โรคเครียด (Acute Stress Disorder, ASD) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดัน โดยแสดงออกผ่านการทำงานที่ผิดปกติของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม ผู้ที่เผชิญสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันซ้ำ ๆ และไม่ได้รับการแก้ไข นานไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เป็นโรคเครียดได้ ทั้งนี้สถานการณ์ที่เป็นแรงกดดัน จนนำไปสู่ภาวะและโรคเครียดอาจแตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์กดดันได้มากน้อยแตกต่างกัน
อาการ
อาการที่พบบ่อย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดมักเกิดอาการของโรคทันทีที่เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด โดยจะเกิดอาการของโรคเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการของโรคเครียดในแต่ละด้านมีดังนี้
อาการทางด้านร่างกาย | มึนงง ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หูอื้อ มือเย็น นอนหลับยากอ่อนเพลีย ความรู้สึกทางเพศลด มีปัญหาการย่อยอาหาร แน่นท้อง เบื่ออาหาร ท้องร่วง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่อิ่ม |
อาการทางด้านจิตใจ | วิตกกังวล ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ สมาธิสั้น |
อาการทางด้านอารมณ์ | โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ง่าย ไวต่อสิ่งเร้า แปรปรวนง่าย ท้อแท้ มองโลกในแง่ร้าย ไม่ร่าเริง แจ่มใส |
อาการทางด้านพฤติกรรม | แยกตัว ไม่ค่อยเข้าสังคม เปลี่ยนงานบ่อย ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง หรือรู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง มีแนวโน้มพึ่งพายาเสพติด |
อาการที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการข้างต้นเกิดขึ้นบ่อยหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นอาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์หรือพฤติกรรม โดยไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นแรงกดดันนั้น ๆ ให้ดีขึ้นได้ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ควรทำ
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบประเมินเพื่อเป็นตัวช่วยให้ประชาชนสามารถคัดกรองภาวะเครียดเบื้องต้นด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางการดูแลตัวเองและวางแผนจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม โดยให้สำรวจอาการที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ว่ามีอาการหรือความรู้สึกในตารางด้านล่างนี้มากน้อยเพียงใด
เมื่อคุณตอบแบบประเมินครบทั้ง 20 ข้อ แล้วให้รวมคะแนนแต่ละข้อ ดังนี้
- ไม่เคยเลย = 0 คะแนน
- เป็นครั้งคราว = 1 คะแนน
- เป็นบ่อย ๆ = 2 คะแนน
- เป็นประจำ = 3 คะแนน
จากนั้น ให้รวมคะแนนทั้ง 20 ข้อ คะแนนที่ได้จะอยู่ระหว่าง 0 – 60 คะแนน ซึ่งแต่ละช่วงคะแนนมีความหมาย ดังนี้
- 0 – 5 คะแนน แสดงว่า เครียดน้อยกว่าปกติ อาจเป็นเพราะคุณมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนในการดำเนินชีวิตสักเท่าใดนัก คุณอาจถามตัวเองว่าพอใจหรือไม่กับสิ่งที่เป็นอยู่ หากพอใจและชีวิตไม่เดือดร้อนก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข แต่ถ้าไม่พอใจควรปรับเปลี่ยนวิถี เช่น อ่านหนังสือ สังสรรค์กับเพื่อน หรือวางเป้าหมายชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองแล้วดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
- 6 – 17 คะแนน แสดงว่า เครียดในระดับปกติ คุณสามารถจัดการกับความเครียดที่เกินขึ้นในชีวิตประจำวันได้ดี และปรับตัวปรับใจให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างอย่างเหมาะสม คุณควรพยายามรักษาระดับความเครียดเช่นนี้ต่อไปให้ได้นาน ๆ
- 18 – 25 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าระดับปกติเล็กน้อย คุณอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจ อาจทำให้มีอาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจและการแสดงออกได้เล็กน้อย แต่เมื่อได้พักผ่อนหย่อนใจก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง หากทำแล้วยังไม่หายเครียดควรพูดคุยหรือปรึกษาเรื่องที่รบกวนจิตใจกับคนไว้วางใจ
- 26 – 29 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงว่าระดับปกติปานกลาง คุณอาจกำลังมีปัญหาบางอย่างในชีวิตที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ทำให้มีอาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด และแม้จะพักผ่อนหย่อนใจแล้วก็อาจจะไม่หายเครียด ควรค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ไม่สบายใจ คิดแก้ไขปัญหาและลงมือแก้ไข
- 30 – 60 คะแนน แสดงว่า เครียดสูงกว่าระดับปกติมาก คุณอาจกำลังเผชิญภาวะวิกฤตในชีวิตหรือสะสมความเครียดไว้มากเกินไปเป็นเวลานาน ควรคลายเครียดด้วยการหยุดพักความคิด ยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายผ่อนคลาย พักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง คิดแก้ปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหา หากไม่ดีขึ้นควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา : แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
สาเหตุ
ผู้ที่เป็นโรคเครียดมักเป็นผู้ที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ทำให้รู้สึกกลัว ตื่นตระหนก หรือรู้สึกสะเทือนขวัญ เช่น การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง การเจ็บป่วยร้ายแรงของตนเองหรือคนในครอบครัว การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเครียด ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เครียด เช่น มีพ่อแม่เครียด มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาในการทำงานหรือปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน โดยทั้งหมดต้องติดต่อพบเจอกันเป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ หรือผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงรอยต่อ เช่น ช่วยวัยรุ่นก่อนเป็นผู้ใหญ่ หญิงในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน ชายหญิงวัยเกษียณ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ โดยนอกจากตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว จะมีการสอบถามถึงสถานการณ์ที่อาจเป็นแรงกดดันจนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น การมีอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวด้วย เช่น การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง โรคประจำตัวหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เพื่อวางแผนในการรักษาได้ถูกต้อง
การรักษา
ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงหรือเกิดความเครียดเรื้อรัง ควรต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นวิธีรักษาโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดอาการรุนแรงและเป็นมานาน โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยจัดการอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
- บำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นวิธีจิตบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดบางอย่างของผู้ป่วยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคเครียดอาจได้รับการบำบัดระยะสั้น โดยแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และปรับทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อสิ่งต่างๆให้มองทุกอย่างได้ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
- ใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบางรายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคเครียด เช่น อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาการนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้า เป็นต้น โดยยาที่ใช้รักษาโรคเครียด ได้แก่ ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blocker) และยาไดอะซีแพม (Diazepam) โดยใช้ช่วงเวลาสั้นๆในผู้ป่วยบางรายที่จำเป็น
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น ยาระงับอาการวิตกกังวล ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน
การปรับไลฟ์สไตล์ให้เกิดความสมดุลในด้านต่าง ๆ ของชีวิต สามารถช่วยป้องกันภาวะเครียดในเบื้องต้น ดังนี้
- จัดแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวให้เหมาะสม (Work Life Balance) การดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างรีบเร่ง การมีชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่ยาวนานเกินไป หรือการนำงานจากที่ทำงานกลับไปทำที่บ้านบ่อย ๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง หรืออย่างน้อยให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวัน เช่น เดิน ขึ้นลงบันได ในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
- พักผ่อนโดยเฉพาะนอนหลับให้เพียงพอ เบื้องต้นควรนอนก่อน 4 ทุ่ม และควรนอนให้ได้คืนละ 7 – 8 ชั่วโมง
- มีงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสุนัข สะสมแสตมป์ อ่านหนังสือ งานจิตอาสาและอื่น ๆ ที่ช่วยให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลายจากสถานการณ์ต่างๆที่เป็นแรงกดดันให้เกิดความเครียด
- ฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดจนเกินไป ทั้งด้วยการทำสมาธิ การสวดมนต์ ปฏิบัติหรือสนทนาธรรมกับผู้รู้หรือกัลยาณมิตร เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ แก้ปัญหา สถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่ทำให้เครียดมากขึ้น
- ฝึกเป็นคนมองโลกในแง่บวก มีงานวิจัยพบว่าการคิดบวกเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ ทั้งชีวิตยืนยาวอย่างมีความสุขมากขึ้น ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เสริมสร้างสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียดและสถานการณ์ยากลำบากได้ดีขึ้น
แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com www.dmh.go.th www.siamhealth.net กรมสุขภาพจิต