ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease, PID) เป็นการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์หญิงส่วนบน ประกอบด้วย มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน โดยมักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธ์ุส่วนล่างแล้วลุกลามขึ้นไปยังส่วนบน มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์มากกว่า ขณะที่พบน้อยในหญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยก่อนและหลังมีประจำเดือน หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
ในระยะแรกอาจยังไม่แสดงอาการ ต่อมาเชื้อลุกลาม และอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องน้อย บริเวณด้านขวาหรือทั้ง 2 ข้าง ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ตกขาวลักษณะผิดปกติ หรือตกขาวลักษณะเหมือนหนอง
  • ไข้สูง หนาวสั่น
  • เจ็บลึก ๆ เวลามีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องซีกขวา กดเจ็บใต้ชายโครงด้านขวา เจ็บที่หน้าอกเวลาสูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือภาวะ “Fitz-Hugh-Curtis syndrome”

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
มีไข้ ปวดท้องน้อย ตกขาวผิดปกติ เช่น มีลักษณะเหมือนหนอง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บลึก ๆ เวลามีเพศสัมพันธ์ อาการใดอาการหนึ่งหรือหลายอาการ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

 

ภาวะแทรกซ้อน

อุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถรักษาให้หายได้  แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงกว่าตามมา เช่น การเจ็บปวดจากภาวะอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ฝีที่ท่อนำไข่หรือรังไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

 

สาเหตุ

สาเหตุการอักเสบของอุ้งเชิงกราน มีทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนี้

  • สาเหตุจากการติดเชื้อ โดยเป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted disease, STD) จัดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ โดยที่พบบ่อยได้แก่
  • เชื้อโกโนเรีย (Neisseria gonorrhea) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองใน โดย 15% ของหญิงที่ติดเชื้อ gonorrheae จะพัฒนากลายเป็นภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ โดยมักจะมีอาการรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ภายหลังรักษาหายมีโอกาสกลายเป็นฝีที่ท่อนำไข่น้อยกว่าเชื้ออื่น
  • เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม โดย 33% ของผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ จะพบเชื้อนี้ร่วมด้วย โดยอาการของการติดเชื้อโรคนี้จะไม่รุนแรง และบางรายไม่แสดงอาการใดๆ ก่อนการมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • เชื้อไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) เป็นอีกเชื้อก่อโรคชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อย โดยสามารถตรวจพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • ทั้งนี้ 35% ของอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถเกิดได้จากเชื้อโรคหลายชนิดร่วมกัน เชื้อชนิดอื่น ๆ ได้แก่ coli, Staphylococcus, Streptococcus, Peptococcus, Anaerobic Streptococcus, Prevotella, Gardnerella vaginalis, Cytomegalovirus, M.hominis เป็นต้น
  • สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การอักเสบจากการตรวจภายใน การรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การอักเสบหลังคลอด การอักเสบจากการทำแท้ง การมีสุขลักษณะเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ที่ผิด เช่น การสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไป การคุมกำเนิดแบบใส่ห่วง เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยง

  1. การมีคู่นอนหลายคน ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเพิ่มสูงขึ้น เช่น มีการศึกษาพบว่าหญิงที่มีคู่นอนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไปในช่วงเวลา 6 เดือนจะมีโอกาสต่อการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบมากกว่าหญิงทั่วไป 3.4 เท่า เป็นต้น
  2. การที่คู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI in partner) ตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายอาจมีเชื้อคลาไมเดียแต่ไม่พบอาการ หญิงคู่นอนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น
  3. หญิงอายุช่วง 15 – 25 ปี มีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าวัยอื่น โดยยิ่งเกิดภาวะนี้ในช่วงอายุน้อยเท่าไร โอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำยิ่งสูงขึ้น
  4. หญิงที่เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบในอดีต มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้
  5. การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device/ IUD) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบให้มากขึ้น แต่ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยไม่ต้องถอดห่วงคุมกำเนิด
  6. ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของเชื้อในช่องคลอด

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะตรวจร่างกาย เพื่อหาเกณฑ์การวินิจฉัยขั้นต่ำข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจมีทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

  1. รู้สึกเจ็บเมื่อโยกปากมดลูก (Cervical motion tenderness)
  2. รู้สึกเจ็บเมื่อกดมดลูก (Uterine tenderness)
  3. รู้สึกเจ็บเมื่อกดที่ปีกมดลูก (Adnexal tenderness)

โดยอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย โดยมีข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  1. มีไข้สูงกว่า 38.3°C
  2. มีมูกที่ปากมดลูกมีลักษณะคล้ายหนอง
  3. พบจำนวนเม็ดเลือกขาวเพิ่มขึ้นจากสารคัดหลั่งในช่องคลอด
  4. พบค่าอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate, ESR) สูงขึ้น
  5. พบค่า C-reactive protein เพิ่มขึ้น
  6. ตรวจพบการติดเชื้อ gonorrhea / C. trachomatis ที่บริเวณปากมดลูก

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การสุ่มตรวจชิ้นเนื้อ (Endometrial sampling) การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonography) การผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปทางหน้าท้อง (Laparoscopic examination) เป็นต้น

 

การรักษา

หากอาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณารักษาแบบผู้ป่วยใน หากมีอาการดังนี้

  1. ไม่สามารถแยกโรคกับภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดได้
  2. ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน
  3. อาการรุนแรง เช่น ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก
  4. โรคดำเนินต่อจนกลายเป็นฝีบริเวณปีกมดลูก
  5. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบระหว่างการตั้งครรภ์
  6. ไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานได้

สำหรับในการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาที่เหมาะสมกับภาวะความรุนแรงของโรคในแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ แบบฉีดใน 1 – 2 วันแรก ก่อนจะปรับเป็นยารูปแบบเม็ด รับประทานต่อเนื่องจนครบ 2 สัปดาห์ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น Cefotetan, Clindamycin, Gentamycin ยาเม็ด Doxycycline และอาจใช้ยากลุ่มเอนเสด (NSAIDs)  เพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ จึงจำเป็นต้องรักษาคู่นอนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะคู่นอนในช่วง 60 วันก่อนหน้าจะมีอาการ และควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา
  2. หญิงตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ก่อนการรับการรักษา เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม
  3. ในส่วนของการป้องกัน ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์ และลดความเสี่ยงด้วยการ มีคู่นอนเพียง 1 คน นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงของการอักเสบจากสาเหตุอื่น เช่น งดการสวนล้างช่องคลอด เลือกกินยาเม็ด ยาฉีดคุมกำเนิดและสวมถุงยางอนามัย แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด
  4. หากพบความผิดปกติของร่างกาย เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง

 

แหล่งที่มา

  1. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. www.pobpad.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก