ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ แอนตี้ไบโอติก (Antibiotic) คือ ยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง เชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันมีการใช้คำอื่นทดแทน คือ ยาต้านจุลชีพหรือยาต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial) โดยยากลุ่มนี้ จะใช้เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย หรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
ในสังคมไทยประชาชนทั่วไปมักเรียกยากลุ่มนี้ เป็นยาแก้อักเสบทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น เพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ยาปฏิชีวนะที่เป็นที่คุ้นเคยและผู้ป่วยมักซื้อใช้เอง ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) อ็อกเมนติน (Augmentin) นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloaxacin) เตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) อะซีโทรมัยซิน (Azithromycin) เป็นต้น
ทำไมจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ยาทุกชนิดมีทั้งประโยชน์ในการรักษาโรค และมีโทษจากผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยา ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเมื่อใช้ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ป่วย ได้แก่
- ต้องได้รับผล
- ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยา ไม่ว่าจะเป็น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เวียนศีรษะ
- โรคไม่หาย อาจเกิดการแพ้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้
- เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งมีอยู่ได้ในร่างกายเป็นปกติดื้อต่อยาที่ใช้
- ข้อสำคัญ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้
เมื่อไรที่ต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย หรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติด เชื้อแบคทีเรียเท่านั้น หมายความว่า ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะต้องพบแพทย์และต้องได้รับกาตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด พบว่ากลุ่มโรค 3 กลุ่ม ที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะแต่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก ได้แก่
- อาการคือ
- ไข้หวัด เจ็บคอ
- ท้องเสีย
- แผลเลือดออก
โดยกลุ่มโรคเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 80 ไม่มีสาเหตุมาจากการติด เชื้อแบคทีเรีย การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ประคับประคอง และการให้คำแนะนำผู้ป่วย เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอในไข้หวัดเจ็บคอ การใช้ยาลดอาการท้องอืด และการดื่มน้ำเกลือแร่กรณีท้องเสีย และในกรณีแผลเลือดออก การดูแลรักษาแผลตามที่แพทย์นัดและป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เป็นต้น
แต่พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักร้องขอยาปฏิชีวนะ เมื่ออาการเป็นนานกว่า 3 ถึง 7 วัน เมื่อเสมหะหรือน้ำมูกเป็นสีเขียวข้น หรือถ้าเป็นกลุ่มท้องเสียก็จะขอยาปฏิชีวนะ เมื่อยังมีอาการถ่ายเหลวหลายครั้งเกิน 2 วัน หรือเบื่ออาหารปวดเมื่อยตัว หรืออาการไข้ที่ยังไม่หาย ยิ่งไปกว่านั้นการซื้อยาเองตามร้านขายยาก็ง่ายมาก อีกทั้งผู้ขายยาที่ไม่ใช่แพทย์ก็จะจ่ายยาให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการจึงทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นกันเป็นวงกว้าง
ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจโดยละเอียด และให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีการติด เชื้อแบคทีเรียแล้ว และผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรแจ้งแก่แพทย์ทุกครั้ง หากเคยมีประวัติแพ้ยา ยาปฏิชีวนะ มีทั้งในแบบรับประทานและแบบฉีด ผู้ป่วยควรซักถามทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ต้องใช้ ได้แก่
- ต้องได้รับยานานเท่าไร
- ต้องรับประทานยาอย่างไร ก่อน หรือ หลังอาหาร
- มีข้อห้ามอย่างไรระหว่างใช้ยานี้ เช่น ห้ามใช้ยาใดร่วม ห้ามรับประทานนมหรืออาหารชนิดใด เป็นต้น
- ยาที่จะได้รับมีผลข้างเคียงอย่างไร หากเกิดอาการใดขึ้นที่ควรต้องรีบมาพบแพทย์เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะแล้วต้องใช้ต่อเนื่องจนครบตามที่แพทย์พิจารณา บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้นซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำ หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดี
ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ อาการแพ้ยา หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นทุกชนิด ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ควรรีบหยุดยาและมาพบแพทย์ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอนานเพียงเพื่อกลับไปพบแพทย์คนเดิม หากฉุกเฉินและไม่ควรปรับยาเองข้อสำคัญผู้ป่วยต้องนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมด พร้อมซองหรือชื่อยาไปให้แพทย์ด้วยไม่ควรนำไปแต่เม็ดยา หากเป็นยาฉีดก็ให้นำใบนัดฉีดยา ซึ่งจะมีชื่อยาไปให้แพทย์ด้วย
ปัจจุบันมีความพยายามให้ความรู้ประชาชนและแพทย์ทั่วไป เพื่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดผลเสียและความสิ้นเปลืองจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
ผู้เขียน : พญ. พรพรรณ กู้มานะชัย. สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. “ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ”.
แหล่งที่มา : บทความ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ 1
ภาพประกอบจาก : https://suntreeinternalmedicine.com