โรคเบาหวาน
เบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM, Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายทำให้ตับอ่อนมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา หรือรักษาแล้วระดับน้ำตาลยังสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลแทรกซ้อนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด ที่ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เส้นเลือดในสมองตีบ ไตเสื่อม ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นทุกปี โดยในประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้ใหญ่ ประมาณ 8.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นผู้ป่วยทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านราย ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อป้องกัน ดูแลและรักษาผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ
ชนิดของเบาหวานและสาเหตุ
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ โดยจะมีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาที่แตกต่างกัน
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I DM) พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือผลิตไม่ได้เลย โดยเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านการทำงานของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้พบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 30% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ มักมาด้วยอาการเลือดเป็นกรดเป็นอาการแสดงแรก โรคเบาหวานชนิดนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II DM) พบประมาณ 90 – 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ ตัวจับอินซูลินที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรืออ้วนลงพุง หรือมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเป็นเบาหวานอยู่ การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) พบประมาณ 2 – 5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์ร่างกายหญิงจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด โดยบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ภายหลังการคลอดบุตร ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติและไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล
- โรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ (Specific types of Diabetes due to Other Causes) เบาหวานกลุ่มนี้เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
อาการโรคเบาหวาน
ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาการเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย และน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดในร่างกายเป็นกรด ซึ่งมีระดับน้ำตาลและคีโตน (Ketone) ในเลือดสูง สืบเนื่องจากการขาดอินซูลิน
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นน้อย ๆ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือตรวจร่างกายประจำปี สำหรับในรายที่มีอาการผิดปกติ อาจพบอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะในตอนกลางคืน กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งมีอาการสายตามัว เห็นภาพไม่ชัด ปัสสาวะมีมดขึ้น (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 mg/dL) ทั้งนี้อาการมักค่อยเป็นค่อยไป กรณีที่เป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวอาจลดจากการที่ร่างกายหันมาใช้พลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ
ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในภาวะเบาหวานมานานและไม่รู้ตัว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น อาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนปลายมือปลายเท้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัว เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเบาหวานมีดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะข้อพับแขนหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose: FPG) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะที่ข้อพับแขนขณะที่ไม่ได้อดอาหาร มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ร่วมกับมีอาการแสดงของโรคเบาหวาน เช่น ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด เลือดเป็นกรด ถือว่าสามารถวินิจฉัยเบาหวานได้
- การทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) สามารถทำโดยให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง (ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล.) ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไปจะถือว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน
นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่
- การตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ
- การตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5% แต่ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% จะถือว่าเป็นเบาหวาน)
- การตรวจระดับไขมันในเลือด เพราะเบาหวานมักมีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดสูง
- การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
- การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อจอตา
- การวัดความดันโลหิต เนื่องจากเบาหวานมักพบร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง
- การตรวจเท้า เพื่อหารอยแผลและการรับความรู้สึกผิดปกติ เนื่องจากสัมพันธ์กับผู้เป็นเบาหวานระยะเวลานาน
- หากสงสัยภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด (Antibody) เพื่อยืนยันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1
การรักษา โรคเบาหวาน
เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 หรือ 2 คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยาลดระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ประกอบไปด้วย การออกกำลังกาย การควบคุมอาหารและการงดสูบบุหรี่
การออกกำลังกาย
แนะนำให้ออกกำลังกายระดับเบา กล่าวคือ ชีพจรให้ได้ร้อยละ 50 – 70 ของชีพจรสูงสุด (220 – อายุเป็นปี) โดยหากออกกำลังกายแบบแอโรบิก แนะนำให้ปฏิบัติ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแบ่งออกกำลังกายวันละ 30 – 50 นาทีให้ได้ 3 – 5 วันต่ออาทิตย์ และไม่ควรงดออกกำลังกายติดต่อกันนานกว่า 2 วัน สำหรับการออกกำลังแบบต้านแรง (resistance) แนะนำให้ปฏิบัติคู่กับการออกกำลังแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย 8 – 10 ท่า (หนึ่งชุด) แต่ละท่าทำ 8 – 12 ครั้ง วันละ 2 – 4 ชุด
การควบคุมอาหาร
ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการควบคุมการรับประทานอาหารและให้มีการลดลงของน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 – 7 โดยการควบคุมอาหาร ไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่า สัดส่วนของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรจะเป็นเท่าใด สำหรับคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานชนิดที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ และนมจืดไขมันต่ำ ร่วมกับเลือกทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด สำหรับโปรตีนควรบริโภคปลาและเนื้อไก่เป็นหลัก และบริโภคปลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มโอเมก้า-3 ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่ม ควรจำกัดปริมาณไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้หญิง และ 2 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้ชาย
การใช้ยาลดระดับน้ำตาล
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ โดยชนิดของยารับประทานมี ดังนี้
- ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanide) เช่น metformin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับและกระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำกลูโคสไปใช้งานได้มากขึ้น มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ท้องเสีย น้ำหนักลดเล็กน้อย ถ้าใช้กับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียหรือยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น glipizide และ gliclazide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ผลข้างเคียงสำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักขึ้น และการแพ้ยากลุ่มซัลฟา
- ยากลุ่มกลิตาโซน (Glitazone) เช่น pioglitazone เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อนำกลูโคสไปใช้งานได้ดีขึ้นใช้ควบคู่กับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม แต่หากใช้คู่กับอินซูลินอาจทำให้บวมมากขึ้น ควรพิจารณาปรับขนาดยา ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ บวม น้ำหนักตัวขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ขึ้น การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น
- ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เช่น repaglinide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน สามารถใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียได้ในทุกกรณี ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การแพ้ยากลุ่มซัลฟา
- ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase inhibitor) ได้แก่ acarbose มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นิยมใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเสริมยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีลมในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย
- ยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมกลูโคสที่ไต (SGLT2 inhibitor) ได้แก่ empagliflozin, canagliflozin และ dapagliflozin สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลกลูโคสที่ท่อไตส่วนต้นได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การลดการเสื่อมของไตและลดการเกิดหัวใจล้มเหลวด้วย ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ความดันต่ำ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
- ยาฉีดกลุ่ม GLP-1 agonist (GLP-1 receptor agonist) ได้แก่ liraglutide สามารถทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น กระเพาะและลำไส้บีบตัวได้น้อยลง ทำให้อิ่มไวและระดับน้ำตาลลดลง ผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ น้ำหนักตัวลด ท้องอืด
- ยาฉีดอินซูลิน (Insulin) ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในบางกรณี เช่น กินยารักษาเบาหวานเต็มที่แล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยเบาหวานที่แพ้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน
ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการทานยารักษาเบาหวานบางชนิดข้างต้น อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ คือทำให้มีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็น หิวข้าว ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือชักได้ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้ป่วยจึงควรระวังอาการในลักษณะดังกล่าว ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการก็ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมทันที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย
ในรายที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่สำคัญ ได้แก่
- ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy) เกิดจากการที่น้ำตาลคั่งอยู่ในหลอดเลือดฝอยในลูกตา ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ตาเสื่อม ส่งผลให้จอตาเสื่อม ระยะแรกอาจไม่มีอาการ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมาด้วยการมองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นจุดดำลอยไปมา หรือตาบอด เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดฝอยไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดไตวาย (Renal failure) ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ขา ซีด อ่อนเพลีย เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในแต่ละอวัยวะ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า มีความเสี่ยงต่อแผลหายช้า อัมพาตกล้ามเนื้อตา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเบ่งปัสสาวะไม่ได้ กระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมถึงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
- ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ การที่หลอดเลือดหัวใจเสื่อมจากภาวะเบาหวานประกอบกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) บางรายมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด ผู้ป่วยหลายกรณีไม่มีอาการล่วงหน้า บางรายอาจมีอาการแบบรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน หรือ หัวใจล้มเหลวฉับพลัน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease/stroke) สูง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าบุคคลปกติ 3 – 5 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อยๆ เป็นต้น
- แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดเลือดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ และติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เกิดแล้วหายช้า อาจลุกลาม รุนแรง เป็นเนื้อตายจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้งได้ โดยเฉพาะแผลที่เท้า
สรุป
- ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจเลือด หรือวางแผนการรักษาตามวันเวลานัด การขาดการจริงจังกับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
- ห้ามซื้อยารับประทานเอง ทั้งนี้ยาสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาล ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงจนอยู่ในระดับผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาจเป็นอันตรายได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูง
- หมั่นตรวจและดูแลเท้าอย่างละเอียดทุกวัน ระวังไม่ให้มีบาดแผลหรือมีการอักเสบ ถ้ามีแผลที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรประคบร้อน
- คนปกติที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรเจาะเพื่อตรวจเบาหวาน โรคตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพี่น้องเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรตรวจทุกปี โดยหากพบในระยะเริ่มแรกจะได้วางแผนการรักษาแต่เนิ่น
- ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากเป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% ฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
- ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ ลดคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ลดไขมัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวันและไม่หักโหม ทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบเร็วขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
แหล่งที่มา
- www.mayoclinic.org
- นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. เบาหวาน. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 473-483
- Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes care. 2020;43(Suppl 1):S98-s110.
- แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. (2560)
- www.idf.org
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com