ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-1.jpg

อายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงกังวล เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรวงอก ที่ไม่มีใครอยากให้หย่อนยานกลายเป็นถุงกาแฟ หรือเกิดความผิดปกติใด ๆ

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจัยที่ทำให้หน้าอกเปลี่ยนแปลง มีหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดหรือให้นมบุตร และการก้าวสู่ช่วงวัยทอง เรียกได้ว่าหน้าอกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทุกปี! ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย และเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ลองมาฟังคำแนะนำ ที่รวบรวมมาให้คุณดูแลตามวัยกันค่ะ

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 30

ผู้หญิงวัยนี้ ยังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาวะฮอร์โมนในร่างกาย ยังทำงานเป็นปกติ หน้าอกจึงยังไม่หย่อนคล้อย การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้หน้าอกใหญ่ขึ้น แต่หลังจากคลอดและให้นมบุตร หน้าอกจะเล็กลงประมาณครึ่ง-1 คัพ เนื่องจากต่อมน้ำนมในหน้าอกทำงาน และหดตัวลงตามธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า หญิงที่เลี้ยงดูให้นมบุตรหลังอายุ 25 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ส่วนคนโสดมักมีปัญหาหน้าอกทั่วไป นั่นคือ เจ็บหรือคัดตึงหน้าอก การคลำเจอก้อนถุงน้ำ หรือซีสต์ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้น ก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ที่ไม่ส่งผลต่อร้ายสุขภาพ และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ถุงน้ำมีโอกาสยุบหายได้เอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรให้แพทย์วินิจฉัย และติดตามว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือไม่
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท สาว ๆ ตั้งแต่วัย 25 ปีขึ้นไป ว่าควรทำการตรวจเต้านมตนเองทุก ๆ 1 – 2 เดือน แม้ว่าวัยนี้จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ไม่มีโอกาสเป็น เพราะถ้าตรวจคัดกรองดี ก็จะรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้

สมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ASC) ยังแนะนำให้หญิงที่มีพ่อแม่ หรือพี่น้องซึ่งเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ตรวจ Mammogram ก่อนช่วงอายุเดียวกันของคนในครอบครัว ที่ตรวจพบมะเร็ง 10 ปี เช่น ถ้าแม่เป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรได้รับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจโดยการเอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติการเกิดโรคในครอบครัว และความเหมาะสมของแต่ละคน 

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังการมีประจำเดือน 7 – 10 วัน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ความผิดปกติทุก 3 ปี
  • ตรวจ Mammogram ตามความจำเป็นของปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 40

หน้าอกของหญิงวัยนี้จะมีความหย่อนคล้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากต่อมไขมันในเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มวลน้ำหนักมากขึ้น และคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก

ส่วนความผิดปกติของเต้านมของหญิงวัยนี้ คงไม่แตกต่างอะไรจากกลุ่มวัย 30 นั่นคือ อาจคลำเจอถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา ที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้นตาม

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พบว่า หญิงอายุ 40 – 49 ปี เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 34.3% ทำให้การตรวจคัดกรองในช่วงอายุนี้ ต้องละเอียดและเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกปี โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่อาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน

แม้ว่าจะมีงานวิจัยอ้างว่า การรับประทานฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันหลายปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อย ลงความเห็นให้รับประทานต่อไป เพราะมันสามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลา ของการรับประทานฮอร์โมนทดแทน ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำคุณ ซึ่งแพทย์ก็มักจะแนะนำ ให้คุณหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเองทุกเดือน และทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงประมาณ 80 – 90% จะตรวจพบความผิดปกติได้เอง
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับบุคลิกภาพให้ดี และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย พยายามนั่งตัวตรง แอ่นหน้าอก และเน้นบริหารหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเต้านมจะประกอบด้วยไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ทำให้กลับไปเต่งตึงหรือกระชับดังเดิมได้ยาก แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงก็ยังช่วยให้ดูกระชับมากขึ้นได้

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 50 ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน มีผลทำให้ต่อมไขมันและเนื้อเยื่อเต้านมไม่ตึงตัว หน้าอกของหญิงวัยนี้ จึงมีสภาวะหย่อนคล้อย และผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของหญิงกลุ่มนี้ มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 40 – 49 ปี นั่นคือ ประมาณ 27% แต่การทำแมมโมแกรมของหญิงวัยนี้ น่าจะทำได้สะดวกกว่าหญิงอายุน้อย เพราะสภาพเต้านมมีความยืดหยุ่นจากไขมันมากขึ้น อำนวยให้เครื่องสามารถตรวจสอบ หาความผิดปกติได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หญิงวัยนี้พึงทำควบคู่กับการดูแลทรวงอกให้มีสุขภาพดี คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหลังวัยทอง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อไม่เต่งตึง และทำให้ไขมันสะสมตามเอว หน้าท้อง สะโพกและต้นขาได้ง่าย

จากการวิจัยของสาธารณสุขการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ผู้หญิงที่เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ต่ำกว่าคนที่รับประทานตามใจปาก ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 มีใยอาหาร และหมั่นออกกำลังกายควบคู่กัน สามารถป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

คำแนะนำทั่วไป

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย บริหารหน้าอกด้วยการยกดัมเบลล์ เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าทั้งสอง ข้างขึ้น แขนทั้งสองยกดัมเบลล์ขึ้นชูเหนือระดับหน้าอก หายใจออก และลดระดับแขนจนข้อศอกตั้งฉากกับหัวไหล่ นับ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 8 – 12 ครั้ง 3 เซต

 

Tips การดูแลหน้าอกหลังผ่าตัด

สำหรับหญิงที่ได้รับการผ่าตัดหน้าอก เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายบริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยาง ขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2 – 3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา และเมื่อแผลหายดี ให้พยายามหลีกเลี่ยง

  • การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การเจาะเลือด หรือวัดความดันข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การสวมเสื้อที่มีแขนรัด หรือสวมกำไลข้อมือ นาฬิกาหรือแหวน ที่รัดนิ้วหรือแขนข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.majiciristhaiherbs.com.(2009).ดูแลเต้านมให้สุขภาพดีทุกวัย.4 พฤษภาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.majiciristhaiherbs.com
ภาพประกอบจาก: www.yourhealthyguide.com


-เรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง.jpg

การดูแลเต้านมของสาว ๆ ให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะการตรวจหาความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ลักษณะของเต้านมไม่ได้เหมือนกันตลอดเวลา บางครั้งการสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิด เกิดความกังวลมากเกินไป ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงของเต้านมบางอย่าง กลับเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย การตื่นตัวให้ความสำคัญและรีบไปพบแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น การรู้จักเต้านมมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

เต้านมแบบไหนปกติ…แบบไหนที่ผิดปกติ

จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านม อาจทำให้คุณกังวลได้ แต่บางครั้งสิ่งที่คุณกังวลกลับเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับเต้านมของทุกคน ตัวอย่างเช่น

  • เต้านมของคุณมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย
  • เต้านมข้างหนึ่งห้อยต่ำกว่าอีกข้างหนึ่งเล็กน้อย
  • มีขนรอบหัวนมของคุณ
  • คุณรู้สึกเจ็บเต้านม หรือรู้สึกว่าเต้านมนิ่มขึ้น ช่วงก่อนและระหว่างช่วงเวลาการมีประจำเดือน

 

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณสังเกตเต้านมของคุณมีอาการ หรือการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดทันที

  • เต้านมมีก้อนแข็งที่คุณไม่เคยรู้สึกมาก่อน
  • มีอาการบวมบริเวณหน้าอก บริเวณกระดูกไหปลาร้า หรือรักแร้
  • ผิวหนังแห้ง แตกออกเป็นผื่นแดง หรือผิวหนังหนาขึ้น เหมือนเปลือกส้ม บริเวณรอบ ๆ หัวนม
  • เลือด หรือของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
  • มีอาการคันที่หน้าอก
  • หัวนมจมเข้าไปในเต้า โดยก่อนหน้าหัวนมยื่นออกเป็นปกติ

 

ทั้งนี้อาการดังที่กล่าวมา ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นอาการที่เป็นอันตรายแต่อย่างเดียว ในความเป็นจริงมันอาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เช่น คันระคายเคืองจากเนื้อผ้า หรือความรัดของเสื้อที่สวม หรือจากการติดเชื้อบางชนิดที่พบได้ทั่วไป จนกระทั่งถึงเรื่องของมะเร็งเต้านม ซึ่งต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวางแผนการรักษาอย่างรีบด่วน

 

รู้ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเคยเลือกใช้ยาคุมกำเนิด รวมถึงครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเมื่อคุณเข้าพบแพทย์ ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงด้วยทุกครั้ง

 

เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะตั้งครรภ์และช่วงให้นม

โดยธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีเต้านมขนาดใหญ่และมีความนุ่มมาก ส่วนบริเวณหัวนมจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มองเห็นเส้นเลือดชัดมาก ขณะที่เนื้อเยื่อเต้านมจะเป็นก้อนคลำได้ ช่วงเวลานี้ซีสต์ หรือถุงน้ำ และเนื้องอกอาจเกิดขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ดี หากคุณมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ชัดกับอาการ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงในวัย 40 อัพ 

ในวัย 40 อัพ ต่อมน้ำนมจะลดขนาดลง และอาจถูกแทนที่ด้วยชั้นไขมันใต้ผิวหนังซึ่งอาจทำให้ขนาดของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ วัยที่เพิ่มขึ้นความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดล่าช้าหลังอายุ 55 ปี ดังนั้น คุณควรปรึกษาและเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการโดยผู้หญิงวัยตั้งแต่ 45 – 74 ปี ควรตรวจทุก 1 – 2 ปี

 

การมีนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งจำเป็นในทุกช่วงอายุ

คุณสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ หากคุณลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือไม่เกินวันละแก้ว หรือหากคุณยังมีนิสัยสูบบุหรี่ก็ให้เลิกสูบทันที  และรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับวัยและอายุ และที่สำคัญ คือ ต้องออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ รวมถึงการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่อย่างสม่ำเสมอ

 

มันไม่เร็วเกินไป ที่จะเริ่มคิดถึงวิธีการดูแลเต้านมให้มีสุขภาพดีได้ตลอดทั้งชีวิต  และมันก็ไม่เคยสายเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ให้เกิดขึ้น

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.webmd.com
ภาพประกอบ: www.shutterstock.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก