นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาพบว่าสิ่งมีชีวิตมีระบบที่สำคัญในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในรอบวัน เสมือนนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ในมนุษย์ ระบบดังกล่าวจะควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพื่อความตื่นตัว เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย เพื่อควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น (มืด-สว่าง) และเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกาย
รวมถึงพฤติกรรมและสรีรวิทยาในเรื่องอื่น ๆ ถ้าระบบนาฬิกาชีวภาพปกติ ร่างกายจะเกิดสมดุล ส่งผลให้สุขภาพเป็นปกติ แต่ถ้าคนเราอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ระบบของนาฬิกาชีวภาพผิดปกติไป ผลเสียต่อสุขภาพจะตามมา
ระบบนาฬิกาชีวภาพ
มีศูนย์ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นในร่างกาย ตั้งอยู่ที่ Suprachiasmatic nucleus (SCN) ของสมองส่วนไฮโปธารามัส (Hypothalamus) โดยมีการศึกษาพบคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถสร้างจังหวะการทำงานขึ้นมาได้เอง และถูกตั้งค่าใหม่ได้โดยแสงสว่าง ปกติในช่วงสว่างเมื่อจอประสาทตาหรือเรตินา (Retina) ได้รับแสงจะส่งสัญญาณไปยัง SCN โดย SCN จะแปรสัญญาณไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากเป็นตอนเช้าสัญญาณจะส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และชะลอการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin)
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นและมีความพร้อมสำหรับกิจกรรม ขณะที่ในช่วงมืด จอประสาทตาหรือเรตินา เมื่อได้รับแสงน้อยลง ต่อมไพเนียล (Pineal gland) จะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมามากขึ้น SCN จะแปรสัญญาณส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนอนหลับโดยร่างกายจะมีอุณหภูมิและความดันโลหิตลดลง และอาศัยช่วงเวลาที่นอนหลับซ่อมแซม ฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอ จัดระเบียบความคิด ความจำในด้านต่าง ๆ ทำให้ร่างกายสามารถดำเนินกิจกรรมในเวลาต่อมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสภาวะอารมณ์ที่ดี
ในชีวิตประจำวัน มีหลายๆปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้นาฬิกาชีวภาพผิดปกติ ทั้งด้านสรีรวิทยา ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยนาฬิกาชีวภาพที่ผิดปกติจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : en.wikipedia.org ejournals.swu.ac.th thestandard.co
ภาพประกอบจาก : myeivf.com