ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

active-passive-immunity.jpg

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทำได้ 2 แบบ คือ แบบ active (กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง) และแบบ passive (ให้ภูมิคุ้มกันของคน หรือสัตว์ที่เกิดขึ้นแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแบบ active ได้แก่ การให้วัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ท็อกซอยด์ (toxoid)

ใช้ป้องกันโรคที่เกิดขึ้นเป็นผลจากพิษ หรือท็อกซินของแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง เช่น โรคคอตีบ หรือโรคบาดทะยัก ทำได้โดยทำให้พิษของแบคทีเรียหมดไป แต่ความสามารถให้การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันยังมีอยู่ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

โดยทั่วไปเมื่อฉีดพวกนี้เข้าไปจะไม่มีไข้ หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่ นอกจากเคยฉีดมาแล้วหลายครั้ง หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีเช่นนี้อาจเกิดปฏิกิริยาอิมมูนบริเวณที่ฉีด ทำให้มีอาการบวมแดง เจ็บบริเวณที่ฉีด และมีไข้ได้

 

กลุ่มที่ 2 วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated หรือ killed vaccine)

  • ทำจากแบคทีเรีย หรือไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว (whole cell vaccine) พวกที่ทำจากเชื้อแบคทีเรียมักเกิดจากปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด บางครั้งอาจมีไข้ด้วย อาการมักจะเริ่มเกิดหลังฉีด 3 – 4 ชั่วโมง และจะมีอยู่ประมาณ 1 วัน บางครั้งอาจมีปฏิกิริยาอยู่นานถึง 3 วัน ตัวอย่างของวัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ วัคซีนพวกนี้มักจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ห้ามเก็บในตู้แช่แข็ง เพราะจะทำให้แอนติเจนเสื่อมคุณภาพ
  • ใช้เฉพาะส่วนของแบคทีเรีย หรือไวรัสที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้นมาทำเป็นวัคซีน (subunit vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกัน  โรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type b) วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis vaccine) วัคซีนป้องกัน ไทฟอยด์ชนิดวีไอ (Vi vaccine)

 

กลุ่มที่ 3 วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live attenuated vaccine)

เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนสำหรับไวรัส ส่วนวัคซีนสำหรับแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) วัคซีนป้องก้นโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดกิน ส่วนวัคซีนสำหรับไวรัสที่ใช้ในประเทศไทย คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคสุกใส วัคซีนในกลุ่มนี้เมื่อให้เข้าไปในร่างกายแล้ว จะยังไม่มีปฏกิริยาทันที จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเริ่มมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด จะมีอาการไข้ประมาณ วันที่ 5 ถึงวันที่ 12 หลังฉีด วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องเก็บไว้ให้ดีเป็นพิเศษ เพราะถ้าเชื้อตายการให้วัคซีนจะไม่ได้ผล นอกจากนี้ ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง เช่น ได้รับอิมมูโนโกลบุลิน หรือเดิมที่เรียกกันว่า แกมมาโกลบุลิน อาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของวัคซีน การให้วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องระวัง ถ้าให้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ หรือผู้ที่ได้รับยา หรือสารกดภูมิคุ้มกันอยู่ อาจมีอันตรายได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค.24 มีนาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.psychcentral.com


vaccine-1.jpg

คุณผู้อ่านอาจคุ้นหูกับคำว่าวัคซีนกับเซรุ่มกันมาบ้าง แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสับสนกับความหมายของคำสองคำนี้ วันนี้เรามาคุยกันถึงคำ 2 คำนี้กันครับ

 

วัคซีน (Vaccine)

เป็นยาชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่เป็นอันตราย ใช้สำหรับฉีด หรือกิน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อนั้น ๆ เช่น วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคคอตีบ ก็ประกอบด้วยเชื้อคอตีบ (ซึ่งเป็นแบคทีเรีย) ที่ตายแล้ว เมื่อเอามาฉีดให้เด็กขณะที่ยังแข็งแรงดี ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคคอตีบ ต่อมาถ้าหากเด็กคนนี้อยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคคอตีบ แม้จะรับเชื้อเข้ามา ก็มีภูมิคุ้มกันคอยช่วยทำลายเชื้อคอตีบที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาได้ ก็จะไม่เกิดเป็นโรคคอตีบ

เปรียบเสมือนการซ้อมรบของกองทหาร คือ เอาศัตรูปลอม ๆ (เทียบได้กับวัคซีน) ทำทีว่าเข้ามารุกรานประเทศของเรา เพื่อให้ทหารหาญของเรา (เทียบได้กับเม็ดเลือดขาว และกลไกการสร้างภูมิคุ้มกัน) เกิดความตื่นตัว และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับศัตรู เมื่อเกิดมีศัตรูจริง (เทียบได้กับภูมิคุ้มกัน) เข้ามา ทหารหาญของเราที่เตรียมพร้อม (ภูมิคุ้มกันโรค) ก็จะทำลายศัตรูได้ฉับพลันทันที ในปัจจุบันมีโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น วัณโรค ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไทฟอยด์ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี สมองอักเสบ เป็นต้น

 

เซรุ่ม (Serum)

เป็นของเหลวสีเหลืองใส ที่สกัดจากเลือดม้า หรือเลือดคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว (ซึ่งเตรียมขึ้นโดยการฉีดเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือมีฤทธิ์อ่อนเข้าไปในม้า หรือคน เพื่อกระตุ้นให้ม้า หรือคนนั้นสร้างภูมิคุ้มกันโรค แล้วก็เอาเลือดของม้าหรือคนนั้นมาสกัดอีกที)

การฉีดเซรุ่มเข้าไปในคน ก็เท่ากับเอาภูมิคุ้มกันโรคจากม้า หรือคนมาใช้แทนร่างกายของเรา ในการทำลายเชื้อโรค จึงมักจะฉีดหลังจากที่ร่างกายติดเชื้อโรคชนิดหนึ่งชนิดใดเข้าไปแล้ว

เปรียบเสมือนประเทศที่ถูกข้าศึกรุกราน (เทียบได้กับการติดเชื้อ) แล้วขอร้องให้กองทัพพันธมิตร (เปรียบได้กับเซรุ่ม) เข้ามาช่วยทำลายข้าศึก (เชื้อโรค) นั่นเอง โรคที่สามารถใช้เซรุ่มช่วยในการรักษา เช่น บาดทะยัก คอตีบ พิษสุนัขบ้า พิษงู เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป

วัคซีน เป็นเชื้อโรคที่ไม่มีพิษ ฉีด หรือกินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาเอง จะให้เมื่อร่างกายแข็งแรง (ยังไม่ได้รับเชื้อ หรือได้รับเชื้อในระยะแรก) และต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะอยู่คงทนถาวรตลอดไป

เซรุ่ม เป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ได้โดยตรงจากเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ๆ ฉีดให้ร่างกายหลังจากติดเชื้อในระยะที่อาจเป็นอันตราย ได้ผลทันทีต่อการต่อสู้กับเชื้อโรค แต่จะอยู่ได้เพียงระยะสั้น ๆ ก็สลายตัวไป มักจะใช้กับคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนต่อโรคนั้น ๆ มาก่อน

ข้อเสียของเซรุ่ม คือ ทำให้ร่างกายแพ้ยา ซึ่งอาจรุนแรงถึงตายได้ เพราะเป็นเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ส่วนวัคซีนไม่ทำให้เกิดการแพ้ที่เป็นอันตราย โดยแพทย์จะเลือกใช้วัคซีนสำหรับการป้องกันโรคในระยะยาว และใช้เซรุ่มสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อที่อยู่ในระยะที่อาจเป็นอันตราย

ถ้าไม่อยากเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม ก็ควรรีบหาทางฉีดวัคซีนเสียแต่เนิ่น ๆ กันเถอะครับ!

 

ข้อมูลจาก: ภาษิต ประชาเวช. นิตยสารหมอชาวบ้าน. 2529. “วัคซีน/เซรุ่ม”. (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา: www.doctor.or.th


.jpg

คนทั่วไป หรืออีก 71.6% ของจำนวนประชากรไทย ไม่ชอบซื้อประกันชีวิต อาจมาจากหลาย ๆ สาเหตุ บางส่วนของเหตุผล คือ ตัวแทนส่วนใหญ่ชอบ “ขายแบบประกันชีวิต”  โดยให้ (ว่าที่) ลูกค้าที่ไม่ชอบซื้อประกันชีวิต และให้ลูกค้าเลือกหลาย ๆ แบบ หากลูกค้าไม่ชอบก็เปลี่ยนแบบไปเรื่อย ๆ สุดท้ายลูกค้าก็ไม่ซื้ออยู่ดี

 

ไม่ชอบซื้อประกันชีวิต ชอบซื้อความมั่นคงของครอบครัว

ลูกค้าจะทำประกันชีวิตก็ต่อเมื่อหากมีวิธีการที่ทำให้เขามีความมั่นคงทางรายได้ของครอบครัว “เขาอยากทำ” คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการซื้อประกันชีวิต แต่ต้องการซื้อความมั่นคงของครอบครัว ว่าเขาควรทำอย่างไรเกี่ยวกับรายได้ของครอบครัว ถ้าหากเขาเสียชีวิตไป ครอบครัวยังคงมีเงินใช้อยู่ ไม่เดือดร้อน และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ลูกค้าตัดสินใจ

 

ไม่ชอบซื้อประกันชีวิต ชอบซื้อความมั่นคงตอนเกษียณ

ลูกค้าแค่อยากรู้วิธีสร้างความมั่นคงตอนเกษียณ พวกเขาจะนึกเสมอว่า ถ้าฉันไม่มีเงินใช้ตอนฉันเกษียณฉันจะลำบาก ทำอย่างไรให้เกษียณอายุแล้วมีเงินใช้ หากตัวแทนแนะนำวิธีการเก็บเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อความมั่นคงตอนเกษียณอายุ ลูกค้าจะตัดสินใจ

 

ไม่ต้องการซื้อประกัน ชอบซื้อวิธีการรักษาทรัพย์สมบัติ

คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ทำงานหารายได้ นอกเหนือจากนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ก็มุ่งเน้นนำมาสร้างทรัพย์สมบัติให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

ถามผู้อ่าน

  1. คุณยังผ่อนบ้านอยู่หรือไม่
  2. คุณตั้งใจจะผ่อนบ้านให้หมดหรือไม่
  3. ถ้าหากคุณไม่อยู่ ก็อยากให้บ้านอยู่กับครอบครัวของคุณต่อไป

จากคำถาม 3 ข้อข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ คุณก็ผ่อนบ้านตามปกติ แต่ถ้าโชคร้ายคุณไม่อยู่ คุณก็ไม่ต้องการให้ธนาคารยึดทรัพย์สมบัติไป อีกเหตุผลสำคัญที่ลูกค้าตัดสินใจ คือ เพราะลูกค้าต้องการรักษาทรัพย์สมบัติที่เขาสร้างไว้ ให้อยู่กับครอบครัวตลอดไป

 

ไม่ชอบซื้อประกันชีวิต ชอบซื้อสวัสดิการดี ๆ

ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็รู้ทั้งนั้นว่าค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ๆ ใคร ๆ ก็รู้ว่าเขามีโอกาสป่วยโรคภัยไข้เจ็บแปลก ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน ข้อดีของอาชีพรับราชการ คือ หากเจ็บป่วยขึ้นมา จะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล แต่ไม่สามารถเลือกชนิดของยา เลือกการให้บริการทางการแพทย์ เลือกเตียงห้องพัก เลือกให้มีพยาบาลเฝ้าไข้ ฯลฯ

“คุณคิดว่าข้าราชการตัดสินใจรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ หรือเพราะเลือกสวัสดิการไม่ได้ ?”

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า ถ้ามีการอนุญาตให้รักษาที่ไหนก็ได้ ข้าราชการส่วนใหญ่คงอยากไปใช้บริการดี ๆ เลือกเตียงห้องพักเองที่โรงพยาบาลเอกชน

 

บทสรุป ประกันชีวิต

ตัวแทนประกันชีวิต หรือนักขายประกันชีวิตที่เก่ง ๆ จะให้คำปรึกษากับลูกค้าในแนวทางการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากการซื้อประกันชีวิต ตามวัตถุประสงค์ของลูกค้าเอง ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อประกัน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: Insurefordream.com.(2014).เหตุผลสำคัญที่ลูกค้าตัดสินใจ ซื้อประกัน.24 ธันวาคม 2558.
แหล่งที่มา: http://www.insurefordream.com
ภาพประกอบจาก: www.reunionfamily.com

 


-01.jpg

เมื่อพูดถึง ” วิตามินซี ” หลายคนคงนึกถึงผลไม้รสเปรี้ยว อย่างเช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะขามหวาน มะขามป้อมและอีกมากมาย ขอเพียงแต่เป็นผักผลไม้สด ๆ เป็นใช้ได้ หรือบางคนอาจนึกถึงยาเม็ดสีส้ม สีเหลือง ที่มีรสชาติออกเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ไว้กินเวลามีเลือดออกตามไรฟัน ในความเป็นจริงแล้ว” วิตามินซี “มีประโยชน์มากมายกว่านั้น

 

วิตามินซีมีประวัติการค้นพบตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มีการสังเกตว่า ทหารเรือออกเดินเรือเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้รับประทานผักและผลไม้สด จึงมักป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด และสุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็มีคนสังเกตเห็นว่าไม่พบอาการดังกล่าวในทหารเรือที่รับประทานมะนาวเป็นประจำ ต่อมาจึงได้หาสารอาหารที่เป็นต้นเหตุได้ คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbicacid) หรือวิตามินซีนั่นเอง

 

วิตามินซี ประโยชน์ที่ได้รับ

ประโยชน์ของวิตามินซีมีมากมาย นอกเหนือจากที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัดทำให้หายเร็วขึ้นถึง 21% คือ

  • วิตามินซีช่วยปกป้องเซลล์เสริมภูมิคุ้มกันสุขภาพและความแข็งแรงของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นและคอลลาเจน
  • วิตามินซีช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและรักษาตัวเอง โดยการไปเสริมสร้างผนังเซลล์ทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและต่อต้านการอักเสบจึงทำให้แผลหายเร็ว
  • วิตามินซีช่วยให้เหงือกมีสุขภาพแข็งแรง โดยจะไปช่วยรักษาเซลล์ที่ถูกทำลาย และช่วยให้แผลที่เหงือกหายเร็ว
  • วิตามินซีช่วยเพิ่มความต้านทานต่อโรคหัวใจ โดยการไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานร่วมกับวิตามินอี โดยจะไปลดการเกาะของไขมันที่ผนังหลอดเลือด
  • วิตามินซีช่วยในการป้องกันโรคต้อกระจก เนื่องจากวิตามินซีสามารถช่วยปกป้องเลนส์ตาจากอันตรายต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ แสงอัลตราไวโอเลต ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก
  • วิตามินซีช่วยป้องกันไมเกรน เมื่อรับประทานร่วมกับ Pantothenic acid โดยวิตามินซีจะไปช่วยร่างกายในการต่อสู้กับความเครียดได้ดีขึ้น
  • วิตามินซีช่วยลดความเครียด และยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนกรดอะมิโน ให้กลายเป็นสารในสมอง ซึ่งมีความจำเป็นต่อสมองและหน้าที่ของระบบประสาทด้วย
  • วิตามินซีช่วยเพิ่มความแข็งแรงของภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาว

 

การรับประทานวิตามินซี

การรับประทานวิตามินซี ภาวะปกติปริมาณที่แนะนำให้ทานคือ 60 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีจะต้องรับประทานอย่างน้อย 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน คนที่มีความเครียด ควรรับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่นิยมรับประทานวิตามินซีไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับในปริมาณที่มากเกินไป เพราะสามารถละลายในน้ำได้ดี หากร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะมีการขับออกมาได้ทางปัสสาวะ อีกทั้งยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับพิษที่เกิดจากการรับประทานวิตามินซี แม้รับประทานในปริมาณที่สูงกว่า 6,000-18,000 มิลลิกรัม

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อพึงระวังในการรับประทานวิตามินซี การรับประทานในปริมาณสูงๆ อาจจะมีผลต่อการดูดซับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น Copper Selenium อาจมีผลต่อความผิดพลาดของผลการตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะได้ วิตามินซีทำให้การดูดซึมแร่ธาตุเหล็กได้ดี จึงอาจจะเกิดภาวะได้รับแร่ธาตุเหล็กเกิน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: นพ.ครรชิต อมาตยกุล.(2008).เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิตามินซี.12 เมษายน 2558.
แหล่งที่มา: www.hilight.kapook.com
ภาพประกอบจาก: www.livestrong.com


-ประกันสังคม.jpg

สำนักงานประกันสังคม แจ้งว่าในปี 2561 นี้มีโรงพยาบาลเอกชนขอออกจาก “ระบบประกันสังคม”  3 แห่ง คือ โรงพยาบาลยันฮี  โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ และโรงพยาบาลศรีระยอง  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เลือก 1 ใน 3 โรงพยาบาลนี้เพื่อใช้บริการอยู่ สิ่งที่ต้องทราบและดำเนินการ คือ

 

1. เลือกโรงพยาบาลแห่งใหม่

  • หากเป็นพนักงานเอกชนทั่วไป (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) สำนักงานประกันสังคมจะส่งหนังสือไปยังบริษัท ที่พนักงานมีสิทธิอยู่ที่โรงพยาบาลที่ออกจากระบบ จากนั้นฝ่ายบุคคลจะดำเนินการต่อให้
  • ส่วนผู้ที่เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก (ผู้ประกันตนมาตรา 39) หรือกลุ่มอาชีพอิสระที่ประกันตนเอง (ผู้ประกันตนมาตรา 40) สำนักงานประกันสังคมจะส่งหนังสือไปที่บ้านของผู้ประกันตนโดยตรง ให้รอเอกสารที่จะส่งมาถึง

จากนั้นให้กรอกแบบฟอร์มเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการไปใช้สิทธิ 1 แห่ง และโรงพยาบาลสำรองอีก  2 แห่ง แล้วส่งกลับฝ่ายบุคคล หรือส่งเอกสารไปที่สำนักประกันสังคม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้เอง

 

2. แจ้งโรงพยาบาลที่จะไปใช้สิทธิ์ใหม่

ภายในเดือนธันวาคม 2560 ทางสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งชื่อโรงพยาบาล ที่จะไปใช้สิทธิ์แห่งใหม่ให้ทราบ ซึ่งหากผู้ประกันตนมีโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาจจะต้องประสานกับโรงพยาบาลเดิม เพื่อขอรายละเอียดการรักษาต่าง ๆ เตรียมไว้ด้วย และผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเดิมได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

 

3. เริ่มใช้สิทธิตอนต้นปี

สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหม่ จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

ส่วนผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม ก็ยังสามารถทำได้ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เหมือนปกติ

 

ข้อมูลอ้างอิง ข่าวจากสำนักงานประกันสังคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือที่เว็บไซต์ประกันสังคม
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


.jpg

หลายคนอาจมีอาการป่วยแต่กลับไปโรงพยาบาลโดยไม่ใช้ประกันสุขภาพที่ตนเองมี เพราะใช้ไม่เป็น วันนี้เราจะมาบอกถึง วิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย ให้ทุกคนได้ปรับใช้กันค่ะ

 

วิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย

  • เจ็บป่วยทั่วไป
  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน
  • กรณีอุบัติเหตุ
  • การส่งต่อเพื่อการรักษาต่อเนื่อง

 

การเจ็บป่วยทั่วไป

  1. เข้ารับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อนทุกครั้ง
  2. แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิพร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร)

หมายเหตุ: ปัจจุบันมีนโยบายใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ทั้งนี้ ควรเข้ารับบริการในวัน เวลาราชการ หรือเวลาที่หน่วยบริการกำหนดไว้

 

เจ็บป่วยฉุกเฉิน

การวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน แพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้

  1. โรค หรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น
  2. โรค หรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน
  3. โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
  4. โรค หรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด

ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาจากความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย

แนวทางการใช้สิทธิ คือ

1. เข้ารับการรักษากับหน่วยบริการของรัฐ หรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุด

2. แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิพร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร)

กรณีฉุกเฉิน

สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกเหนือหน่วยบริการประจำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ปัจจุบัน มีนโยบายใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่หน่วยบริการอื่นนอกเหนือหน่วยประจำครอบครัว ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

กรณีได้ประสบอุบัติเหตุทั่วไป

  1. ควรเข้ารับการรักษายังหน่วยบริการของรัฐ หรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ และอยู่ใกล้ที่สุด
  2. แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิพร้อมแสดงเอกสารประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร)
  3. กรณีประสบภัยจากรถ

ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ต่อเนื่องจากค่าเสียหายเบื้องต้นที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้จ่าย โดย

  1. เข้ารับการรักษายังหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
    • แจ้งใช้สิทธิพร้อมหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่าย (หากเป็นเด็กใช้สูติบัตร) สำเนา พ.ร.บ.รถที่ประสบภัย
    • หากมีความเสียหายเกินค่าเสียหายเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายแล้วไปรับคืนจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณี (กรณีได้ข้อยุติว่ารถคู่กรณีเป็นฝ่ายผิด)
  2. เข้ารับการรักษายังหน่วยบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ
    • แจ้งใช้สิทธิพร้อมหลักฐานประกอบได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด)) สำเนา พ.ร.บ.รถที่ประสบภัย
    • ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานหาเตียงรองรับ ในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพต่อเนื่อง
    • หากมีความเสียหายเกินค่าเสียหายเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายแล้วไปรับคืนจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณี (กรณีได้ข้อยุติว่ารถของคู่กรณีเป็นฝ่ายผิด)

หมายเหตุ: ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไม่ได้กำหนดให้โรงพยาบาลเรียกเก็บแทนผู้ประสบภัย

 

การส่งต่อเพื่อการรักษาต่อเนื่อง

  1. เข้ารับการรักษา ณ หน่วยบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ
  2. แจ้งความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิทุกครั้ง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร)
  3. หากการรักษาพยาบาลครั้งนั้นเกินศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการปฐมภูมิจะพิจารณาส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่สูงกว่าตามภาวะความจำเป็นของโรค

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.(2010).วิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย. 6 มิถุนายน 2558.
แหล่งที่มา: https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx
ภาพประกอบจาก: www.dansai-hac.blogspot.com

 


.jpg

ข่าวคราวน่าเศร้าของนักปั่นช่วงนี้มีให้เห็นอีกแล้ว ไล่มาตั้งแต่นักปั่นจักรยานชาวชิลี เจ้าของสถิติโลกในกินเนสเวิลด์เรคคอร์ด ปั่น 5 ทวีปใน 5 ปี ถูกรถกระบะชนเสียชีวิต ข่าวรถยนต์ชนนักปั่นดับ 3 ราย ล่าสุดก็ยังเจอข่าว ลุงอู๊ด วิเชียร ปิ่นเกษร นักปั่นมือเดียวที่เป็นนักกีฬาเฟสปิกเกมส์และนักกีฬาไตรกีฬาถูกรถชน

 

แล้วจะมีถนนเส้นไหนในกรุงเทพฯ ที่ปลอดภัยกับนักปั่นบ้างมั้ย? ขนาดนักปั่นที่ว่าชำนาญปั่นมาไม่รู้เท่าไหร่ ยังพลาดพลั้งถูกรถชนได้ แล้วถ้าเป็นนักปั่นมือใหม่ล่ะ จะทำยังไงดี

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงขอเสนอทางเลือกโดยนำเส้นทางปั่นจักรยานที่ช่วยเซฟเรื่องความปลอดภัยให้กับนักปั่นมือใหม่มาฝากกัน หลายแห่งมีเลนจักรยานชัดเจน น่าจะช่วยนักปั่นให้อุ่นใจได้อีกทางหนึ่ง จะมีที่ไหนบ้าง ตามมาเช็กได้เลย

 

1. สนามบินสุวรรณภูมิ

ปั่นปลอดภัยที่ไบค์เลน สุวรรณภูมิ
ที่นี่มีเส้นปั่นจักรยานที่มีเลนปลอดภัยให้นักปั่นโดยเฉพาะ คือ ไม่ได้รวมอยู่ในทางหลักที่เป็นทางรถยนต์วิ่ง แต่เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีเลนแยกออกมาอย่างชัดเจนแบบนี้

เส้นทางจักรยานนี้เป็นเส้นปั่นจักรยานน้องใหม่ที่ทางสนามบินสุวรรณภูมิได้ปรับปรุงเพิ่มขึ้นมา จากเดิมเป็นถนนสำหรับการตรวจตรารอบสนามบิน แต่ตอนนี้กลายเป็นเส้นทางจักรยานสีเขียวที่ใช้ชื่อว่า “Bike Lane” ขาปั่นทุกคนสามารถเข้าใช้บริการได้ฟรี บนถนนยาวกว่า 23 กิโลเมตร ที่นี่เหมาะสำหรับการปั่นชิลชิลในช่วงเช้า โดยประตูจะเปิดเวลา 06.00 น. และปิดบริการเวลา 19.00 น. (แต่จะปิดรับแลกบัตรเข้าใช้บริการเวลา 17.30 น.)

เลนจักรยานชัดเจน สุวรรณภูมิ Bike Lane แห่งนี้ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยเส้นทางจักรยานทุก ๆ 1 ชั่วโมง และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โทร. 0 2132 4000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

2. เทียนทะเล

เทียนทะเล ปั่นชิล ๆ ไปเที่ยวทะเล ป่าโกงกาง
เส้นทางนี้อยู่ที่บางขุนเทียน-ชายทะเล สามารถเดินทางไปได้ง่าย ๆ โดยใช้ถนนพระราม 2 ขึ้นวงแหวนอุตสาหกรรมแล้วลงเลียบทางด่วน อาจจะเริ่มปั่นจากเลียบทางด่วนไปออกถนนเทียนทะเลก็ได้ ถือเป็นสวรรค์ของนักปั่นเลยทีเดียว เพราะมีเลนจักรยานให้โดยเฉพาะ และรถราไม่เยอะ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แถมบรรยากาศระหว่างทางก็สดชื่น อากาศดี ระหว่างทางมีร้านอาหารทะเลอร่อยๆ เรียงรายอยู่เยอะแยะ

ส่วนใครที่อยากปั่นวัดพลังขาก็ลองไปตามเส้นทางนี้ โดยเริ่มจากวัดปทีปพลีผลแล้วตรงไปเรื่อย ๆ จนสุดทางถนน จะเจอสามแยก ให้เลี้ยวซ้าย ปั่นตรงไปอีกประมาณสองกิโลฯ กว่า ๆ จะเจอร้านกาแฟ Coffee House เป็นจุดพักครึ่งแรก หลังจากนั้นก็ปั่นต่อครึ่งหลัง จากร้านกาแฟให้มุ่งหน้าไปยังวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ ไปตามทางเรื่อย ๆ จนถึงวัด รวมระยะทางทั้งหมด 26.8 กิโลเมตร

หรือใครจะปั่นเข้าไปชมทะเลและป่าโกงกางก็ได้ แต่จะต้องตัดเข้าไปในหมู่บ้านนิดหน่อย สามารถถามทางจากชาวบ้านได้ ข้างในจะมีทางไม้ยาว ๆ ทำยื่นลงไปใกล้ทะเล

 

3. เกาะรัตนโกสินทร์

เลนจักรยานที่ปรับปรุงใหม่รอบเกาะรัตนโกสินทร์
รอบ ๆ เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่น่าสนใจและปลอดภัยระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะถนนหลายเส้นในย่านนี้ก็มีเลนจักรยานไว้รองรับนักปั่นเช่นกัน ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ทางการก็มีนโยบายในการปรับปรุงเลนจักรยานเหล่านี้ให้ชัดเจนและปลอดภัยมากขึ้นด้วย กับโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

โครงการนี้ได้ทำการปรับปรุงเส้นทางจักรยานเพิ่มเติม ให้มีความทันสมัย และสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ เช่น การปรับปรุงผิวทางจักรยานและฝาท่อระบายน้ำให้ราบเรียบเสมอกัน ตีเส้นจราจรช่องทางจักรยาน ทำสีพื้นทางพร้อมรูปสัญลักษณ์จักรยาน และสัญลักษณ์เตือนจุดอันตราย ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย ปรับปรุงทางลาดทางเท้า เพื่อให้บริการจักรยานรวมถึงคนพิการ และติดตั้งที่จอดรถจักรยาน ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่

สำหรับเส้นทางการดำเนินการปรับปรุงทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 8 กม. ระยะที่ 1 ได้แก่ 1. ถนนมหาไชย 2. ถนนกัลยาณไมตรี 3. ถนนท้ายวัง 4. ถนนมหาราช 5. ถนนหน้าพระลาน 6. ถนนหน้าพระธาตุ 7. ถนนราชินี 8. ถนนพระสุเมรุ 9. ถนนบวรนิเวศ 10. ถนนสนามไชย 11. ถนนตะนาว และ 12. ถนนพระอาทิตย์

4. บางกระเจ้า

เส้นปั่นบางกระเจ้า ท่ามกลางทุ่งต้นจาก
มาถึงสวรรค์ของนักปั่นอีกแห่งใกล้กรุงเทพฯ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ คุ้งกระเพาะหมูบางกระเจ้า สถานที่แห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย ในปี พ.ศ. 2549 จากนิตยสารไทม์เอเชีย (Time Asia) ที่นี่เป็นหนึ่งในตำบลของจังหวัดสมุทรปราการที่มีเส้นทางปั่นจักรยานที่น่าสนใจ และรับรองว่าปลอดภัยหายห่วงเพราะคุณจะได้ปั่นตามถนนเล็กๆ ในชุมชนที่ไม่วุ่นวาย ไม่มีรถรามากวนใจแน่นอน

เส้นทางปั่นในคุ้งกระเพาะหมู โดยเริ่มต้นง่ายๆ ที่ตลาดบางน้ำผึ้ง ที่นี่จะมีร้านจักรยานให้เช่าโดยเฉพาะไม่ต้องแบกไปเองให้เมื่อย เพราะเป็นชุมชนที่เปิดเป็นการท่องเที่ยวด้วยจักรยานโดยตรง อัตราค่าเช่าชั่วโมงละ 30 บาท ถ้าเหมาทั้งวันก็ 80 บาทต่อคัน

ตามเส้นทางหลักที่นักปั่นนิยมปั่นกัน คือ ปั่นไปตามเส้นทางที่จะไปมาทางซอยเพชรหึงษ์ 33 ตรงไปตามป้ายที่ชี้ว่าไปสวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์ เลี้ยวตามทางเข้าไปได้เลย จากนั้นจะเห็นป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ตลอดทาง ที่เด่นๆ ก็เช่น ร้านกาแฟน่านั่ง พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย บ้านธูปหอมสมุนไพร (มีสอนนักท่องเที่ยวทำธูปหอมและผ้ามัดย้อมด้วย) และ Bangkok Tree House (เป็นโรงแรมแนวกรีนไลฟ์ มีร้านอาหารและร้านกาแฟด้านใน ตกแต่งสวยงามบรรยากาศดี)

ปั่นเย็นสบายที่บางกระเจ้า จากนั้นก็ปั่นเอาจักรยานไปคืนที่ตลาดบางน้ำผึ้งที่เดิม ซึ่งอยู่ไม่ไกล ปั่นไปแวะเที่ยวระหว่างทางไปด้วย ใช้เวลาคร่าวๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง รับรองได้สนุก ได้ออกกำลังกาย ได้ช่วยชุมชน และได้อิ่มท้องอีกด้วย

 

5. สวนลุมพินี

สวนลุมพินี แหล่งพักผ่อนกลางกรุง
ถ้าพูดถึงแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ ที่ร่มรื่น เดินทางสะดวก ทุกคนก็ต้องนึกถึงสวนลุมพินี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คุณสามารถมาปั่นจักรยานกันได้อย่างปลอดภัย มีเลนจักรยานให้ มั่นใจได้ว่าไม่มีรถยนต์มาเฉี่ยวชนแน่นอน แต่ต้องจำกัดความเร็วอยู่ที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะสวนสาธารณะแห่งนี้มีประชาชนมาเดินและวิ่งออกกำลังกายจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องแชร์เส้นทางร่วมกัน

โดยนักปั่นสามารถมาปั่นจักรยานได้ในเวลา 10.00 – 15.00 น. หรือสามารถปั่นไปตาม “เส้นใน” หรือถนนเส้นรองได้ตลอดเวลาจนถึงเย็น ใครไม่แน่ใจว่าเป็นถนนเส้นไหนในสวนลุมฯ ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนก็ได้

และล่าสุดมีข่าวว่าทางการกำลังดำเนินการปรับปรุงเลนจักรยานในสวมลุมฯ ใหม่ โดยจะแบ่งทำเลนจักรยานแยกออกมาจากเลนวิ่งอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักวิ่งและนักปั่นที่จะได้มีสถานที่พักผ่อนร่วมกัน และเป็นการส่งเสริมเรื่องเลนจักรยานปลอดภัยให้กับกรุงเทพฯได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

ข้อควรระวังสำหรับนักปั่นมือใหม่

อย่าไปปั่นบนถนนสายหลัก ที่มี 4 เลน หรือ 8 เลน และไม่มีไหล่ทาง รวมถึงซอยใหญ่ๆ ที่รถยนต์มักมาใช้เป็นทางลัดตัดเข้าถนนสายหลัก ส่วนการข้ามถนนของนักปั่นควรใช้ความระมัดระวังอย่างมาก หากเป็นถนนเลนกว้างและรถยนต์ใช้ความเร็วสูง เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรามอินทรา ควรข้ามด้วยสะพานลอยจะดีที่สุด นอกจากนี้ก็ไม่ควรข้ามถนนบนสามแยกหรือสี่แยกใหญ่ ๆ หรือกลับรถในจุดกลับรถของรถยนต์

อ่านต่อกับ นางฟ้านักปั่น แนะนำ 5 เส้นทางจักรยานน่าเที่ยว!

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์.(2010).ขาปั่นมาเช็กก่อน! เปิด 5 เส้นทางที่ใช่ ปั่นชิลปลอดภัย ต้องไปที่นี่.9 ธันวาคม 2559.
แหล่งที่มา : http://www.allthaievent.com/article/17/
ภาพประกอบจาก : http://www.allthaievent.com


.jpg

มาวางแผนทางการเงินกันดีกว่า ซึ่งหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ว่า “เงิน” เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพรวมถึงการป้องกันและรักษาโรค อย่างไรก็ตามเรายังมีความจำเป็นต้องจัดสรรปันส่วนเงินไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ของชีวิต สำหรับตอนนี้เรามาดูเรื่องของการวางแผนทางการเงินกันค่ะ

 

อะไรคือการวางแผนทางเงิน

เมื่อสักสองถึงสามปีที่ผ่านมามีกระแสการรักษาสุขภาพในแนวทางชีวจิตตื่นตัวขึ้นมาอย่างมาก แต่ผมจะไม่พูดเรื่องการกินอยู่ การถอนพิษออกจากร่างกายเพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราจะกล่าวถึงแต่จะขออ้าง คำพูดของ ดอกเตอร์สาทิต อินทรกำแหง ที่ท่านกล่าวในทำนองนี้ว่า การรักษาแบบชีวจิตเป็นการรักษาแบบองค์รวม คือ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานดีขึ้นทั้งหมดโรคภัยไข้เจ็บจะได้ไม่มาเยือน ไม่ใช่การรักษาโรคที่บางครั้งโรคหายแต่คนร่างกายทรุดโทรมจนเกือบไม่รอด (ในบางรายแพทย์แนะนำว่าต้องตัดอวัยวะบางส่วนของร่างกายออกด้วย)

ด้วยแนวคิดเดียวกันถ้าเราตัวแทนประกันชีวิตไปพบผู้มุ่งหวังและนำเสนอการประกันชีวิตอย่างเดียว โดยไม่รู้ข้อมูลด้านอื่น ๆ ของผู้มุ่งหวังเลย (ด้วยความสามารถในการใช้บทเจรจาการขายที่ยอดเยี่ยม ผู้มุ่งหวังก็ตัดสินใจจ่ายเบี้ยก้อนโต) ก็เหมือนการรักษาโรคที่เน้นให้โรคหาย แต่คนไข้อาจจะบอบช้ำจากการรักษาจนไม่สามารถส่งเบี้ยประกัน หรือไม่อยากส่งเบี้ยปีต่ออายุปีต่อไปอีกเลย (เหมือนคนไข้กลัวหมอยอมตายดีกว่าต้องตัดอวัยวะออกอีก)

โดยแนวคิดของ Financial Planner ตัวแทนสามารถให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่ผู้มุ่งหวังแบบองค์รวม และผู้มุ่งหวังจะสบายใจในการใช้บริการจากตัวแทนคนนั้นมากกว่า เพราะตัวแทนได้นำปัญหา ความฝัน เป้าหมายทางการเงินทุกด้านขึ้นมาตีแผ่ให้ผู้มุ่งหวังได้เห็นชัดเจนว่าตัวเขาอยู่ในจุดใด และเขาจะเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร โดยมีการประกันชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงินของเขาซึ่งทำให้ผู้มุ่งหวังยอมรับการมีประกันชีวิตได้ง่าย และได้มากกว่าที่ตัวแทนจะเสนอขายประกันชีวิตอย่างเดียว

 

แล้วองค์รวมของแผนการเงินมีอะไรบ้าง ?

ข้อมูลที่ผมนำเสนอต่อไปนี้ได้จากการค้นหาในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ Financial Planner ข้อมูลบางอย่างยังไม่มีในประเทศไทย แต่เรารู้กว้าง ๆ กันก่อน แล้วค่อยนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างในองค์รวมนี้

  1. Retirement Planning การวางแผนเกษียณอายุ
  2. Education funding กองทุนการศึกษาบุตร
  3. Estate planning การวางแผนมรดก
  4. Cash management and budgeting การบริหารเงินสดและการจัดงบประมาณ
  5. Employee benefits การวางแผนผลประโยชน์สำหรับพนักงาน
  6. Planning for business owners การวางแผนสำหรับเจ้าของธุรกิจ
  7. Investment and asset management การลงทุนและการบริหารสินทรัพย์
  8. Tax planning การวางแผนทางภาษี
  9. Insurance การประกัน
  10. Planned and charitable giving การวางแผนบริจาคเพื่อการกุศล
  11. Elder and long term care planning การวางแผนสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ

จะเห็นได้ว่าประกันชีวิตเป็นเพียงข้อเดียวใน 11 ข้อของการวางแผนทางการเงิน แต่ผู้เขียนมุ่งหวังไม่ใช่จะต้องการการวางแผนการเงินทุกด้านทั้งหมด บางคนอาจจะต้องการ 5 ข้อ 8 ข้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะของตัวเขาเอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมนึก ธนวัฒน์โกศล.(2010).มาวางแผนทางการเงินกันดีกว่า.8 พฤศจิกายน 2558.
แหล่งที่มา : http://www.bangkokwealth.com
ภาพประกอบจาก : www.ebony.com


.jpg

ปัจจุบันวิธีการผลิตวัคซีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อาจแบ่งวิธีการผลิตตามเทคโนโลยีการผลิต antigen ได้เป็น 4 วิธี คือ

 

1. First generation vaccine production

เป็นการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม (conventional method) ที่ใช้การผลิตวัคซีนทั่ว ๆ ไป ได้แก่

  • Killed vaccine หรือ Inactivated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคมาทำให้ตาย เช่น วัคซีนไทฟอยด์ อหิวาต์ ไอกรน โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด เป็นต้น
  • Live attenuated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค มาทำให้อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน และวัคซีนไข้เหลือง เป็นต้น
  • Toxoid Antigen ได้จากการทำให้ toxin ที่ตัวเชื้อก่อโรคสร้างขึ้นหมดความเป็นพิษลง เช่น ท๊อกซอยด์บาดทะยัก และท๊อกซอยด์คอตีบ เป็นต้น
  • Subunit Vaccine Antigen ได้จากการแยกชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคตามธรรมชาติ เช่น plasma-derived hepatitis B vaccine ได้จากการนำส่วน HBsAg ของ hepatitis B virus หรือการนำส่วน polysaccharide ของเชื้อ meningococcus และเชื้อ pneumococcus มาผลิตเป็น meningococcal vaccine และ pneumococcal vaccine

 

2. Second generation vaccine production Antigen

เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งได้จากการผลิตในสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยความรู้ด้าน molecular biology และ recombinant DNA tecnology เช่น yeast-derived recombinant hepatitis B vaccine

 

3. Third generation vaccine production

Antigen เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งผลิตในหลอดทดลอง โดยขบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

4. Forth generation vaccine production Antigen

เป็น DNA ของเชื้อโรคที่ควบคุมการสร้างโปรตีน ที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เรียกวัคซีนประเภทนี้ว่า nucleic acid vaccine หรือ DNA vaccine วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน.22 ธันวาคม 2557.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.thaicancerj.wordpress.com


-ไบโพลาร์.jpg

Bipolar disorders หรือ BP เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่ผู้ป่วยมีอารมณ์คลุ้มคลั่งครื้นเครงมากกว่าปกติหรือ อารมณ์ครื้นเครงไปจากภาวะปกติเล็กน้อย สลับกับมีภาวะอารมณ์เศร้าซึม

 

ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีเพียงอาการอารมณ์คลุ้มคลั่งครื้นเครงมากกว่าปกติเท่านั้น ในแต่ละครั้งที่อาการกำเริบ โดยไม่มีระยะที่มีอาการซึมเศร้าเลย แต่ยังคงให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าอารมณ์แปรปรวน ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินโรค ประวัติของโรคในครอบครัว ตลอดจนการตอบสนองต่อการรักษาไม่ต่างไปจากผู้ป่วยที่มีอาการทั้ง 2 ด้าน อีกทั้งผู้ป่วยประเภทนี้พบได้ไม่มาก (ประมาณร้อยละ 10)

 

ลักษณะอาการทางคลินิก

อาการของผู้ป่วยอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่

  • อาการด้านอารมณ์ ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี พูดจามีอารมณ์ขัน ล้อเลียนผู้อื่น คึกคะนอง ไม่สำรวม มีการแสดงออกของอารมณ์หรือความต้องการอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ค่อยคำนึงถึงผู้อื่นหรือกฎเกณฑ์ของสังคม หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ตนต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว
  • อาการด้านพฤติกรรม ผู้ป่วยจะรู้สึกคึกคัก มีกำลังวังชา ขยันมากกว่าปกติแต่มักทำได้ไม่ค่อยดี ความต้องการนอนลดลง ชอบพูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายสิ้นเปลือง
  • อาการด้านความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดสร้างสรรค์มากมาย มีโครงการในกิจการต่างๆ ซึ่งเกินตัว เชื่อมั่นในตนเองมากร่วมกับมีการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน โดยเนื้อหามักเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจวิเศษ ศาสนา หรือบางครั้งอาจมีลักษณะแปลกๆ เช่นเดียวกับที่พบในโรคจิตเภท

 

ระบาดวิทยา

ความชุกโดยคำนวณตลอดชีวิต ร้อยละ 1 หญิงและชายพบได้พอๆ กัน อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการประมาณ 30 ปี

 

สาเหตุ

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุเป็นจากปัจจัยด้านชีวภาพ ซึ่งพบเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมค่อนข้างสูง และเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง ในแง่ของสารสื่อนำประสาทในสมองหลายตัว โดยพบว่าในระยะที่มีอารมณ์เศร้า มีสารสื่อนำประสาทนอร์อิพิเนฟรินและซีโรโทนินลดลง และในระยะอารมณ์คลั่งมีนอร์อิพิเนฟรินสูง

 

การดำเนินโรค

ผู้ป่วยชายส่วนใหญ่จะมีอาการครั้งแรกเป็นภาวะอารมณ์คลั่ง ส่วนผู้ป่วยหญิงจะมีอาการครั้งแรกเป็นแบบภาวะอารมณ์เศร้า ระยะเวลาที่เป็น หากไม่ได้รักษาโดยเฉลี่ยนาน 4 เดือน ผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะอารมณ์คลั่ง พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นอีกมากกว่าร้อยละ 90 และโรคนี้มีโอกาสเกิดซ้ำของโรค สูงกว่าพวกที่มาด้วยภาวะอารมณ์เศร้า

 

การรักษา

รับไว้รักษาในโรงพยาบาลในรายที่อาการรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ทำลายข้าวของ มีอาการโรคจิต หรือไม่พักผ่อน รบกวนคนในครอบครัวหรือผู้อื่น ญาติควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ เป็นต้น

ยาหลักใน การรักษา ได้แก่ ลิเทียม ให้ขนาด 600-9000 มก./วัน โดยให้ระดับยาในเลือดอยู่ระหว่าง 0.8-1.4 mEq/ลิตร ในรายที่มีอาการมากในช่วงแรกจำเป็นต้องให้ยารักษาโรคจิต หรือยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในขนาดสูงร่วมไปด้วย เพื่อควบคุมพฤติกรรม ลดอาการวุ่นวาย ก้าวร้าว เมื่ออาการด้านอารมณ์ลดลงจึงค่อยๆ ลดยารักษาโรคจิตลงจนหยุด ผู้ป่วยอารมณ์คลั่งที่มีอาการโรคจิตร่วมด้วยนั้นต้องให้การรักษาด้วยยารักษา โรคจิต และลดยาลงเมื่อหายอาการเช่นกัน

ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยลิเทียม หลังจากให้ยาในขนาดที่เหมาะสมไปนาน 4 สัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่เป็น rapid cycling อาจให้การรักษาด้วย carbamazepine หรือ sodium valproate

หลังจากผู้ป่วยอาการกลับสู่ปกติแล้ว ให้ลิเทียมต่อไปอีก 3-4 เดือน แล้วลดยาลงจนหยุด ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นมาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไป ควรให้การรักษาแบบดูแลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ โดยมีระยะเวลาที่ให้ควรนานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป

ขณะให้ยารักษาเพื่อดูแลต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ หากผู้ป่วยที่กลับมามีอาการ อารมณ์คลั่งให้เพิ่มขนาดลิเทียม หรือให้ยารักษาโรคจิตร่วม หากมีอาการซึมเศร้าให้เพิ่มขนาดลิเทียม ร่วมกับทำจิตบำบัด ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจให้ยาแก้เศร้า แต่ไม่ควรให้นาน เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้โรคเกิดกำเริบบ่อยขึ้นได้

 

เอกสารอ้างอิง :

  1. มานิต ศรีสุรภานนท์. ตำราจิตเวชศาสตร์, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 2 เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, เชียงใหม่: หน้า 165, พ.ศ. 2544.
  2. ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล. จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 6 สวิชาการพิมพ์, กรุงเทพฯ: หน้า 153-157, พ.ศ. 2544.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก bipolar-disorders-โรคอารมณ์เศร้าอารมณ์
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก