ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease, STD) หรือกามโรค หรือโรคผู้หญิง (Venereal disease, VD)  คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสทางเพศ เชื้อโรคจะติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือสารคัดหลั่งจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ การติดต่อนั้นไม่ใช่จากการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการติดต่อทางเลือด จากแม่สู่ลูก การถ่ายเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอาการได้หลากหลาย บางครั้งอาจไม่ปรากฏอาการจนกระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนหรือรู้ว่าอาจติดโรคเมื่อคู่นอนมีอาการและได้รับการวินิจฉัยว่าติดโรคแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้ออาจมีอาการดังนี้

  • มีตุ่มนูนหรือก้อนบวม เป็นแผล บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ปาก หรือทวารหนัก
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ผู้ชายอาจมีน้ำหรือหนองออกมาจากอวัยวะเพศ ผู้หญิงอาจมีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ
  • เจ็บที่ท้องน้อย
  • มีไข้ หนาวเย็น ปวดเมื่อย
  • ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศ อาจมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า
  • รู้สึกเจ็บระหว่างสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ ภายหลังมีอาการหนึ่งอาการใดข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที ทั้งนี้อาการจะแสดงหลังจากการได้รับเชื้อ 2 – 3 วัน แต่บางรายอาจใช้เวลาเป็นปี แต่ระหว่างนั้นอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น นอกเหนือจากผู้มีอาการ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์และคิดว่าตนเองมีโอกาสรับเชื้อ แม้ยังไม่มีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคเช่นเดียวกัน

 

สาเหตุ

เชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ มีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และปรสิต ตัวอย่างเช่น

  • เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อโกโนเรีย (Neisseria gonorrhea) ทำให้เกิดโรคหนองใน เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม เชื้อไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) ทำให้เกิดโรคที่อาการคล้ายหนองในเทียม เชื้อทริปโปนีมา (Treponema Pallidum) ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส เป็นต้น
  • เชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus, HPV) ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูก เชื้อเอชเอสวี (Herpes simplex virus, HSV) ทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ และเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) ทำให้เกิดโรคเอดส์ เป็นต้น
  • เชื้ออื่น ๆ ได้แก่ เชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) ทำให้เกิดโรคพยาธิช่องคลอด และเชื้อรา เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงในการเป็นโรค

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย สวมถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อบางตัวได้เช่นกัน
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย โดยการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสเป็นซ้ำสูง ขณะที่คู่นอนจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงด้วยเช่นกัน
  • การร่วมเพศทางทวารหนัก เพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อสูง หากไม่ป้องกันดีพอ
  • การใช้สารเสพติด เช่น ผู้ที่ใช้เข็มฉีดร่วมกับผู้อื่นมีโอกาสในการติดเชื้อสูง
  • สตรีมีครรภ์

  

การวินิจฉัย

สำหรับผู้ที่มีอาการ แพทย์จะมีการซักถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจหาอาการแสดง การเจาะเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะ สารคัดหลั่งเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่อาจได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ก็ต้องได้รับการตรวจคัดกรองด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองด้วย เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี  สตรีมีครรภ์ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส หนองในแท้ ไวรัสตับอักเสบซี ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

 

การรักษา

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ละโรคมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นการให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตนั้นรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) โดยผู้ป่วยต้องทานยาจนครบกำหนด และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา
  • ยาต้านไวรัส ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่อาจทำให้คู่นอนของผู้ป่วยติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ

 

ภาวะแทรกซ้อน

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น ข้ออักเสบ ติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ภาวะมีบุตรยาก ป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ เกิดภาวะแทรกซ้อนในสตรีมีครรภ์ ทารกติดเชื้อที่ดวงตา เป็นต้น

 

การป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ทำได้โดยเริ่มจากการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น วิธีป้องกันมีดังนี้

  • ยึดมั่นในคู่ครองเพียงคนเดียว ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งนี้อีกฝ่ายต้องไม่เคยได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว
  • ควรเลี่ยงการสอดใส่ หากสงสัยว่าคู่นอนอาจมีเชื้อ ทั้งนี้ตนเองและคู่นอนควรเข้ารับการตรวจการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างละเอียดก่อน
  • เมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์และสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทำออรัลเซ็กส์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ รวมทั้งไม่ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ ร่วมกับถุงยางอนามัย เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยขาดได้
  • ควรตกลงกับคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่ทำได้และไม่ได้เมื่อร่วมเพศกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือใช้สารเสพติด เนื่องจากจะทำให้ขาดสติ และทำพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
  • ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยให้สังเกตอาการของโรคและป้องกันตัวเองได้อย่างปลอดภัยและถูกวิธี

วิธีดูแลและป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคมีวิธีดูแลอาการของโรคและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • หยุดมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ รวมทั้งคู่นอนต้องได้รับการรักษาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอยู่จนหายก่อน
  • การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้ป้องกันกามโรคได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพประกอบด้วย วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสรักษาเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจัดอยู่ในวัคซีนฟรีสำหรับเด็กไทยทุกคนด้วย

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก