ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-เรื่องมะเร็งเต้านม-edit.jpg

คำถามที่พบบ่อยเรื่องมะเร็งเต้านม ผู้หญิงอายุเท่าไหร่จึงควรจะเริ่มทำแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นคำถามที่พบบ่อยเรื่องมะเร็งเต้านม จึงแนะนำว่าให้เริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และทำอีกทุก 2 – 3 ปี จนเมื่ออายุ 40 ปีแล้วให้ทำทุกปี และอายุ 50 ปีขึ้นไปให้ทำทุก 1 – 2 ปี

 

ผู้หญิงอายุเท่าไหร่จึงควรจะเริ่มทำแมมโมแกรม (Mammogram)

ผู้หญิงแนะนำว่าให้เริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และทำอีกทุก 2 – 3 ปี จนเมื่ออายุ 40 ปี แล้วให้ทำทุกปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้ทำทุก 1 – 2 ปี เพราะจากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เริ่มพบ มากตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป

 

อาการเจ็บเต้านมเกิดจากมะเร็งเต้านมใช่หรือไม่

มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นไม่มีอาการเจ็บ แต่แนะนำให้พบแพทย์ถ้ามีอาการเจ็บเต้านม โดยเฉพาะคลำก้อนได้

 

การใส่เสื้อยกทรงที่มีขอบโลหะเสริมจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่

ไม่เกี่ยวข้องกัน ในสหรัฐอเมริกาก็มีการยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน

 

ถ้ามีก้อนเนื้อเล็ก ๆ ที่เต้านม แพทย์ตรวจแล้วบอกว่าเป็นก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดา ควรทำอย่างไร

ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทาง การแพทย์แล้วก็ให้เชื่อตามนั้น แต่ต้องตรวจด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบความเปลี่ยนแปลงต้องพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง

 

ถ้าผ่าตัดเต้านมจากการเป็นมะเร็งเต้านมไปแล้วข้างหนึ่ง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่งหรือไม่

มีโอกาสเป็นได้ จึงควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทุกเดือน และตรวจด้วย Mammogram เป็นประจำทุกปี

 

ผู้หญิงที่ถูกสามีจับเต้านมบ่อย ๆ จะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่

การถูกจับบ่อย ๆ หรือมีการเจ็บ หรือถูกกระแทกอย่างแรง ไม่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

 

การมีนํ้าหรือของเหลวไหลออกจากหัวนมเป็นอาการอย่างหนึ่งของมะเร็งเต้านมหรือไม่

อาจใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

ทานยาคุมกำเนิดชนิดหนึ่งแล้วเปลี่ยนเป็นอีกชนิดหนึ่ง การเปลี่ยนชนิดของยาคุมกำเนิด ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่

ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและระยะเวลาที่กิน แต่ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว อาจทำให้โต เร็วขึ้น

 

อาการคันหัวนมเกิดจากสาเหตุอะไร

อาการคันหัวนมเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อ การแพ้หรืออาจจะเกิดจากมะเร็ง ได้ด้วย ในกรณีหัวนมเปลี่ยนสี และมีแผลร่วมด้วยให้รีบปรึกษาแพทย์

 

มะเร็งเต้านมพบในหญิงอายุน้อยที่สุด และอายุมากที่สุดเท่าไร

พบในผู้หญิงอายุน้อยที่สุด 15 ปี (เท่าที่พบจากรายงาน) และพบในหญิงอายุมากที่สุด 90 ปี

 

มะเร็งเต้านมพบได้มากในช่วงอายุเท่าไร

จากสถิติของศูนย์ถันยรักษ์จะพบมากในช่วงอายุ 40 – 49 ปี = 41% อายุต่ำกว่า 39 ปี มี 18.6%

การบีบเต้านมขณะที่เอกซเรย์เต้านม (Mammogram) จะทำให้ก้อนที่มีอยู่ในเต้านมนั้น แตกหรือไม่

ไม่แตก มีบทความงานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันได้

 

อาการของมะเร็งเต้านมในระยะแรกมีอาการอย่างไรบ้าง

ระยะแรกไม่มีอาการ คลำก้อนไม่ได้ หากคลำก้อนได้ ถ้าตรวจแล้วเป็นมะเร็งจริง แสดงว่าเป็นมาประมาณ 2 – 3 ปีแล้ว

 

ถ้าคลำพบก้อนในเต้านมและแพทย์บอกว่าเป็นถุงนํ้า ถ้าไม่เจาะเอานํ้าออกจะมีอันตรายหรือไม่

ถ้าเป็นถุงนํ้าไม่ต้องทำอะไร แต่จะเจาะเอานํ้าออกในกรณีที่รู้สึกเจ็บ หรือผู้มาตรวจรำคาญ

 

หินปูนที่พบในเต้านมเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือยาที่มีแคลเซียมมากเกินไปใช่หรือไม่

หินปูนไม่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร แต่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเนื้อในเต้านมเอง

 

ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมการรักษาต้องตัดเต้านมออกหมดเสมอไปหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมด ถ้าพบมะเร็งที่ขนาดเล็ก หรือคลำไม่ได้ (ซึ่งพบได้ โดยตรวจ Mammogram เท่านั้น) ก็ตัดเฉพาะก้อนเนื้อร้ายออก ถ้ายังไม่กระจายไปต่อมนํ้าเหลือง ก็ไม่ต้องรักษาอะไรเพิ่ม ทั้งนี้แพทย์จะดำเนินการตามขั้นตอน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: คู่มือการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข ในการดูแลและเฝ้าระวังสตรีไทยจากมะเร็งเต้านม.(2009).
คำถามที่พบบ่อย เรื่องมะเร็งเต้านม.
แหล่งที่มา: www.thaibreastcancer.com
ภาพประกอบจาก: http://www.phyathai.com


-เรื่องน่ารู้ของผู้หญิง-h2c.jpg

หากคุณผู้หญิงมีอาการปวดเต้านม รู้สึกปวดตุบ ๆ เจ็บแน่น  บวม หรือแสบร้อน มันก็ไม่แปลกที่จะฉุกคิดและสงสัย ว่าอาการที่กำลังเป็นอยู่นั้นมันเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือเป็นแค่การเจ็บป่วยธรรมดา

 

การหมั่นติดตามและคอยเฝ้าสังเกตอาการปวดเต้านม (Mastalgia) จะช่วยให้คุณผู้หญิงสามารถจำแนกอาการที่กำลังเป็นออกในเบื้องต้น บทความนี้ได้คัดเลือกหัวข้อใหญ่ ๆ ของอาการปวดเต้านมที่พบบ่อย

 

ปวดเต้านมแบบที่สัมพันธ์กับประจำเดือน

อาการปวดแบบนี้จะสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน (Cyclical Breast Pain) โดยขณะที่มีการตกไข่ (Ovulation) ฮอร์โมนในเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงทั้งช่วงก่อน และหลังการตกไข่ จึงทำให้คุณรู้สึกปวดบริเวณเต้านม ลักษณะของการปวดเป็น ดังนี้

• รู้สึกปวด ๆ ตึง ๆ บริเวณเต้านม
• รู้สึกหน้าอกบวมขึ้น
• รู้สึกเจ็บเต้านมเมื่อถูกสัมผัส บางครั้งอาจจะเจ็บใต้รักแร้ร่วมด้วย
• คุณจะรู้สึกปวดบริเวณเต้านมประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนที่ประจำเดือนจะมา และจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากนั้น
• อาการปวดเหล่านี้ จะมีเมื่อคุณอยู่ในวัยที่มีประจำเดือนหรือวัยที่ใกล้หมดประจำเดือนเช่นกัน

เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แพทย์อาจแนะนำให้คุณทานยาคุม งดกินคาเฟอีน หรือทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการในช่วงดังกล่าว

 

ปวดเต้านมจากระดับของฮอร์โมน

อาการปวดเต้านมนั้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระดับของฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายของคนเรา แพทย์ยังไม่แน่ใจถึงกลไกที่ก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณเต้านม โดยการปวดสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ แต่ช่วงเวลาที่พบบ่อย คือ

• ช่วงย่างเข้าสู่วัยรุ่น
• ช่วงมีประจำเดือน หรือกำลังตั้งครรภ์
• ช่วงที่ให้นม บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำนม เป็นเต้านมอักเสบ อาการนี้จำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อรับยาปฎิชีวนะ
• ช่วงหมดประจำเดือน

 

ปวดเต้านมจากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Fibrocystic Breast Changes)

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเต้านม พบสูงถึง 80% ของก้อนที่เต้านมทั้งหมด โดยเป็นภาวะที่พังผืด ต่อมและท่อน้ำนมมีปฏิกิริยาจากการกระตุ้นของฮอร์โมนระหว่างการตกไข่มากเกินไป ทำให้เกิดพังผืดเกาะตัวและมีถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมากปะปนอยู่ อาการโดยรวมจะมีก้อนโตขึ้นและเจ็บเต้านมก่อนจะมีประจำเดือน แล้วค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อประจำเดือนหมด

อาการเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้คุณรู้สึกปวดเต้านม ซึ่งไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ตามกรณีที่มีเนื้องอกที่เต้านม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย วางแผนการดูแลที่ถูกต้องต่อไป

 

ปวดเต้านมจากความไม่สมดุลของกรดไขมัน

กรดไขมัน (Fatty acid) พบได้ในน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ เมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่สมดุลของกรดไขมัน ภายในเซลล์ เต้านมของคุณจะไวต่อฮอร์โมนมากขึ้น และตามาด้วยอาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวด ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อคุณเห็นว่าจำเป็น

 

ปวดเต้านมแบบที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน

อาการปวดเต้านมสามารถมาจากเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประจำเดือน (Noncyclical Breast Pain) ได้ โดยดูได้จากอาการต่างๆ เช่น อาการปวดมีความรุนแรงกว่าปรกติ เจ็บแปลบ แสบร้อน แน่น หรืออาการปวดแบบไม่เฉพาะเจาะจง ปวดบริเวณจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ หรือการปวดเต้านมทั้งๆที่คุณหมดประจำเดือนแล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันที

 

อาการปวดภายนอกเต้านม

บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนปวดเต้านม แต่ความจริงแล้วสาเหตุอาจไม่ใช่เต้านม โดยมาจากส่วนอื่นๆที่อยู่ภายนอก ที่พบบ่อยเช่น เจ็บผนังอก (Chest wall pain) หรือเจ็บกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างใต้หรือรอบ ๆหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากการที่คุณยกของหนัก เล่นเวท เทรนนิ่ง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเกิดการอักเสบได้เช่นกัน โดยปรกติแล้วอาการปวดในลักษณะนี้จะดีขึ้นได้ด้วยการพักผ่อน หรือทานยาในกรณีที่จำเป็น

 

ปวดเต้านมจากการติดเชื้อ

ส่วนใหญ่เต้านมอักเสบ (Mastitis) มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม เต้านมอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเสื้อผ้าของคุณสกปรก และเสียดสีกับหัวนมมากจนเกิดแผลถลอก สามารถนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียได้

 

ปวดเต้านมจากแผลผ่าตัด

ถ้าคุณเคยมีบาดแผลหรือร่องรอยจากการบาดเจ็บต่าง ๆ บริเวณเต้านมของคุณ เช่น แผลจากการผ่าตัด หรือการปลูกถ่ายต่าง ๆ ก็สามารถทำให้คุณมีอาการปวดเต้านมขึ้นมาได้

 

ปวดเต้านมจากผลข้างเคียงของยา

ยาหลาย ๆ ชนิดมีผลข้างเคียง (Side effect) ต่อฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้เกิดอาการปวดเต้านมขึ้นได้ ยารักษาโรคหัวใจและยาที่ใช้สำหรับอาการทางจิตก็รวมอยู่ด้วยเช่นกัน

 

ปวดเต้านมเกี่ยวเนื่องกับบราที่สวม

การใส่บราผิดขนาด ผิดไซส์ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่ ความหนักของเต้านม อาจทำให้รู้สึกเจ็บตึงที่หลัง คอ และไหล่ การเลือกบราที่เหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง หรือการเล่นกีฬา ก็จะมีบราที่เฉพาะสำหรับการเล่นกีฬาแต่ละประเภท ซึ่งถ้าเลือกได้ถูกต้องแล้วก็จะสามารถลดอาการปวดที่เกิดขึ้นได้

 

รู้จักอาการปวดเต้านมที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ กันไปแล้ว หากยังคงกังวลหรือไม่แน่ใจ การไปพบแพทย์จัดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่ง

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.webmd.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


-1.jpg

อายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงกังวล เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรวงอก ที่ไม่มีใครอยากให้หย่อนยานกลายเป็นถุงกาแฟ หรือเกิดความผิดปกติใด ๆ

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจัยที่ทำให้หน้าอกเปลี่ยนแปลง มีหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดหรือให้นมบุตร และการก้าวสู่ช่วงวัยทอง เรียกได้ว่าหน้าอกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทุกปี! ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย และเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ลองมาฟังคำแนะนำ ที่รวบรวมมาให้คุณดูแลตามวัยกันค่ะ

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 30

ผู้หญิงวัยนี้ ยังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาวะฮอร์โมนในร่างกาย ยังทำงานเป็นปกติ หน้าอกจึงยังไม่หย่อนคล้อย การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้หน้าอกใหญ่ขึ้น แต่หลังจากคลอดและให้นมบุตร หน้าอกจะเล็กลงประมาณครึ่ง-1 คัพ เนื่องจากต่อมน้ำนมในหน้าอกทำงาน และหดตัวลงตามธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า หญิงที่เลี้ยงดูให้นมบุตรหลังอายุ 25 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ส่วนคนโสดมักมีปัญหาหน้าอกทั่วไป นั่นคือ เจ็บหรือคัดตึงหน้าอก การคลำเจอก้อนถุงน้ำ หรือซีสต์ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้น ก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ที่ไม่ส่งผลต่อร้ายสุขภาพ และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ถุงน้ำมีโอกาสยุบหายได้เอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรให้แพทย์วินิจฉัย และติดตามว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือไม่
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท สาว ๆ ตั้งแต่วัย 25 ปีขึ้นไป ว่าควรทำการตรวจเต้านมตนเองทุก ๆ 1 – 2 เดือน แม้ว่าวัยนี้จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ไม่มีโอกาสเป็น เพราะถ้าตรวจคัดกรองดี ก็จะรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้

สมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ASC) ยังแนะนำให้หญิงที่มีพ่อแม่ หรือพี่น้องซึ่งเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ตรวจ Mammogram ก่อนช่วงอายุเดียวกันของคนในครอบครัว ที่ตรวจพบมะเร็ง 10 ปี เช่น ถ้าแม่เป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรได้รับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจโดยการเอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติการเกิดโรคในครอบครัว และความเหมาะสมของแต่ละคน 

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังการมีประจำเดือน 7 – 10 วัน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ความผิดปกติทุก 3 ปี
  • ตรวจ Mammogram ตามความจำเป็นของปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 40

หน้าอกของหญิงวัยนี้จะมีความหย่อนคล้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากต่อมไขมันในเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มวลน้ำหนักมากขึ้น และคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก

ส่วนความผิดปกติของเต้านมของหญิงวัยนี้ คงไม่แตกต่างอะไรจากกลุ่มวัย 30 นั่นคือ อาจคลำเจอถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา ที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้นตาม

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พบว่า หญิงอายุ 40 – 49 ปี เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 34.3% ทำให้การตรวจคัดกรองในช่วงอายุนี้ ต้องละเอียดและเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกปี โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่อาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน

แม้ว่าจะมีงานวิจัยอ้างว่า การรับประทานฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันหลายปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อย ลงความเห็นให้รับประทานต่อไป เพราะมันสามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลา ของการรับประทานฮอร์โมนทดแทน ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำคุณ ซึ่งแพทย์ก็มักจะแนะนำ ให้คุณหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเองทุกเดือน และทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงประมาณ 80 – 90% จะตรวจพบความผิดปกติได้เอง
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับบุคลิกภาพให้ดี และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย พยายามนั่งตัวตรง แอ่นหน้าอก และเน้นบริหารหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเต้านมจะประกอบด้วยไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ทำให้กลับไปเต่งตึงหรือกระชับดังเดิมได้ยาก แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงก็ยังช่วยให้ดูกระชับมากขึ้นได้

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 50 ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน มีผลทำให้ต่อมไขมันและเนื้อเยื่อเต้านมไม่ตึงตัว หน้าอกของหญิงวัยนี้ จึงมีสภาวะหย่อนคล้อย และผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของหญิงกลุ่มนี้ มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 40 – 49 ปี นั่นคือ ประมาณ 27% แต่การทำแมมโมแกรมของหญิงวัยนี้ น่าจะทำได้สะดวกกว่าหญิงอายุน้อย เพราะสภาพเต้านมมีความยืดหยุ่นจากไขมันมากขึ้น อำนวยให้เครื่องสามารถตรวจสอบ หาความผิดปกติได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หญิงวัยนี้พึงทำควบคู่กับการดูแลทรวงอกให้มีสุขภาพดี คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหลังวัยทอง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อไม่เต่งตึง และทำให้ไขมันสะสมตามเอว หน้าท้อง สะโพกและต้นขาได้ง่าย

จากการวิจัยของสาธารณสุขการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ผู้หญิงที่เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ต่ำกว่าคนที่รับประทานตามใจปาก ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 มีใยอาหาร และหมั่นออกกำลังกายควบคู่กัน สามารถป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

คำแนะนำทั่วไป

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย บริหารหน้าอกด้วยการยกดัมเบลล์ เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าทั้งสอง ข้างขึ้น แขนทั้งสองยกดัมเบลล์ขึ้นชูเหนือระดับหน้าอก หายใจออก และลดระดับแขนจนข้อศอกตั้งฉากกับหัวไหล่ นับ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 8 – 12 ครั้ง 3 เซต

 

Tips การดูแลหน้าอกหลังผ่าตัด

สำหรับหญิงที่ได้รับการผ่าตัดหน้าอก เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายบริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยาง ขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2 – 3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา และเมื่อแผลหายดี ให้พยายามหลีกเลี่ยง

  • การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การเจาะเลือด หรือวัดความดันข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การสวมเสื้อที่มีแขนรัด หรือสวมกำไลข้อมือ นาฬิกาหรือแหวน ที่รัดนิ้วหรือแขนข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.majiciristhaiherbs.com.(2009).ดูแลเต้านมให้สุขภาพดีทุกวัย.4 พฤษภาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.majiciristhaiherbs.com
ภาพประกอบจาก: www.yourhealthyguide.com


-เรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง.jpg

การดูแลเต้านมของสาว ๆ ให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะการตรวจหาความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ลักษณะของเต้านมไม่ได้เหมือนกันตลอดเวลา บางครั้งการสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิด เกิดความกังวลมากเกินไป ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงของเต้านมบางอย่าง กลับเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย การตื่นตัวให้ความสำคัญและรีบไปพบแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น การรู้จักเต้านมมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

เต้านมแบบไหนปกติ…แบบไหนที่ผิดปกติ

จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านม อาจทำให้คุณกังวลได้ แต่บางครั้งสิ่งที่คุณกังวลกลับเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นกับเต้านมของทุกคน ตัวอย่างเช่น

  • เต้านมของคุณมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย
  • เต้านมข้างหนึ่งห้อยต่ำกว่าอีกข้างหนึ่งเล็กน้อย
  • มีขนรอบหัวนมของคุณ
  • คุณรู้สึกเจ็บเต้านม หรือรู้สึกว่าเต้านมนิ่มขึ้น ช่วงก่อนและระหว่างช่วงเวลาการมีประจำเดือน

 

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณสังเกตเต้านมของคุณมีอาการ หรือการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดทันที

  • เต้านมมีก้อนแข็งที่คุณไม่เคยรู้สึกมาก่อน
  • มีอาการบวมบริเวณหน้าอก บริเวณกระดูกไหปลาร้า หรือรักแร้
  • ผิวหนังแห้ง แตกออกเป็นผื่นแดง หรือผิวหนังหนาขึ้น เหมือนเปลือกส้ม บริเวณรอบ ๆ หัวนม
  • เลือด หรือของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
  • มีอาการคันที่หน้าอก
  • หัวนมจมเข้าไปในเต้า โดยก่อนหน้าหัวนมยื่นออกเป็นปกติ

 

ทั้งนี้อาการดังที่กล่าวมา ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นอาการที่เป็นอันตรายแต่อย่างเดียว ในความเป็นจริงมันอาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เช่น คันระคายเคืองจากเนื้อผ้า หรือความรัดของเสื้อที่สวม หรือจากการติดเชื้อบางชนิดที่พบได้ทั่วไป จนกระทั่งถึงเรื่องของมะเร็งเต้านม ซึ่งต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวางแผนการรักษาอย่างรีบด่วน

 

รู้ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเคยเลือกใช้ยาคุมกำเนิด รวมถึงครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเมื่อคุณเข้าพบแพทย์ ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงด้วยทุกครั้ง

 

เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะตั้งครรภ์และช่วงให้นม

โดยธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีเต้านมขนาดใหญ่และมีความนุ่มมาก ส่วนบริเวณหัวนมจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มองเห็นเส้นเลือดชัดมาก ขณะที่เนื้อเยื่อเต้านมจะเป็นก้อนคลำได้ ช่วงเวลานี้ซีสต์ หรือถุงน้ำ และเนื้องอกอาจเกิดขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ดี หากคุณมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ชัดกับอาการ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงในวัย 40 อัพ 

ในวัย 40 อัพ ต่อมน้ำนมจะลดขนาดลง และอาจถูกแทนที่ด้วยชั้นไขมันใต้ผิวหนังซึ่งอาจทำให้ขนาดของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ วัยที่เพิ่มขึ้นความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดล่าช้าหลังอายุ 55 ปี ดังนั้น คุณควรปรึกษาและเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการโดยผู้หญิงวัยตั้งแต่ 45 – 74 ปี ควรตรวจทุก 1 – 2 ปี

 

การมีนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งจำเป็นในทุกช่วงอายุ

คุณสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ หากคุณลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือไม่เกินวันละแก้ว หรือหากคุณยังมีนิสัยสูบบุหรี่ก็ให้เลิกสูบทันที  และรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมกับวัยและอายุ และที่สำคัญ คือ ต้องออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ รวมถึงการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่อย่างสม่ำเสมอ

 

มันไม่เร็วเกินไป ที่จะเริ่มคิดถึงวิธีการดูแลเต้านมให้มีสุขภาพดีได้ตลอดทั้งชีวิต  และมันก็ไม่เคยสายเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ให้เกิดขึ้น

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.webmd.com
ภาพประกอบ: www.shutterstock.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก