อุจจาระที่บ่งบอกว่าร่างกายแข็งแรง มักมีลักษณะเป็นของแข็ง มีความอ่อนนุ่มและสีน้ำตาล ส่วนถ้าเป็นโรคอุจจาระร่วง (Diarrhea) อาหารจะมีการย่อยสลายและผ่านลำไส้เร็วเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาในการสร้างมวลแข็ง ทำให้สิ่งต่างๆ ออกมาในรูปของของเหลว ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสัญญาณของอาการป่วยที่ร้ายแรงเสมอไป หากจะหาสัญญาณของการเกิดโรค สีที่ปะปนออกมากับอุจจาระอาจให้ข้อมูลมากกว่า
สาเหตุทำให้อุจจาระร่วงมีสีแดง
การมีสีแดงหรือเลือดปะปนมาพร้อมกับท้องเสียอาจจะเป็นสัญญาณเตือน หรือบ่งบอกถึงสาเหตุต่างๆ มากมายที่เป็นไปได้ดังนี้
- เป็นโรคบิด
โรคอุจจาระร่วงที่มีเลือดออกมาด้วย จะเรียกว่าโรคบิด (Dysentery) โดยต้นเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคบิด คือแบคทีเรียชิเกลล่า (Shigella) หรือปรสิตชนิด Entamoeba histolytica ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง จนทำให้เกิดการอักเสบในลำไส้มากพอที่จะทำให้เลือดออกได้ - จากการกินอาหารที่มีสีแดง
อาหารที่มีสีแดงตามธรรมชาติ หรือใส่สีผสมอาหารสีแดง เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนสีของอุจจาระได้ โดยโรคท้องร่วงที่อุจจาระมีสีแดงก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น หากอาหารเหล่านั้นเกิดการบูด เสียและถูกกินเข้าไป ทำให้เกิดอาหารอาหารเป็นพิษตามมา โดยอาหารที่สามารถส่งผลต่ออุจจาระให้เป็นสีแดง เช่น แตงโม มะละกอ มะเขือเทศ - จากเลือดออกในทางเดินอาหาร
มีปัจจัยหลายประการในการส่งผลให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding) อาทิ ติ่งเนื้อในลำไส้ (Colon polyps) ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease : IBD) หรือแม้แต่มะเร็ง ในกระเพาะอาหาร(Gastric cancer) โดยเลือดที่ออกมามากๆ อาจทำให้เกิดอุจาระที่ออกมามีสีแดง - จากโรคริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) เกิดจากการที่หลอดเลือดแดง บวมขึ้น ภายในบริเวณลำไส้ ส่วนปลายหรือทวารหนัก ถือว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการท้องร่วงเป็นสีแดง - จากการใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดจะมีผลข้างเคียง (Side effect) ทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และอาจนำไปสู่การอุจจาระร่วง ยาที่ทำให้อุจจาระสีแดง อาจรวมถึงยาปฏิชีวนะที่เป็นของเหลวด้วยก็ได้ - จากรอยฉีกที่ทวารหนัก
บางครั้งรอยขีดข่วน หรือรอยฉีกในบริเวณทวารหนัก อาจทำให้อุจจาระที่ผ่านออกมาเปื้อนเลือดได้ ในกรณีนี้อาจเป็นเพียงสีแดงติดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้อุจจาระมีสีอื่น ๆ
และถ้าคุณมีข้อสงสัยขึ้นมา ว่าแล้วอุจจาระสีอื่นล่ะ หมายความว่าอะไรกันบ้าง เราก็เตรียมคำตอบมาให้แล้วเช่นกัน
- อุจจาระสีดำ
อุจจาระสีดำหรืออุจจาระที่มีความหนาแน่นของกากใยต่าง ๆ สามารถบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ ที่อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร(Gastrointestinal bleeding) และหากมีอาการอุจจาระร่วงเป็นสีดำ อาจชี้ไปที่เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน เพราะเลือดสีแดงจะเดินทางผ่านลำไส้ ทำให้มีเวลามากพอในการเปลี่ยนเป็นสีที่ดำคล้ำขึ้น แต่จะมีอาหารบางชนิดเช่นกัน ที่สามารถทำให้อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำ ตัวอย่างเช่น น้ำองุ่นเข้มข้น หรือชะเอม - อุจจาระสีเขียว
อุจจาระสีเขียวอาจเกิดจากการมีน้ำดี (Bile) ปนมาในอุจจาระ หรือแม้แต่การได้รับธาตุเหล็กมากขึ้นอาจทำให้อุจจาระกลายเป็นสีเขียวเข้มได้เช่นกัน - อุจจาระสีซีดอ่อน
อุจจาระสีซีดหรือสีเทา อาจบ่งบอกถึงนิ่วในถุงน้ำดี ลองสังเกตว่า หากปัสสาวะมีสีเข้มร่วมด้วย คือสัญญาณเพิ่มเติม ว่าต้นเหตุมาจากถุงน้ำดีหรือตับรวมถึงการกินยาลดกรดบางชนิดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจทำให้อุจจาระซีดจางได้ - อุจจาระสีเหลืองเยิ้มๆ
อุจจาระสีเหลืองอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือ มีการดูดซึมของอาหารทางลำไส้ ไม่ปกติ
แนวทางการรักษา
เมื่อรู้ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอุจาระร่วงเป็นสีแดงกันไปแล้ว มาถึงขั้นตอนการรักษาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโดยพื้นฐาน การจิบน้ำบ่อยๆ เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถช่วยได้ เมื่อคนเรามีอาการท้องเสีย จะเกิดการสูญเสียน้ำจำนวนมากผ่านทางอุจจาระ การจิบน้ำหรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่จะช่วยทดแทน และป้องกันอาการขาดน้ำได้
ทั้งนี้อุจจาระร่วงมักเป็นวิธีที่ร่างกายใช้กำจัดไวรัสที่ไม่พึงประสงค์ แทนที่จะให้ยาเพื่อให้ลำไส้ทำงานหรือบีบตัวน้อยลง เป็นเหตุให้เชื้ออยู่ในร่างกายนานขึ้น แพทย์อาจพิจารณาปล่อยอาการอุจาระร่วงให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยจะหายได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากอาการอุจจาระร่วงนั้นเรื้อรัง อาจต้องใช้การรักษาเพิ่มเติม อย่างวิธีให้สารเหลวทางหลอดเลือดดำและยาเพื่อลดอาการบีบรัดในช่องท้อง หากอาการอุจาระร่วงมีสีแดงเป็นเพราะยาระหว่างการรักษา ควรมีการพูดคุยกับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำแนะนำ
ในกรณีที่เป็นโรคอุจาระร่วงที่รุนแรง หรือเรื้อรัง หรือกรณีมีเลือดออกไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอย่างแน่ชัด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ท่านทันที
ว่าด้วยการป้องกัน อุจจาระร่วงมีสีแดง
ด้านการป้องกันอุจจาระร่วง หากอาการอุจจาระร่วงมีสีแดงเป็นผลมาจากโรคบิดหรือการติดเชื้อมีหลายวิธีเพื่อป้องกัน เช่น
- ทำความสะอาดพื้นที่เตรียมอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ
- ปรุงอาหารให้สุก โดยอาหารดิบมีแนวโน้มที่จะมีเชื้อแบคทีเรียชิเกลล่า (Shigella) แฝงอยู่
- ดื่มน้ำดื่มบรรจุขวดหรือน้ำต้ม เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
- หลีกเลี่ยงการมีสัมผัสทางเพศกับบุคคลที่มีอาการอุจาระร่วง หรือผู้ที่เพิ่งป่วยด้วยเชื้อชิเกลลา
- ห้ามดื่มน้ำที่ไม่ใช่น้ำเพื่อดื่มโดยเฉพาะ เช่น น้ำจากทะเลสาบหรือแม่น้ำ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสัมผัสพื้นผิวที่อาจมีการปนเปื้อนหรือเพิ่งเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กมา
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการย้อมสีแดง และอาหารที่มีแนวโน้มจะบูด เน่าเสีย ที่สามารถจะเป็นต้นเหตุของอุจจาระร่วงได้
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าเมื่อใหร่ที่ควรจะไปพบแพทย์ สังเกตตัวเองว่าถ้ามีอาการหนาวสั่นและมีไข้ควบคู่กับโรคอุจจาระร่วงที่มีสีแดง หรืออุจจาระร่วงเป็นเลือดจำนวนมาก อาจเป็นสัญญาณของเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ดังนั้นจึงควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ส่วนอาการที่ควรไปพบแพทย์ หากมีอาการอุจจาระร่วง แต่ไม่ได้เป็นสีแดงมีดังนี้
- หนาวสั่นควบคู่กับมีอาการท้องร่วง
- มีอาการอุจจาระร่วงต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 สัปดาห์
- เป็นลม (Fainting) จากการท้องร่วง
- มีไข้สูง33 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า
- อุจจาระร่วงรุนแรง ติดต่อกันนานกว่า 2 วัน
- อาเจียน
- ปวดหรือเป็นตะคริว มีอาการที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง
อุจจาระร่วงธรรมดา ไม่ได้เป็นความผิดปกติที่น่ากังวลเสมอไป แต่การเสียเลือดอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่องอาจเป็นกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นควรดูแลและสังเกตตัวเองอย่างถี่ถ้วน เพื่อเตรียมพร้อมพบแพทย์อย่างทันท่วงที
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.medicalnewstoday.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com