ข้อควรรู้ สำหรับผู้ใช้ยา ให้ปลอดภัย อ่านฉลากยาให้เข้าใจ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีใช้ยา ต้องถามให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อน เมื่อไรก็ตามที่ได้รับการจ่ายยามา ลองหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้
ใช้ยาให้ปลอดภัย
- อ่านฉลากยาให้เข้าใจ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีใช้ยา ต้องถามให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อน
- เมื่อไรก็ตามที่ได้รับการจ่ายยามา ลองหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้
- ควรรู้ชื่อยา หากเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยควรรู้ว่า มีข้อบ่งใช้หรือรักษาอะไร
- มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไรบ้าง
- ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาใดบ้าง
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทใดบ้าง
- มีวิธีใช้ยาอย่างไรและเวลาใดบ้าง
- ต้องใช้เป็นระยะเวลานานเท่าใด หรือควรพบแพทย์อีกหรือไม่
- ทุกครั้งที่พบแพทย์หรือซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกร ได้ทราบว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
- ยาเกือบทุกชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียง ที่นอกเหนือจากฤทธิ์สำคัญที่ต้องการ และอาจเกิดขึ้นกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากผู้ใช้ยามีปัญหาของฤทธิ์ข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- ผู้ใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่า ตนเองเคยมีอาการแพ้ยาชนิดใดบ้าง อาการแพ้ยาแสดงให้เห็น ด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น เกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง ผื่นลมพิษ คันตามตัวหรือใบหน้า หน้าบวม หรือหายใจขัด เป็นต้น
- ไม่ควรนำยาของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ไปให้ผู้อื่นหรือแนะนำให้ซื้อใช้ชนิดเดียวกับตนถึงแม้ว่าจะมีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน แต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกันก็ได้
- การซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เช่น ยาหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บ ควรอ่านฉลากหรือถามผู้ขายถึงวิธีใช้ยาให้เข้าใจ เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าการใช้ยาไม่ถูกต้อง ทำให้โรคหรืออาการไม่หายได้
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ จำเป็นต้องระมัดระวัง ในการซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับ การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาได้
- ไม่ควรให้ยาแก่ทารก ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และการให้ยาเพื่อบำบัด อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง แก่เด็กที่มีอายุ 1 – 12 ปี ผู้ใช้ยาต้องรู้ขนาดใช้ยาที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก
- สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร ควรปรึกษาการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร
- ควรมีความรู้เกี่ยวกับการเก็บยาให้ถูกต้อง โดยทั่วไปยาที่ไม่ได้ระบุฉลากว่าต้องเก็บในตู้เย็นแล้ว ก็ควรเก็บไว้ในตู้เก็บยาที่ปิดมิดชิด ในสถานที่แห้งและเย็น ไม่มีแดดส่อง
- ตรวจตู้ยาเป็นระยะ ๆ เพื่อกำจัดยาที่ไม่ใช้หรือหมดอายุแล้ว
ใช้ยาให้ถูกต้อง
1.ใช้ยาให้ถูกวิธีหรือถูกทาง
- ยาเม็ดหรือแคปซูลวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง คือกลืนยาทั้งเม็ดหรือแคปซูล พร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยวยา ยกเว้นยาที่ระบุว่า “ควรเคี้ยวยาก่อนกลืน” เช่นยาลดกรด
- ยาน้ำสำหรับรับประทานก่อนรินยาต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด และต้องใช้ช้อนตวงยา หรือหลอดยาที่ติดมากับขวดยา ห้ามใช้ช้อนกาแฟ หรือช้อนรับประทานอาหาร เพราะทำให้มีขนาดยาไม่ถูกต้อง
- ยาผงสำหรับรับประทานหากระบุให้ละลายน้ำก่อนรับประทาน ก็ต้องละลายก่อนรับประทาน ไม่ควรเทผงยาใส่ปากแล้วดื่มน้ำตาม หากเป็นผงยาโรยแผล เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้ผงยาปลิวเข้าปาก จมูก และตา
- ยาขี้ผึ้งหรือครีมเป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ทาบาง ๆ วันละ 2 – 3 ครั้ง โดยไม่ต้องถูหรือนวด ยกเว้นเมื่อมีระบุไว้ในฉลากเท่านั้น
- ยาประเภทหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บควรอ่านฉลากแนะนำให้เข้าใจก่อนใช้
- ยาอมเป็นยาที่ต้องการให้ละลายในปาก ห้ามเคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด
2.ใช้ยาให้ถูกขนาดและถูกเวลา “ขนาดยา”
คือจำนวนยาที่ให้เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยทั่วไปขนาดยาที่ใช้ในแต่ละคน จะไม่เท่ากันซึ่งแตกต่างกันไปตามอายุ น้ำหนักร่างกาย และความรุนแรงของโรค ดังนั้น ผู้ใช้ยาจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก เกี่ยวกับขนาดและระยะเวลา หรือช่วงห่างในการใช้ยา จึงจะทำให้ยานั้น ๆ ได้ผลตามต้องการ ผู้ใช้ยาควรต้องทราบถึงความหมายของคำต่าง ๆ ที่พบเสมอในฉลากยา เช่น
- รับประทานก่อนอาหาร หมายความว่า ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดีในขณะท้องว่าง
- รับประทานหลังอาหาร หมายความว่า หลังอาหารอย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดีโดยมีอาหารช่วยในการดูดซึม
- รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ยามีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารจนถึงขั้นเป็นแผลทะลุได้ บ่อยครั้งที่ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานขณะท้องว่าง ดังนั้น จึงต้องมีอาหารหรือน้ำช่วยทำให้เจือจางลง ยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดข้อต่าง ๆ หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
- รับประทานก่อนนอน หมายความว่า รับประทานก่อนนอนตอนกลางคืนวันละ 1 ครั้งเท่านั้น
การใช้ยาอย่างปลอดภัย
เราจะใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ก็ต่อเมื่อรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยานั้น ๆ ให้มากที่สุด การรู้ว่ายาที่จะใช้คือยาอะไร และใช้เพื่ออะไรนั้น จะช่วยให้ใช้ยาได้เต็มประโยชน์ และลดโอกาสที่อาจเกิดอันตรายจากยา ให้เหลือน้อยที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ก็อย่าลืมจดคำถามที่อยากรู้ เอาไว้ถามแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนรับยามาด้วยทุกครั้ง
หลักในการใช้ยาที่ถูกต้องคือ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือคำแนะนำที่ระบุบนฉลากยา อย่างเคร่งครัดทุกครั้ง โดยเฉพาะยาที่ซื้อกลับมาใช้เองที่บ้าน (ยาบาอย่าง เช่น ยาต้านมะเร็ง ต้องให้แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ฉีดให้เท่านั้น) ตัวอย่างเช่น ยาที่ระบุว่าให้กินพร้อมอาหาร ก็แสดงว่าเป็นยาที่มีผลระคายเคือง ต่อทางเดินอาหาร
ยาบางอย่างนั้น ต้องกินตามช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น ทุก 4 หรือ 6 ชั่วโมง เนื่องจากมีฤทธิ์อยู่ได้ เพียงช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นหากลืมกินยามื้อใดมื้อหนึ่งไป ก็เท่ากับว่าร่างกายจะไม่ได้รับยาตามขนาด ที่จะให้ผลได้ตามต้องการ เมื่อรับยามาทุกครั้ง จึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า ยาที่ระบุไว้ว่าให้กินวันละ 4 ครั้งนั้น หมายถึง ต้องกินยาทุก 6 ชั่วโมงจริง ๆ (ตื่นขึ้นมากินตอนกลางคืนด้วย) หรือให้กินตามเวลาอาหาร คือ เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
การเรียกชื่อตัวยา
เมื่อจะใช้ยาอะไรก็ตาม เราต้องรู้จักชื่อสามัญของยานั้นด้วย ไม่ใช่รู้จักแต่เฉพาะชื่อการค้าเท่านั้น ชื่อสามัญของยา คือ ชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกตัวยา โดยตัวยาชนิดหนึ่งจะมีชื่อสามัญเพียงชื่อเดียว แต่อาจมีชื่อการค้าได้หลายชื่อ ตามแต่บริษัทผู้ผลิตยาจะตั้งไว้
เมื่อบริษัทยาค้นพบยาใหม่ๆ ตัวใดตัวหนึ่ง ก็จะตั้งชื่อการค้าและขายยาตามชื่อนั้น จนกระทั่งหมดสิทธิ์ (ส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์ยามีอายุประมาณ 20 ปี) หลังจากนั้นยาดังกล่าวก็จะถูกเรียกโดยชื่อสามัญ และบริษัทอื่น ๆ ก็สามารถผลิตออกมาขายได้ ประโยชน์ของการรู้จักชื่อสามัญของยานั้น นอกจากจะทำให้สามารถเลือกใช้ยาที่ถูกกว่า แต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันแล้ว ยังช่วยป้องกันความสับสน และความซ้ำซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้ยาได้ด้วย
การใช้ยา
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า เราต้องใช้ยาชนิดนั้น ๆ นานเท่าใด ยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะนั้น จำเป็นต้องใช้ให้ครบ ตามจำนวนที่แพทย์สั่ง แม้ว่าจะหายป่วยแล้วก็ตาม หรือการหยุดใช้ยาบางชนิดอย่างกะทันหัน ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากอาการยังไม่ดีขึ้น และต้องการยาเพิ่ม จึงควรไปพบแพทย์ ก่อนที่ยาชุดเก่าจะหมด
ยาบางอย่างแสดงฤทธิ์ได้เร็วมาก เช่น ยากลีเซอริลไตรไนเตรต ซึ่งเป็นยาแก้อาการปวดเค้นหัวใจ เนื่องจากหัวใจขาดเลือด ที่ออกฤทธิ์ได้เกือบทันที แต่ยาบางอ่างก็แสดงฤทธิ์ช้าๆ และต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ จึงจะเห็นผล ดังนั้นจึงควรถามแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับเวลาในการออกฤทธิ์ของยา ก่อนที่จะหยุดยา เนื่องจากคิดว่ายานั้นใช้ไม่ได้ผล
ยาทุกชนิดล้วนมีอาการข้างเคียง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย และจะสังเกตได้หรือไม่ก็ตาม โดยบางชนิดอาจแสดงผลอันไม่พึงประสงค์ทันที แต่ยาบางชนิดอาจแสดงผล หลังจากใช้ไปแล้วหลายวัน ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยา ต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรโดยเร็ว นอกจากนั้น การใช้ยาหลายๆ อย่างพร้อมกัน ก็อาจทำให้ยาเกิดปฏิกิริยาต่อกันได้ ไม่ว่าเป็นการเสริมฤทธิ์ ด้านฤทธิ์ หรือทำให้ยาอีกตัวไม่แสดงฤทธิ์ เป็นต้น จึงต้องบอกแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง หากกำลังใช้ยาตัวอื่นอยู่ด้วย
เรื่องที่ต้องถาม
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญ ที่ต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และต้องทำความเข้าใจกับคำตอบที่ได้ให้ชัดเจน ก่อนจะรับยากลับบ้าน
- ชื่อสามัญและชื่อการค้าของยาชนิดนี้คืออะไร
- ยาชนิดนี้เป็นยาประเภทใดหรือกลุ่มใด เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไขมันในเลือด หรือยาลดความดันโลหิต
- ยาออกฤทธิ์อย่างไร
- ยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง
- ต้องกินยาวันละกี่ครั้ง กินอย่างไร (ก่อน หลัง หรือพร้อมอาหาร) และนานเท่าใด
- ระหว่างการใช้ยา ต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดหรือไม่
- จะทำอย่างไร ถ้าลืมกินยา
- จะรู้ได้อย่างไรว่ายาใช้ได้ผลแล้ว
และสุดท้าย ต้องนึกไว้เสมอว่าโรคบางโรคนั้น อาจหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและไปพบแพทย์ ก็อย่าคาดหวังว่าแพทย์ต้องจ่ายยา หรือฉีดยาให้เราทุกครั้ง เพราะวิถีแห่งเวชปฏิบัติที่ดี และควรจะเป็นก็คือ การรู้ว่าเมื่อใดบ้าง ที่ควรและไม่ควรใช้ยา
การใช้ยาปฏิชีวนะผิดวิธี
ยาปฏิชีวนะนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์สำหรับร่างกาย แต่ในบากรณีก็ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาปฏิชีวนะ ก็คือ เพื่อฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือเชื้อราหรือบัคเตรี แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับอาการไอ หรือไข้หวัดซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส ทุกครั้งที่ใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้ให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง การหยุดาเอง เมื่อรู้สึกว่าอาการดีขึ้น จะทำให้เชื้อที่เหลืออยู่พัฒนาตัวเอง จนดื้อยาและรักษายากขึ้น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อเป็น
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อบัคเตรี
- อาการปอดบวม
- วัณโรค
- สิวที่มีการอักเสบรุนแรง
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากเชื้อบัคเตรี
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ก่อนและหลังการผ่าตัดใหญ่
- โรคติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและไม่ควรใช้เมื่อเป็น
- ไข้หวัด เจ็บคอ (ยกเว้นที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี) หัด อีสุกอีใส คางทูม หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
- อาการท้องร่วงและอาเจียน ยกเว้นที่เกิดจากการติดเชื้อบัคเตรี
ยาบรรจุเสร็จ
ยาบรรจุเสร็จ คือ ยาที่ใช้แก้อาการหรือบำบัดโรค ที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก และสามารถหาซื้อได้ โดยไม่ต้องใช้ใบยาสั่งยาจากแพทย์ แม้ว่ายาบรรจุเสร็จมักมีฤทธิ์รุนแรง น้อยกว่ายาที่แพทย์สั่งจ่าย แต่ก็ยังเป็นยาเช่นกัน จึงควรใช้เท่าที่จำเป็น และหากใช้เกิดขนาด ก็อาจเป็นอันตรายได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ตับถูกทำลายอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ยังควรใช้อย่างระมัดระวัง และอ่านฉลากยาให้ถ้วนถี่ก่อนใช้ โดยเฉพาะเรื่องขนาดสูงสุดที่ใช้ได้ รวมทั้งข้อห้ามใช้อื่นๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิภาวดี.(2009).ข้อควรรู้สำหรับผู้ใช้ยา.9 กันยายน 2559.
แหล่งที่มา : http://www.vibhavadi.com/mobi/health_detail.php?id=27
ภาพประกอบจาก : www.kvamsook.com