ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ปัจจุบันวิธีการผลิตวัคซีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อาจแบ่งวิธีการผลิตตามเทคโนโลยีการผลิต antigen ได้เป็น 4 วิธี คือ

 

1. First generation vaccine production

เป็นการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม (conventional method) ที่ใช้การผลิตวัคซีนทั่ว ๆ ไป ได้แก่

  • Killed vaccine หรือ Inactivated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคมาทำให้ตาย เช่น วัคซีนไทฟอยด์ อหิวาต์ ไอกรน โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด เป็นต้น
  • Live attenuated vaccine Antigen ได้จากการนำเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค มาทำให้อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน และวัคซีนไข้เหลือง เป็นต้น
  • Toxoid Antigen ได้จากการทำให้ toxin ที่ตัวเชื้อก่อโรคสร้างขึ้นหมดความเป็นพิษลง เช่น ท๊อกซอยด์บาดทะยัก และท๊อกซอยด์คอตีบ เป็นต้น
  • Subunit Vaccine Antigen ได้จากการแยกชิ้นส่วนของเชื้อก่อโรคตามธรรมชาติ เช่น plasma-derived hepatitis B vaccine ได้จากการนำส่วน HBsAg ของ hepatitis B virus หรือการนำส่วน polysaccharide ของเชื้อ meningococcus และเชื้อ pneumococcus มาผลิตเป็น meningococcal vaccine และ pneumococcal vaccine

 

2. Second generation vaccine production Antigen

เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งได้จากการผลิตในสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยความรู้ด้าน molecular biology และ recombinant DNA tecnology เช่น yeast-derived recombinant hepatitis B vaccine

 

3. Third generation vaccine production

Antigen เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งผลิตในหลอดทดลอง โดยขบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

4. Forth generation vaccine production Antigen

เป็น DNA ของเชื้อโรคที่ควบคุมการสร้างโปรตีน ที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เรียกวัคซีนประเภทนี้ว่า nucleic acid vaccine หรือ DNA vaccine วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน.22 ธันวาคม 2557.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.thaicancerj.wordpress.com


-และสารต้านอนุมูลอิสระ-1.jpg

อนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ (Free radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุล ที่มีอิเล็กตรอนไม่เป็นคู่ (unpaired electron) อย่างน้อย 1 ตัวโคจรรอบวงนอกสุด ซึ่งอะตอมหรือโมเลกุลประเภทนี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการต่าง ๆในการดำรงชีวิต ทั้งจากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น การเผาผลาญอาหาร กระบวนการสร้างพลังงาน การหายใจระดับเซลล์ กลไกการป้องกันตัวเองของร่างกายจากเชื้อโรค และปัจจัยภายนอก เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสกับแสงแดด การสัมผัสรังสี การรับประทานอาหารที่มีน้ำมัน อาหารปิ้ง ย่าง เผาที่ไหม้ เป็นต้น

 

สารต้านอนุมูลอิสระ

ร่างกาย มีการป้องกันการสะสมของอนุมูลอิสระ อยู่ 2 วิธี  วิธีแรก จากการที่ร่างกาย มีการสร้างเอนไซม์หรือกลไก เช่น เอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant enzymes) ขึ้นมาควบคุม โดยเป็นกลไกในการเปลี่ยนอนุมูลอิสระ ให้กลายเป็นน้ำ วิธีที่สอง การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารที่รับประทาน เช่น วิตามินอี เบ้ตาแคโรทีน แอนโทไซยานิดิน (Anthrocyanidin) สารประกอบโฟลีฟีนอล รวมถึงโคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) เป็นต้น

 

ผลเสียกรณีไม่สมดุล

ปริมาณอนุมูลอิสระ ที่สมดุล มีส่วนช่วยทำลายสิ่งแปลกปลอม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในกรณีเกิดความไม่สมดุลระหว่างการเกิดกับการกำจัดหรือการป้องกันการสะสมของอนุมูลอิสระ เช่น ร่างกายต้องสัมผัสแดดเป็นประจำ พฤติกรรมรับประทานอาหารปิ้งจนไหม้ หรือเจ็บป่วย ชรา จนกลไกการป้องกันเสื่อมลง ทำให้มีการสะสมของสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้น จนกลายเป็นสารพิษที่สามารถทำร้ายร่างกาย โดยทำให้ร่างกาย มีความเสี่ยงจากการที่เนื้อเยื่อต่าง ๆ เยื่อหุ้มเซลล์ รวมถึง DNA ถูกทำลาย และนำไปสู่โรคในหลายระบบ เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคทางสมองและระบบประสาท เช่น Parkinson และ Alzheimer โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ มะเร็ง รวมถึงความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ความยืดหยุ่นของผิวหนัง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ

แหล่งข้อมูล :
  1. ผศ. ดร. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์. ศ. เกียรติคุณ ดร. นิธิยา รัตนาปนนท์. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. “อนุมูลอิสระ” (ระบบออนไลน์) แหล่งที่มา : pharm.swu.ac.th (15 กุมภาพันธ์ 2561)
  2. ดร. อธิป สกุลเผือก. “อนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ” (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา : ccpe.pharmacycouncil.org (15 กุมภาพันธ์ 2561)
  3. แหล่งที่มา : dna.kps.ku.ac.th (15 กุมภาพันธ์ 2561)
.

ภาพประกอบจาก :www.yourhealthsupport.in

 


-เชื้อโรค-Pathogen-25.jpg

ว่าด้วยเรื่อง เชื้อโรค (Pathogen) หรือต (Infectious agent) โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Microorganism) เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก่อให้ความเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือเกิดโรคขึ้น  

 

การแบ่งกลุ่มเชื้อโรค

ว่าด้วยเรื่อง เชื้อโรค มีอยู่มากมายเป็นหมื่น ๆ ชนิด สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 6 กลุ่ม คือ

 

แบคทีเรีย (Bacteria)

เป็นเชื้อโรคขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามผนังเซลล์ แบ่งตามลักษณะรูปร่าง เป็น รูปร่างกลม (Cocci) รูปร่างแท่ง (Bacilli) รูปร่างเกลียว (Spirochetes) หรือแบ่งตามความต้องการและไม่ต้องการใช้ Oxygen เป็นต้น

ทั้งนี้พบว่ามีแบคทีเรียมากมายหลายชนิด ที่ไม่ก่อโรคในสิ่งแวดล้อม และหลายชนิดก็อาศัยอยู่ในบางส่วนของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยไม่ก่อโรค

การติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะทำให้เกิด หนอง ฝี ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ฝี พุพอง แผลเป็นหนอง หูน้ำหนวก กุ้งยิง ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) วัณโรค ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) ฝีในสมอง ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) อหิวาต์ หนองใน ซิฟิลิส เป็นต้น ทั้งนี้โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

 

ไวรัส (Virus)

เป็นเชื้อโรคขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย ไม่สามารถมองเห็นได้จากการดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศอิเลคตรอน ซึ่งมีกำลังขยายตั้งแต่ 5,000 เท่าขึ้นไป เซลล์ของไวรัสจะต่างจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น โดยเป็น DNA RNA ที่มีปลอกหุ้ม และไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอยู่

โดยเมื่ออยู่นอกเซลล์ ไวรัสจะไม่มีการแบ่งตัว ไม่มีการเคลื่อนไหวแต่เมื่ออยู่ภายในเซลล์ เช่น เซลล์ของมนุษย์ ไวรัสจะสามารถแบ่งตัว ขยายจำนวน จนรบกวนหรือทำลายการทำงานของเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เมื่อเซลล์นั้นตาย ไวรัสจะเคลื่อนเข้าสู่เซลล์ข้างเคียงต่อ ๆ ไป

เมื่อเซลล์ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก จะก่อให้เกิดอาการของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ทำลายเซลล์ประสาท ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หมดสติ และเสียชีวิต

โรคจากเชื้อไวรัสที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม อีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน ไข้เลือดออก ตับอักเสบ (ไวรัสลงตับหรือดีซ่าน) โปลิโอ สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ) เริม งูสวัด หูด หงอนไก่ รวมทั้ง โรคเอดส์ โรคที่เกิดจากไวรัส ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ รวมทั้งยาปฏิชีวนะก็ใช้ไม่ได้ผล (มิหนำซ้ำกลับมีโทษถ้าใช้ผิด ๆ) การรักษา เพียงแต่ให้ยาแก้ตามอาการ รอให้ร่างกายฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าร่างกาย อ่อนแอก็อาจมีโรคแทรกซ้อน พิการหรือตายได้

 

เชื้อรา (Fungus)

ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ โดยมีทั้งที่ให้คุณและที่ให้โทษต่อมนุษย์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ สำหรับเชื้อราที่ก่อโรคในมนุษย์ได้นั้นมีอยู่ประมาณ 175 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นชนิดที่ก่อโรคขึ้นต่ออวัยวะภายในโดยตรงเสีย 20 สายพันธุ์

ส่วนที่เหลือเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคขึ้นที่ผิวหนังโรคเชื้อรา (mycosis) จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น โรคไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดาย ดังเช่น โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าโรคเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นปัญหาตามมาภายหลังอีกมาก เช่น ความเรื้อรังและอาการรุนแรงของโรค หรือการรักษาซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อน

โรคจากเชื้อราที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง (กลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุต ลิ้นเป็นฝ้าขาว) หรือ ตกขาว แต่บางชนิดอาจเข้าไปทำให้มีการอักเสบในปอดหรือสมอง เป็นอันตรายถึงตายได้ ในปัจจุบันมียาที่ใช้ฆ่าเชื้อราโดยเฉพาะ

 

 

เชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia)

เป็นจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคที่มีลักษณะกึ่งพืชกึ่งสัตว์และมี ขนาดเล็กกว่าเชื้อแบคทีเรียแต่ใหญ่กว่าเชื้อไวรัส มีสภาพกึ่งแบคทีเรีย กึ่งไวรัส คือมีรูปร่างได้ หลายอย่างเหมือนแบคทีเรีย แต่ต้องอาศัยเจริญเติบโตในเซลล์ (Cell) ที่มีชีวิต เชื้อริกเกตเชียสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ มักอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น เห็บ เหา หมัด เป็นต้น โรคที่เกิดจากริกเกตเชีย ได้แก่ ไข้รากสาดใหญ่ หรือไทฟัส โรคนี้สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

 

เชื้อโปรโตซัว (Protozoa)

เป็นจุลินทรีย์หรือเชื้อโรค ซึ่งมีความสามารถสูงและคุณสมบัติในการดำรงชีพเหมือนสัตว์หลายเซลล์ โดยมีระบบต่าง ๆ ภายในตัวเองอย่างสมบูรณ์ เช่น การสืบพันธุ์ การย่อยอาหาร การหายใจ และการขับถ่าย โปรโตซัวมีมากกว่า 3 หมื่นชนิด ประมาณเกือบ 1 หมื่นชนิดเป็นปรสิตของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังรวมทั้งมนุษย์ สามารถดำรงชีพแบบอิสระ และอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมด้วยโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ได้แก่ มาลาเรีย (ไข้ป่า) บิดอะมีบา (Ameba) เชื้อทริโคโมแนส (ซึ่งทำให้ช่องคลอดอักเสบ มีอาการตกขาวและคันยิบ ๆ ในช่องคลอด) ในปัจจุบันมียาที่ใช้ฆ่าเชื้อโปรโตซัวโดยเฉพาะ

 

พยาธิ (Parasites)

เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกาย มนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหารหรือดูดเลือด และมักจะ ทำให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่มันอาศัยอยู่ นอกจากนี้พยาธิยังปะปนอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เช่น ในดิน พื้นหญ้า ในน้ำ ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชผักต่าง ๆ น้ำดื่ม และในแมลงพาหะนำโรคหลายชนิด พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกาย

มนุษย์ได้หลายทางที่สำคัญ คือ ปากและผิวหนังโรคที่เกิดจากพยาธิ ได้แก่ โรคพยาธิใบไม้ในตับ โรคพยาธิปากขอ โรคพยาธิตัวจี๊ด โรคพยาธิแส้ม้า โรคเท้าช้าง เป็นต้น ในปัจจุบันมียาที่สามารถใช้รักษาโรคพยาธิโดยเฉพาะ (ยกเว้นพยาธิเพียงบางชนิด เช่น ตัวจี๊ดที่ยังไม่มียารักษาอย่างได้ผล)

ทั้งนี้เชื้อโรคในแต่ละกลุ่มใหญ่ ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื้อแต่ละชนิดหนึ่งจะทำให้เกิดโรคขึ้นโดยเฉพาะ เช่น เชื้อหัด ทำให้เกิดโรคหัด เชื้อวัณโรค ทำให้เกิดวัณโรค เชื้อมาลาเรีย ทำให้เกิดไข้มาลาเรีย เป็นต้น ขณะที่ในบางโรคยังอาจเกิดจากเชื้อโรคหลายตัวได้ เช่น ไข้หวัด จะมีเชื้อย่อย ๆ อยู่ร่วม 200 ชนิด (ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนเราเป็นไข้หวัดได้บ่อย ๆ) เชื้อไข้มาลาเรียมีอยู่ 4 – 5 ชนิด เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.doctor.or.th  www.siamreview.com  www.nectec.or.th  www.thaitravelclinic.com
ภาพประกอบจาก : www.futura-sciences.com 
 organiqueshop.net

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก