เป็นโรคโลหิตจาง ใช้สมุนไพรอะไรรักษาได้บ้าง
โลหิตจาง หรือเลือดน้อย คือการที่เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติทางการแพทย์จะหมายถึงการที่ระดับค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือ 12 กรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง ถ้าคิดเป็นค่าฮีมาโตคริต คือความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39 และ 36% ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ
สาเหตุของโลหิตจาง
- เกิดจากความสูญเสียเลือด
- บางครั้งมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร ซึ่งจะสังเกตจากการถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่ถ้าออกครั้งละน้อย ๆ แต่ออกบ่อยอาจไม่เห็นว่าอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่จะมีโลหิตจางได้ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อยได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
- เสียเลือดจากการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที อาจเกิดจากการเป็นมะเร็งได้
- ซีดจากการขาดสารอาหาร ผู้เป็นโรคโลหิตจางบางรายอาจรับประทานอาหารม่ครบ 5 หมู่ทำให้โลหิตจางได้
- ซีดจากโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อย
- โรคอื่น ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม หรือธาลัสซีเมีย
ชนิดของโลหิตจาง
- ขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) ซึ่งพบมากที่สุดเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก ทำให้ไม่เพียงพอในการสร้างฮีโมโกลบินอาจเกิดจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ มีโรคลำไส้หรือเสียเลือดซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีประจำเดือนมากหรือการเสียโลหิตเรื้อรังจากสาเหตุอื่น
- ชนิดไขกระดูกบกพร่องหรืออะพลาสติก (Aplastic Anemia) เกิดเมื่อไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดบางชนิดได้เพียงพอ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด
- ชนิดขาดกรดโฟลิก (Folic acid Deficiency Anemia) มักเป็นผลจากการขาดวิตามินบี ซึ่งจำเป็นในการสร้างฮีโมโกลบิน ภาวะโลหิตจางชนิดนี้พบบ่อยในผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง
- ชนิดขาดวิตามินบี หรือเพอร์นิเซีส (Pernicious Anemia) เกิดจากการขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากกระเพาะอาหารไม่สามารถสร้างสารที่จำเป็นในการดูดซึมวิตามินเข้าสู่กระแสเลือด
การรักษา
การรักษาผู้เป็นโลหิตจางในแต่ละชนิด มีแนวทางการรักษาที่ไม่เหมือนกัน จึงควรได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง หรือถ้ามีอาการไม่มากก็จะเป็นการดูแลตนเองโดยการรับประทานผักต่าง ๆ ที่มีสีเขียวหรือตับ จะเป็นการเพิ่มธาตุเหล็ก เพราะฉะนั้นการเป็นโลหิตจางยังไม่มีสมุนไพรชนิดใดที่มีข้อมูลทางการวิจัยยืนยันว่าสามารถรักษาโลหิตจางได้
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com