ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-edit.jpg

ไข้หวัด หรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่า โดยเฉลี่ยปีละ 6 – 12 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ติดเชื้อหวัดโดยเฉลี่ยปีละ 2 – 3 ครั้ง

 

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิดจาก 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) กลุ่มฮิวแมน พาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Human para-influenza virus) กลุ่มอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) กลุ่มอาร์เอสไวรัส (Respiratory syncytial virus-RSV) กลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus)  กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และกลุ่มเฮิร์บ ซิมเพลคไวรัส (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคหวัดขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากการได้รับเชื้อหวัดหรือเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว หลังจากนั้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น โดยการเกิดโรคหวัดในครั้งต่อไปจะเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผ่านทางการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้ละอองอากาศที่มีเชื้อหวัดลอยเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจติดอยู่ตามข้าวของ เครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส ภายหลังนำมือไปจับบริเวณตา ปาก และจมูกทำให้เชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกาย  ทั้งนี้พบว่าการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าการหายใจเอาละอองอากาศเข้าไป นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ การอยู่ในสถานที่แออัด ห้องเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสสัมผัส ไอ จามใส่กันได้ง่าย เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหวัดมากขึ้น หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสะสม ผู้ที่ติดบุหรี่ สารเสพติด ล้วนเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์แน่ชัดว่าจากสาเหตุใด อากาศที่เปลี่ยนทำให้ระบบทางเดินหายใจมีความไวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการติดหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูดังกล่าว

 

อาการ

อาการสำคัญของโรคไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะด้วยเล็กน้อย มักเป็นเสมหะขาว เจ็บคอ หายใจไม่สะดวกจากเยื่อบุจมูกบวมหรือน้ำมูกอุดตัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อตัว ในเด็กมักมีไข้ เด็กเล็กอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย วัยผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้หรือไข้อ่อน ๆ

ถ้าเป็นอยู่นานหลายวัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนจากใส เป็นน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว อาจมีไข้สูงขึ้น และอาจมีอาการจากการที่เชื้อติดซ้ำลุกลามไปจนเกิดการอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ทอนซิลบวมโต มีหนองจากการเป็นทอนซิลอักเสบ ปวดมึน หนักหน้าผาก โหนกแก้ม รวมถึงมีเสมหะข้นเหลืองเขียวจากการเป็นไซนัสอักเสบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เสมหะขุ่นข้นจากการเป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น


เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

ผู้ใหญ่มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 2 วัน มีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายไปแล้ว เจ็บคออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีดและหายใจหอบเหนื่อย หรือ ปวดบริเวณโหนกแก้มหรือไซนัส ในเด็กแรกเกิด ถึง 12 สัปดาห์ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 1 วัน อาการของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เด็กมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง หรือมีอาการงอแงมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยอาการไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัวจนมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนอาการไข้หวัดทั่วไป จะมีความรุนแรงไม่มาก มีเพียงอาการ ไข้ ไอและน้ำมูกไหล และเจ็บคอเป็นอาการเด่น

 

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในรายที่มีไข้สูงมาก อาการซับซ้อนหรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่อาการในระยะแรกคล้ายกับโรคหวัด  เช่น ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่น เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ ประวัติการระบาดของโรค และตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหวัดทั่วไป ทั้งนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเบื้องต้นจะแยกได้จากตำแหน่งที่แสดงอาการ เช่น โรคหวัดจะมีอาการทางจมูกเป็นหลัก โรคคอหอยอักเสบจะมีอาการบริเวณลำคอเป็นหลัก โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอเป็นหลัก โดยทั่วไปจะไม่สามารถระบุประเภทของไวรัสได้จากอาการ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก การตรวจเลือด เพื่อใช้ในการยืนยันผล หรือในรายที่มีไข้สูง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดครบ (Complete Blood Count) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจดูค่าเกล็ดเลือด เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

 

การรักษา

ไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา การรักษาจึงไม่มีวิธีการเฉพาะ โดยมักเป็นการปฏิบัติตัวของคนไข้ ร่วมกับการใช้ยาประคับประคองตามอาการ ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  จึงจะให้ยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อและน้ำมูก การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ขึ้นสูง
  • อาจมีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ในผู้ใหญ่ ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้  มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ เจ็บคอใช้ยาอม สมุนไพรหรือสเปรย์พ่นคอเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการลงได้
  • ในกรณีที่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ influenza A B แพทย์ สามารถที่จะสั่งยาต้านไวรัส โอเซลตามีเวีย ให้แก่ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหญิงตั้งครรภ์

สำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งจะมียาและอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะจะปลอดภัยที่สุด

  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้และผลข้างเคียงกับผู้รับประทานยา เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจทำให้เกิดภาวะปวดอักเสบนิวโมเนีย โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

บุคคลทั่วไป

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหวัด โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในข่ายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มิถุนายน ก่อนเข้าหน้าฝน

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้

 

พ.อ. นพ. ยศวีร์ วงศ์เจริญ
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แหล่งที่มา : นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจและรักษาโรคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544.   www.mayoclinic.org   www.medicinenet.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไข้หวัด (Common cold) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า พบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี ส่วนมากในช่วงฤดูฝน การระบาดของเชื้อก่อโรคอาจมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในแต่ละปี

 

อาการ ไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า

  • อาการสำคัญที่พบบ่อย
    • ระยะแรก มีไข้สูง ถึงสูงมาก 38 – 41 องศาเซลเซียส อาจมีอยู่ได้ถึง 2 – 3 วัน (ซึ่งต่างจากโรคหวัด ซึ่งมักจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลากลอกลูกตา ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก และเบื่ออาหาร
    • ระยะที่สอง มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ในเด็กเล็กอาจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด อาการมักจะหายหลังผ่านระยะแรกไปได้ 3 – 4 วัน
    • ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว ดังนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ อาจอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ อาจมีอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว

  • เมื่อไร่จึงควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ < 5 ปี หรือผู้ป่วยสูงอายุ > 65 ปี ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง) และสตรีมีครรภ์ เมื่อมีอาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังรับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส Influenza virus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A B และ C ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ไปอีกมากมาย เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในแต่ละปี

  • ไวรัสสายพันธุ์ A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์ (ไก่ นก แมว หมู) มาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ไวรัสสายพันธุ์ A แบ่งชนิดตามสารโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส คือ สาร Hemagglutinin (HA: H1-H16) และสาร Neuraminidase (NA:N1-N9) ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ A สามารถแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง ได้แก่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009/ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
  • ไวรัสสายพันธุ์ B ก่อโรคในคนและแมวน้ำ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu)
  • ไวรัสสายพันธุ์ C ก่อโรคในคนและหมู พบได้น้อย เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย

โดยสรุปความแตกต่าง อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B และ C เมื่อแพร่ระบาดแล้วจะยากต่อการควบคุม ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น

 

การติดต่อ

ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่ผ่านการหยิบจับเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดอาการถึง 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย และ ตรวจยืนยันโดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab) วิธีที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ “Rapid influenza diagnostic test” ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15 – 30 นาที ราคาถูก แต่ความไวในการจับเชื้อได้นั้นไม่มากนัก และ วิธี “Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR)” ทราบผลตรวจในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง สามารถแยกสายพันธุ์ A และ B ได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า

 

การรักษา

กรณีอาการไม่รุนแรง

การรักษาจะคล้ายกับการรักษาไข้หวัด คือ การประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง จะส่งผลเสียในระยะยาวคือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเช็ดจากล่างขึ้นบน เพราะทิศทางสวนรูขุมขน จะช่วยระบายความร้อนได้มากกว่า เน้นเช็ดบริเวณข้อพับ รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ข้อเข่า
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรรับประทาน แอสไพริน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก(ยาแก้แพ้)  มีอาการไอ ใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือ ขับเสมหะ อาการเจ็บคอ ใช้ยาอม หรือ สเปรย์พ่นคอ

กรณีอาการรุนแรง

หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้มาพบแพทย์ เพื่อให้พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม) สมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

บุคคลทั่วไป

  1. รับประทานอาหารที่ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าในโซนแออัด เป็นต้น
  5. รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องให้ทุกปี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด ซึ่งสามารถลดโอกาสในการเกิดไข้หวัดใหญ่ลงได้ 50 – 65% วัคซีนนี้มีข้อห้าม ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไก่ แพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

 

นพ. ฐิติกร เจียงประดิษฐ์
แหล่งที่มา :

  1. Cohen YZ, Dolin R. Influenza. In: Kasper, Dennis L, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 19th edition. New York:McGraw Hill Education, 2015. P.1209-1214
  2. นพพร อภิวัฒนากุล. ไข้หวัดใหญ่. ใน: เปรมฤดี ภูมิถาวร, สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, สุเทพ วาณิชย์กุล, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เล่มที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2552. หน้า 125-132
  3. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.mayoclinic.org
  4. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.cdc.gov/flu

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-H2C00.jpg

8 สัญญาณเตือน ฮอร์โมนเพศชายต่ำ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศของเพศชาย ถูกสร้างจากอัณฑะ (Testis) โดยฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนทำหน้ากระตุ้นการสร้างตัวอสุจิ (Sperm) และกระตุ้นอารมณ์ทาง เพศ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ และกระดูกอีกด้วย เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้นระดับของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในร่างกายจะต่ำลง หากต่ำมากเกินไปก็จะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา ซึ่งมักจะถูกเข้าใจผิดว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการธรรมดาของผู้สูงอายุ

 

ภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำจะวินิจฉัยได้จากการตรวจระดับของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดที่ต่ำกว่า 300 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร (300 ng/dL) ซึ่งการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในผู้ชายนั้นเรียกว่าภาวะวัยทอง ซึ่งเปรียบได้กับภาวะหมดประจำเดือนในเพศหญิง แตกต่างกันที่ในเพศหญิงนั้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน จะมีการลดลงของระดับฮอร์โมนเพศหรือเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว แต่การลดลงของฮอร์โมนเพศของเพศชายหรือเทสโทสเทอโรนนั้นจะค่อย ๆ ลดลงทำให้ในชายอาจไม่มีอาการอะไร แต่หากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเพศชายลดลงเร็วกว่าที่ควรก็จะทำให้มีอาการต่าง ๆ ของภาวะเทสโทสเทอโรนต่ำแสดงออกมา

1. อารมณ์ทางเพศลดลง

ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนเพศ ที่คอยควบคุมเรื่องความต้องการทางเพศ เมื่ออายุมากขึ้นผู้ชายส่วนมากจะมีความต้องการทางเพศลดลงในระดับที่แตกต่างกัน โดยหากระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำมากจะทำให้ความต้องการทางเพศลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งมักสัมผัสได้จากตัวเองหรือคู่นอน นอกจากความต้องการที่ลดลงแล้ว ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ลดลงจะมีผลทำให้ผู้ชาย บรรลุจุดสุดยอดได้ยากขึ้นอีกด้วย

2. อวัยวะเพศแข็งตัวยาก

นอกจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจะเป็นตัวควบคุมความต้องการทางเพศแล้วนั้น ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนยังมีผลในเรื่องการแข็งตัวเพศชายด้วย โดยที่ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนนั้นจะไปมีผลกับสมอง กระตุ้นให้สมองสั่งให้ร่างกายสร้างสารไนตริกออกไซด์ (สารเคมีในร่างกายที่ช่วยทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว)  ซึ่งหากระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลง ก็จะมีผลทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศเป็นไปได้ยากมากขึ้น นอกจากนี้โรคที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวหลาย ๆ โรคนั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน เส้นเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis)

3. น้ำเลี้ยงตัวอสุจิ (Semens) ลดลง

น้ำเลี้ยงตัวอสุจิทำหน้าที่ช่วยให้ตัวอสุจิที่หลั่งออกมาเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น โดยที่น้ำเลี้ยงอสุจินี้ จะหลั่งออกมาพร้อมกับตัวอสุจิเมื่อเพศชายบรรลุจุดสุดยอด ซึ่งฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณของน้ำเลี้ยงอสุจิด้วย หากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลงก็จะทำให้น้ำเลี้ยงอสุจิลดลงไปด้วย ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาเมื่อบรรลุจุดสุดยอดลดลง

 

4. ผร่วง

นอกจากเรื่องของเพศแล้ว ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนยังควบคุมการทำงานอีกหลายอย่างในร่างกายรวมไปถึงการ สร้างผมและขน ถึงแม้ว่าหัวล้านนั้นสามารถพบได้ในชายทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้น แต่ถ้าระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลงมากก็จะมีอาการของผมและขนตามที่ต่าง ๆ ร่วงมากกว่าปกติได้

5. รู้สึกอ่อนเพลีย

ภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเท่าไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ผู้ชายที่มีปัญหาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำจะขาดแรงจูงใจ กระตุ้นให้ไปออกกำลังกายได้ยากอีกด้วย

6. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ผู้ชายฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลงจะทำให้กล้ามของเค้าลดขนาดและกำลังลงโดย เฉพาะกล้ามเนื้อแขน ขา หน้าอก และการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาเท่าเดิมนั้น ก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ การเพิ่มขึ้นของไขมันส่วนเกิน ไม่เพียงแต่กล้ามเนื้อที่ลดลงในผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลงแล้ว การสะสมของไขมันส่วนเกิน ตามที่ต่าง ๆ ในร่างกาย ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายของชายเหล่านั้นดูแย่มากขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายกระบวนการเพิ่มขึ้นของไขมันส่วนเกินในชายที่ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลงได้อย่างชัดเจน แต่มีผู้วิจัยพบว่ายีนที่ควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายนั้นมีส่วนในการลดลงของ ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในร่างกาย

7. กระดูกบาง

ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีผลในการสร้างความหนาแน่นหรือความแข็งแรงของกระดูก ภาวะกระดูกบางซึ่งหากเป็นมาก ๆ ก็จะถูกเรียกว่าโรคกระดูกพรุน โรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยที่ฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิงมีผลต่อความหนาแน่นและความแข็งแรงของกระดูก แต่เนื่องจากผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งแตกต่างจากเพศชายทำให้พบภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุนในเพศหญิงมาก แต่เพศชายเมื่ออายุมากขึ้นมาก ๆ และมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลงนาน ๆ ก็มีภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน

 

8. อารมณ์แปรปรวน

ทั้งชายและหญิงจะประสบปัญหาอารมณ์แปรปรวนได้ทั้งคู่ จากการลดลงของฮอร์โมนเพศ เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเพศชายนั้นเปรียบเสมือนถังน้ำมันที่คอยช่วย เป็นแหล่งพลังงานในการกระตุ้นกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงด้านอารมณ์ ดังนั้น เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลง จะทำให้ชายเหล่านี้มีปัญหาซึมเศร้า หงุดหงิดง่ายไม่มีสมาธิได้

 

แหล่งที่มา : https://www.healthline.com/health/low-testosterone/warning-signs#erections
ภาพประกอบจาก : https://www.andromenopause.com

 


-ทำไงดี.jpg

รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะมีคนเป็นจำนวนมากที่รู้สึกเช่นนั้น มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 3 นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังต้องไปทำงานหรือทำธุระต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เราสามารถแก้ไขอาการอ่อนเพลีย และไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อยตลอดอีกต่อไป

 

คำถามแรกที่คุณมักถามตัวเองคือ “ทำไมฉันถึงรู้สึกเพลียตลอดเวลา” และ “ฉันจะแก้ไขการอ่อนเพลียนี้ได้อย่างไร” คำตอบคือ เพราะคุณพักผ่อนไม่พอนั่นเอง และทางแก้ไขก็คือ จัดตารางชีวิตเสียใหม่

โดยให้เวลาตัวเองเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทีละน้อย เช่น ลดเวลาทำงาน ลดการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ลง หาเวลาส่วนตัวสำหรับพักผ่อน นอนหลับจริง ๆ ไม่ใช่นอนเล่นมือถือบนเตียงจนเช้า หรือดูซีรีส์จนสว่างคาตา เพิ่มเวลานอนหลับให้มากยิ่งขึ้น การนอนหลับให้พออาจต้องสร้างบรรยากาศในห้องนอนที่เอื้อต่อการนอนหลับ  แต่หากทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแล้วก็ยังคงรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาอยู่ ก็ลองสำรวจตัวเองดูว่าคุณมีพฤติกรรมผิด ๆ เหล่านี้หรือไม่

 

  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป การดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้เลือดในร่างกายข้นและไหลเวียนช้า ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้น้อยลง และทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ไม่ได้กินอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกายและสมอง ทำให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย
  • กินอาหารขยะ (Junk food) มากเกินไป อาหารเหล่านี้เกือบทุกชนิดมีน้ำตาล ไขมัน โซเดียม และคาร์โบไฮเดรตสูงมาก
  • ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน ทำให้ฮอร์โมนอดรีนาลีนในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจึงตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือรับข่าวสารเรื่องเครียด ๆ ก่อนเข้านอน ข้อมูลเหล่านี้จะยังติดอยู่ในสมอง ส่งผลให้จิตใจไม่สงบ ฝันร้าย และนอนไม่หลับได้
  • เล่นมือถือ แท็บเล็ตก่อนนอนมากเกินไป เพราะแสงสว่างจากหน้าจอจะทำให้นาฬิกาชีวิตปรวนแปรได้
    และยังทำให้สายตาเสียอีกด้วย
  • มีความเครียดในการทำงานและชีวิตประจำวันสูง การมีหน้าที่รับผิดชอบสูงมาก ๆ อาจทำให้อ่อนเพลียทั้งกายและใจ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ลองใช้วิธีแก้ไขด้วยการพยายามปล่อยวาง ผ่อนคลาย และฝึกสมาธิให้จิตใจปลอดโปร่งขึ้น

 

หากมั่นใจแล้วว่านอนหลับ พักผ่อนเป็นเวลานาน แต่ตื่นนอนแล้วก็ยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ คุณควรไปปรึกษาแพทย์เพราะนั่นอาจเป็นอาการของโรคบางอย่าง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะ ๆ หรือมีการหายใจตื้น ๆ สลับกับการหายใจที่เป็นปกติในระหว่างที่นอนหลับ อาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจยาวเป็นนาทีก็ได้ โดยมักเกิด 5 – 30 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่และอ่อนเพลียในตอนเช้า เกิดจากอุดกั้นทางเดินหายใจจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อช่วงลำคอ หรือความหนาของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือพยายามนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ก่อนนอน รวมถึงลดน้ำหนักหากน้ำหนักเกิน โดยแพทย์จะแนะนำการรักษาการหยุดหายใจขณะหลับที่เหมาะสม

แต่สำหรับคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีภาวะผิดปกติทางสุขภาพ  การแก้ไขที่มักได้ผลเสมอ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง นอกจากนั้นควรหาวิธีให้ตัวเองนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ อาจดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอนเพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น เพราะในนมมีทริปโตเฟนซึ่งช่วยในการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งช่วยให้หลับง่ายและหลับลึกขึ้น เพิ่มการกินไข่ขาวและเมล็ดฟักทองซึ่งมีทริปโตเฟนสูงเช่นกัน งดการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือทำงานบนเตียงนอน และผ่อนคลายจิตใจด้วยการทำสมาธิ กำหนดหายใจเข้าออก เมื่อจิตใจสงบแล้ว ร่างกายก็จะผ่อนคลายทำให้นอนหลับง่ายในที่สุด

 

เมื่อทราบแล้วว่า การรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และวิธีแก้ไขอาจง่ายดายมากโดยเริ่มที่ตัวคุณเอง ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความอ่อนเพลียบั่นทอนร่างกายและจิตใจ รีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ แล้วประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของคุณจะเพิ่มขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.prevention.com
ภาพประกอบ : www.unsplash.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก