ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไข้หวัด (Common cold) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า พบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี ส่วนมากในช่วงฤดูฝน การระบาดของเชื้อก่อโรคอาจมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในแต่ละปี

 

อาการ ไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า

  • อาการสำคัญที่พบบ่อย
    • ระยะแรก มีไข้สูง ถึงสูงมาก 38 – 41 องศาเซลเซียส อาจมีอยู่ได้ถึง 2 – 3 วัน (ซึ่งต่างจากโรคหวัด ซึ่งมักจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลากลอกลูกตา ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก และเบื่ออาหาร
    • ระยะที่สอง มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ในเด็กเล็กอาจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด อาการมักจะหายหลังผ่านระยะแรกไปได้ 3 – 4 วัน
    • ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว ดังนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ อาจอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ อาจมีอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว

  • เมื่อไร่จึงควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ < 5 ปี หรือผู้ป่วยสูงอายุ > 65 ปี ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง) และสตรีมีครรภ์ เมื่อมีอาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังรับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส Influenza virus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A B และ C ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ไปอีกมากมาย เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในแต่ละปี

  • ไวรัสสายพันธุ์ A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์ (ไก่ นก แมว หมู) มาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ไวรัสสายพันธุ์ A แบ่งชนิดตามสารโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส คือ สาร Hemagglutinin (HA: H1-H16) และสาร Neuraminidase (NA:N1-N9) ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ A สามารถแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง ได้แก่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009/ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
  • ไวรัสสายพันธุ์ B ก่อโรคในคนและแมวน้ำ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu)
  • ไวรัสสายพันธุ์ C ก่อโรคในคนและหมู พบได้น้อย เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย

โดยสรุปความแตกต่าง อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B และ C เมื่อแพร่ระบาดแล้วจะยากต่อการควบคุม ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น

 

การติดต่อ

ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่ผ่านการหยิบจับเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดอาการถึง 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย และ ตรวจยืนยันโดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab) วิธีที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ “Rapid influenza diagnostic test” ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15 – 30 นาที ราคาถูก แต่ความไวในการจับเชื้อได้นั้นไม่มากนัก และ วิธี “Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR)” ทราบผลตรวจในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง สามารถแยกสายพันธุ์ A และ B ได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า

 

การรักษา

กรณีอาการไม่รุนแรง

การรักษาจะคล้ายกับการรักษาไข้หวัด คือ การประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง จะส่งผลเสียในระยะยาวคือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเช็ดจากล่างขึ้นบน เพราะทิศทางสวนรูขุมขน จะช่วยระบายความร้อนได้มากกว่า เน้นเช็ดบริเวณข้อพับ รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ข้อเข่า
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรรับประทาน แอสไพริน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก(ยาแก้แพ้)  มีอาการไอ ใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือ ขับเสมหะ อาการเจ็บคอ ใช้ยาอม หรือ สเปรย์พ่นคอ

กรณีอาการรุนแรง

หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้มาพบแพทย์ เพื่อให้พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม) สมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

บุคคลทั่วไป

  1. รับประทานอาหารที่ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าในโซนแออัด เป็นต้น
  5. รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องให้ทุกปี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด ซึ่งสามารถลดโอกาสในการเกิดไข้หวัดใหญ่ลงได้ 50 – 65% วัคซีนนี้มีข้อห้าม ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไก่ แพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

 

นพ. ฐิติกร เจียงประดิษฐ์
แหล่งที่มา :

  1. Cohen YZ, Dolin R. Influenza. In: Kasper, Dennis L, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 19th edition. New York:McGraw Hill Education, 2015. P.1209-1214
  2. นพพร อภิวัฒนากุล. ไข้หวัดใหญ่. ใน: เปรมฤดี ภูมิถาวร, สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, สุเทพ วาณิชย์กุล, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เล่มที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2552. หน้า 125-132
  3. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.mayoclinic.org
  4. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.cdc.gov/flu

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-ในหน้าหนาว.jpg

ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส บางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล

 

มีโรคใดบ้างที่พบบ่อยในฤดูหนาว

ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส บางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าติดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย นอกจากนั้นปัญหาเรื่องผิวหนังก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้งคันหลังอาบน้ำซึ่งพบบ่อยมากในผู้สูงอายุซึ่งมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันก็ทำงานลดลงตามอายุ หรือคนที่ผิวแห้งอยู่เดิมก็อาจคันมากหรือผิวลอกไปเลย บางรายที่เป็นผื่นผิวหนังแพ้อากาศเย็นก็อาจทำให้มีผื่นแพ้อากาศเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ

ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อได้ทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้เชื้อโรคกระจายออกมาในอากาศ หรือจากการที่มีเสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยเปื้อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ แล้วมือเราไปสัมผัสมาแล้วเผลอไปจับจมูก จับหน้าของเราทำให้เชื่อโรคเข้าจมูกหรือตาได้

ส่วนอาการโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่เรามีโอกาสมากขึ้นในการอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราแพ้ เช่น พอฤดูหนาว เราและสัตว์เลี้ยงอาจอยู่ในบ้านมากขึ้น ถ้าเราแพ้ขนสัตว์อาจทำให้เรามีอาการมากขึ้น หรือเรานอนมากขึ้นในฤดูหนาวทำให้แพ้ตัวไรในฝุ่นตามที่นอน หมอน มุ้งมากขึ้น สำหรับอาการผื่นแพ้อากาศเย็นหรือคันตามผิว คัน แห้ง ลอกนั้นเกิดจากอากาศที่เย็นโดยตรง

 

โรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในฤดูหนาว เพราะเป็นโรคที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากได้ โดยเฉพาะถ้ามีการระบาด โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ปีละ 20,000 – 50,000 คน/ปี บางรายเพลียมาก มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมากจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือหยุดงาน และมีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือบางรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุแต่พบไม่บ่อย เสียชีวิตปีละไม่กี่รายจากจำนวนคนที่ป่วยหลายหมื่นคน สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับโรคไข้ชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มากหรือปวดเมื่อยตามตัวมากต้องระวังว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้โดยโรคนี้พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดอยู่เดิม หรือมีโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่เองหรือจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มาก

 

วิธีการรักษา

โรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือให้การรักษาตามอาการ คือช่วงที่มีไข้ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล เช็ดตัวบ่อย ๆ พักผ่อนมาก ๆ ไม่ตรากตำทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ายู่ต้องงด และรับประทานยาลดอาการต่าง ๆ เช่น ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน เนื่องจากอาจเกิดตับวายและสมองอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย ซึม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งอาจมีไข้ อ่อนเพลียโดยอาการไม่ชัด แล้วมีอาการซึม สับสน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเป็นส่วนน้อย สำหรับยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะมักไม่ต้องใช้ เพราะโรคจะหายได้เอง จึงใช้เฉพาะในรายที่อาการรุนแรงเท่านั้น

 

ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

แนะนำให้ฉีดเฉพาะในรายที่มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคสูง ส่วนในคนทั่วไปยังไม่แนะนำเนื่องจากวัคซีนได้ผลประมาณร้อยละ 70-90 แต่ในผู้สูงอายุอาจได้ผลน้อยกว่านี้ สาเหตุของการที่ได้ผลน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ตลอด โดยควรฉีดวัคซีนก่อนถึงช่วงที่จะมีการระบาดของโรค เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้ 1 ปี ฉะนั้นต้องฉีดปีละครั้ง สำหรับกรณีที่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่น ๆ เช่นโรคไต โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 8 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ เนื่องจากถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดตับอักเสบและสมองอักเสบได้
  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3
  • ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น

 

ควรดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวอย่างไร

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดีจะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
  • อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
  • ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15 – 20 วินาที หรือใช้น้ำยาล้างมืออื่น ๆ
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
  • หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง เราควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศหนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก อาจไม่ต้องอาบน้ำวันละสองครั้งเหมือนฤดูอื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว หลังจากเช็ดตัวหมาด ๆ ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ


ทุกคนจึงควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพให้ดีตลอดเวลาเพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่คุ้มค่าที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ หากเมื่อเราป่วยอาจเป็นมากกว่าคนที่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี สำหรับผู้ที่อายุยังไม่มาก ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะสุขภาพที่ดีในตอนอายุยังน้อยจะเป็นเกราะป้องกันโรคตอนอายุมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล.(2009).การดูแลสุขภาพในหน้าหนาว.1 สิงหาคม 2559.
แหล่งที่มา : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=115
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-one.jpg

ไข้ (Fever) เกิดจากการที่ร่างกายพยายามปรับสมดุล เนื่องจากมีการอักเสบเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น มีผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น รวมทั้งมีการระบายความร้อนออกด้วยการขับเหงื่อ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง ส่วนใหญ่มักจะถือว่า มีไข้ ถ้าวัดอุณหภูมิทางปากได้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส   ไข้ แบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการ คือ ไข้เฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการมาไม่เกิน 7 วัน หรือ ไข้เรื้อรัง คือเป็นไข้มาแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในระหว่าง 7 – 21 วันมักจะเรียกว่า ไข้กึ่งเฉียบพลัน หรืออาจจะแบ่งตามสาเหตุ อวัยวะที่มีอาการก็ได้ การแบ่งระยะเวลาของไข้ อาจจะบอกถึงกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดไข้

สาเหตุของไข้ เกิดจากทั้งโรคติดเชื้อ และโรคไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อป็นสาเหตุที่สำคัญของไข้ โดยเฉพาะไข้เฉียบพลัน ถือเป็นร้อยละ 80 ขึ้นไป ในขณะที่ไข้เรื้อรังอาจเกิดจากโรคไม่ติดเชื้อ ร้อยละ 30 – 40 โรคไม่ติดเชื้อที่สำคัญ ที่เป็นสาเหตุของไข้ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ตนเอง โรครูมาตอยด์ โรคคอพอกเป็นพิษ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่พบบ่อย ๆ เท่านั้น จริง ๆ แล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย

โรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งไข้เฉียบพลัน และไข้เรื้อรัง เชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้ อาจเป็นได้ทั้ง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค เชื้อรา เชื้อพยาธิ อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคเหล่านี้บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของไข้เฉียบพลัน เช่น แบคทีเรีย ไวรัส แต่บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของไข้เรื้อรัง ได้แก่ วัณโรค เป็นต้น

แม้กระทั่งในแต่ละกลุ่มเชื้อโรคเอง บางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เฉียบพลัน บางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เรื้อรังได้ หรือเกิดได้ทั้ง 2 แบบ ความรุนแรงของอาการก็แตกต่างกันได้ในแต่ละคน แม้จะเกิดจากการติดเชื้อชนิดเดียวกันก็ตาม เช่น ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะหายเอง แต่บางรายอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้

คนที่มีไข้ จะรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ไม่อยากไปทำงาน อยากจะพักผ่อน ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายในการปรับสมดุล นอกจากนั้นยังมีอาการตามอวัยวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้น  มีสารคัดหลั่งของระบบนั้น ๆ ออกมามากขึ้น เช่น ถ้ามีการอักเสบที่ปอด ก็จะไอ มีเสมหะ ถ้าอักเสบที่ข้อก็จะปวดข้อ ข้อบวมเนื่องจากมีน้ำในข้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น สารคัดหลั่งอาจมีลักษณะเป็นสีเหลืองข้น หรือเป็นหนองได้ ถ้ามีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว และเนื้อเยื่อที่ตายมาสะสมจำนวนมากในสารคัดหลั่งนั้น เช่น น้ำมูกเหลืองข้น ฝี

โดยทั่วไป เมื่อมีไข้ก็ต้องกินยาลดไข้ก่อน เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการปฐมพยาบาลขั้นต้น และยาลดไข้สามารถซื้อหาได้ง่ายจากร้านขายยาทั่วไป นอกจากนั้นผู้ที่มีไข้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อชดเชยการการสูญเสียเหงื่อจากการระบายความร้อน

ไข้จะหายไปเมื่อร่างกายควบคุม หรือกำจัดสาเหตุของไข้ออกจากร่างกายไปได้ ดังนั้นการที่ไข้จะหายเร็วแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัยใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ ภูมิต้านทานของคนคนนั้น สาเหตุของไข้ และการรักษาจำเพาะที่ต้นเหตุ เนื่องจากไข้เฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และมักจะหายเองได้ใน 3 – 7 วัน ดังนั้นการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นดังกล่าวก็เพียงพอ  อาจไม่ต้องมาพบแพทย์ ถ้ามียารักษาอาการร่วมต่าง ๆ อยู่แล้ว

 

เมื่อไรที่ควรมาพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากไข้ที่มีอาจไม่ใช่ไข้จากโรคติดเชื้อ หรือเป็นไข้จากโรคติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษาจำเพาะ หรือเป็นโรคติดเชื้อที่อาการอาจจะทวีความรุนแรง จนอาจเกิดการติดเชื้อหรือลุกลามไปยังระบบอื่น ๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ การกินยาลดไข้โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลเป็นจำนวนมาก หลายวันติดต่อกัน อาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับวายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

ไข้เป็นแค่ไหนต้องพบแพทย์

 

ผู้ป่วยที่ควรจะมาพบแพทย์ เมื่อมีไข้แต่เนิ่น ๆ มีดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ เมื่อมีการติดเชื้ออาจเกิดการลุกลามได้รุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการทำงานของอวัยวะในร่างกายบกพร่องอยู่เดิม ซึ่งเมื่อมีไข้สูงอยู่นาน อาจทำให้ร่างกายทนไม่ไหว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ดี โรคตับแข็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อายุมากหรือเด็กแรกคลอด เป็นต้น
  3. ผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงขึ้น จนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไอมากขึ้น ท้องเสียมากขึ้น ปัสสาวะขัดขุ่นมากขึ้น ทั้งๆ ที่ได้รับการักษาตามอาการเต็มที่แล้ว
  4. มีอาการผิดปกติหลาย ๆ ระบบร่วมกัน เช่น มีดีซ่านร่วมกับจุดเลือดออก หอบเหนื่อย หรือมีความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
  5. มีการระบาดของโรคติดเชื้อในชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งบางอย่างอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ในบางช่วงอายุ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่
  6. มีประวัติสัมผัสโรคบางอย่างที่มีการรักษาจำเพาะ เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้สุกใส
  7. ไข้เรื้อรัง กินยาลดไข้อย่างเดียว ไม่หาย หรือนานกว่าที่คาดหมาย อาจจะเกิดจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง หรือจากโรคไม่ติดเชื้อ ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
  8. ไม่แน่ใจว่าไข้เกิดจากสาเหตุใด จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

 

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการเด่นชัด มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของอาการและสาเหตุ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของไข้ว่าอาการไม่รุนแรง หรือแพทย์คิดว่าการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ช่วยในการวินิจฉัยในขณะนั้นแพทย์จะสั่งการรักษาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาไปก่อนด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย ยาปฏิชีวนะจะได้ประโยชน์เฉพาะไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น กรณีที่ไข้เกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อก็ต้องใช้ยารักษาสาเหตุอื่นๆ เช่น ไข้จากคอพอกเป็นพิษ ก็ต้องรักษาด้วยยาลดการทำงานของไทรอยด์ ไข้จากโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเองก็ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ยังมีความสับสนระหว่างยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ หมายถึงยาที่ไปลดการอักเสบในร่างกาย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ส่วนยาปฏิชีวนะ หมายถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่รวมถึงยาฆ่าเชื้อไวรัส หรือเชื้อพยาธิ ยาปฏิชีวนะมักจะลดการอักเสบลงได้ ถ้าเชื้อก่อโรคนั้นทำให้เกิดการอักเสบแต่ไม่ได้ลดการอักเสบโดยตรง

อย่างไรก็ตามโรคติดเชื้อไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อโรคหลายชนิดออกจากร่างกายได้เอง เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสที่ก่ออาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ใหญ่ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อบางอย่างก็ไม่มียารักษาจำเพาะ เช่น ไข้เลือดออก การรักษาตามอาการ เช่น กินยาลดน้ำมูก แก้ไอ ระยะเวลาหนึ่ง อาการต่างๆ ก็จะหายไปได้เอง

นอกจากนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายดื้อยาสะสม และทำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้เมื่อจำเป็นต้องใช้ และอาจจะเกิดการแพ้ยาได้

ดังนั้น การกินยาลดไข้ ร่วมกับยาบรรเทาอาการอื่นๆ อาจเพียงพอในโรคติดเชื้อหลาย ๆ ชนิดโดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส และถ้าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ส่วนใหญ่จะเวลาประมาณ 3 – 7 วัน ไข้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลง มีอาการรุนแรงของอวัยวะที่มีการอักเสบ เช่น ไอมากจนหายใจลำบาก ท้องเสียถ่ายมากจนไม่มีแรง หรือในช่วงที่มีการระบาดของโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมิน และรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

 

นพ. ภิรุญ  มุตสิกพันธุ์
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก