โรคสมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่อง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านความจำ คิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และหน้าที่อื่น ๆ ของสมอง ไปจนถึงการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ รวมถึงโรคติดเชื้อบางชนิด ปัจจุบันพบโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด
อาการ
ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลักโดยไม่สามารถจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหน ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ นึกคำพูดไม่ค่อยออกใช้คำผิด ๆ แทน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่า ๆ ในอดีตยังคงดีอยู่
อาการจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ในระยะต่อมาอาจมีอาการบกพร่องของการรับรู้ด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ จัดการกิจวัตรประจำวันของตนเองไม่ได้อาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์พฤติกรรมและความผิดปกติทางจิต เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น หากไม่ได้รับการแก้ไขในที่สุดแล้วผู้ป่วยจะไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
เมื่อปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ก่อให้เกิดปัญหาไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้นหรือทำในสิ่งที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ เป็นต้น
สาเหตุ
อัลไซเมอร์เกิดจากการฝ่อตัวของสมอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองที่ฝ่อตัว ส่วนสาเหตุที่ทำให้สมองฝ่อตัวลงนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยความผิดปกติที่พบคือ การสะสมของโปรตีนชนิดที่เรียกว่า อะไมลอยด์ พลัค (Amyloid Plaques) กลุ่มใยประสาท (Neurofibrillary Tangles) และสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ในสมองที่ไม่สมดุล และพบเส้นเลือดในสมองของผู้ป่วยค่อย ๆ ถูกทำลายลง โดยความเสียหายนี้จะกระทบสมองส่วนที่ทำหน้าที่ด้านความทรงจำเป็นส่วนแรก ก่อนแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ โดยโอกาสเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุก ๆ 5 ปี ในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี
- พันธุกรรม แม้ว่าจะมีโอกาสไม่มาก แต่หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวหลายคนเป็นโรคนี้ ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เมื่ออายุมากขึ้น
- ผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์ เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูง เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้เกิดการสะสมของสารอะไมลอยด์ในสมองได้
- ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง จะยิ่งเสี่ยงพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์ยิ่งขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคนี้มีปัจจัยการเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
การวินิจฉัยโรค
- การซักประวัติสุขภาพ และประเมินความสามารถด้านความจำ โดยแพทย์จะพิจารณาอาการของผู้ป่วย ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการถามคำถามหรือให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบความจำ การแก้ปัญหา การนับเลข หรือทักษะทางด้านภาษา เพื่อตรวจดูการทำงานของสมอง
- การตรวจร่างกายและประเมินระบบประสาท เป็นการตรวจสุขภาพทางระบบประสาทของผู้ป่วย เช่น การทดสอบปฏิกิริยาโต้กลับ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การมองเห็นและการได้ยิน การประสานงานและความสมดุลของร่างกาย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาความจำ
- การทดสอบสมรรถภาพทางจิตและการทำงานของสมอง โดยในส่วนการทำงานของสมองอาจมีการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Scan) การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจเพทสแกน (PET Scan) รวมถึงการกรวดน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง เป็นต้น
การรักษา โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ เป็นเพียงยาที่ช่วยบรรเทาหรือชะลออาการเสื่อมของสมองให้ช้าลง หรือบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้น ดังนี้
- ยากลุ่มโคลิเนสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) เช่น โดนีพีซิล กาแลนตามีน และไรวาสติกมีน เพื่อชะลออาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางชนิด โดยจะได้ผลดีเมื่อให้ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก ๆ ทั้งนี้ยานี้ไม่ได้ทำให้โรคนี้หาย แต่ช่วยในการชะลอการดำเนินของโรค
- ยาทางเลือก ปัจจุบันมีตัวช่วยเสริมในเรื่องของความคิดและความจำ เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยแต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันแน่ชัด เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินอี แปะก๊วย เป็นต้น
- ยาช่วยลดอาการหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น เอะอะโวยวาย เห็นภาพหลอน ประสาทหลอน ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น ในบางรายอาจต้องใช้ยาเพื่อลดอาการดังกล่าว
- การบำบัดทางจิตวิทยา นอกจากยาแล้ว การเลือกบำบัดทางด้านอื่นเพิ่มเติม อาจช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้น เช่น การกระตุ้นสมองโดยนักจิตวิทยา การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การใช้ดนตรีหรือ ศิลปะบำบัด และการบำบัดด้วยการผ่อนคลาย เป็นต้น
ทั้งนี้ภายหลังแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ใกล้ชิดหรือญาติควรเตรียมการในการดูแลผู้ป่วยให้พร้อม ดังนี้
- จัดที่พักผู้ป่วยให้สะดวกกับผู้ป่วยและผู้ดูแลมากขึ้น เช่น ปรับลดสิ่งของหรือผนังที่ทำด้วยกระจกให้เหลือน้อยที่สุด ติดราวจับทางขึ้นลงบันไดและห้องน้ำ ลดจำนวนสิ่งของบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่ เหลือเฉพาะที่จำเป็นพร้อมจัดวางให้เป็นระเบียบ ติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยตามภาชนะหรือจุดเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เครื่องตัดแก๊สรั่ว เครื่องตรวจจับควัน รวมถึงการจัดวางรูปถ่าย สิ่งของที่มีความหมายกับผู้ป่วยไว้ในจุดที่เห็นเด่นชัด เป็นต้น
- เตรียมพร้อมผู้ป่วยเผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ให้ผู้ป่วยพกติดตัวเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น โดยของใช้ส่วนตัว ควรเก็บไว้ในที่ที่เดียว ควรมีชื่อที่อยู่เบอร์ติดต่อญาติติดตัวตลอดเวลา ใช้มือถือที่เปิด GPS ตลอดเพื่อประโยชน์สำหรับผู้ติดตาม เสื้อผ้ารองเท้าผู้ป่วยควรเลือกที่ใส่ถอดง่าย ไม่ซับซ้อน รองเท้าไม่หลุดง่าย เป็นต้น
- ผู้ดูแลผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย เช่น ข้อมูลโรคเบื้องต้น การรับประทานยาและการทำกิจกรรมจิตบำบัดของผู้ป่วย วันเวลานัดหมายแพทย์ ช่องทางการติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ช่องทางการติดต่อญาติผู้ป่วย การปฏิบัติกรณีผู้ป่วยมีอาการสับสน เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th www.chulabhornhospital.com www.podpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com