ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-1.jpg

โรคภูมิแพ้ (Allergy) ด้วยลักษณะการทำงานของคนออฟฟิศที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ต้องตื่นเช้าเพราะหนีรถติดและส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน ทำให้ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อภาวะภูมิแพ้หรือไม่

 

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คือ โรคที่เกิดจากภาวะร่างกายตอบสนองต่อสารกระตุ้น (โดยในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อย่างเช่น พวกไรฝุ่น ละอองเกสรพืช) แล้วเกิดการตอบสนองมากผิดปกติจนทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) นั้น เช่น ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูกสารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกแล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ทำให้คัดจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ คันจมูก

ส่วนกรณีที่เป็นโรคหืดเมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลมก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง ทำให้เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้

 

โรคภูมิแพ้มีหลายชนิด

โรคภูมิแพ้แบ่งเป็นหลายชนิด ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ทางตา และแพ้อาหาร โดยโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยคือ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหืด สถิติในประเทศไทยเราพบว่า อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23 – 30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10 – 15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 5

 

สาเหตุ

สาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะภูมิแพ้ คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีสารกระตุ้นภูมิแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญในคนไทยคือ ไรฝุ่น ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มักอยู่ตามที่นอน พรม ม่าน ดังนั้น คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพรม ม่านหรือแอร์ที่เก่า ไม่ค่อยได้ล้างก็อาจทำให้เป็นภูมิแพ้ หรือคนที่เป็นอยู่แล้วอาจมีผลทำให้อาการกำเริบได้

ดังนั้นคนที่ทำงานออฟฟิศอาจประสบกับภาวะนี้ เพราะต้องอยู่ในที่ทำงานที่มีสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นมาก อาจมีผลให้อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจกำเริบได้ นอกจากนี้การทำงานหนัก พักผ่อนน้อยมีผลทำให้อาการของโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้กำเริบ และติดเชื้อหวัดได้ง่าย

 

วิธีสังเกต

วิธีสังเกตว่าเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ จะมีอาการน้ำมูกใส โดยจะไหลออกมาหรือไหลลงคอ จาม คันจมูก อาจมีอาการไอเรื้อรังหรือกระแอม ซึ่งเกิดจากเสมหะไหลลงคอ บางคนมีอาการปวดศรีษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อย ๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตาโดยไม่มีอาการตาแดง ผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่นว่า มีอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท คุณภาพการนอนหลับลดลง ทำให้ร่างกายไม่สดใสตื่นตัว มีผลกระทบต่อการทำงาน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ อย่างไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ หรือนอนกรน นอกจากนี้ในคนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจพบว่ามีโรคหืดร่วมด้วยในคนเดียวกัน ทำให้มีอาการไอบ่อย เหนื่อยง่าย หายใจดังวี้ด

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเข้าได้กับภาวะเหล่านี้ ก็สามารถดูแลตนเองได้โดย การควบคุมสิ่งแวดล้อม การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ จัดบ้านและที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่ควรมีพรมหรือม่านในที่ทำงาน ควรใช้มู่ลี่จะดีกว่า ทำความสะอาดแอร์ในที่ทำงานสม่ำเสมอ นอกจากนี้ไม่ควรปรับลดยาเอง ให้ใช้ยาสม่ำเสมอ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจนั้นอาการจะกำเริบได้ง่ายหากอดนอน ดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้น

 

 

สำหรับท่านที่มีสมาร์ทโฟน สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตนเอง การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการใช้ยาได้ที่แอพพลิเคชั่นที่หมอและทีมงานของชมรมผู้ป่วยโรคหืดธรรมศาสตร์พัฒนาขึ้นมาเรียกว่า แอสมาแคร์ (Asthma Care) ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพได้ฟรี โดยใช้คำค้นหาเช่น หืด หอบ การพ่นยา การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เป็นต้น

 

ภาพประกอบ : www.wowamazing.com

 


-ในหน้าหนาว.jpg

ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส บางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล

 

มีโรคใดบ้างที่พบบ่อยในฤดูหนาว

ในช่วงฤดูหนาวเราอาจเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส บางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม โดยเฉพาะแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เช่น ขนของสัตว์เลี้ยง ตัวไรในฝุ่นก็อาจมีอาการแพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าติดไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย นอกจากนั้นปัญหาเรื่องผิวหนังก็เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้งคันหลังอาบน้ำซึ่งพบบ่อยมากในผู้สูงอายุซึ่งมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันก็ทำงานลดลงตามอายุ หรือคนที่ผิวแห้งอยู่เดิมก็อาจคันมากหรือผิวลอกไปเลย บางรายที่เป็นผื่นผิวหนังแพ้อากาศเย็นก็อาจทำให้มีผื่นแพ้อากาศเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ

ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อได้ทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้เชื้อโรคกระจายออกมาในอากาศ หรือจากการที่มีเสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยเปื้อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ แล้วมือเราไปสัมผัสมาแล้วเผลอไปจับจมูก จับหน้าของเราทำให้เชื่อโรคเข้าจมูกหรือตาได้

ส่วนอาการโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่เรามีโอกาสมากขึ้นในการอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราแพ้ เช่น พอฤดูหนาว เราและสัตว์เลี้ยงอาจอยู่ในบ้านมากขึ้น ถ้าเราแพ้ขนสัตว์อาจทำให้เรามีอาการมากขึ้น หรือเรานอนมากขึ้นในฤดูหนาวทำให้แพ้ตัวไรในฝุ่นตามที่นอน หมอน มุ้งมากขึ้น สำหรับอาการผื่นแพ้อากาศเย็นหรือคันตามผิว คัน แห้ง ลอกนั้นเกิดจากอากาศที่เย็นโดยตรง

 

โรคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในฤดูหนาว เพราะเป็นโรคที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากได้ โดยเฉพาะถ้ามีการระบาด โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ปีละ 20,000 – 50,000 คน/ปี บางรายเพลียมาก มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมากจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือหยุดงาน และมีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือบางรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุแต่พบไม่บ่อย เสียชีวิตปีละไม่กี่รายจากจำนวนคนที่ป่วยหลายหมื่นคน สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับโรคไข้ชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มากหรือปวดเมื่อยตามตัวมากต้องระวังว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้โดยโรคนี้พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดอยู่เดิม หรือมีโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่เองหรือจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มาก

 

วิธีการรักษา

โรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือให้การรักษาตามอาการ คือช่วงที่มีไข้ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล เช็ดตัวบ่อย ๆ พักผ่อนมาก ๆ ไม่ตรากตำทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ายู่ต้องงด และรับประทานยาลดอาการต่าง ๆ เช่น ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน เนื่องจากอาจเกิดตับวายและสมองอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย ซึม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งอาจมีไข้ อ่อนเพลียโดยอาการไม่ชัด แล้วมีอาการซึม สับสน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเป็นส่วนน้อย สำหรับยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะมักไม่ต้องใช้ เพราะโรคจะหายได้เอง จึงใช้เฉพาะในรายที่อาการรุนแรงเท่านั้น

 

ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

แนะนำให้ฉีดเฉพาะในรายที่มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคสูง ส่วนในคนทั่วไปยังไม่แนะนำเนื่องจากวัคซีนได้ผลประมาณร้อยละ 70-90 แต่ในผู้สูงอายุอาจได้ผลน้อยกว่านี้ สาเหตุของการที่ได้ผลน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ตลอด โดยควรฉีดวัคซีนก่อนถึงช่วงที่จะมีการระบาดของโรค เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้ 1 ปี ฉะนั้นต้องฉีดปีละครั้ง สำหรับกรณีที่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่น ๆ เช่นโรคไต โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 8 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ เนื่องจากถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดตับอักเสบและสมองอักเสบได้
  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3
  • ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น

 

ควรดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวอย่างไร

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดีจะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
  • อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
  • ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15 – 20 วินาที หรือใช้น้ำยาล้างมืออื่น ๆ
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
  • หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง เราควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศหนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก อาจไม่ต้องอาบน้ำวันละสองครั้งเหมือนฤดูอื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว หลังจากเช็ดตัวหมาด ๆ ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ


ทุกคนจึงควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพให้ดีตลอดเวลาเพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่คุ้มค่าที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ หากเมื่อเราป่วยอาจเป็นมากกว่าคนที่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี สำหรับผู้ที่อายุยังไม่มาก ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะสุขภาพที่ดีในตอนอายุยังน้อยจะเป็นเกราะป้องกันโรคตอนอายุมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล.(2009).การดูแลสุขภาพในหน้าหนาว.1 สิงหาคม 2559.
แหล่งที่มา : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=115
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-Paleo-กับโรคแพ้ภูมิตนเอง.jpg

ถ้าพูดถึงพาลีโอ กับโรคภูมิแพ้ หลายคนอาจรู้จักกันดี แต่ถ้าเอ่ยถึงโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune disease) คงต้องมีการหยุดคิดกันบ้างว่า มันคือโรคอะไรกันนะ…ตัวการความแพ้ของโรคนี้ค่อนข้างน่าสงสาร เพราะแพ้อะไรไม่แพ้ ดันแพ้กระทั่งภูมิคุ้มกันของตัวเอง สำหรับผู้ที่ป่วย มีญาติป่วย หรือมีความเสี่ยง เรามารู้จักสูตรไดเอทแนว “พาลีโอ” กัน บางทีแล้วเรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนได้

 

อาหารแนวพาลีโอ (Paleo diet)

อาหารแนวพาลีโอ (Paleo diet) หรืออาหารแนว Autoimmune Paleo Diet (AIP) เป็นแนวการกินอาหารที่ต้านการอักเสบ โดยมุ่งเน้นไปที่การกินอาหารแบบมนุษย์ในยุคโบราณ หรือมนุษย์ถ้ำ โดยอาหารจะเป็นเนื้อสัตว์ที่กินหญ้า มีไขมันต่ำ ปลาจากธรรมชาติ ผัก ผลไม้สดไม่แปรรูป น้ำมันพืชที่มีไขมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอาโวคาโด โดยไม่กินพืชตระกูลถั่ว ธัญพืช รวมถึงน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม: สูตรไดเอท สุดฮอต 2018

 

อาหารแนวพาลีโอ ลดอาการของโรคแพ้ภูมิตนเองได้ไหม

จากการศึกษาพบว่า อาหารแนวพาลีโอ สามารถช่วยลดน้ำหนัก หรือเพิ่มพลังงานได้มากขึ้น โดยการทานอาหารแนวนี้จะช่วยกำจัดอาหารประเภทที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย เช่น อาหารขยะสไตล์อเมริกัน เบอร์เกอร์ น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด รวมไปถึงคุกกี้ ถั่ว นม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยสามารถช่วยบรรเทาโรค เช่น โรคลำไส้อักเสบ (IBD), โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ข้อดีในการบรรเทาอาการของโรคแพ้ภูมิตนเองนั้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียงพอ ในความเป็นจริง คือ ผู้ป่วยบางรายมีอาการที่ดีขึ้น ในขณะที่ในผู้ป่วยบางรายอาหารสูตรนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เรื่องนี้ยังต้องทำการติดตามต่อ

 

ข้อดีของอาหารแนวพาลีโอ

อาหารแนวพาลีโอ (Autoimmune Paleo Diet : AIP) แม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปถึงผลต่อโรคแพ้ภูมิตนเองได้โดยตรง แต่ข้อดีที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการอักเสบในร่างกาย ได้ส่งผลที่ดีต่อโรคที่อาจนำไปสู่โรคแพ้ภูมิตนเองได้ เช่น

  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease, IBD) จากการศึกษาพบว่า การกินอาหารสูตรพาลีโอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าแต่ละคนมีการตอบสนองต่อสูตรการกินอาหารที่แตกต่างกันด้วย
  • โรคสะเก็ดเงิน และผื่นผิวหนังอักเสบ (Psoriasis, Eczema) ผู้ที่ทานอาหารแนวนี้พบข้อดีของการลดการอักเสบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ แม้ว่ายังขาดการวิจัยยืนยัน
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis, MS) มีงานวิจัยพบว่า การกินอาหารแนวพาลีโอ ควบคู่กับการออกกำลังกาย และการทำสมาธิ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าอาการที่ดีขึ้นมาจากปัจจัยใดในสามข้อข้างต้น
  • โรคแพ้กลูเตน (Celiac disease) แม้จะพบโรคนี้ได้น้อย แต่อาหารแนวพาลีโอ (Paleo) เป็นคำตอบที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่แพ้กลูเตน
  • โรคไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่ส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ ทำให้มีอาการ น้ำหนักเพิ่ม ซึมเศร้า และเมื่อยล้า จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอาหารแนวพาลีโอ อาจลดแอนตี้บอดี้ต่อไทรอยด์ลงได้

 

กล่าวโดยสรุป เมื่อมองในแง่ของโภชนาการ สูตรอาหารแนวพาลีโอที่ตัดอาหารขยะ อาหารแปรรูปต่าง ๆ ออกไป ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย แต่การจำกัดอาหารประเภทอื่น ๆ  เช่น พวกนม ถั่ว ไขมันสัตว์ อาจไม่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไป เพราะอาจส่งผลต่อการขาดสารอาหาร (Nutrient deficiency) ในส่วนของผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคที่กล่าวมาข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.everydayhealth.com   www.haamor.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


-541.jpg

ความสำคัญของการป้องกันโรคภูมิแพ้

อุบัติการของโรคภูมิแพ้จากการสำรวจทั่วโลก และการสำรวจในประเทศไทยเอง พบว่า เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทยมีอุบัติการของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23 – 30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ร้อยละ 10 – 15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5 โดยอุบัติการในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่

โรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ นอนกรน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผิวหนังติดเชื้อ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจาก กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30 – 50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50 – 70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้ การควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้

 

ทำไมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้น การกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้ การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formula หรือ partially hydrolyzed formula) ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้

 

รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  • ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษสำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
  • ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี
  • ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว
  • ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ปี

สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย (เช่น ไข่ ถั่ว ปลา) อาจเพิ่มสารอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี วิตามินเอ ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิด เช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เชื้อรา แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก โดย

  • งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น
  • ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน
  • ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มทุก 1 – 2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
  • ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ
  • ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน
  • พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน
  • จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

การปฏิบัติตังดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ควันไฟ ฝุ่นละอองจากแหล่งต่าง ๆ ตั้งแต่อายุน้อย ๆ สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : si.mahidol.(2009).ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้.6 สิงหาคม 2559.
แหล่งที่มา : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=532
ภาพประกอบจาก : http://www.bangkokhospital.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก