ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

jiaogulan-reduces-cholesterol-diabetes.jpg

เจียวกู่หลาน เป็นสมุนไพรที่ได้รับการขนานนามว่า สมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้มีการศึกษามาอย่างมากมายถึงคุณประโยชน์นานัปการเทียบเคียงกับโสมได้เลยค่ะ ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายสามารถรับประทานได้ทุกวัน โดยปัจจุบัน “เจียวกู่หลาน” ถูกนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมที่ช่วยในการควบคุมคอเลสเตอรอล และรักษาโรคเบาหวาน จึงเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวหรือผู้สูงวัยทั้งหลาย

 

ข้อมูลเบื้องต้นของ เจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลานเจียวกู่หลาน หรือ Gynostemma Peenta- Phyllum Makino เป็นพืชตระกูลเดียวกับ Cucurbitaceae โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีฟเอเชีย สำหรับประเทศไทยรู้จักกันในชื่อ ปัญจขันธ์ มีลักษณะเป็นเถา ลำต้นกลม มีสีเขียว โดยส่วนใหญ่จะเพาะปลูกอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันเจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในรูปแบบของชาชงสมุนไพรและอาหารสุขภาพสำหรับบำรุงร่างกาย

 

สรรพคุณของ เจียวกู่หลาน

สมุนไพรแห่งชีวิตอมตะนี้ หากทุกคนได้ทราบถึงสรรพคุณของเจ้าสิ่งนี้แล้ว คงต้องรีบหามารับประทานเป็นแน่ ซึ่งสรรพคุณหลักของเจียวกู่หลานที่มีผลวิจัยมากมายรองรับคือความสามารถในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวายแบบฉับพลัน รวมไปถึงสามารถปรับสมดุลของความดันเลือด โดยหากรับประทานอย่างเป็นประจำยังจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย รวมถึงช่วยปรับสมดุลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และยังช่วยคลายความเครียดและทำให้นอนหลับได้สบายมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ

  1. ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล
    คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งในร่างกาย สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ คอเลสเตอรรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) และคอเลสเตอรอลชนิดเจียวกู่หลานที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) โดยคอเลสเตอรอลสูง (High Cholesterol) เป็นภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอีกด้วย โดยภาวะนี้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ นอกจากนั้นอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพของตน อาทิ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ รวมถึงโรคต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid) ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมของตัวเอง ทั้งการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ สำหรับการใช้ยาในการรักษาทั้งนี้ต้องดูผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของแต่ละบุคคลอีกด้วย
    .
    นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้เจียวกู่หลานในการป้องกันและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เนื่องจากมีการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า เจียวกู่หลานสามารถเข้าไปควบคุมและลดปริมาณไขมันในเลือดได้ ทั้งคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้อีกด้วยค่ะ
    .
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดเบาหวาน
    โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนชนิดนี้ จนทำให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก โดยสังเกตได้จาก อาการกระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย สายตาพร่ามัว รวมถึงแผลหายช้า โดยการรักษาทำได้โดยฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปในร่างกาย ควบคู่กับเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม และการออกกำลังกาย หากไม่ทำเช่นนี้ความร้ายแรงของโรคอาจรุนแรงไปถึงการตัดอวัยวะบางส่วนทิ้งเพื่อป้องกันการลุกลามของบาดแผลที่ไม่อาจรักษา
    .
    นอกจากวิธีดังกล่าวเรายังสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาปกติด้วยสมุนไพรแห่งชีวิตอมตะอย่างเจียวกู่หลาน ซึ่งนอกจากสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย โดยผ่านกลไกการยับยั้งเอนไซน์ที่เกี่ยวกับกระบวนการเมทาบอลิซึมของกลูโคส ทั้งยังกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานด้วยการต้านอนุมูลอิสระ โดยที่ไม่พบอาการข้างเคียงอีกด้วยค่ะ
    .
  3. ช่วยคลายเครียดและทำให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น
    เจียวกู่หลานในสถานการณ์ที่ค่อนข้างโหดร้ายต่อจิตใจ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจและสังคม นำมาซึ่งความเครียดสะสม นอนไม่หลับ จึงทำให้จิตใจไม่ผ่องใสเท่าที่ควร ซึ่งการศึกษาเกี่ยวสมุนไพรเจียวกู่หลานพบว่า เจียวกู่หลานมีสารสกัดที่ได้จากสมุนไพร หรือ Adaptogen ที่ดีกว่าสมุนไพรชนิดอื่น ๆ มีฤทธิ์ทำให้เกิดความสมดุลภายในร่างกาย สามารถลดความเครียด และทำให้ร่างกายกลับมากระฉับกระเฉงอีกครั้ง

 

ป้องกันคอเลสเตอรอลและเบาหวาน Hi-Balanz Jiaogulan Extract ช่วยได้

ในปัจจุบันเจ้าสมุนไพรเจียวกู่หลานถูกบรรจุในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเราค้นพบว่า Hi-Balanz Jiaogulan Extract ตอบโจทย์ทั้งการลดระดับคอเลสเตอรอล ลดภาวะน้ำตาลในเลือด ควบคุมความกันโลหิต เพิ่มภูมิต้านทาน ต้านการอักเสบ ปรับสมดุลในร่างกาย ผ่อนคลายความเครียดช่วยให้นอนสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย

เจียวกู่หลาน

นอกจากนั้น Hi-Balanz Jiaogulan Extract  ยังอัดแน่นไปด้วยสารกัดจากเจียวกู่หลาน (Gynostemma Extract) ถึง 100 มิลลิกรัม โดยมีสารประกอบที่สำคัญ อาทิ Gypenoside ถึง 82 ชนิด มีส่วนในการบำรุงร่างกาย ช่วยสมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มภูมิต้านทาน และต้านอนุมูลอิสระ เสริมทัพด้วย Flavonoid ที่สามาถลดระดับของคอเลสเตอรอล ป้องกันไม่ให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และช่วยไม่ให้เซลล์ภายในร่างกายถูกทำลาย ส่วน Vitamin B1 และ 2 ช่วยในการบำรุงประสาท คลายความเครียด ลดอาการปวดไมเกรน มีส่วนช่วยในการมองเห็น และสุดท้ายคือแร่ธาตุ ที่ช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับการบริโภค เราสามารถบริโภคได้เป็นประจำทุกวันโดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงในร่างกายของเราอีกด้วยค่ะ

Hi-Balanz Jiaogulan

Hi-Balanz Jiaogulan Extract 30 Capsules

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม www.hibalanz.com

 


OAB.jpg

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (overactive bladder หรือ OAB) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ การปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน ไม่สามารถรอหรือกลั้นได้ โดยอาจจะมีภาวะปัสสาวะเล็ดหลังอาการดังกล่าว รวมด้วยหรือไม่ก็ได้ ทำให้ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างเร่งรีบหลาย ๆ ครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ เป็นปัญหาที่พบบ่อย ที่สร้างความกังวลและความยุ่งยากในการชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

 

OAB เป็นภาวะที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder, OAB) เป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่ประกอบด้วย

  • ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน โดยรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาอย่างฉับพลัน รอต่อไม่ได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาการนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีน้ำปัสสาวะเพียงเล็กน้อยในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะออกมาไม่มาก
  • ปัสสาวะบ่อย มักมีการถ่ายปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งในตอนกลางวัน และมากกว่า 1 ครั้ง ในตอนกลางคืน
  • บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา จากการปวดปัสสาวะเฉียบพลัน และเข้าห้องน้ำไม่ทันเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน การเดินทาง อื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษา เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

 

สาเหตุ

ในระบบขับถ่ายปัสสาวะนั้น เมื่อไตผลิตน้ำปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะไหลผ่านท่อไตมาเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ โดยรอยต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะจะมีชุดกล้ามเนื้อที่ทำงานเป็นหูรูดเปิดปิดการไหลของน้ำปัสสาวะ หูรูดนี้จะถูกควบคุมโดยระบบประสาท โดยเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก และอยู่ในสถานที่ที่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ สมองจะสั่งงานให้หูรูดคลายตัว กระเพาะปัสสาวะบีบตัวให้การขับปัสสาวะเป็นไปอย่างปกติ

ในผู้ที่มีภาวะ OAB จะมีความผิดปกติของสัญญาณดังกล่าว ทำให้มีการการคลายตัวของหูรูดอย่างเฉียบพลัน อาจรวมถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทั้งที่น้ำในกระเพาะปัสสาวะอาจยังไม่เต็มความจุ สาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจส่งผล ดังนี้

  • โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคของระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานและท่อปัสสาวะมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะเองมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณ จากการมีอายุที่เพิ่มขึ้น
  • การรับประทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
  • การรับประทานเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป

 

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะ OAB ได้โดยการสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติทางสูตินรีเวชในผู้หญิงร่วมกับการตรวจร่างกาย  และตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ได้แก่

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อหรือมีเม็ดเลือดแดงในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แยกโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันออกไปได้
  • การทำบันทึกเวลาปัสสาวะ (Voiding diary) เพื่อดูความถี่ปริมาณ และอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมา และกิจกรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ว่าดื่มเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร และปริมาณน้ำปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถกลั้นอยู่ได้
  • การตรวจวัดปัสสาวะตกค้างหลังถ่ายปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าซาวด์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจยูโรไดนามิกส์ (Urodynamics) ในผู้ป่วยบางราย และในบางสถานพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาตรวจยูโรไดนามิกส์ เพื่อตรวจดูว่ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง หรือมีปัสสาวะตกค้างหลังขับถ่ายหรือไม่

 

การรักษา

การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธี ทั้งนี้การรักษามักเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะทำให้อาการลดลง ในบางรายถึงขั้นอาการดีขึ้นจนหายไปเลย หลังจากนั้นจึงพิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่าง เช่น
    • ลดปริมาณการดื่มน้ำ โดยเฉพาะการดื่มน้ำก่อนเข้านอน และการลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา น้ำอดลม โซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์
    • ฝึกกลั้นปัสสาวะ โดยพยายามยืดระยะระหว่างการเข้าห้องน้ำในแต่ละครั้งให้นานขึ้น เช่น จากทุก 1 ชม. ยืดออกเป็น 2 หรือ 3 ชม. ก่อนเข้าห้องน้ำในครั้งถัดไป
    • ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise) จะทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน  และกล้ามเนื้อหูรูดส่วนนอกของท่อปัสสาวะมีการหนาตัวและแข็งแรงมากขึ้น โดยการบริหารดังกล่าวจะเพิ่มแรงต้านในท่อปัสสาวะให้สูงขึ้น มี reflex ไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และป้องกันปัสสาวะไม่เล็ดราดได้อีกด้วย
  • การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด หลักๆเป็นยาช่วยคลายหรือลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ 2 กลุ่ม คือ ยากลุ่ม Anticholinergic Drug อาจมีผลข้างเคียง คือ ปากแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะค้าง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ท้องผูก การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป และยากลุ่ม Beta 3-adrenoceptor agonist  อาจมีผลข้างเคียง คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้น จนบางครั้งสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายยังจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการต่างๆ

  • การรักษาด้วยวิธีอื่น กรณีการรักษาโดยวิธีข้างต้นไม่หาย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้
    • การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ โดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวและอาการปวดปัสสาวะฉับพลันลดลง โดยยาจะให้ผลการรักษาประมาณ 5-9 เดือน จากนั้นอาจต้องฉีดซ้ำหากจำเป็น วิธีนี้สามารถพิจารณาในผู้ป่วยที่ทานยาไม่ได้ผล หรือต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารับประทาน อย่างไรก็ตามยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการปัสสาวะไม่ออกได้
    • การใช้อุปกรณ์ปรับสมดุลระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะ (Neuromodulator) โดยการฝังเข็ม การใช้แผ่นแปะเพื่อส่งกระแสไฟฟ้า หรือการผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดจะทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
    • การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บน้ำปัสสาวะ แต่มีผลข้างเคียงหลายด้าน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเพิ่มเติม

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ควรควบคุมปริมาณการดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ให้มากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย เช่น กาแฟ น้ำอัดลม โซดา น้ำผลไม้ เครื่องดืมแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย จนรบกวนคุณภาพการนอนหลับได้
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูกซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้น และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ปัญหาของการปัสสาวะจะลดน้อยลง
  • ฝึกกลั้นปัสสาวะหรือฝึกกำหนดเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำ หรืออย่างน้อย ๆ ต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์ เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น

 

แหล่งข้อมูล : www.mayoclinic.org  www.si.mahidol.ac.th  www.bumrungrad.com International Urogynecological Association (IUGA). Overactive bladder: A Guide for Women. 2011.
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


-ขณะออกกำลังกาย.jpg

มีข้อมูลพบว่า อันตรายขณะออกกำลังกาย โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิต ทั่วโลกอยู่ที่ 1 : 80,000 – 200,000 โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแฝง ที่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่รู้ หรือรู้และอยู่ในระหว่างการรักษาหรือการควบคุม โอกาสที่จะเสียชีวิตในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคแฝงจากกการออกกำลังหรือเล่นกีฬาโดยตรงนั้น มีโอกาสเกิดน้อยกว่า

 

สาเหตุการเสียชีวิต จากการออกกำลังกาย

สำหรับการเสียชีวิต ซึ่งเกิดในระหว่างการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา เช่น การวิ่งระยะไกล การเตะฟุตบอล การเล่นแบดมินตัน มักจะมาจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นหลัก โดยมีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันสูง ความดันสูง มีเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน เป็นต้น เมื่อต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ 3 – 5 ชม. และเมื่ออยู่ในสภาพที่มีความฟิตไม่เพียงพอ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเรื่องเครียดก่อนแข่ง นอนดึกก่อนแข่ง จึงมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตระหว่างการออกกำลังกายสูง

ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิต มาจากการที่มีลิ่มเลือดหรือก้อน plaque หลุดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวายและเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้ในการดำเนินชีวิตปกติอาจไม่มีอาการ นอกจากนี้การตรวจหลอดเลือดหัวใจตามปกติ เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ทรวงอก CT scan, MRI, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การวิ่งสายพาน (Exercise stress test: EST) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) อาจให้ผลเป็นปกติได้ ทำให้ผู้ออกกำลังกายหรือผู้เล่นกีฬาส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคแฝงอยู่ สำหรับในรายที่อายุน้อยกว่า 40 ยังอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม อีกทั้งมีการพบว่า มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สูง ในผู้ที่ปกติไม่ค่อยออกกำลังกาย แล้วจู่ๆไปออกกำลังกายหนักๆเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเกินหัวใจจะรับได้

นอกจากการเสียชีวิตจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว ยังมีการเสียชีวิตในขณะออกกำลังกายจากสาเหตุอื่น เช่น การสูญเสียเกลือแร่ จากโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่า

  

อาการเตือนถึงอันตรายขณะออกกำลังกาย

ทั้งนี้ผู้ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาควรต้องสังเกต อาการที่แสดงถึง อันตรายขณะออกกำลังกาย สำคัญ ๆ โดยถ้ามีอาการอย่าฝืน อย่าพยายามเล่นต่อเด็ดขาด อาการดังกล่าว ได้แก่

  1. เจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง
  2. เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือเหงื่อแตก ใจสั่น

โดยหากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการเพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลทันที หากไม่มีหน่วยช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

  

ข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต

  1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตรวจร่างกายตามระดับความเสี่ยง เช่น อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ อาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพานหรือการตรวจอื่นๆที่เหมาะสม ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายในการตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีแพคเกจเฉพาะออกมาเป็นระยะ โดยภายหลังการตรวจ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
  2. ควรมีการเตรียมร่างกาย ฝึกซ้อมก่อนเล่นหรือก่อนแข่งอย่างเพียงพอ โดยมีรูปแบบการฝึกทั้งแบบ interval หนักสลับเบา แบบ tempo หนักต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความทนทาน รวมถึงการฝึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นต้น
  3. ในการออกกำลังกาย หากมีความหนักหน่วง เช่น ออกกำลังกายในลักษณะที่อัตราการเต้นของหัวใจโซนสูง ๆ ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง ไม่โหมโดยไม่ดูกำลังตัวเอง และควรมีวันพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้มีการปรับตัว
  4. ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน ให้เล่นเหมือนกับที่ซ้อมมา อาจเข้มข้นขึ้นได้อีกเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายคุ้นเคยกับระดับความหนักของการออกกำลังหรือแข่งในระดับนี้มาแล้ว อันตรายมากหากไม่ค่อยได้เล่น ซ้อมน้อยหรือหยุดไปนาน แล้วมามุ่งมั่นเอาจริง เอาจังตอนแข่ง ซึ่งหัวใจจะโหลด และมีความเสี่ยงสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  5. หากพบอาการเตือน เช่น แน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม อย่าฝืนเล่นหรือออกกำลังกายต่อ ให้หยุดพัก แจ้งหน่วยพยาบาลหรือติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทันที
  6. นอกจากนี้ควรหาเวลาเข้าอบรมการทำ CPR หรือการปั้มหัวใจ เผื่อมีโอกาสในการช่วยผู้เล่นกีฬาคนอื่น ๆ ได้

การออกกำลังกายให้ถูกประเภท โดยมีความหนักและความถี่ที่เหมาะสม ผู้ออกกำลังกายจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอาการที่อาจเกี่ยวกับหัวใจ และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com
ข้อมูลอ้างอิง : ข้อมูลจาก พ.อ. นพ. กิจจา จำปาศรี. (2562). วิ่งหรือออกกำลังกายอย่างไร ให้ปลอดภัยกลับบ้านแน่ ๆ. www.health2click.com


.jpg

ท้องผูก เป็นภาวะที่พบบ่อย ประมาณร้อยละ 15 – 20 ของคนทั่วไปมักจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน บางคนหงุดหงิด ไม่สบายใจ บางคนแน่นท้อง ไม่สบายท้อง บางคนถึงกับนอนไม่หลับกระสับกระส่าย สมาธิการทำงานเสียไป ปัญหาท้องผูกมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ

 

จากการรวบรวมการศึกษาคุณภาพดี 13 การศึกษา (3 การศึกษาในเด็ก) พบว่า อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านกาย ใจ สังคมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กมักจะให้คะแนนคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์ และสังคมของเด็กต่ำกว่าที่เด็กให้คะแนนตัวเอง เพราะเด็กมักจะไม่คิดว่าท้องผูกเป็นปัญหาของตัวเอง

สำหรับผู้ใหญ่ อาการท้องผูกเรื้อรังมีผลด้านจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น มีผลต่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย มากกว่าความรู้สึกไม่สบายท้อง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังลดลงพอ ๆ กับผู้ป่วยเบาหวาน เข่าเสื่อมเรื้อรัง โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคภูมิแพ้เรื้อรัง สรุปว่า ท้องผูกเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ท้องผูกเป็นประจำในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด (Constipation and risk of cardiovascular disease among postmenopausal women. Salmorirago-Blotcher E.Am J Med2011; 124:714)

 

ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมแบบชาวตะวันตก รวมทั้งสังคมไทย (เขตเมือง)

ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนปี ค.ศ. 2000 มีการประเมินว่า คนอเมริกันพบแพทย์ด้วยปัญหาท้องผูก 2.5 ล้านคน/ปี และเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรังมาก

ประเทศไทยยาแก้ท้องผูกเป็นยาที่ใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จากการศึกษาที่ผ่านมาบอกให้เรารู้ว่า ท้องผูกมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ท้องผูกเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย (ผัก ผลไม้) น้อยเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพิ่มโอกาสเบาหวาน ดังนั้น อาการท้องผูกน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาที่ชื่อว่า Women’s Health Initiative ในผู้หญิงชาวอเมริกัน 9 หมื่น 3 พันกว่าคน ที่ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 6.9 ปี จากข้อมูลการขับถ่ายที่รายงานโดยผู้หญิงในโครงการ 7 หมื่น 3 พันกว่าคน พบว่า อาการท้องผูกพบร้อยละ 34.7 แบ่งเป็นอาการไม่มาก (ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน) ร้อยละ 25.7 อาการปานกลาง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง) ร้อยละ 7.4 และอาการรุนแรง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากถึงมากที่สุด) ร้อยละ 1.6

 

อาการท้องผูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ (อายุยิ่งมาก โอกาสท้องผูกจะยิ่งมากขึ้น) ตามการสูบบุหรี่ เบาหวาน ไขมัน โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง อ้วน การออกกำลังกายน้อย รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ภาวะซึมเศร้า และประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย

สำหรับอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหรือใส่ขดลวดในหลอดเลือด และการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังปานกลางถึงรุนแรง เกิดโรคหรือภาวะดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 1.42 และ 1.91 ในเวลา 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก เกิดโรคดังกล่าวร้อยละ 0.96 หมายความว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ เพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการท้องผูก แต่หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นแล้ว พบว่าผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเท่านั้น ที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก สรุปว่า อาการท้องผูกเป็นตัวบ่งบอกพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น รับประทาน เส้นใยอาหารน้อย มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่) และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความอ้วน เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า) ขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยบอกโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ

 

ทำอย่างไรดีถ้าท้องผูกเรื้อรัง

  • อันดับแรกคือ หาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราท้องผูก ตัวเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากหรือไม่ ควรรับประทานผักสดอย่างน้อย 2 ฝ่ามือ/มื้อ (ผักสุก 1 ฝ่ามือ/มื้อ) ผลไม้ 15 คำ/วัน ธัญพืชได้รับประทานบ้างหรือเปล่า
  • ยาหรืออาหารบางอย่างที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยาแคลเซียมเม็ด ฝรั่ง ชา กาแฟ
  • นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ยอมขยับทั้งวันหรือไม่มีโอกาสเดินเร็ว ออกกำลังกาย วันละครึ่งชั่วโมงหรือยัง เครียด หงุดหงิด ซึมเศร้าทั้งวัน ยิ่งเครียด ลำไส้ยิ่งไม่ทำงาน ท้องยิ่งผูก
  • ลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช เส้นใยอาหาร เช่น มะขาม มะละกอ ลูกพรุน ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายป็นประจำ อารมณ์เบิกบาน แจ่มใส คลายเครียด คลายกังวล

 

ถ้าอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุท้องผูกเรื้อรังและแก้ไขต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

 

ผศ.นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

เบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM, Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายทำให้ตับอ่อนมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา หรือรักษาแล้วระดับน้ำตาลยังสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลแทรกซ้อนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด ที่ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ  เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เส้นเลือดในสมองตีบ ไตเสื่อม ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นทุกปี  โดยในประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้ใหญ่ ประมาณ 8.3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นผู้ป่วยทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านราย ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อป้องกัน ดูแลและรักษาผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญ

 

ชนิดของเบาหวานและสาเหตุ

โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ โดยจะมีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาที่แตกต่างกัน

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type I  DM) พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือผลิตไม่ได้เลย โดยเกิดจากร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านการทำงานของตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้พบในเด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 30% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ มักมาด้วยอาการเลือดเป็นกรดเป็นอาการแสดงแรก โรคเบาหวานชนิดนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II  DM) พบประมาณ 90 – 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้เพียงพอแต่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ ตัวจับอินซูลินที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรืออ้วนลงพุง หรือมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเป็นเบาหวานอยู่ การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) พบประมาณ 2 – 5% ของเบาหวานทั้งหมด โดยในขณะตั้งครรภ์ร่างกายหญิงจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด โดยบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์  ทั้งนี้ภายหลังการคลอดบุตร ระดับน้ำตาลในเลือดของมารดามักจะกลับเป็นสู่ปกติและไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล
  • โรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ (Specific types of Diabetes due to Other Causes) เบาหวานกลุ่มนี้เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

อาการโรคเบาหวาน

ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาการเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย และน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากภาวะคีโตแอซิโดซิส (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดในร่างกายเป็นกรด ซึ่งมีระดับน้ำตาลและคีโตน (Ketone) ในเลือดสูง สืบเนื่องจากการขาดอินซูลิน
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นน้อย ๆ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือตรวจร่างกายประจำปี สำหรับในรายที่มีอาการผิดปกติ อาจพบอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะในตอนกลางคืน กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งมีอาการสายตามัว เห็นภาพไม่ชัด ปัสสาวะมีมดขึ้น (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 mg/dL) ทั้งนี้อาการมักค่อยเป็นค่อยไป กรณีที่เป็นเรื้อรัง น้ำหนักตัวอาจลดจากการที่ร่างกายหันมาใช้พลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย อาจมีอาการคันตามตัว เป็นฝีหรือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังที่หายช้ากว่าปกติ

ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในภาวะเบาหวานมานานและไม่รู้ตัว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น อาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนปลายมือปลายเท้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บจุกหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต สายตามัว เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเบาหวานมีดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะข้อพับแขนหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose: FPG) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะที่ข้อพับแขนขณะที่ไม่ได้อดอาหาร มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ร่วมกับมีอาการแสดงของโรคเบาหวาน เช่น ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด เลือดเป็นกรด ถือว่าสามารถวินิจฉัยเบาหวานได้
  • การทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) สามารถทำโดยให้ผู้ป่วยอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง (ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล.) ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไปจะถือว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน

นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ
  • การตรวจพบระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5% แต่ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% จะถือว่าเป็นเบาหวาน)
  • การตรวจระดับไขมันในเลือด เพราะเบาหวานมักมีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
  • การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานต่อจอตา
  • การวัดความดันโลหิต เนื่องจากเบาหวานมักพบร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง
  • การตรวจเท้า เพื่อหารอยแผลและการรับความรู้สึกผิดปกติ เนื่องจากสัมพันธ์กับผู้เป็นเบาหวานระยะเวลานาน
  • หากสงสัยภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด (Antibody) เพื่อยืนยันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1

 

การรักษา โรคเบาหวาน 

เป้าหมายของการรักษาเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 หรือ 2 คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ซึ่งประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยาลดระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ประกอบไปด้วย การออกกำลังกาย การควบคุมอาหารและการงดสูบบุหรี่

การออกกำลังกาย

แนะนำให้ออกกำลังกายระดับเบา กล่าวคือ ชีพจรให้ได้ร้อยละ 50 – 70 ของชีพจรสูงสุด (220 – อายุเป็นปี) โดยหากออกกำลังกายแบบแอโรบิก แนะนำให้ปฏิบัติ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแบ่งออกกำลังกายวันละ 30 – 50 นาทีให้ได้ 3 – 5 วันต่ออาทิตย์ และไม่ควรงดออกกำลังกายติดต่อกันนานกว่า 2 วัน สำหรับการออกกำลังแบบต้านแรง (resistance) แนะนำให้ปฏิบัติคู่กับการออกกำลังแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย 8 – 10 ท่า (หนึ่งชุด) แต่ละท่าทำ 8 – 12 ครั้ง วันละ 2 – 4 ชุด

การควบคุมอาหาร

ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการควบคุมการรับประทานอาหารและให้มีการลดลงของน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 – 7 โดยการควบคุมอาหาร ไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่า สัดส่วนของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันควรจะเป็นเท่าใด สำหรับคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานชนิดที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ และนมจืดไขมันต่ำ ร่วมกับเลือกทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือด สำหรับโปรตีนควรบริโภคปลาและเนื้อไก่เป็นหลัก และบริโภคปลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มโอเมก้า-3 ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่ม ควรจำกัดปริมาณไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้หญิง และ 2 ส่วนต่อวัน สำหรับผู้ชาย

 

การใช้ยาลดระดับน้ำตาล

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ โดยชนิดของยารับประทานมี ดังนี้

  • ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanide) เช่น metformin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับและกระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ นำกลูโคสไปใช้งานได้มากขึ้น มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวแรกในผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถใช้ควบกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปากคอขม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ท้องเสีย น้ำหนักลดเล็กน้อย ถ้าใช้กับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียหรือยาฉีดอินซูลิน อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น glipizide และ gliclazide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ผลข้างเคียงสำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักขึ้น และการแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มกลิตาโซน (Glitazone) เช่น pioglitazone เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อนำกลูโคสไปใช้งานได้ดีขึ้นใช้ควบคู่กับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม แต่หากใช้คู่กับอินซูลินอาจทำให้บวมมากขึ้น ควรพิจารณาปรับขนาดยา ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ บวม น้ำหนักตัวขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ขึ้น การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น
  • ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เช่น repaglinide มีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน สามารถใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียได้ในทุกกรณี ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase inhibitor) ได้แก่ acarbose  มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นิยมใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเสริมยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ได้ทุกกลุ่ม ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ มีลมในท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมกลูโคสที่ไต (SGLT2 inhibitor) ได้แก่ empagliflozin, canagliflozin และ dapagliflozin สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลกลูโคสที่ท่อไตส่วนต้นได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การลดการเสื่อมของไตและลดการเกิดหัวใจล้มเหลวด้วย ผลข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ความดันต่ำ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
  • ยาฉีดกลุ่ม GLP-1 agonist (GLP-1 receptor agonist) ได้แก่ liraglutide สามารถทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น กระเพาะและลำไส้บีบตัวได้น้อยลง ทำให้อิ่มไวและระดับน้ำตาลลดลง ผลข้างเคียงที่สำคัญได้แก่ น้ำหนักตัวลด ท้องอืด
  • ยาฉีดอินซูลิน (Insulin) ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในบางกรณี เช่น กินยารักษาเบาหวานเต็มที่แล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยเบาหวานที่แพ้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน

ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการทานยารักษาเบาหวานบางชนิดข้างต้น  อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ คือทำให้มีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็น หิวข้าว ถ้าเป็นรุนแรง อาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือชักได้ เมื่อเริ่มใช้ยาผู้ป่วยจึงควรระวังอาการในลักษณะดังกล่าว ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการก็ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล ของหวาน หรือลูกอมทันที ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย

ในรายที่เป็นเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy) เกิดจากการที่น้ำตาลคั่งอยู่ในหลอดเลือดฝอยในลูกตา ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ตาเสื่อม ส่งผลให้จอตาเสื่อม ระยะแรกอาจไม่มีอาการ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมาด้วยการมองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นจุดดำลอยไปมา หรือตาบอด เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดฝอยไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดไตวาย (Renal failure)  ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ขา ซีด อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) เมื่อน้ำตาลคั่งในหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในแต่ละอวัยวะ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะดังกล่าวเสื่อม ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า มีความเสี่ยงต่อแผลหายช้า อัมพาตกล้ามเนื้อตา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือเบ่งปัสสาวะไม่ได้ กระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมถึงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ การที่หลอดเลือดหัวใจเสื่อมจากภาวะเบาหวานประกอบกับภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) บางรายมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด ผู้ป่วยหลายกรณีไม่มีอาการล่วงหน้า บางรายอาจมีอาการแบบรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน หรือ หัวใจล้มเหลวฉับพลัน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease/stroke) สูง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าบุคคลปกติ 3 – 5 เท่า โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีกอย่างทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง พูดกระตุกกระตัก สับสนหรือพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว ตาพร่าหรือมืดมองไม่เห็นไปชั่วครู่ กลืนอาหารแล้วสำลักบ่อยๆ เป็นต้น
  • แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการปลายประสาทอักเสบ ภาวะขาดเลือดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ และติดเชื้อง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย เกิดแล้วหายช้า อาจลุกลาม รุนแรง เป็นเนื้อตายจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้งได้ โดยเฉพาะแผลที่เท้า

 

สรุป

  • ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อเจาะตรวจเลือด หรือวางแผนการรักษาตามวันเวลานัด การขาดการจริงจังกับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
  • ห้ามซื้อยารับประทานเอง ทั้งนี้ยาสามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาล ทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงจนอยู่ในระดับผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการและอาจเป็นอันตรายได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูง
  • หมั่นตรวจและดูแลเท้าอย่างละเอียดทุกวัน ระวังไม่ให้มีบาดแผลหรือมีการอักเสบ ถ้ามีแผลที่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรประคบร้อน
  • คนปกติที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรเจาะเพื่อตรวจเบาหวาน โรคตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีพี่น้องเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรตรวจทุกปี โดยหากพบในระยะเริ่มแรกจะได้วางแผนการรักษาแต่เนิ่น
  • ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือหากเป็นโรคอ้วนก็ควรลดน้ำหนัก เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80% ฉะนั้น การควบคุมน้ำหนักจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
  • ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้ ลดคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ลดไขมัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมหวาน ผลไม้รสหวานจัด หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยทำในปริมาณพอ ๆ กันทุกวันและไม่หักโหม ทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด เพราะความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบเร็วขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่

 

แหล่งที่มา

  1. www.mayoclinic.org
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. เบาหวาน. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 473-483
  3. Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes care. 2020;43(Suppl 1):S98-s110.
  4. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. (2560)
  5. www.idf.org

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-เมื่อประจำเดือนมาเร็ว.jpg

การมีประจำเดือนครั้งแรกของสาว ๆ ในด้านหนึ่งอาจทำให้ได้สัมผัสถึงธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงมากขึ้น ในขณะที่อีกด้าน คือ การต้องเรียนรู้ถึงอาการต่าง ๆ ก่อนการมีประจำเดือน หรือที่เรียกว่า “Premenstrual syndrome (PMS)” และอาการปวดท้องประจำเดือนในช่วงนั้น

           

ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การมีประจำเดือนเร็ว หรือก่อนอายุ 12 ปี อาจเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพหลาย ๆ ด้าน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็ว จำเป็นต้องรู้เท่าทันกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

 

ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป นั่นเป็นเพราะการเป็นสาวเร็วนั้น มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม

 

ความเสี่ยงต่อการเข้าสู่วัยทองก่อนช่วงวัยปกติ

ข้อมูลจากงานวิจัย ตีพิมพ์ในวารสารที่เกี่ยวกับประจำเดือน ปี 2560 พบว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนในช่วงอายุ 11 ปี หรือน้อยกว่านั้น มีความเสี่ยงสูงถึง 80 % ในการเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ขณะที่มีความเสี่ยงสูงถึง 30% ในการเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุ 40 – 44 ปี เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงระหว่างอายุ 12 – 13 ปี

 

ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

มีรายงานพบว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงก่อนอายุ 12 ปี มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ มากกว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่อ้วน ปริมาณเซลล์ไขมันที่มีอยู่มาก อาจส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และการมีประจำเดือน

 

ความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน

จากข้อมูลก่อนหน้าประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติ อาจชักนำให้เข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ นำมาซึ่งความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุนมีหลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกายเพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทานแคลเซียม และทานวิตามินดี และยิ่งร่างกายสามารถสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้มากขึ้น ก็จะสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้นตามไปด้วย

 

ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่

มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนอายุ 14 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 51 ทั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยเช่นกัน

 

ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่ผู้หญิงมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ความสัมพันธ์อาจเกิดจากไขมันสะสมในร่างกาย เหนี่ยวนำให้มีประจำเดือนที่เร็ว และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย

 

ความเสี่ยงต่อภาวะการมีบุตรยาก

ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ มีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ลดลง อธิบายง่าย ๆ ก็คือ มีไข่ (Ovarian) ที่พร้อมในการปฏิสนธิน้อยลง  เรื่องนี้อาจต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อวางแผนการแก้ไขหากจำเป็น

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ   
แหล่งข้อมูล: www.womenshealthmag.com
ภาพประกอบ: www.istockphoto.com


-ภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว-h2c.jpg

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว ซึ่งในปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไป มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูงมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้พบผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ในร่างกาย อยู่ในช่องท้องบริเวณด้านบนขวาใต้ซี่โครง ตับมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่

จะเห็นได้ว่าตับมีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานในร่างกายคนเราเป็นอย่างมาก และเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หากได้รับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ ยา แอลกอฮอล์ สารเคมีหรือสารพิษต่าง ๆ รวมถึงไขมันที่มากเกินไป ตับก็อาจเกิดปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง ไขมันพอกตับ หรือมะเร็งตับ

 

ไขมันพอกตับ 

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับเป็นจำนวนมาก โดยไขมันส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งมาจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ คือ

  • จากแอลกอฮอล์
  • ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญที่สุดคือ การรับประทานอาหารจำพวกอาหารมัน อาหารหวาน หรืออาหารคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาหารเหล่านี้จะไปเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ในตับ เมื่อร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ก็จะเกิดการสะสมขึ้นที่ตับในที่สุด

พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้มากขึ้น อาทิ ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกิน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคต่าง ๆ ของตับเอง เช่น ไวรัสตับอักเสบ การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อตับ ภาวะเหล็กเกินในตับ เป็นต้น ทั้งนี้ หากต้องการทราบว่าตัวเราเองมีความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ อาจพิจารณาได้จาก

  • รอบเอว ในผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
  • น้ำตาลในเลือด ซึ่งสูงมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันชนิดดีหรือ HDL cholesterol ต่ำ (โดยปกติแล้วค่า HDL cholesterol ยิ่งสูงยิ่งดี ในผู้ชายควรมีค่า HDL cholesterol มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และในผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • ความดันโลหิตสูง นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นให้มีไขมันพอกตับมากขึ้นด้วย

โดยทั่วไปแล้วภาวะไขมันพอกตับจะมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เปรียบเสมือนภัยเงียบที่ค่อย ๆ ทำร้ายร่างกายเราโดยไม่รู้ตัว โดยมากผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจึงไม่มีอาการแสดง มักทราบว่ามีความผิดปกติก็เมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาตรวจร่างกายด้วย ปัญหาอื่น ยกเว้นในกรณีที่โรคเริ่มดำเนินไปจนเกิดภาวะตับอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติได้ ทั้งนี้ ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับพบว่า มีปัญหาตับอักเสบ 10 – 20% ซึ่งเมื่อไรที่มีตับอักเสบก็จะมีความเสี่ยงของตับแข็งและมะเร็งตับตามมา ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจึงไม่ควรละเลยการรักษาและการดูแลตนเอง

สำหรับการรักษาภาวะไขมันพอกตับ ขึ้นกับระยะของโรคว่าอยู่ในระยะใด ซึ่งการรักษาภาวะไขมันเกาะตับในระยะที่ยังไม่มีการอักเสบจะแตกต่างจากระยะ ที่มีตับอักเสบหรือตับแข็งแล้ว โดยทั่วไปการรักษาภาวะไขมันเกาะตับที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงการแก้ไขต้นเหตุของความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ความดันโลหิตสูง ส่วนการใช้ยาในการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับ และผู้ที่ต้องการป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับ

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ถูกสัดส่วน คือ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น รับประทานอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และน้ำตาลให้น้อยลง
  • ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากการลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์มากสำหรับการ รักษาภาวะไขมันพอกตับ พบว่า ถ้าลดน้ำหนักลงได้ 5 – 10% จะทำให้ภาวะไขมันในตับลดลง และถ้าน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% จะทำให้การอักเสบของตับซึ่งเกิดจากภาวะไขมันพอกตับดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป การลดน้ำหนักที่เหมาะสมจะต้องค่อย ๆ ลด โดยมีเป้าหมายคือ 5-1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคตับอยู่แล้วควรตรวจดูว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันป้องกัน ไวรัสตับอักเสบหรือไม่ หากไม่มีควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจดูค่าการทำงานของตับและปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.พวงเพ็ญ สิริสุวรรณทัศน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ.(2010).
แหล่งที่มา : https://www.bumrungrad.com/healthspot/July-2015/fatty-liver-disease
ภาพประกอบจาก : www.bumrungrad.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก