ในชีวิตประจำวัน มีการใช้คำว่า “เอ็น” กันบ่อยครั้งมาก ทั้งเอ็นข้อ เอ็นยึด เอ็นยึดข้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูกหรือเส้นเอ็น ทำให้ในการสื่อสารหลาย ๆ ครั้ง อาจเกิดความสับสนได้ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ เช่น เอ็นอักเสบ เอ็นหัวไหล่อักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ ยิ่งมีการพูดถึงเรื่อง “พังผืด” ขึ้นมาด้วย ดังนั้นเรามาดูกันว่าหลัก ๆ แล้วหมายถึงอะไร
เอ็นกล้ามเนื้อ
เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous tissue) อยู่ส่วนปลายของมัดกล้ามเนื้อ โดยช่วยยึดให้กล้ามเนื้อติดกับกระดูก ทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกต่าง ๆ ทั่วร่างกายสามารถเคลื่อนไหวร่วมกันได้ เมื่อดูในกายวิภาคของกล้ามเนื้อ จะเห็นเอ็นกล้ามเนื้อเป็นสีขาวที่ปลายมัดกล้ามเนื้อด้านที่ติดกับกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ
โรคหรือภาวะผิดปกติของเอ็นกล้ามเนื้อ จะส่งผลให้เกิดอาการปวด เจ็บ บวม การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างลำบาก โดยทั่วไปมักเกิดจากการบาดเจ็บ ทั้งจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ รวมถึงการเสื่อมตามอายุเช่นเดียวกับเอ็นกระดูก
เอ็นกระดูก
เอ็นกระดูก (Ligament) เป็นกลุ่มหรือมัดของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous tissue) ที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีกล้ามเนื้อยึดที่ปลาย โดยช่วยยึดกระดูกและกระดูกชิ้นอื่นเข้าไว้ เพื่อเป็นข้อต่อ (Joint) ทั้งนี้เอ็นกระดูกหรือเอ็นยึด บางครั้งเรียกเส้นเอ็น จะมีคุณสมบัติยืดหยุ่น เมื่อมีแรงดึงจะยืดออกได้เล็กน้อย และกลับสภาพเดิมเมื่อไม่มีแรงดึง ทั้งนี้จะต่างจากเอ็นกล้ามเนื้อซึ่งไม่มีความยืดหยุ่น แต่หากแรงดึงมากเกินหรือถูกดึงทิ้งไว้ระยะเวลานานเกิน เอ็นกระดูกจะไม่สามารถกลับสภาพเดิม ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดข้อเคลื่อน (Joint dislocation) แล้ว ต้องได้รับการรักษาโดยทันที ถ้าเอ็นกระดูกถูกยืดมากเกินไป ข้อต่อก็จะอ่อนแอลงและมีแนวโน้มจะเกิดข้อเคลื่อนได้ง่าย
ในกรณีที่เอ็นฉีก (Broken ligament) อาจทำให้ข้อต่อไม่เสถียร ทั้งนี้เอ็นฉีกทุกครั้งไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเสมอไป ในบางกรณีการให้ข้อต่ออยู่นิ่ง ก็ทำให้เอ็นยึดมาต่อกันได้ แต่การผ่าตัดสามารถเย็บซ่อมเอ็นได้โดยตรง หากการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้องใช้หัตถการอื่นๆ การปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้กระดูกอ่อนสึก และทำให้ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ได้
พังผืด
พังผืด (Fibrosis) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous tissue) ช่วยในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อกับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกับกระดูก และร่างกายยังใช้เนื้อเยื่อนี้ในการซ่อมแซมเมื่อเกิดมีการบาดเจ็บ เสียหาย อักเสบ หรือการตายของเซลล์ในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ เช่น การเกิดแผลเป็น กรณีผิวหนังเกิดแผล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีพังผืดเกิดมากผิดปกติ อาจทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะดังกล่าว สูญเสียการทำงานได้
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : th.wikipedia.org www.haamor.co
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com