ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

อาการซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบปัญหาหรือภาวะกดดันทางจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดจากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การไม่สมหวังจากการเรียนหรือการทำงาน มีบางเรื่องที่ไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการจะหายไปเมื่อภาวะกดดันลดลง อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยกดดันและความแตกต่างในแต่ละบุคคล ทำให้อาการต่อเนื่องจนเกิดเป็น โรคซึมเศร้า (Depression disorder) ได้

 

อาการ

อาการของโรคซึมเศร้า มีตั้งแต่ระดับที่รุนแรงน้อยไปถึงรุนแรงมาก สามารถแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น เบื่อหน่าย ไม่สบายใจ ไม่อยากทำกิจกรรมอะไร นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ขาดสมาธิ ขาดความมั่นใจในตัวเอง มองโลกแง่ร้าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวมักเกิดติดต่อเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ส่งผลทำให้ผู้ที่มีอาการไม่สามารถดำเนินชีวิตหรือทำงานได้อย่างปกติ

เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีแบบประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง โดยให้ผู้สนใจลงคะแนนลักษณะแต่ละข้อที่เกิดขึ้นดังนี้

คลิกไปกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th

 

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอารมณ์ซึมเศร้าเกือบตลอดเวลา และความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงทั้งหมดเกือบตลอดเวลาเช่นเดียวกัน หรืออาจมี 1 – 2 อาการเพิ่มเติมดังนี้ น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน เบื่ออาหารหรือกินอาหารมาก นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากไป กระวนกระวาย อยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า สมาธิลดลง ใจลอยหรือลังเลใจไปหมด รวมถึงการคิดเรื่องการตาย

 

สาเหตุ

โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่

  • กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
  • สารเคมีในสมอง พบว่าสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง
  • ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

ทั้งนี้โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่มักจะเกิดจากหลายๆปัจจัยประกอบเข้าด้วยกันโดยมีบางปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น แม้ว่าบางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย ตัวอย่างของปัจจัยที่กดดันภาวะทางจิตใจจนอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า ได้แก่ การเคยถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก การเข้มงวดเลี้ยงดูแบบคาดหวังสูง การพลัดพรากจากพ่อแม่ ความกดดันในช่วงสอบเรียนต่อหรือเข้าทำงานที่ใหม่ การต้องรับผิดชอบงานที่ยากหรือไม่ถนัด การสูญเสียทรัพย์สินอย่างกะทันหัน ผิดหวังในความรัก วัยทองที่เพิ่งเกษียณและยังปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้กับผู้ที่เป็นโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

ในเบื้องต้นแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เนื่องจากมีโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคแพนิค และโรคทางร่างกาย รวมถึงการรับประทานยาบางตัวทำให้เกิดอาการคล้ายโรคซึมเศร้าได้ เช่น สมองอักเสบ ตับอักเสบ โรคระบบประสาท เนื้องอกในสมอง โรคเอส แอล อี (SLE) วัณโรค ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคคุชชิ่ง หรือการทานยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยากลุ่มสเตียรอยด์และฮอร์โมน บางตัว เป็นต้น

ในการวินิจฉัย โดยทั่วไปแพทย์จะมีขั้นตอนการซักประวัติ ถามอาการหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถามปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้น ถามประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในอดีต โรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำ ถามประวัติความเจ็บป่วยในญาติสายเลือดเดียวกัน รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมจากญาติหรือผู้ใกล้ชิด นอกจากนี้จะมีการตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษที่จำเป็น ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ที่พบ

 

การรักษา

ภายหลังแพทย์ได้ตรวจร่างกายและทำการคัดกรองแยกโรคอื่นๆ รวมถึงประเมินความรุนแรงของอาการซึมเศร้าแล้ว  ในการรักษาแพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน ทั้งการใช้ยาควบคู่กับการใช้เทคนิคทางจิตบำบัด ดังนี้

  • การใช้ยาต้านซึมเศร้าทางการแพทย์ โดยมียาอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยากลุ่ม TCAs เช่น ยา Amitriptyline, Nortryptyline, Imipramine ยากลุ่ม SSRIs เช่น ยา Fluoxetine, Fluvoxamine, Sertraline, Paroxetine, Escitalopam ยากลุ่ม SNRIs เช่น ยา Venlafaxine, Desvenlafaxine และ Duloxetine และยากลุ่ม SARIs เช่น ยา Trazodone นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ยาช่วยนอนหลับ (Sedative drugs) หรือ ยาคลายภาวะวิตกกังวล (Anxiolytic drugs) เป็นต้น
  • การใช้วิธีการทางจิตบำบัด (Psychotherapy) ที่ได้ผลดีในการรักษาโรคซึมเศร้าคู่กับการใช้ยา โดยมุ่งเน้นที่การปรับทัศนคติและมุมมองต่อสิ่งรอบตัว จากที่เป็นเชิงลบ ให้มีความผ่อนคลายและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้สมาธิบำบัด (Mindfulness-based stress reduction) เป็นการตามรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อเรียกสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ลดความฟุ้งซ่าน คิดมาก ที่ทำให้วิตกกังวลและซึมเศร้า

โดยโรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจจะกลับมาดีขึ้น จนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น โดยข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาโรคซึมเศร้านั้นอาจต่างกันไปในแต่ละคน แต่หากได้รับการรักษาถูกต้องตามสาเหตุและบำบัดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยลดระยะเวลาให้อยู่ในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคซึมเศร้า

  1. พบแพทย์ตามนัด เพื่อการประเมินอาการ ปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนไปใช้กิจกรรมบำบัดตามความเหมาะสม
  2. หาเวลาทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ช่วยเสริมผลดีให้แก่การรักษา เช่น การพูดคุยกับผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวก เช่น เพื่อน พี่น้อง เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ที่ผ่อนคลายขึ้น การได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ทำอาหาร วาดรูป ต่อจิ๊กซอว์ ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสมาธิและลดความฟุ้งซ่าน หรือการออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก เช่น โยคะ แอร์โรบิคพื้นฐาน เป็นต้น

สำหรับการป้องกัน แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • วางลำดับสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลัง ตามความเร่งด่วนและความสำคัญ
  • ฝึกปฏิเสธงานที่เกินความสามารถ โดยเฉพาะงานที่ทำให้ความกดดันและความเครียดเพิ่มมากขึ้น
  • ฝึกปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ที่เกิด โดยมุ่งเน้นการทำงานต่างๆให้ดีที่สุด
  • ลดการตั้งเป้าหมายที่สมบูรณ์แบบ หรือเต็ม 100% ซึ่งทำให้เคร่งเครียด และเสี่ยงกับความผิดหวังสูง
  • ฝึกทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เช่น พาคนสายตาพิการออกกำลังกาย อ่านหนังสือนิยายสนุก ๆ ให้คนพิการทางสายตาฟัง หรือการเป็นอาสาสมัครสร้างบ้าน-โรงเรียน-สอนอาชีพให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ฯลฯ เพื่อสร้างความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง
  • ฝึกฝนการมองโลกในบวกอยู่เสมอ ด้วยการอ่านหนังสือ รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้ที่มองโลกแง่บวก

 

แหล่งที่มา

  1. www.med.mahidol.ac.th/ramamental/
  2. www.manarom.com, โรงพยาบาลมนารมย์

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก