ถ้าพูดถึง “อาหารขยะ” เรามักจะนึกถึงพวกอาหาร Fast food หลากหลายประเภท ซึ่งเต็มไปด้วยส่วนประกอบที่มาจากวัตถุดิบผ่านกระบวนการแปรรูปมากมาย แม้อาหารเหล่านี้จะสะดวกเหมาะแก่มื้อด่วน ๆ หรือสำหรับบางคนก็มุ่งเน้นอาหารประเภทนี้โดยเฉพาะ เพราะมีรสชาติอร่อย รูปร่างหน้าตาน่ารับประทาน อีกทั้งจากสื่อฯ และสิ่งรอบตัวเราต่าง ๆ ที่เห็นจนชินตา จนคุ้นเคยว่าอาหารขยะเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตไปแล้ว ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับอาหารประเภทนี้โดยไม่ตื่นตัวอะไร แม้จะรู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังบริโภคกันอยู่ประจำ
อาหารขยะ ‘Junk food’ คืออะไร
อาหาร Junk food มักจะหมายถึงอาหารที่ให้ปริมาณแคลอรี่สูงเกินความจำเป็นของร่างกาย รวมทั้งระดับน้ำตาลและโซเดียมที่มากเกินพอดี สิ่งเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะกลายเป็นส่วนเกินสะสม ส่งผลต่อน้ำหนักของเราเกิดความอ้วนตามมา กลายเป็นขยะในร่างกาย ไม่สร้างประโยชน์อะไรนั่นเอง
อาหารขยะไม่ใช่ชนิด แต่เป็นวัตถุดิบ
แม้เราจะเข้าใจกันดีว่าอาหารขยะมักเป็นพวก Fast food อย่างแฮมเบอเกอร์ เฟรนซ์ฟราย โดนัท ไอศกรีม ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องลูกชิ้นทอด ฯลฯ สารพัดอย่าง แต่เราก็ไม่สามารถเหมารวมความอันตรายของอาหารประเภทนี้ทุกหัวมุมถนนได้ ทำไมคนบางคนชอบกินแฮมเบอเกอร์ชีสเยิ้มเป็นชีวิตจิตใจ แต่ยังสามารถคงสุขภาพดีได้ไม่เป็นอะไร เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นนั้นมาจากไหน จากร้านที่ควบคุมวัตถุดิบแท้ระดับพรีเมี่ยม หรือร้านเฟรนไซส์ที่เน้นต้นทุนต่ำขายปริมาณ ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้สร้างความแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มแรก ส่งผลต่อคุณค่าทางสารอาหารที่ร่างกายจะได้รับจากแฮมเบอเกอร์ชิ้นนั้นโดยปริยาย สำหรับอาหารชนิดอื่น ๆ เองก็เป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาหารขยะมักจะเกิดจากวัตถุดิบที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แม้วัตถุดิบแต่ละอย่างจะมีกฎหมายควบคุมปริมาณสารอันตรายเป็นตัวกรองความปลอดภัยให้เราก่อนแล้ว แต่เมื่อจับทุกวัตถุดิบที่อาจอยู่ขั้นต่ำสุดของการควบคุมมารวมกันในชิ้นเดียว และคุณเลือกบริโภคบ่อยครั้งด้วยความชอบ…ก็ลองจินตนาการดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายลำดับต่อไป
อาหารขยะส่งผลต่อการควบคุมความหิว
การบริโภคไขมันทรานส์ที่พบในอาหารทอด และแปรรูป สามารถส่งสัญญาณไปยังสมอง ซึ่งทำการประมวลผลต่อสิ่งที่คุณกินและหิวโหยมากเกินไป โดยปกติแล้วการทำงานของสมองจำเป็นต้องใช้กรดไขมันจำเป็น เช่น โอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ความบกพร่องที่เกิดขึ้นทำให้ขาดความสมดุล เกิดความเสี่ยงต่อโรคภาวะสมองเสื่อม และโรคไบโพลาร์ รวมถึงกลุ่มอาการเกี่ยวกับสมองอื่น ๆ จากการศึกษายังพบอีกว่าไขมันทรานส์อาจทำเกิดการอักเสบใน Hypothalamus ซึ่งเป็นส่วนเซลล์ประสาทควบคุมน้ำหนักตัว ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดพฤติกรรมการกินมากเกินไปอาจคล้ายกับการติดยาเสพติดอีกด้วย
3 คนดังที่ทำให้เราเห็นว่า Junk food ไม่ Cool
1.Teddi Mellencamp
ดาราสาวจากรายการ The Real Housewives of Beverly Hills ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน และพฤติกรรมการบริโภคตลอดมา ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 35 ปีเธอไม่เคยมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเลย และเธอรู้ดีว่าปัญหาของตัวเอง ณ ตอนนั้นไม่ใช่เพียงรูปร่าง แต่ยังรวมถึงทัศนคติในการใช้ชีวิต ดังนั้น เธอจึงเลือกตัดอาหารขยะที่ชอบ Dr. Pepper และ String cheese โดยเด็ดขาด และนั่นทำให้ตัวเธอในวัย 37 ปีในปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ทั้งออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างสมดุล
2.Jillian Michaels
เทรนเนอร์ชื่อดังจากรายการ TV ขวัญใจคนลดน้ำหนักอย่าง The Biggest Loser ก็มีความเห็นเรื่องอาหารขยะเช่นเดียวกัน เธอเผยไลฟ์สไตล์ที่ยังคงความสุขภาพดีนับสิบปีด้วยการหลีกเลี่ยงร้าน Fast food ที่ขายอาหาร ซึ่งผ่านกระบวนการแปรรูป รวมไปจนถึงช็อกโกแลตบาร์ (ซึ่งเป็นช็อกโกแลตสังเคราะห์) ตัวเลือกที่ยังถูกยกเว้นไว้สำหรับวันเร่งด่วนจริง ๆ คือ Subway ที่เน้นแซนวิชผักเพื่อสุขภาพและสลัดเท่านั้น
3.Jessica Gomes
นางแบบสาวสุดเซ็กซี่จาก Maxim ออสเตรเลีย กล่าวถึงเรื่อง Fast food ว่า ไม่เหมาะกับการรักษารูปร่างและสุขภาพโดยเด็ดขาด เธอหลีกเลี่ยงทุกกรณี โดยในชีวิตประจำวันเธอใช้การเลือกรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการแบบ Paleo diet และหากช่วงที่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือเดินทาง ซึ่งหลีกเลี่ยงอาหารขยะได้ยาก เธอเลือกที่จะเตรียมของว่างติดรถ และกระเป๋าไว้ตั้งแต่ทีแรก เพื่อความมั่นใจ
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.ncbi.nlm.nih.gov www.food.ndtv.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com teddimellencamp jillianmichaels iamjessicagomes