ร่างกายของมนุษย์ มีเส้นประสาท (Nerve) อยู่เป็นจำนวนมาก เส้นประสาทเหล่านี้จะทำงานเชื่อมกับสมองและไขสันหลังเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ หากเส้นประสาทเกิดความเสียหาย แม้แต่การเคลื่อนไหวง่าย ๆ เช่น หยิบจับ ลุก เดิน ก็อาจกลายเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสได้ การสังเกตอาการเพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งจำเป็น มาดูอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทกัน
อาการชา (Numbness) เหน็บ (Tingling) หรือแสบร้อน (Burning)
ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นได้บริเวณมือ เท้า แขน และขา และสามารถเกิดได้บ่อยในช่วงนอนหลับซึ่งเป็นเรื่องปกติหากเกิดอาการแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าอาการชา เหน็บ ปวดแสบปวดร้อนเกิดกับคุณในแต่ละครั้งแบบนาน ๆ ด้วยแล้ว อาจเป็นสัญญาณว่าเส้นประสาทของคุณอาจมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก
หากเส้นประสาทที่สั่งการเกิดความเสียหาย อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้น คุณอาจทำภารกิจประจำวันได้ไม่เหมือนเดิม เช่น กำช้อนกินข้าว เขียนหนังสือ นั่นรวมถึงการเสี่ยงในการเป็นอัมพาตด้วย หากคุณมีปัญหาในการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ปวดร้าวลงขา
อาการปวดร่วมกับการแสบร้อนหรืออาการชา มักเริ่มจากช่วงเอว เลื่อนมายังสะโพกและลงไปที่ขา ซึ่งเป็นอาการปวดของเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) นั่นหมายถึงเส้นประสาทของคุณถูกกดทับจนเสียหาย โดยคุณอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นความผิดปกติของกระดูกสันหลังรวมถึงการเป็นโรคเบาหวาน
ซุ่มซ่าม เงอะงะมากกว่าปกติ
อาการนี้อาจเกิดจากเส้นประสาทที่คอยสั่งการด้านความรู้สึกได้รับความเสียหาย ทำให้การประสานงานภายในร่างกายและการรับรู้ตำแหน่งของร่างกายคลาดเคลื่อนไป และความเสียหายนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทในสมองอีกเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้จะแสดงอาการของโรคพาร์กินสัน
เข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ
หากรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาเข้าห้องน้ำไม่ทัน อาจจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทได้รับความเสียหายและส่งสัญญาณผิดพลาดไปที่กระเพาะปัสสาวะอาการแบบนี้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ ที่จะเกิดกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ปวดแปลบต้นคอถึงศีรษะ คล้ายไฟฟ้าช็อต
เป็นอาการของการปวด เส้นประสาทที่ท้ายทอย (Occipital neuralgia) มักเป็นผลมาจากการถูกกดทับ ซึ่งหากคุณมีอาการแบบนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
เหงื่อออกมากหรือน้อยผิดปกติ
อาจเป็นสัญญาณว่า เส้นประสาทที่ส่งข้อมูลจากสมองไปสู่ต่อมเหงื่อได้รับความเสียหาย ซึ่งคุณอาจจะต้องเข้ารับการตรวจวัดปริมาณเหงื่อและอัตราการเต้นของหัวใจต่อไป
บาดเจ็บง่าย ๆ จากเรื่องที่ควรรู้
หากคุณมักจะบาดเจ็บ เช่น มีดบาด ลื่นหกล้ม หัวโขก บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่คนอื่นจะไม่เป็น อาจเป็นเพราะเส้นประสาทกำลังทำงานผิดพลาด ทำให้คุณไม่รู้สึกว่ากำลังสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น ความร้อม ความแหลมคม ความลื่นของพื้น หากเกิดอาการเช่นนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.prevention.com
ภาพประกอบ : www.pixabay.com