ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-4-ทุ่ม-Health2click.jpg

ถึงคราวต้องนอน ก่อน 4 ทุ่ม จากข้อมูลผลเสียของการนอนดึกส่งให้ 5 อวัยวะหลักเสื่อมเร็วขึ้น ได้แก่ สมอง หัวใจ หลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ และภูมิคุ้มกันร่างกาย ดังนั้น ข้อเสียของการนอนดึกจึงส่งผลมหาศาลต่อทั้งร่างกาย

 

แต่ในทางตรงกันข้าม หากนอนเร็วขึ้นมาได้ โดยนาทีทองที่สำคัญ คือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มเป็นต้นไป จนถึงก่อนเที่ยงคืน ก็จะช่วยให้ท่านได้สุขภาพดีทางลัดเป็นรางวัล ดังนี้คือ

  1. สมองสร้างเคมีสุข สมองเป็นหัวเรือใหญ่ในการแจกงานให้อวัยวะต่าง ๆ ไม่เว้นแม้เวลานอน ที่ถือเป็นเวลาแจกรางวัลให้ร่างกาย โดยมอบเมลาโทนิน (Melatonin) หรือ “เคมีนิทรา” และเซโรโทนิน (Serotonin) หรือ “เคมีสุข” และฮอร์โมนเพศ อีกทั้งเคมีบำรุงต่าง ๆ ออกมาคุมระบบในตัวเรา ให้ทำงานราบรื่นพร้อมตื่นมาอย่างสดชื่น แถมยังช่วยเป็นเกราะ ป้องกันป่วยได้ด้วย โดยสถาบันการนอนหลับแห่งชาติ (National Sleep Foundation) ชี้ว่าการนอนหลับมีผลมหาศาลต่อคุณภาพชีวิตของเรา
  2. สร้างเคมีหนุ่มสาว มาจากการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ หลับไวและหลับสนิท โดยเคมีหนุ่มสาวที่ว่า คือ โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ที่จะค่อยลดลงตามวัยและการนอนดึก แต่ถ้าท่านได้นอนเร็วสักราว 4 ทุ่ม จะทำให้สมองเต็มที่กับการเป็นโรงงานชั้นดี ที่ผลิตโกรทฮอร์โมนธรรมชาติให้ท่านได้
  3. ความจำดีขึ้น การศึกษาจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ชี้ว่า คนที่นอนน้อย (ราว 4 ชั่วโมงต่อคืน) ติดกันมีผลต่อความจำ สมาธิ และอุบัติเหตุมาก ด้วยกลไกขณะนอนช่วยจัดระเบียบสมอง (Consolidation) คล้ายอีเมลที่แยกเมลขยะออกไป ให้สังเกตว่า เวลาอดนอนจะมีอาการมึน ความจำมัว ลืมง่าย หรือไม่ก็ลิ้นพันกัน เพราะคิดอย่างแต่กลับพูดอีกอย่าง ดังนั้น การได้นอนเต็มอิ่มมีส่วนช่วยให้สมองได้เติมพลังชาร์จแบตพร้อมรับความจำใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น
  4. คุมความดันโลหิตได้ เพราะในขณะนอนหลับเร็ว ภายในร่างกายจะเหมือนมีคนแคระมากมายช่วยกันทำงานที่ซับซ้อน อย่างคุมหัวใจและความดันโลหิตให้สงบลงไม่แกว่งขึ้นลงง่ายเหมือนกับตอนตื่น ซึ่งคนแคระที่ว่า คือ ระบบประสาทอัตโนมัติทั้งหลายและกลไกทางชีววิทยาที่เป็นดั่งฟันเฟืองขนาดจิ๋วทั้งหลาย
  5. ร่างกายได้ซ่อมแซม ตัวเราที่สู้ชีวิตในโลกกว้างมาทั้งวัน มีนาทีสำคัญที่จะช่วยฟิตเครื่องยนต์ ก็ คือตอนนอน สมองได้พักผ่อน กล้ามเนื้อได้คลายตัว หัวใจสงบขึ้น ความดันลด การเข้าอู่นอนก็เหมือนเข้าอู่ซ่อมร่างกายที่สึกหรอไป จากงานหนักทั้งวัน ยิ่งได้นอนเร็วก็เท่ากับได้ตักตวงกำไรสำคัญที่จะทำให้ท่านมีสุขภาพดี คนที่นอนเร็วจะไม่เสี่ยงเจ็บป่วยง่าย จากร่างกายเกินซ่อมด้วย
  6. ไม่เสี่ยงอ้วน ชวนให้ไม่เสี่ยงสร้างพุงเกิดโรคอ้วนลงพุงมฤตยู เพราะการนอนเร็วช่วยสกัดอาการหิวดึกและกินดุที่จะตามมา นอกจากนั้นยังมีกลไกดับหิวด้วยการสร้างเคมีดับหิวขึ้นมา ทำให้การนอนเร็วช่วยคุมน้ำหนักตัวได้ดีกว่า เพราะกระตุ้นเตาเผาในร่างกายให้ทำงานได้ดี ช่วยให้ไม่อ้วนง่าย ไม่สร้างเคมีเก็บไขมันมาก
  7. มีความสุขง่าย น่าลองอยู่ไม่น้อยว่า ดัชนีความสุขของชาติเรา อาจสูงขึ้นถ้าเพียงลองนอนให้เร็วขึ้น เพราะเมื่อนอนเร็ว ก็จะมีโอกาสนอนได้เต็มอิ่มและพอกับร่างกายมากกว่า ทำให้บรรดารางวัลที่ร่างกายสร้างขณะหลับนั้น เราได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงข้ามกับเมื่ออดนอนที่นำไปสู่ความอึมครึมของสุขภาพและสมอง ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี ขี้หงุดหงิด ความอดทนน้อยลง และอารมณ์เสียง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  8. ได้ล้างพิษ ขณะนอนหลับช่วยปรับให้อวัยวะช่วยล้างพิษทำงานได้ดีขึ้น อย่างตับ ไต และลำไส้ ซึ่งสังเกตได้ว่าคนที่อดนอนอาจมีปัญหาท้องผูก หน้าตาหม่นหมอง ดูไม่สดชื่นและที่สำคัญคือสุขภาพไม่ดี นั่นเพราะส่วนหนึ่งของพิษมาจากการนอนดึกด้วย โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ปวดรอบเดือนบ่อย ถ้าค่อยแก้นอนดึกได้จะช่วยคุมเคมีปวดได้มาก
  9. ไม่เสี่ยงโรคกำเริบ โรคเก่าที่อาจกำเริบได้ในมนุษย์นอนดึกก็ คือ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภูมิแพ้ โรคเครียด โรคซึมเศร้ารวมไปถึงโรคมะเร็ง การนอนดึกทำให้ร่างกายเหนื่อยเพิ่มขึ้น โดยใช่เหตุ คิดง่าย ๆ ว่าเหมือนกับเครื่องยนต์ต้องทำงานเกินเวลา ก็จะพาให้โรคที่พกอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ พากันแผลงฤทธิ์ขึ้น
  10. ช่วยป้องกันแก่ แค่นอน ก็ช่วยเสริมสร้างความหนุ่มสาวและป้องกันความเสื่อมชรา ที่มาหาได้จากพลังการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสนิมแก่ ที่เกิดในร่างกายตามธรรมชาติในทุกลมหายใจ แต่การได้นอนจะช่วยให้สนิมแก่ทั้งหลาย ไม่ฮึกเหิมทำร้ายร่างกายก่อนวัยอันควร การชวนกันนอนไวตั้งแต่หัวค่ำช่วยทำให้นาฬิกาแก่ไม่เดินเร็วไป

“การหลับถือเป็นรางวัลจากธรรมชาติ ที่ถ้าใครไขว่คว้าไว้ได้อย่างเหมาะสม ได้นอนตามเวลา ได้หลับตาสนิท และได้นอนเต็มอิ่ม ผลลัพธ์ก็คือสุขภาพที่ดีเลิศอย่างรู้สึกได้ ซึ่งเรื่องนอนนี้เป็น เป็นเคล็ดลับเติมวิตามินธรรมชาติที่ไม่ต้องไปหาไกล”

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/krisdasirampuj
ภาพประกอบจาก : https://www.theultimategreenstore.com


.jpg

เบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM, Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายทำให้ตับอ่อนมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา หรือรักษาแล้วระดับน้ำตาลยังสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลแทรกซ้อนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด ที่ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ  เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เส้นเลือดในสมองตีบ ไตเสื่อม ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นทุกปี  โดยในประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้ใหญ่ ประมาณ 8.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นผู้ป่วยทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านราย ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อป้องกัน ดูแลและรักษาผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ

 

ชนิดของเบาหวานและสาเหตุ

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ โดยจะมีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาที่แตกต่างกัน

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I  DM) พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือผลิตไม่ได้เลย โดยเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านการทำงานของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้พบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 30% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ มักมาด้วยอาการเลือดเป็นกรดเป็นอาการแสดงแรก โรคเบาหวานชนิดนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II  DM) พบประมาณ 90 – 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ ตัวจับอินซูลินที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรืออ้วนลงพุง หรือมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเป็นเบาหวานอยู่ การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) พบประมาณ 2 – 5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์ร่างกายหญิงจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด โดยบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์  ทั้งนี้ภายหลังการคลอดบุตร ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติและไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล
  • โรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ (Specific types of Diabetes due to Other Causes) เบาหวานกลุ่มนี้เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

อาการโรคเบาหวาน

ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาการเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย และน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดในร่างกายเป็นกรด ซึ่งมีระดับน้ำตาลและคีโตน (Ketone) ในเลือดสูง สืบเนื่องจากการขาดอินซูลิน
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นน้อย ๆ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือตรวจร่างกายประจำปี สำหรับในรายที่มีอาการผิดปกติ อาจพบอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะในตอนกลางคืน กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งมีอาการสายตามัว เห็นภาพไม่ชัด ปัสสาวะมีมดขึ้น (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 mg/dL) ทั้งนี้อาการมักค่อยเป็นค่อยไป กรณีที่เป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวอาจลดจากการที่ร่างกายหันมาใช้พลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ

ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในภาวะเบาหวานมานานและไม่รู้ตัว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น อาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนปลายมือปลายเท้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัว เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเบาหวานมีดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะข้อพับแขนหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose: FPG) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะที่ข้อพับแขนขณะที่ไม่ได้อดอาหาร มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ร่วมกับมีอาการแสดงของโรคเบาหวาน เช่น ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด เลือดเป็นกรด ถือว่าสามารถวินิจฉัยเบาหวานได้
  • การทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) สามารถทำโดยให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง (ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล.) ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไปจะถือว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน

นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ
  • การตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5% แต่ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% จะถือว่าเป็นเบาหวาน)
  • การตรวจระดับไขมันในเลือด เพราะเบาหวานมักมีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
  • การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อจอตา
  • การวัดความดันโลหิต เนื่องจากเบาหวานมักพบร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง
  • การตรวจเท้า เพื่อหารอยแผลและการรับความรู้สึกผิดปกติ เนื่องจากสัมพันธ์กับผู้เป็นเบาหวานระยะเวลานาน
  • หากสงสัยภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด (Antibody) เพื่อยืนยันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1

 

การรักษา โรคเบาหวาน 

เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 หรือ 2 คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ซึ่งประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยาลดระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ประกอบไปด้วย การออกกำลังกาย การควบคุมอาหารและการงดสูบบุหรี่

การออกกำลังกาย

แนะนำให้ออกกำลังกายระดับเบา กล่าวคือ ชีพจรให้ได้ร้อยละ 50 – 70 ของชีพจรสูงสุด (220 – อายุเป็นปี) โดยหากออกกำลังกายแบบแอโรบิก แนะนำให้ปฏิบัติ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแบ่งออกกำลังกายวันละ 30 – 50 นาทีให้ได้ 3 – 5 วันต่ออาทิตย์ และไม่ควรงดออกกำลังกายติดต่อกันนานกว่า 2 วัน สำหรับการออกกำลังแบบต้านแรง (resistance) แนะนำให้ปฏิบัติคู่กับการออกกำลังแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย 8 – 10 ท่า (หนึ่งชุด) แต่ละท่าทำ 8 – 12 ครั้ง วันละ 2 – 4 ชุด

การควบคุมอาหาร

ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการควบคุมการรับประทานอาหารและให้มีการลดลงของน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 – 7 โดยการควบคุมอาหาร ไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่า สัดส่วนของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรจะเป็นเท่าใด สำหรับคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานชนิดที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ และนมจืดไขมันต่ำ ร่วมกับเลือกทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด สำหรับโปรตีนควรบริโภคปลาและเนื้อไก่เป็นหลัก และบริโภคปลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มโอเมก้า-3 ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่ม ควรจำกัดปริมาณไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้หญิง และ 2 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้ชาย

 

การใช้ยาลดระดับน้ำตาล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ โดยชนิดของยารับประทานมี ดังนี้

  • ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanide) เช่น metformin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับและกระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำกลูโคสไปใช้งานได้มากขึ้น มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ท้องเสีย น้ำหนักลดเล็กน้อย ถ้าใช้กับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียหรือยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น glipizide และ gliclazide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ผลข้างเคียงสำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักขึ้น และการแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มกลิตาโซน (Glitazone) เช่น pioglitazone เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อนำกลูโคสไปใช้งานได้ดีขึ้นใช้ควบคู่กับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม แต่หากใช้คู่กับอินซูลินอาจทำให้บวมมากขึ้น ควรพิจารณาปรับขนาดยา ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ บวม น้ำหนักตัวขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ขึ้น การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น
  • ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เช่น repaglinide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน สามารถใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียได้ในทุกกรณี ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase inhibitor) ได้แก่ acarbose  มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นิยมใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเสริมยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีลมในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมกลูโคสที่ไต (SGLT2 inhibitor) ได้แก่ empagliflozin, canagliflozin และ dapagliflozin สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลกลูโคสที่ท่อไตส่วนต้นได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การลดการเสื่อมของไตและลดการเกิดหัวใจล้มเหลวด้วย ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ความดันต่ำ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
  • ยาฉีดกลุ่ม GLP-1 agonist (GLP-1 receptor agonist) ได้แก่ liraglutide สามารถทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น กระเพาะและลำไส้บีบตัวได้น้อยลง ทำให้อิ่มไวและระดับน้ำตาลลดลง ผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ น้ำหนักตัวลด ท้องอืด
  • ยาฉีดอินซูลิน (Insulin) ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในบางกรณี เช่น กินยารักษาเบาหวานเต็มที่แล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยเบาหวานที่แพ้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน

ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการทานยารักษาเบาหวานบางชนิดข้างต้น  อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ คือทำให้มีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็น หิวข้าว ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือชักได้ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้ป่วยจึงควรระวังอาการในลักษณะดังกล่าว ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการก็ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมทันที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย

ในรายที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy) เกิดจากการที่น้ำตาลคั่งอยู่ในหลอดเลือดฝอยในลูกตา ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ตาเสื่อม ส่งผลให้จอตาเสื่อม ระยะแรกอาจไม่มีอาการ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมาด้วยการมองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นจุดดำลอยไปมา หรือตาบอด เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดฝอยไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดไตวาย (Renal failure)  ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ขา ซีด อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในแต่ละอวัยวะ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า มีความเสี่ยงต่อแผลหายช้า อัมพาตกล้ามเนื้อตา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเบ่งปัสสาวะไม่ได้ กระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมถึงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ การที่หลอดเลือดหัวใจเสื่อมจากภาวะเบาหวานประกอบกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) บางรายมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด ผู้ป่วยหลายกรณีไม่มีอาการล่วงหน้า บางรายอาจมีอาการแบบรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน หรือ หัวใจล้มเหลวฉับพลัน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease/stroke) สูง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าบุคคลปกติ 3 – 5 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อยๆ เป็นต้น
  • แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดเลือดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ และติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เกิดแล้วหายช้า อาจลุกลาม รุนแรง เป็นเนื้อตายจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้งได้ โดยเฉพาะแผลที่เท้า

 

สรุป

  • ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจเลือด หรือวางแผนการรักษาตามวันเวลานัด การขาดการจริงจังกับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
  • ห้ามซื้อยารับประทานเอง ทั้งนี้ยาสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาล ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงจนอยู่ในระดับผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาจเป็นอันตรายได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูง
  • หมั่นตรวจและดูแลเท้าอย่างละเอียดทุกวัน ระวังไม่ให้มีบาดแผลหรือมีการอักเสบ ถ้ามีแผลที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรประคบร้อน
  • คนปกติที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรเจาะเพื่อตรวจเบาหวาน โรคตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพี่น้องเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรตรวจทุกปี โดยหากพบในระยะเริ่มแรกจะได้วางแผนการรักษาแต่เนิ่น
  • ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากเป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% ฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
  • ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ ลดคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ลดไขมัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวันและไม่หักโหม ทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบเร็วขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

 

แหล่งที่มา

  1. www.mayoclinic.org
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. เบาหวาน. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 473-483
  3. Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes care. 2020;43(Suppl 1):S98-s110.
  4. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. (2560)
  5. www.idf.org

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


.jpg

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีความสำคัญกับร่างกาย คือ ถ้าเรารับประทานอาหารเข้าไป เมื่อมีการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสแล้วจะมีอินซูลิน เป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เมื่อร่างกายขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ไม่ดี ร่างกายก็ไม่สามารถใช้น้ำตาลที่เกิดจากการกินอาหารเข้าไปได้ ส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา การตรวจเบาหวานแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้วิธีเจาะเลือด

 

อาการที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ

  1. มีการปัสสาวะบ่อยในเวลาดึก เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดมากจึงมีการปัสสาวะบ่อย ทำให้สูญเสียน้ำในร่างกายตามมา ทำให้หิวน้ำบ่อย และปัสสาวะมีมดมาตอมด้วย
  2. มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ จะมีการย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนออกมา
  3. กินเก่ง หิวเก่ง และมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น คันตามผิวหนัง ถ้าแผลมีการติดเชื้อ จะหายยาก
  4. ตามีอาการพร่ามัว และอาจมีอาการอาเจียน หรือชาตามร่างกายร่วมด้วย

 

ในส่วนของการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคเบาหวานนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด แต่จะมีข้อมูลศึกษาในเรื่องของการนำสมุนไพรมาใช้ เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำตาล และมีงานวิจัยยืนยัน ได้แก่

  • เพ็ญโฉม พึ่งวิชา, 2530 ศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากเตยหอมในหนูที่เป็นเบาหวาน พบว่า ถ้าหนูเป็นเบาหวานปานกลาง เมื่อให้น้ำสกัดรากเตยหอมในขนาด 2 และ 4 กรัม/กก.น้ำหนักหนู ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยออกฤทธิ์หลังป้อนยา 1 ชั่วโมง และคงฤทธิ์อยู่นานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และถ้าหนูเป็นเบาหวานรุนแรงจะออกฤทธิ์หลังป้อนยา 2 – 3 ชั่วโมง ด้วยน้ำสกัดรากเตยหอม 4 กรัม/กก.น้ำหนักหนู
  • วิฑิต อรรถเวชกุล และชูสิทธิ์ พาณิชวิทิตกุล, 2522 ศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของต้นไมยราบ พบว่า น้ำสกัดจากไมยราบ ขนาด 20 กรัม ต่อกระต่าย 1 ตัว จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลได้เท่ากับ Tolbutamide ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักกระต่าย และยาเริ่มออกฤทธิ์ 1 ชั่วโมง หลังได้รับยาและฤทธิ์สูงสุดในชั่วโมงที่ 5 ระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด 51.3 % ระยะเวลาที่ออกฤทธิ์มากกว่า 5 ชั่วโมง
  • ถวัลย์ จรดล และบัณฑิต ธีราทร, 2541 ศึกษาฤทธิ์รักษาโรคเบาหวานของผักตำลึง พบว่า น้ำยาสกัดตำลึงสามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกับ Tolbutamide แต่มีฤทธิ์ประมาณครึ่งหนึ่งของยาชนิดนี้ จะออกฤทธิ์หลังได้รับยา 1 ชั่วโมง และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดนี้มีอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

 


-PM-2.5-เสี่ยงเป็นโรคไต.jpg

“พฤติกรรมการบริโภคเค็ม” อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหลังจากมีการศึกษาพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5  มีความเสี่ยงที่จะมีส่วนร่วมทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละออง PM 2.5 (Particulate matter 2.5) คืออนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่เห็นลอยในบรรยากาศ โดยมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ที่พบและเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 – 10 ไมครอน และ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลจากยานพาหนะ ควันเสียจากการใช้พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม การปิ้ง เผาประกอบอาหาร และการเผาชีวมวลในช่วงก่อน-หลังฤดูการเพาะปลูก ในเขตเมืองจะประสบปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า เพราะมีหลายปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาชีวมวลร่วมกับฝุ่นจากเขตเมือง ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  เพราะเป็นละอองที่ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเขตเมืองมีอาคารสูง จึงเกิดลมนิ่งได้ง่ายกว่าทำให้มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  1. ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งโรคไต
    ฝุ่นละอองเป็นปัญหาและภัยต่อสุขภาพได้ทุกรูปแบบ ในช่วงแรกได้มีการตระหนักถึงภัยต่ออาการทางเดินหายใจและโรคหัวใจเป็นหลัก อย่างไรก็ดีฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งไตด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในประเทศจีน 282 เมือง พบว่า ผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตอักเสบ ชนิด membranous nephropathy โดยที่ระดับฝุ่นที่ผู้ป่วยสัมผัสมีปริมาณ ตั้งแต่ 6 – 114 ug/m3 (เฉลี่ย 52.6 ug/m3) การสัมผัสฝุ่นทุก ๆ 10 ug/m3 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคไตขึ้นร้อยละ 14 การศึกษาในสหรัฐอเมริกา US Veterans กว่า 2 ล้านคนพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ในไต้หวันก็พบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และสตรีผลจะรุนแรงขึ้น
  2. ความดันโลหิตสูง
    นอกจากนี้อากาศเป็นพิษหรือฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการยืนยันการศึกษาจากหลายประเทศร่วมกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับการที่ไตขับโซเดียมลดลง มีการคั่งของโซเดียมในร่างกายและเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  3. เบาหวานเพิ่มขึ้น
    ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ยังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในยุโรปและอิหร่านพบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง PM และ NOx เป็นเวลานาน จะสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี


โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 จึงเป็นทั้งสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ กลไกคือมีทั้งการกระตุ้นภาพประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบ มีความผิดปกติของเซลล์บุหลอดเลือด (endothelium) ทำให้หลอดเลือดหดตัว ผลระยะยาวจากความดันโลหิตสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่ม เช่น สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนและเบาหวาน ก็จะทำให้โอกาสเป็นโรคไตสูงมาก สรุป ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลต่อทุกอวัยวะ สารการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากฝุ่นนี้จะเข้าสู่ร่างกายแพร่กระจายไปทุกอวัยวะ รวมทั้งมีผลโดยตรงต่อไป เราต้องร่วมมือกันหาแนวทางลดมลภาวะ PM 2.5 เช่น ลดการเผาไหม้ หาแหล่งพลังงานใหม่ และหลีกเลี่ยงจากฝุ่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-บอกสุขภาพเรื่องอะไรได้บ้าง.jpg

หลาย ๆ คนอาจละเลยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลิ้นตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสามารถสื่อได้ถึงสุขภาพในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี เรามาลองดูกันว่าในเบื้องต้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจบอกถึงสภาวะทางด้านสุขภาพอะไรได้บ้าง

 

ทำความรู้จัก…ลิ้น

ลิ้น เป็นอวัยวะชิ้นเล็ก ๆ ในช่องปาก แต่มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง ได้รับคุณประโยชน์ทางโภชนาการอย่างเต็มที่จากอาหารที่ทานเข้าไป เพราะทำหน้าที่เคี้ยว กลืนและรับรู้รสชาดอาหารว่าน่าทานหรือไม่เพียงไร ลิ้นที่มีสุขภาพดีต้องมีสีแดงอมชมพู ไม่ใช่สีแดงสด และผิวของลิ้นต้องขรุขระ เรามาดูว่าโรคบางโรค จะมีลักษณะของลิ้นเป็นอย่างไร

 

สุขภาพลิ้นบอกโรคอะไรบ้าง

  1. โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
    เชื้อราในช่องปาก (Oral thrush) คืออาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้  ทั้งนี้ “เชื้อรา” สามารถบอกถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อาจอ่อนแอลง จนเกิดการติดเชื้อในช่องปากที่เรียกว่า  Oral candidiasis  โดยมีเชื้อราสะสมจนเห็นฝ้าสีขาวข้นเป็นเยื่อเมือกที่ลิ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีปัญหาปากแห้ง ส่งผลให้ลิ้นสูญเสียความสามารถบางอย่างไปได้
  2. โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
    ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ในรายที่การรักษายังทำได้ไม่ดี อาจมีอาการที่แสดงถึงการติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น  การมีฝ้าขาว แผลแดงที่ปรากฏขึ้นบนลิ้น จุดต่างๆ ภายในปาก เป็นสัญญาณให้รู้ว่าคุณอาจติดเชื้อเอชไอวี
  3. โรคเซลิแอค (Celiac disease)
    โรคเซลิแอคหรือโรคที่จัดอยู่ในโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune disease) ต่อระบบทางเดินอาหาร จากตัวกระตุ้นคือ โปรตีนที่เรียกว่า กลูเตน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ ท้องผูก อุจจาระร่วง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดกล้ามเนื้อ และลิ้นอักเสบ ผิวลิ้นเรียบ เจ็บ อาจมีภาวะลิ้นแห้ง ลิ้นพองรวมถึงการมีแผลร้อนในที่ลิ้น
  4. โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren’s syndrome)
    “โจเกรน” เป็นกลุ่มอาการที่จัดอยู่ในโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่นเดียวกันกับโรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยมีลักษณะเด่นอยู่ 2 อย่างคือ ตาแห้งและปากแห้ง จากการที่ต่อมน้ำตาและต่อมน้ำลายถูกทำลายจากโรค จนไม่สามารถสร้างน้ำตาและน้ำลายได้เพียงพอ เป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราในช่องปาก ผู้ป่วยบางคนยังอาจมีอาการแสบร้อนในช่องปาก และลิ้นแตกอีกด้วย
  5. มะเร็ง (Cancer)
    หากคุณมีอาการลิ้นบวม เจ็บที่ลิ้นหรือบริเวณอื่น ๆ ในช่องปาก ต่อเนื่องกันนานกว่า 2 สัปดาห์ นั่นอาจเป็นสัญญาณถึงความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงก็เป็นได้ ควรรีบพบแพทย์เพราะมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ และช่องปากอาจมีอาการทำให้ลิ้นของคุณผิดปกติได้
  6. โรคขาดวิตามิน
    ลิ้นของคนสุขภาพดีจะมีสีแดงอมชมพู แต่ถ้าใครมีลิ้นสีแดงสด แสดงว่าร่างกายขาดกรดโฟลิก วิตามินบี 12 หรือธาตุเหล็ก ดังนั้นควรเร่งแก้ไขด้วยการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งปรับด้านโภชนาการเพื่อเติมส่วนที่ขาด  นอกจากนี้ ลิ้นสีแดงสดยังเป็นสัญญาณของอาการคออักเสบ หรือโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) ได้อีกด้วย
  7. ความเครียด
    แผลร้อนใน เป็นอาการที่เกิดจากไวรัสและยังเป็นสัญญาณของโรคเครียด โดยอาจเกิดแผลร้อนในที่ลิ้น หรือส่วนอื่นๆ ภายในช่องปาก ถ้าพบอาการนี้ลองบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ เปลี่ยนมาทานอาหารนิ่ม ๆ เย็น ๆ เช่น โยเกิร์ต เป็นต้น

ในบางกกรณี อาการลิ้นบวมและลิ้นเจ็บ ก็อาจเกิดจากการขบฟันหรือกัดลิ้นตัวเอง ซึ่งวิธีผ่อนคลายความเครียดทำได้โดยการออกกำลังกาย เล่นโยคะ นั่งสมาธิ และการเคี้ยวอาหารช้า ๆ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เข้าใจว่าหลาย ๆ คนคงหันกลับมาสังเกต ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของลิ้นและสุขภาพช่องปาก เพื่อหาความผิดปกติของร่างกายและวางแผนการรักษากันแต่เนิ่น ๆ คะ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.health.com   www.honestdocs.co   www.haamor.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-ในผู้ป่วยเบาหวาน.jpg

ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหารและหลังอาหาร

ค่าน้ำตาลปกติก่อนอาหาร หลังอดอาหาร จะมีค่า 70 – 99 มก/ดล. แต่ถ้า 100 – 125 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อได้รับการตรวจตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป แต่จะมีบางรายที่ค่าน้ำตาลก่อนอาหารน้อยกว่า 126 มก/ดล. แต่เป็นโรคเบาหวานถ้ามีการตรวจพิเศษโดยการรับประทานน้ำตาล  75 กรัม และมีระดับน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมง มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก/ดล. จะเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน และถ้าน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร ตั้งแต่ 140 – 199 มก/ดล. จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารอยู่ในเกณฑ์ปกติ1

ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีมากจะมีค่า น้ำตาลหลังอาหารที่ 1 – 2 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มก/ดล. ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 6.5% แต่ ถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร ไม่เกิน 180 มก/ดล.ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) น้อยกว่า 7%

 

การวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหาร

ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางรายอาจจะไม่ได้มีการตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ซึ่งการวินิจฉัยน้ำตาลสูงหลังอาหารสามารถทำได้โดยการตรวจน้ำตาลหลังอาหารโดยการตรวจเลือด หรือ เจาะปลายนิ้วหลังรับประทานอาหาร 1 – 2 ชั่วโมง หรือการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา ถ้าผู้เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารดี แต่มีค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูง ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำตาลสูงหลังอาหาร การตรวจน้ำตาลหลังอาหารมีส่วนช่วยในการทราบ ชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งพบว่าชาวเอเชียมีการบริโภคคาร์โบไฮเดรตสูงทำให้ระดับน้ำตาลหลังอาหารเพิ่มขึ้นสูงกว่าชาวยุโรป

 

ผลเสียของระดับน้ำตาลสูงหลังอาหารมีผลเสียอย่างไรบ้าง

ภาวะน้ำตาลสูงหลังอาหารจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงเป็น 2 เท่าแม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารปกติ  จากกการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด  และการที่มีน้ำตาลหลังอาหารสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าน้ำตาลก่อนอาหารสูง2-3

เมื่อมีการศึกษาโดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลตลอดเวลา มีการศึกษาผลของระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหารว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างไร การศึกษาในคนเอเชียพบว่าในกลุ่มที่ควบคุมไม่ดีเป็นผลจากน้ำตาลก่อนอาหารร้อยละ 60 และประมาณร้อยละ 40 เป็นผลจากน้ำตาลหลังอาหาร PPG

 

การลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร

  • การรับประทานอาหาร
    • ชนิดอาหาร การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (glycemic index) คือ การวัดการดูดซึมของอาหารเทียบกับอาหารมาตรฐาน ได้แก่ ข้าวเจ้า ซึ่งมีไกลซีมิคอินเดกซ์ เท่ากับ 100 โดยผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มี ไกลซีมิคอินเดกซ์ ต่ำ เพราะดูดซึมได้น้อยกว่า4 เช่น การบริโภคข้าวกล้อง จะมีค่าน้ำตาลหลังอาหารต่ำกว่า ข้าวขาวและข้าวเหนียว การบริโภคประเภท ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้นจะมีดัชนีน้ำตาลน้อยกว่าก๋วยเตี๋ยว การบริโภคผลไม้ควรหลีกเลี่ยง ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
    • ปริมาณอาหาร ถึงแม้การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic index) แต่รับประทานในปริมาณมากจะทำให้มีระดับน้ำตาลหลังอาหารสูงกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงแต่ปริมาณน้อยกว่าได้
    • ลำดับการรับประทานอาหาร เช่น ตัวอย่างการรับประทานอาหารชาวญี่ปุ่น จะรับประทานข้าวเป็นจานสุดท้าย โดยรับประทานอาหารผักและอื่น ๆ ก่อน จะมีระดับน้ำตาลหลังอาหารที่สูงขึ้นน้อยกว่า
    • การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม การรับประทานอาหารเส้นใยร่วม จะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร 
  • การออกกำลังกาย การออกกำลังกายหลังอาหาร เช่น การเดิน 10 – 15 นาที อาจจะช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร
  • ยาที่ลดน้ำตาลหลังอาหาร การรักษาด้วยยา5-10 ถ้าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลก่อนอาหารสูงร่วมกับน้ำตาลสูงหลังอาหารอาจจะใช้ยาลดน้ำตาลชนิดใดก็ตามเพื่อลดน้ำตาลก่อนอาหารจะช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารเช่นกัน แต่ถ้าน้ำตาลก่อนอาหารสูงไม่มาก ยาที่สามารถลดระดับน้ำตาลหลังอาหารด้วยยา ได้แก่ ยากลุ่ม อัลฟ่า กลูโคซิเดสอินฮิบิเตอร์ (AGI) แต่อาจจะมีผลข้างเคียง ทางเดินอาหาร เช่น ผายลม แน่นท้อง, ยากลุ่ม  glinide แต่อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ, ยากลุ่ม ดีพีพี 4 อินฮิบิเตอร์ ส่วนที่เป็นยาชนิดฉีด ได้แก่ ยา GLP-1 analog และอินซูลินชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น

 

แหล่งที่มา

  1. Expert Committee on the Diagnosis and Classification of Diabetes Mellitus. Follow-up report on the diagnosis of diabetes mellitus. Diabetes Care 2003; 26:3160–7.
  2. Bonora E, Muggeo M, Post prandial blood glucose as a key factor for cardiovascular disease in type II diabetes: The epidemiologic evidence. Diabetologia 2001; 44: 2107-14.
  3. Hanefeld M, Koehler C, Henkel E , et al. Post-challenge hyperglycemia related more strongly than fasting hyperglycemia with carotid intema media thickness: the RIAD Study. Diabet Med 2000; 7: 835-40.
  4. Poster-Powell, Kaye. The Glycemic Index Guide. The glycemic index factor for people with diabetes. Hodder & Stroughtron Book; 1997: 74-93.
  5. Ghosh JM. Trial of Low Glycemic Diet and Acarbose Therapy for Control of Post-prandial Hyperglycemia in Type 2 Diabetes Mellitus, Preliminary report. Int J Diab Dev Ctries [Internet]. 2005 [cited 2013 Jul 2];25(3). Available from: http://www.diabetes.org.in/ journal/2005_july-sept/original_article3.pdf.
  6. Nattrass M, Lauritzen T. Review of prandial glucose regulation with repaglinide: a solution to the problem of hypoglycaemia in the treatment of Type 2 diabetes? Int J Obes Relat Metab Disord J Int Assoc Study Obes 2000; 24 Suppl 3:S21–31.
  7. Okada K, Yagyu H, Kotani K, Yamazaki H, Ozaki K, Takahashi M, et al. Effects of miglitol versus sitagliptin on postprandial glucose and lipoprotein metabolism in patients with type 2 diabetes mellitus. Endocr J 2013; 60(7):913-22.
  8. Holst JJ. Glucagon-like peptide-1: from extract to agent. The Claude Bernard Lecture, 2005. Diabetologia 2006; 49:253–60.
  9. Singh J. RAPID ACTING INSULIN ANALOGUES. [cited 2013 Jul 5]; Available from: http:// apiindia.org/pdf/medicine_update_2012/ diabetology_05.pdf 66. Galli-Tsinopoulou A, Stergidou D. Insulin analogues for type 1 diabetes in children and adolescents. Drugs Today Barc Spain 1998. 2012 Dec;48(12):795–809.
  10. Rosenfalck AM, Thorsby P, Kjems L, Birkeland K, Dejgaard A, Hanssen KF, et al. Improved postprandial glycaemic control with insulin Aspart in type 2 diabetic patients treated with insulin. Acta Diabetol 2000; 37:41–6.
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com

 


8-โรคยอดฮิต-ผู้บริหาร.jpg

ควันบุหรี่เมื่อเอ่ยถึงโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ใหญ่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากกว่าเด็ก เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น อาหาร หรือความเครียดที่ต่อแถวหรือไม่ต่อแถว รอเข้ามาไม่ขาดสาย

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงวัย 30 – 45 ปี อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สูง โดยจะผันแปรไปตามตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหาร ที่จะต้องทนรับกับแรงกดดันจากความรับผิดชอบหลายด้าน ไม่ว่าเรื่องลูกน้องหรือการแข่งขันทางธุรกิจ ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว มีแนวโน้มต่อการถูกคุกคามด้วยโรคต่างๆ ตามมา

มีรายงานระบุว่า 8 โรคยอดฮิตที่นักบริหารจำนวนไม่น้อยเป็นกันมาก คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (หัวใจขาดเลือด) โรคกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ โรคเบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งแต่ละโรคมีรายละเอียดที่น่าสนใจ พร้อมกับแสดงสัญญาณเตือนที่จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองตามอาการของโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. โรคความดันโลหิตสูง

ถือเป็นโรคมาแรงในกลุ่มผู้บริหาร เพราะต้องเผชิญต่อความกดดัน และความเครียดอยู่บ่อยครั้ง ทั้งลูกน้องหรือคนใกล้ตัว ที่สำคัญโรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจล้มเหลว สำหรับสัญญาณเตือนของโรคดังกล่าวนี้จะมีเสียงดังหวิวๆ หรือหึ่งๆ ในหู หรือได้ยินเสียงชีพจรในศีรษะของตัวเอง เวียนศีรษะ โดยเฉพาะตอนเปลี่ยนอิริยาบถ นอกจากนี้ หากรู้สึกได้ว่าใจสั่นบ่อย หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ขาบวม หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ ใจเหนื่อยและเพลียผิดปกติ ขอแนะนำให้มาตรวจสุขภาพทันที

 

2. โรคหลอดเลือดสมอง

หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “สโตรก” Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำอาหารและออกซิเจน ไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เนื้อสมองเสียหาย อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคสมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคเลือดออกในสมอง เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก

 

3. หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือด

โรคนี้เป็นสาเหตุการตายสำคัญอันดับหนึ่งของไทย เกิดจากการตีบ หรืออุดตันของเส้นเลือดจากการสะสมไขมัน คอเลสเตอรอล ทำให้เส้นเลือดแดงไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ดังนั้น ใครที่มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับหรือจุกแน่นลึกๆ บริเวณใต้กระดูกหน้าอก หรือหน้าอกด้านซ้าย มักเจ็บตอนที่เดินเร็ว ยกของหนัก หรือวิ่ง หรือเมื่อรู้สึกเครียดที่ต้องทำงานเร่งรีบ ประกอบกับความเครียด ต้องทานอาหารฟาสต์ฟูด ทำให้อ้วน ขาดการออกกำลังกาย

เหล่านี้ล้วนแต่นำมาสู่ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน ทำให้ “ตาพร่ามัว ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก วิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน” หากถึงมือแพทย์ช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตลอดชีวิต

 

4. โรคกระเพาะอาหาร

เป็นโรคระบบทางเดินอาหารขัดข้อง เนื่องจากกระบวนการที่อาหารผ่านไปนั้นทำงานผิดปกติ โรคนี้ถือเป็นโรคยอดฮิตในหมู่ผู้บริหาร เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักจะต้องทำงานแข่งกับเวลา และเคร่งเครียดอยู่กับงานจนลืมที่จะรับประทานอาหาร หรือเกิดจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่อย่างหนัก พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ทั้งสิ้น

 

5. โรคมะเร็งตับ

ถือเป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะเพศชายซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้มีอัตราเสี่ยงสูง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคพยาธิใบไม้ในตับ อะฟลาท็อกซินไนโตรซามีน ที่พบอยู่ในตัวยากันบูด ปลาร้า เนื้อแห้งโดยเฉพาะอาหารที่ใส่ดินประสิว ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือกรรมพันธุ์ เป็นต้น

 

6. โรคเบาหวาน

ส่วนใหญ่ โรคเบาหวาน มักเกิดได้ง่ายกับคนอ้วน หรือผู้ที่รับประทานอาหารประเภทแป้งมากเกินไป กรรมพันธุ์ รวมทั้งผู้ที่มีความเครียดอยู่ตลอดเวลาอย่างกลุ่มนักบริหาร เนื่องจากเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางอย่างออกมาทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และจะทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด

โรคเบาหวานมักพบจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น นอกจากอาการอ่อนเพลีย สมองมึนงง และถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว ต้องดูแลรักษากันตลอดชีวิต เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย

 

7. โรคถุงลมโป่งพอง

ที่เกิดกับกลุ่มนักบริหาร มักจะเกิดกับผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานๆ หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป สัญญาณเตือนภัยของผู้ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีอาการไอ เริ่มจากไอแห้งๆ และมักไอมากตอนกลางคืนเวลาอากาศเย็น และตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย เป็นหวัด หลอดลมอักเสบบ่อยๆ หรือมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

 

8. โรคกระดูกพรุน

สิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารเหล่านี้สามารถดำเนินกิจการของตนเองอย่างมี ประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ คือ แบ่งเวลาให้กับตัวเอง โดยการใช้เวลาในวันสุดสัปดาห์พักผ่อนอย่างเต็มที่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้หัวใจ และปอดมีสมรรถภาพดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดความอ้วนทำให้ไขมันใต้ผิวหนังหมดไป อีกทั้งยังเป็นการลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้อีกด้วย ควรฝึกนิสัยในการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอให้ครบทุกมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก สิ่งเสพติด เครื่องดื่มมึนเมา

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารควรทำให้ได้ คือ การลดความเครียดให้ได้มากที่สุด เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง และหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี เพียงเท่านี้ท่านก็จะเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยไม่เป็นเหยื่อของ 8 โรคดังกล่าวข้างต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
แหล่งที่มา : https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/health-tips/8-top-executives-disease/
ภาพประกอบจาก : https://www.freepik.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก