ตำลึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis Voigt. จัดอยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่ออื่นว่า ผักแคบ (ภาคเหนือ) แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน) จัดเป็นไม้เถา ตามข้อมีมือเกาะเพื่อยึดติดกับต้นไม้อื่น พบทั่วไปในพื้นที่รกร้าง มีประโยชน์ทั้งด้านอาหาร และด้านยารักษาโรค คือ
ประโยชน์ด้านอาหาร
ส่วนที่นิยมนำมาทำอาหาร คือ ใบ ส่วนนี้นับเป็นส่วนที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ทั้งในส่วนของวิตามินเอ ที่ช่วยในการบำรุงสายตา ธาตุเกลือแร่ แคลเซียม ช่วยบำรุงเลือด เหล็กบำรุงกระดูกและฟัน วิตามินซี ทำให้ผิวพรรณผ่องใส นอกจากนั้นก็มีธาตุฟอสฟอรัส เหล็ก โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตด้วย ทำอาหารประเภทผักลวกจิ้ม แกงจืด ต้มเลือดหมู และก๋วยเตี๋ยว ส่วนผลตำลึงก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยนิยม
ประโยชน์ด้านยา
ในตำรายาไทยมีการบันทึกไว้ว่า ตำลึงมีรสเย็น สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ทุกส่วน คือ ใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้เจ็บตา ตาแดง ตาแฉะ ราก ดับพิษ รักษาโรคตา เถา รักษาโรคตาเจ็บ ต้น แก้โรคผิวหนัง ลดน้ำตาลในเลือด
ในส่วนของการลดน้ำตาลในเลือดนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันข้อมูลที่แน่ชัด พบว่า สารสกัดตำลึงด้วยแอลกอฮอล์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในสัตว์ทดลองและคน แต่ได้ในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังพบว่า ใบและเถาตำลึง มีฤทธิ์ย่อยแป้งได้ จึงเป็นผลดีที่ใช้เป็นอาหาร เพราะเท่ากับรับประทานยาช่วยระบายไปด้วย ทำให้ท้องไม่อืดเฟ้อ แต่ในกรณีนี้ต้องรับประทานตำลึงสด เพราะน้ำย่อยตำลึงจะถูกย่อยสลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน
ภาพประกอบจาก: www.agtrace.agri.cmu.ac.th