ตอบข้อสงสัย เรื่องออกกำลังกาย ตอนที่ 1
Q: การออกกำลังกายนอกเหนือจากการเล่นกีฬา มีไหม
A: มี โดยหากดูความหมายของการออกกำลังกาย ที่เป็นกิจกรรมมุ่งพัฒนากำลังและความทนทานของกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ ระบบหายใจ ระบบประสาท รวมถึงฝึกฝนจิตใจและร่างกายให้สมดุลกัน การออกกำลังกายจะสามารถรวมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น วิดพื้น ซิทอัพ เต้น เดิน ขึ้นลงบันได ลุกนั่ง ยกของ ปีนป่าย หยิบจับ แต่ต้องมีความเข้มข้นและระยะเวลาที่นานเพียงพอ ที่จะพัฒนาระบบต่าง ๆ ได้ อ่านเพิ่มเติม ออกกำลังกายแบบนี้ ก็แข็งแรงได้
Q: ทำงานบ้านเยอะแล้ว ไม่ต้องออกกำลังกายได้ไหม
A: ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะงานบ้าน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า อื่น ๆ ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นและระยะเวลานานไม่พอ ยังจำเป็นต้องเสริมการออกกำลังกายที่ต้องมีความเข้มข้นและระยะเวลาที่นานเพียงพอ ทั้งนี้สามารถปรับวิธีเพื่อให้การทำงานบ้าน ได้ประโยชน์แบบการออกกำลังกายได้ เช่น ซักผ้าด้วยมือ ยกตะกร้าผ้าน้ำหนักพอเหมาะขึ้นลงหลาย ๆ รอบ เป็นต้น
Q: ถ้าร่างกายปกติดี ไม่เจ็บป่วย ต้องออกกำลังกายไหม
A: ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อพัฒนากำลัง ความทนทานของกล้ามเนื้อ และระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เป็นการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยง่าย อ่านเพิ่มเติม รู้แบบนี้แล้ว ออกกำลังกายดีกว่า
Q: ทำไมบางคน ไม่เคยเห็นออกกำลังกาย แต่แข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วย
A: การเจ็บป่วยมาจากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การติดเชื้อ พันธุกรรม อื่น ๆ บางคนอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงน้อย ไม่สัมผัสเชื้อหรือมีภูมิคุ้มกันดี ครอบครัวไม่มีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายช่วยลดโอกาสในการเจ็บป่วยจากโรคบางโรค และชะลอความเสื่อมของร่างกาย อ่านเพิ่มเติม รู้แบบนี้แล้ว ออกกำลังกายดีกว่า
Q: ควบคุมอาหารแล้ว ไม่ต้องออกกำลังกายได้ไหม
A: หากยึดความหมายของการออกกำลังกายตามข้อที่ 1 แล้ว การควบคุมอาหารไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การออกกำลังกายได้
Q: ออกกำลังกายให้ถูกหลัก ควรเป็นอย่างไร
A: แนะนำอ่านเพิ่มเติม หัวใจของการออกกำลังกาย โดยสรุปดังนี้
- ควรวอร์มทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายให้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งแบบคาร์ดิโอ เพื่อความแข็งแรงของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย แบบเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และแบบเสริมความยืดหยุ่นและอ่อนตัว
- ปรับรูปแบบของการออกกำลังกายตามเป้าหมาย เช่น ลดน้ำหนัก ควรเน้นออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ สร้างกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง ทั้งนี้ควรจัดโปรแกรมให้ครบทั้งแบบคาร์ดิโอ แบบสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และแบบเสริมความยืดหยุ่น
- ปรับระยะเวลาและความถี่ให้เหมาะสมกับเป้าหมายของการออกกำลังกาย เช่น ลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกาย Zone 2 – 3 ครั้งละ 60 – 90 นาที 5 – 6 วันต่อสัปดาห์ เสริมด้วยเวท เทรนนิ่ง 3 – 4 วัน เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม อ่านเพิ่มเติม อัตราการเต้นหัวใจเป้าหมาย และประโยชน์ที่ได้รับ
- สังเกตอาการเจ็บป่วยขณะออกกำลังกาย โดยบาดเจ็บใช้แนวทางการรักษาในเบื้องต้น คือ RICE ประกอบด้วย R (Rest) การพัก ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ, I (Ice) น้ำแข็ง การประคบด้วยความเย็น, C (Compress) การรัด ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ, E (Elevate) การยก ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น อ่านเพิ่มเติม บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำไงดี
- ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม ควรหยุดพักทันที อ่านเพิ่มเติม อาการเตือนถึงอันตราย ขณะออกกำลังกาย
อ่านต่อ ตอบข้อสงสัย เรื่องออกกำลังกาย ตอนที่ 1, ตอบข้อสงสัย เรื่องออกกำลังกาย ตอนที่ 2, ตอบข้อสงสัย เรื่องออกกำลังกาย ตอนที่ 3
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com