลังงาน และเผาผลาญของร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุ
  3. กรรมพันธุ์ ถ้าพ่อและแม่อ้วน ลูกมีโอกาสอ้วนถึง 80% แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกมีโอกาสอ้วนถึง 40%
  4. เพศ เพศหญิงมีโอกาสอ้วนได้ง่ายกว่าเพศชาย โดยธรรมชาติเพศหญิงมักรับประทานได้ตลอดเวลา อีกทั้งต้องตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรับประทานอาหารเพื่อบำรุงร่างกายและทารกในครรภ์ หลังคลอดแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้
  5. อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสอ้วนง่ายขึ้นทางเพศชายและหญิง ซึ่งเนื่องมาจากการใช้พลังงานน้อยลง
  6. ยา ผู้ป่วยบางโรค จะได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็ทำให้อ้วนได้ หรือในเพศหญิงที่ฉีดยา หรือรับประทานยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน (อ้างอิง : www.thailabonline.com)

ดังนั้น การที่จะลดความอ้วนให้ได้ผลดี ก็ต้องปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนการใช้สมุนไพรเพื่อลดความอ้วนนั้น ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าไม่มียาสมุนไพรตัวใดช่วยลดความอ้วนโดยตรง แต่ช่วยลดปัจจัยที่ทำให้อ้วนได้ อย่างเช่น สมุนไพรบุก เม็ดแมงลัก ซึ่งจะมีกากใยและพองตัวในกระเพาะ ทำให้รู้สึกอิ่ม โดยไม่ต้องรับประทานอาหารมากนัก หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย เช่น มะขามแขก ชุมเห็ดเทศ จะช่วยลดการดูดซึมโมเลกุลของไขมันเข้าสู่ผนังลำไส้ คือ ช่วยระบายไขมันออกมาพร้อมกับอุจจาระ โดยทั่วไปคนอ้วนมักจะท้องผูก เนื่องจากกินอาหารจำพวกเนื้อ ไขมัน เนย แป้ง ซึ่งเป็นอาหารไม่มีกากใยขณะเดียวกันโมเลกุลของไขมัน โปรตีน น้ำตาล ก็ถูกดูดซึม เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผนังลำไส้เป็นจำนวนมาก ไม่ถูกขับถ่ายมาพร้อมกับกากใย เมื่อมีแต่เข้าไม่มีออกแบบนี้จึงทำให้อ้วนได้

 

ภาพประกอบจาก: www.lovepik.com


-จะใช้สมุนไพรอะไรช่วยได้บ้าง.jpg

ท้องผูก เป็นอาการภาวะผิดปกติของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระน้อยผิดปกติ โดยทั่วไปน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่าผิดปกติ และอุจจาระเป็นก้อนแข็ง

 

สาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก

  1. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย
  2. ผลจากการรับประทานยา เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้ความดันโลหิตสูง ยาลดกรด
  3. ภาวะที่ร่างกายมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และโรคระบบประสาท นอกจากนี้ อาจเกิดจากการมีเนื้องอก หรือมะเร็ง เข้าไปอุดตันบริเวณลำไส้

เพราะฉะนั้น การรักษาอาการท้องผูกจึงต้องดูจากสาเหตุและอาการร่วมอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดท้องมากผิดปกติ ถ่ายเป็นมูกเลือด น้ำหนักลด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด ถ้าเป็นไม่มาก และไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใย ให้ปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทาน และดื่มน้ำมาก ๆ และออกกำลังกายให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหว เพื่อเป็นการบรรเทาอาการเบื้องต้น แต่ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือจะใช้สมุนไพรช่วย ก็มีสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการระบาย ดังนี้

  1. ขี้เหล็ก (Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby) ใช้ใบอ่อน ดอก และแก่นแห้ง ประมาณ 4 – 5 กำมือ น้ำหนัก 20 – 25 กรัม ใส่น้ำให้ท่วมตัวยา ต้มนาน 25 นาที ดื่มก่อนอาหารเช้า หรือก่อนนอน
    ข้อแนะนำ ให้ใช้ในขณะที่มีอาการท้องผูก ห้ามใช้เป็นประจำและห้ามใช้ในบุคคลที่กำลังตั้งครรภ์แก่
  2. ชุมเห็ดเทศ (Senna alata (L.) Roxb.) ใช้ใบตากแห้งคั่วจำนวน 12 – 15 ใบย่อย ต้มกับน้ำพอควร ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้า หรือใช้ช่อดอกสด 1 – 3 ช่อดอก ลวก จิ้มน้ำพริก
    ข้อแนะนำ ให้คั่วใบชุมเห็ดเทศทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  3. คูณ (Cassia fistula L) ใช้เนื้อในฝักแก่สีน้ำตาลดำ ประมาณ 2 หัวแม่มือ น้ำหนัก 4 – 5 กรัม ต้มกับน้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอน หรือเช้ามืดก่อนรับประทานอาหาร
  4. มะขาม (Tamarindus indica L) เนื้อมะขามเปรี้ยว 70 – 150 กรัม ประมาณ 10 – 20 ฝัก จิ้มเกลือรับประทาน ดื่มน้ำตามมาก ๆ หรือใส่น้ำพอประมาณต้มเดือดใส่เกลือเล็กน้อย รินน้ำดื่ม
  5. มะขามแขก (Senna alexandrina Mill) ใช้ใบแห้ง 3 – 10 กรัม หรือฝัก 5 – 8 ฝัก ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงด้วยน้ำเดือด รับประทานก่อนนอน หรือเช้ามืดก่อนอาหาร
    ข้อแนะนำ เพื่อป้องกันการเสาะท้องให้ใส่กระวาน 1 – 2 ผล หรือกานพลู ทุบพอแหลก 1 – 2 ดอก ลงไปด้วย สตรีมีประจำเดือน หรือกำลังตั้งครรภ์ห้ามใช้ ห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  6. แมงลัก (Ocimum americanum L) ใช้เม็ดแมงลัก 1 – 2 ช้อนชา เติมน้ำเมื่อพองเต็มที่ ดื่มก่อนรับประทานอาหาร

 

ภาพประกอบจาก: www.lovepik.com


-ช่วยลดความอ้วนได้หรือไม่.jpg

บุก เป็นพืชพื้นเมืองของไทย มักขึ้นในที่ชื้น ลำต้นมีลายขาว ๆ มีหนามเล็ก ๆ มียาง ซึ่งหากถูกแล้วจะคัน หัวบุกมีขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาวอมเหลือง ละเอียดเป็นเมือกลื่น เรากินบุกกันทั้งใบและหัว หัวบุกมีแป้งประมาณร้อยละ 67 มีโปรตีนร้อยละ 5 – 6 สารแป้งที่อยู่ในหัวบุกเรียกว่าแมนแนน (mannan) เมื่อสารนี้ถูกทำให้แตกตัวจะได้กลูโคสกับแมนโนส หรือที่เรียกกันว่ากลูโคแมนแนน (glucomannan) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลกลูโคสและแมนโนส เมื่อสกัดแยกออกมาเป็นผงแห้งจะมีลักษณะคล้ายเม็ดทราย เมื่อละลายน้ำที่อุณหภูมิห้องปกติจะดูดน้ำพองตัวได้ถึง 200 เท่า (สารบริสุทธิ์) กลายเป็นวุ้นใยอาหารธรรมชาติ

 

วุ้นใยอาหารธรรมชาติจากบุก มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ คือ

  1. เป็นวุ้นที่ให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงานเลย ถ้าเป็นสารสกัดที่บริสุทธิ์เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยบางประเภท
  2. คงทนต่อน้ำย่อยในกระเพาะ และคงสภาพได้นาน 36 – 48 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคกระเพาะ ที่มักจะเกิดปัญหาเมื่อรับประทานอาหารผิดเวลา
  3. การรับประทานผงวุ้นก่อนมื้ออาหารปกติประมาณครึ่งชั่วโมง การพองตัวของวุ้นจะช่วยให้รับประทานอาหารน้อยลง อิ่มทนนาน เหมาะสำหรับเป็นอาหารลดความอ้วน
  4. วุ้นใยอาหารจากบุกสามารถดูดซับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินจากอาหาร ช่วยเคลือบผนัง กระเพาะลำไส้ ลดการดูดซับไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสโลหิต จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำตาล และไขมันในเลือดสูง
  5. ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น (หลังรับประทานผงวุ้นบุกต้องดื่มน้ำให้มาก บุก 3 กรัม ควรดื่มน้ำตาม 2 – 3 แก้ว) เพราะจะเป็นเมือกวุ้นห่อหุ้มอาหาร
  6. ช่วยขับถ่ายของเสีย หรือสารพิษที่ตกค้างในระบบทางเดินอาหารออกจากร่างกาย

นอกจากประโยชน์ทางด้านอาหารและยาแล้ว กลูโคแมนแนนจากบุกยังถูกนำไปใช้ผลิตโลชั่นบำรุงผิว และยาเม็ดชนิด Sustained release อีกด้วย


-มีประโยชน์อย่างไรบ้าง.jpg

ขมิ้นชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L จัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เนื่องจากขมิ้นชันมีประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นยารักษาโรค เป็นอาหาร และปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก ก็คือ เป็นเครื่องสำอาง

 

ขมิ้นชันกับการเป็นยารักษาโรค

ใช้เหง้าแก่ตากแห้ง บดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน หรือใส่แคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม รับประทาน ครั้งละ 2 เม็ด ก่อนอาหารและก่อนนอน ใช้ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม (ทั้งนี้ มีผลการศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของขมิ้นชัน รองรับกลุ่มอาการเหล่านี้เป็นจำนวนมาก)

ข้อแนะนำ

  • การใช้ผงขมิ้นรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ถ้าใช้อัตราส่วนมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  • คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น โดยมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว ควรหยุดยาทันที

 

ขมิ้นชันกับการเป็นอาหาร

ขมิ้นชันนิยมใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารทางภาคใต้ เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา แกงกะหรี่ ไก่ทอดขมิ้น ปลาทอดขมิ้น เป็นต้น นับเป็นความฉลาดของคนใต้ ที่หาวิธีการใช้ขมิ้นในชีวิตประจำวัน

 

ขมิ้นชันกับการเป็นเครื่องสำอาง

ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำขมิ้นชันมาผลิตเป็นเครื่องสำอางกันมากมาย ทั้งใช้ในรูปของสารสกัดจากขมิ้น หรือนำขมิ้นผงมาผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ เป็นครีมพอกหน้า หรือผงขัดผิว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากขมิ้นชันมีสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบ


-30-นาที.jpg

คุณอาจรู้สึกเหนื่อยกับการออกกำลังกาย ที่ทำอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ลดลงออกกำลังกาย เเต่คุณทราบหรือไม่ว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดจากการกินที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานสำรองออกไป

 

15 นาทีก่อนออกกำลังกาย

15 นาทีแรกของการออกกำลังกาย ร่างกายจะดึงพลังงานหลัก (น้ำตาลจากตับ) ไปใช้ ซึ่งเป็นพลังงานต่ที่เตรียมไว้ใช้ในกิจกรรมปกติของร่างกาย เมื่อถึงนาทีที่ 15 – 30 นาที เมื่อร่างกายรู้แล้วว่า กิจกรรมนี้ใช้พลังงานมากกว่าที่เตรียมไว้ ก็จะเริ่มไปดึงแป้งมาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเพื่อให้ได้พลังงาน 30 นาทีขึ้นไป ก็ยังไม่พออีก คราวนี้แหละจะเริ่มไปดึงพลังงานสำรอง ซึ่งเก็บไว้ในรูปของไขมันมาใช้

จึงอธิบายได้ว่า ทำไมต้องออกกำลังกายไม่ต่ำกว่าครั้งละ 45 นาที เพราะถ้าต่ำกว่านี้ พลังงานสำรอง ยังไม่ได้ใช้อะไรเลย ภายหลังหยุดออกกำลังกาย ร่างกายจะผลิตกรดชนิดนึงออกมา ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (คนที่ออกกำลังกายบ่อย จะมีความต้านทานต่อกรดชนิดนี้ได้มาก จึงปวดเมื่อยน้อยกว่า) แต่กระบวนการผลิตที่ว่านี้ จะต้องใช้พลังงานค่อนข้างมาก ร่างกายจึงยังคงต้องการพลังงานต่อเนื่องต่อไปอีกอย่างน้อย 15 นาที ดังนั้น ร่างกายก็ยังคงดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานต่อไป อธิบายว่า ทำไมหลังจากหยุดออกกำลังกาย เราถึงปวดเมื่อย อุณหภูมิร่างกายสูง เหงื่อออกต่อเนื่องต่อไปอีกประมาณ 15 นาที

 

15 นาทีหลังออกกำลังกาย

ใน 15 นาทีหลังหยุด หากมีการกินอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลลงไปแม้แต่นิดเดียว (ลูกอม 1 เม็ดก็มีผลทันที) ร่างกายจะตรวจพบว่า มีน้ำตาลในแหล่งพลังงานหลักแล้ว ร่างกายก็จะหยุดดึงเอาไขมันมาใช้และหันไปใช้น้ำตาลจากพลังงานหลักทันที ดังนั้น หลังออกกำลังกาย 15 นาที หากดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเขียว กินข้าว ขนมปัง หรืออะไรก็ตามแต่ที่มีแป้งและน้ำตาล คุณกำลังสูญโอกาสที่จะลดไขมันในตัวไปอย่างน่าเสียดาย ไม่คุ้มค่าเหนื่อย

 

คำแนะนำในการดื่มกินต่อกิจกรรมออกกำลังกาย

  1. ก่อนออกกำลัง 1 ชั่วโมง ไม่ควรกินอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายสะสมพลังงานหลักไว้มากเกิน ทำให้ช่วงเวลาที่จะดึงไขมันมาใช้ยืดออกไปอีก
  2. ก่อนออกกำลัง 15 นาที ให้เริ่มดื่มน้ำเปล่า ทีละอึกไปเรื่อย ๆ เพราะขณะออกกำลังร่างกายจะเสียน้ำไปเร็วมาก จึงควรดื่มเพื่อสะสมน้ำเอาไว้ล่วงหน้าก่อน
  3. ขณะออกกำลัง หมั่นดื่มน้ำทีละน้อย ๆ บ่อย ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป จากข้อมูลนักฟุตบอลต้องการน้ำขณะเล่นฟุตบอลถึง 2 ลิตรต่อคนทีเดียว ดังนั้น ดื่มทีละน้อยๆ ให้มากที่สุดเป็นการดี
  4. หลังออกกำลังกาย นั่งพักเฉยๆ ดื่มน้ำเปล่าไปเรื่อยๆ จนกว่าเหงื่อจะแห้ง ค่อยอาบน้ำ (การอาบน้ำทันที ร่างกายจะถูกลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การเผาผลาญพลังงานหยุดได้เหมือนกัน) และห้ามดื่มน้ำตาลหรือแป้งเด็ดขาด
  5. ก่อนออกกำลังรู้สึกหิว ควรจะกินหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ต้องกิน เพราะถึงจะรู้สึกหิว แต่เมื่อร่างกายเริ่มกิจกรรมไปประมาณ 10 นาที จะถูกสั่งให้หยุดหิวทันที และจะสั่งให้หิวอีกครั้ง เมื่อร่างกายเริ่มหยุดกิจกรรม แต่ 15 นาทีแรกที่หยุด อย่าเพิ่งกินเด็ดขาด ให้ดื่มน้ำประทังไปก่อน…เป็นเคล็ดลับในการกินและดื่ม เพื่อให้ร่างกายเกิดผลต่อการออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่

การวางแผนที่ดีสำหรับการออกกำลังกายอย่างคุ้มค่า ทำให้คุณไม่ต้องออกกำลังกายอย่างเสียเปล่าอีกต่อไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.hsri.or.th.(2008).ทำไมต้องออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 30 นาที.12 พฤษภาคม 2559.
แหล่งที่มา : https://www.hsri.or.th/people/media/exercise/detail/5040
ภาพประกอบจาก : www.surgery.org

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก