ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-และไข้เลือดออก.jpg

สถานการณ์ปัจจุบัน ไข้เดงกี (Dengue fever) และไข้เลือดออก (Dengue hemorrhage fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 สายพันธุ์นำโรค โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายนี้จะกัดคนที่ป่วยเป็นโรคและไปกัดคนอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออก ไข้เดงกีและไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และตอนกลางของทวีปอเมริกา ซึ่งอาจเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรในเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้มีสภาพเป็นชุมชนแออัด มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น และการขาดการควบคุมยุงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งในปัจจุบันมีการเดินทางที่รวดเร็วและขยายตัวมาก ทำให้นักทัศนาจรที่มีอาการป่วย สามารถนำเชื้อไวรัสเดงกีไปยังที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกได้โดยง่าย

 

ในประเทศแถบหนาวเริ่มมีรายงานของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มนักทัศนาจรที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) และประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีโรคนี้ชุกชุม ไข้เดงกีและไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย พบได้ตลอดทั้งปีแต่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เดงกีและไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น และพบว่ามีการระบาดของโรคในบางปีจนทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 100,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าการเสียชีวิตของไข้เลือดออกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กซึ่งแสดงถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต เด็กเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเด็งกีบ่อยที่สุดและอัตราตายสูงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 5 – 9 ปี ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยไข้เดงกีและไข้เลือดออกพบได้บ่อยขึ้นในเด็กโตและวัยรุ่น รวมทั้งมีรายงานของผู้ป่วยผู้ใหญ่อายุ 15 – 25 ปี เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย อินเดีย และ สิงค์โปร์  ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออก แม้ว่าจะพบเพียงร้อยละ 20 – 30 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ในปีที่มีการระบาดของโรค ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากได้

  

อาการและการวินิจฉัย ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออก มักมีอาการที่ไม่รุนแรงเหมือนในผู้ป่วยเด็ก วัยรุ่น ผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวและอาการหายเองได้ โดยไม่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น ไข้สูง ปวดตามกล้ามเนื้อมาก บางรายอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกร่วมด้วย พบว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตมักพบว่ามีอาการที่สำคัญคือ ภาวะช็อก เลือดออกรุนแรง ตับวาย ไตวายและไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีอาการ/อาการแสดงผิดแผกจากที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการปวดท้องตั้งแต่ระยะแรก อาการชัก อาจทำให้แพทย์ไม่ได้คิดถึงโรคนี้หรือไม่ได้ส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เด็งกี (ซึ่งในผู้ใหญ่พบได้บ่อยกว่าการป่วยเป็นไข้เลือดออก) มักพบว่ามีไข้สูง ปวดเมื่อย ปวดกระดูก ปวดศีรษะ  มักไม่พบมีอาการไอหรือมีน้ำมูก  อาการเจ็บคอพบได้บ้าง  มักพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 5 ถึง 7 วันและพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีไข้น้อยกว่า 9 วัน การมีผื่นแบบจุดเลือดออกโดยเฉพาะที่ขา แขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วยมักพบในช่วง 1 – 2 วันก่อนที่ไข้จะลดลงหรือผื่นอาจเกิดหลังจากไข้ลดลงแล้ว ผู้ป่วยไข้เดงกีอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติได้แต่มักไม่รุนแรง พบว่าการใช้อาการทางคลินิกดังกล่าวร่วมกับการตรวจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกร็ดเลือดต่ำ และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เลือดออกมักมี ไข้สูง อาเจียน และมีเลือดออกผิดปกติ ภาวะเลือดออกมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งภาวะเลือดออกมักพบในช่วงวันที่ 5 – 8 ของการมีไข้ ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกเป็นภาวะเลือดออกในผู้ป่วยที่พบบ่อยที่สุดโดยมักพบบริเวณแขน ขา รักแร้และลำตัว เลือดออกผิดปกติในตำแหน่งอื่นๆในผู้ป่วยที่พบ ได้แก่ เลือดออกจากจมูก ผู้หญิงบางรายมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด พบว่าในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกรุนแรง มักพบว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น เลือดออกในช่องท้อง ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีการรั่วของของน้ำเลือดไปในช่องปอด ช่องท้องมักพบในช่วง 5 – 7 วันหลังมีไข้ ทำให้มีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น บางรายมีน้ำในช่องปอดหรือมีน้ำในช่องท้องทำให้หายใจลำบาก ตับโต ปวดท้อง กดเจ็บที่ท้อง เหนื่อยหอบปัสสาวะลดลง และทำให้ผู้ป่วยบางรายมีภาวะความดันโลหิตต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก ซึมลง หายใจล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนรุนแรง  ผู้ป่วยซึมหรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง กระหายน้ำตลอดเวลา กระสับกระส่าย ตัวเย็นชื้น ปวดท้องมาก มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

 

การรักษา ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

ปัจจุบันไม่มียาจำเพาะในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ดังนั้นการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่และการให้สารน้ำและการรักษาตามอาการ เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเดงกี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีคลื่นไส้ อาเจียน ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อย ๆ บ่อย ๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว อาหารควรเป็นอาหารอ่อน   แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแก่ผู้ป่วยโดยการอาศัยการประเมินอาการทางคลินิกและติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปริมาณสารน้ำที่ให้ผู้ป่วย ในระยะที่มีการรั่วของน้ำเลือดผู้ป่วยที่มีไข้ให้ทำการเช็ดตัวลดไข้ อาจเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อย ๆ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแล้วบิดพอหมาด ๆ ลูบเบาๆบริเวณหน้า ลำตัว แขน และขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง และขาหนีบ ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที

ในกรณีที่มีไข้สูงสามารถพิจารณาให้ยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเฉพาะยาแอสไพริน อย่างไรก็ตามยาลดไข้จะช่วยให้ไข้ลดลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วไข้ก็จะสูงขึ้นอีก พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายมีภาวะตับอักเสบร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งมักพบในช่วง 5 – 7 วันหลังมีไข้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการใช้ยาซึ่งมีผลทำให้เกิดตับอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยรับประทานยาพาราเซตตามอลเพื่อลดไข้ในขนาดสูงและบ่อยเป็นเวลานาน (5 – 7 วัน) ติดต่อกัน รวมทั้งการได้รับยาอื่น ๆ ที่มีผลต่อตับ เช่น ยาแก้อาเจียนบางชนิด ยาป้องกันชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยมีตับอักเสบรุนแรงได้

 

การป้องกัน ไข้เดงกี และไข้เลือดออก

การป้องกันไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรค เช่น ควรนอนในมุ้งหรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน กำจัดยุงด้วยการพ่นสารเคมีในบริเวณมุมอับภายในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง ไม่ให้มีวัสดุที่เหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาอย่างต่อเนื่อง วัคซีนป้องกันการติดเชื้อมีความก้าวหน้าไปจนถึงการทดสอบในระยะที่ 3 พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและทำให้เกิด ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี และมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนดังกล่าวยังไม่มีการผลิตเพื่อใช้สำหรับประชาชนทั่วไป

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

 


.jpg

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ บวม แดง ของเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การกินยาบางชนิด ความเครียด เป็นต้น โดยมีทั้งแบบเฉียบพลัน 1 – 3 อาทิตย์หาย และแบบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ใช้เวลาเป็นปี โรคนี้เป็นโรคทั่วไป พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย

  • ปวดท้องแบบแสบท้อง บริเวณลิ้นปี่หรือยอดอก เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะเวลาหิวหรือหลังตื่นนอน บางรายอาจปวดท้องรุนแรงแบบปวดบิดอย่างเฉียบพลัน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย แน่นอึดอัดท้อง อาหารไม่ย่อยแม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน อาจเบื่ออาหาร
  • กรณีเป็นรุนแรง อาจมีการอาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำจากเลือดที่ออกในกระเพาะ และอาจเป็นแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆในกระเพาะ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันดี กับอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย แต่ถ้าพบว่าอาการเหล่านั้นหรืออาการของโรคกระเพาะไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์ หรือหากมีอาการอาเจียนหรือถ่ายอุจาระเป็นสีดำเกิดขึ้น รีบไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษาทันที

 

สาเหตุ

มีหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่สามารถป้องกันผนังกระเพาะอาหารได้ น้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดสูง จึงสามารถเข้าทำลายผนังกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร สาเหตุดังกล่าว ได้แก่

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะ pylori ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม
  • การใช้ยาบรรเทาปวดเป็นประจำหรือใช้ยามากเกินไป ยาที่พบบ่อย เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพรอกเซน (Naproxen) ส่งผลให้ความสามารถในการป้องกันผนังกระเพาะอาหารลดลง สามารถทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง
  • การมีอายุมากขึ้น อายุมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอักเสบเพิ่มขึ้น เนื่องจากเยื่อบุกระเพาะอาหารมีแนวโน้มที่จะบางลง นอกจากนี้คนสูงอายุยังมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ pylori หรือความผิดปกติของภูมิต้านทานตนเองมากกว่าคนในวัยอื่น
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป แอลกอฮอล์ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคือง กระตุ้นให้มีการสร้างกรดเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบแบบเฉียบพลัน
  • ความเครียดโดยเฉพาะความเครียดที่รุนแรง จะกระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรดก่อให้เกิดการระคายเคือง และทำให้เซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารอักเสบ
  • โรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease) ผู้ป่วย Autoimmune gastritis จะมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ จากการที่เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เข้าโจมตีเซลล์ที่ประกอบเป็นเยื่อบุกระเพาะอาหารจนก่อให้เกิดการอักเสบตามมา
  • โรคและภาวะอื่น ๆ เช่น โรคติดเชื้อ HIV โรคโครห์น (Crohn’s disease) และการติดเชื้อปรสิต

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการเบื้องต้น การตรวจร่างกาย ในบางรายแพทย์จะพิจารณาเลือกการตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเป็นการเพิ่มเติม เช่น

  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy) โดยแพทย์จะสอดท่อที่มีความยืดหยุ่นสูงพร้อมกับเลนส์กล้อง ลงไปในลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อตรวจหาการอักเสบ ในกรณีที่พบชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ แพทย์สามารถตัดชื้นเนื้อขนาดเล็กเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
  • การเอกซเรย์กระเพาะอาหารด้วยการกลืนแป้งแบเรียม (Barium swallow) วิธีนี้สามารถสร้างภาพของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก เพื่อมองหาความผิดปกติ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ก้อนต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น
  • การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย pyroli แพทย์อาจพิจารณาการตรวจหาเชื้อดังกล่าว ซึ่งสามารถพบได้จากการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระหรือจากการทดสอบลมหายใจ

 

การรักษา

  • การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค หากพบว่า การอักเสบนั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย pyroli เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
  • การบรรเทาอาการปวดท้อง ยาที่นิยมใช้คือ ยาธาตุน้ำขาว (Alum milk) หรือใช้เป็นยาเม็ดอลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ก็ได้ผลเช่นกัน ซึ่งในกรณีของยาเม็ดควรเคี้ยวก่อนกลืน เพราะยาเม็ดบางชนิดแตกตัวในกระเพาะอาหารช้า ยากลุ่มนี้จะรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา หรืออาจรับประทานเพิ่มเติมเมื่อมีการปวดระหว่างมื้อ  นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำอัดลม กาแฟซึ่งอาจกระตุ้นอาการปวดท้อง
  • การรักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ใช้ยารักษานาน 14 วัน นิยมใช้ยาลดการหลั่งกรด (Acid suppression) ได้แก่ ยากลุ่ม H2 receptor antagonists เช่น ซัยเมททิดีน (cimetidine), รานิทิดีน (ranitidine) หรือยากลุ่ม Proton pump inhibitors โอมิพราโซล (omeprazole), แลนโซพราโซล (lanzoprazole) เพราะหาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยา ส่วนยากลุ่ม Cytoprotective เช่น Sucralfate หรือ Bismuth ก็สามารถใช้ได้
  • การป้องกันการเกิดซ้ำ เน้นการปรับพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด หรือยาแก้ปวดข้อ การออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค
  • การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากยาแก้ปวดข้อ เนื่องจากยานี้จะลดอาการปวดได้ขณะที่ยากัดกระเพาะ ทำให้อาการปวดท้องซึ่งเป็นอาการเตือนถูกบดบัง ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะมาก่อน ผู้ป่วยที่รับประทานยาชุด-ยาลูกกลอน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา การรักษามักจะต้องใช้การส่องกล้องรักษาหรืออาจต้องผ่าตัดถ้ามีกระเพาะอาหารทะลุ

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • กินยาตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง และสม่ำเสมอ
  • ฝึกสังเกต พร้อมงดอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดอาการ หรือทำให้อาการแย่ลง เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน เป็นต้น
  • ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เพื่อลดความเครียด
  • รักษาความสะอาดการกิน อยู่ หลับ นอน เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรค
  • ปรึกษาแพทย์ กรณีที่ต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง

 

แหล่งข้อมูล : www.honestdocs.co  www.mayoclinic.org  www.vibhavadi.com

ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


-edit-1.jpg

การใช้ยาสมุนไพรแล้วเกิดอาการแพ้พบน้อยมาก เนื่องจากสมุนไพรมีผลข้างเคียงน้อย ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานทั้งในส่วนของสมุนไพรเดี่ยว และสมุนไพรตำรับ แต่ถ้ามีการเลือกใช้สมุนไพรที่ไม่มีคุณภาพ หรือใช้ในปริมาณที่สูง หรือใช้ไม่ถูกกับอาการของโรค มีการนำมาใช้เชิงความสวยความงาม หรือเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศในปริมาณมาก ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

 

ซึ่งอาการที่จะปรากฏให้เห็นและสังเกตได้ด้วยตนเอง เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตาอาจบวมปิด ริมฝีปากเจ่อ หรือผิวหนังเป็นดวงสีแดง ๆ ถ้ามีอาการแพ้รุนแรงอาจจะมีอาการอาเจียน หูอื้อ ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง ประสาทรับรู้ทำงานผิดปกติ ถ้ารับประทานยาสมุนไพรแล้วมีอาการดังกล่าว ต้องพบแพทย์ทันที

 

เมื่อถามว่าใครจะรับผิดชอบ

ต้องถามก่อนว่ายาสมุนไพรนั้นได้มาจากแหล่งใด ถ้ายาที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ระบุสถานที่ผลิต แหล่งผลิต เราก็สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ แต่การใช้ยาสมุนไพรอาจจะขึ้นกับตัวบุคคลด้วย เพราะบางคนก็ทานได้ บางคนก็เกิดอาการแพ้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเจาะลึกลงไปอีก และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ควรจะกระทำก่อนที่จะซื้อยาสมุนไพรมารับประทาน เราต้องมีหลักการเลือกซื้อยาสมุนไพรเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน คือ เลือกซื้อยาที่มีการจดทะเบียนรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ระบุไว้ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ เพราะการที่จะวางยาสมุนไพรจำหน่าย หรือโฆษณาได้ในท้องตลาดนั้น ต้องมีการไปขอขึ้นทะเบียนยากับทางหน่วยงานดังกล่าวก่อนทั้งสิ้น นอกจากนั้น บรรจุภัณฑ์ต้องมีมาตรฐาน ไม่มีรอยบุบ รอยรั่ว ส่วนประกอบ หรือส่วนผสมทุกอย่างต้องมีการระบุไว้ข้างฉลากยาอย่างชัดเจน เช่น ยาสมุนไพรที่มีเหล้าผสมหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เป็นต้น และถ้ามีการปรุงยาใช้เอง เราต้องยึดหลักการเลือกใช้ยาสมุนไพรอย่างปลอดภัยดังนี้

  1. ใช้ให้ถูกต้องกับต้น สมุนไพรหลายชนิดจะมีชื่อพ้อง หรือชื่อซ้ำกันมาก แต่ละภาค หรือแต่ละท้องถิ่นอาจจะเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่บางครั้งชื่อเหมือนกันแต่ก็อาจจะคนละชนิดก็ได้ ดังนั้น ควรจะเลือกใช้สมุนไพรให้ถูกกับต้นจริง ๆ
  2. ใช้ให้ถูกส่วน พืชสมุนไพรแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ ราก ดอก หัว เปลือกต้น ผล จะมีฤทธิ์ในการรักษาโรคแตกต่างกัน จึงต้องใช้ให้ถูกส่วน
  3. ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรหากใช้น้อยไปก็ไม่ได้ผล ใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายได้
  4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรใช้ได้ทั้งแบบสด แห้ง ดองกับเหล้า หรือทำเป็นชาชง จึงควรใช้ให้ถูกวิธี เพื่อจะทำให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
  5. ใช้ให้ถูกกับโรค เพื่อให้ผลการรักษาได้ดีและมีประสิทธิภาพ

 

ภาพประกอบจาก: www.freepik.com


.jpg

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไข้หวัด (Common cold) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดทำให้มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า พบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี ส่วนมากในช่วงฤดูฝน การระบาดของเชื้อก่อโรคอาจมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในแต่ละปี

 

อาการ ไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า

  • อาการสำคัญที่พบบ่อย
    • ระยะแรก มีไข้สูง ถึงสูงมาก 38 – 41 องศาเซลเซียส อาจมีอยู่ได้ถึง 2 – 3 วัน (ซึ่งต่างจากโรคหวัด ซึ่งมักจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ) ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลากลอกลูกตา ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก และเบื่ออาหาร
    • ระยะที่สอง มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ในเด็กเล็กอาจได้ยินเสียงหายใจดังครืดคราด อาการมักจะหายหลังผ่านระยะแรกไปได้ 3 – 4 วัน
    • ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว ดังนั้นจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ อาจอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ อาจมีอาการทางระบบอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว

  • เมื่อไร่จึงควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเด็กเล็กอายุ < 5 ปี หรือผู้ป่วยสูงอายุ > 65 ปี ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง) และสตรีมีครรภ์ เมื่อมีอาการไข้สูงเกิน 39 – 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังรับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหน้าอกบุ๋ม มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนได้

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส Influenza virus) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A B และ C ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ไปอีกมากมาย เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในแต่ละปี

  • ไวรัสสายพันธุ์ A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์ (ไก่ นก แมว หมู) มาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ไวรัสสายพันธุ์ A แบ่งชนิดตามสารโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส คือ สาร Hemagglutinin (HA: H1-H16) และสาร Neuraminidase (NA:N1-N9) ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ A สามารถแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย ตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง ได้แก่ H1N1 (ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009/ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
  • ไวรัสสายพันธุ์ B ก่อโรคในคนและแมวน้ำ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu)
  • ไวรัสสายพันธุ์ C ก่อโรคในคนและหมู พบได้น้อย เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย

โดยสรุปความแตกต่าง อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B และ C เมื่อแพร่ระบาดแล้วจะยากต่อการควบคุม ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อผู้อื่น

 

การติดต่อ

ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่ผ่านการหยิบจับเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว 1 – 4 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเกิดอาการถึง 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จากการถามประวัติและการตรวจร่างกาย และ ตรวจยืนยันโดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab) วิธีที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ “Rapid influenza diagnostic test” ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15 – 30 นาที ราคาถูก แต่ความไวในการจับเชื้อได้นั้นไม่มากนัก และ วิธี “Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR)” ทราบผลตรวจในเวลา 2 – 4 ชั่วโมง ความไวและความจำเพาะสูง สามารถแยกสายพันธุ์ A และ B ได้ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า

 

การรักษา

กรณีอาการไม่รุนแรง

การรักษาจะคล้ายกับการรักษาไข้หวัด คือ การประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ จะใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง จะส่งผลเสียในระยะยาวคือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเช็ดจากล่างขึ้นบน เพราะทิศทางสวนรูขุมขน จะช่วยระบายความร้อนได้มากกว่า เน้นเช็ดบริเวณข้อพับ รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ข้อเข่า
  • รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ พาราเซตามอล ไม่ควรรับประทาน แอสไพริน เพราะจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก(ยาแก้แพ้)  มีอาการไอ ใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือ ขับเสมหะ อาการเจ็บคอ ใช้ยาอม หรือ สเปรย์พ่นคอ

กรณีอาการรุนแรง

หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้มาพบแพทย์ เพื่อให้พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม) สมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

บุคคลทั่วไป

  1. รับประทานอาหารที่ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว รับประทานผักผลไม้ และอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินที่จำเป็นในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าในโซนแออัด เป็นต้น
  5. รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ปีละ 1 ครั้ง จำเป็นต้องให้ทุกปี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการระบาด ซึ่งสามารถลดโอกาสในการเกิดไข้หวัดใหญ่ลงได้ 50 – 65% วัคซีนนี้มีข้อห้าม ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไก่ แพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

 

นพ. ฐิติกร เจียงประดิษฐ์
แหล่งที่มา :

  1. Cohen YZ, Dolin R. Influenza. In: Kasper, Dennis L, et al. Harrison’s Principles of Internal Medicine. 19th edition. New York:McGraw Hill Education, 2015. P.1209-1214
  2. นพพร อภิวัฒนากุล. ไข้หวัดใหญ่. ใน: เปรมฤดี ภูมิถาวร, สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์, กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ, สุเทพ วาณิชย์กุล, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เล่มที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2552. หน้า 125-132
  3. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.mayoclinic.org
  4. Influenza (flu). [Cited 2018 Sep]. Available from: www.cdc.gov/flu

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


.jpg

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โรคขี้หูอุดตัน ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคที่ร้ายแรงได้ เช่น เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ เนื้องอกของประสาททรงตัว หรือโรคของระบบประสาทส่วนกลาง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ล้ม เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะเกิดเลือดออกในสมอง หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การรู้จัก โรคบ้านหมุน จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

โรคบ้านหมุน หรือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แต่แท้จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุนหรือไหวไป ทั้ง ๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองอยู่เฉย ๆ ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยตา ประสาทสัมผัสบริเวณข้อต่อ อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ระบบประสาทส่วนกลางที่ฐานสมอง และตัวสมองเอง โดยทั้งหมดนี้จะทำงานเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวกับอวัยวะการได้ยินอยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง โรคของระบบทรงตัวที่ทำให้บ้านหมุนจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน หูอื้อ และมีเสียงดังรบกวนในหูได้ รวมถึงเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ก็มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา (ตากระตุก หรือ nystagmus) การเซ การล้ม อาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วยได้

 

สาเหตุ โรคบ้านหมุน

โรคบ้านหมุน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • โรคของหู
    • หูชั้นนอก ได้แก่ หูชั้นนอกอุดตัน จากขี้หู เนื้องอก หนอง หรือการอักเสบจากหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางอักเสบ กระดูกช่องหูหักจากอุบัติเหตุ
    • เลือดคั่งในหูชั้นกลาง (hemotympanum) จากอุบัติเหตุ หรือการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ
    • หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)
    • ท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลาง ทำงานผิดปกติ หรือมีการอุดตันจากโรคจมูกอักเสบเฉียบพลัน (หวัด) หรือเรื้อรัง (เช่น โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้) โรคไซนัสอักเสบ การดำน้ำ การขึ้น-ลงที่สูง ก้อนเนื้องอกที่โพรงหลังจมูก
    • การทะลุของเยื่อที่ปิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (perilymphatic fistula) จากการไอ เบ่ง หรือจามแรง ๆ หรือเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ที่มีภาวะแทรกซ้อน
    • หูชั้นใน ได้แก่ การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) โดยเชื้ออาจลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบเฉียบพลัน หรือเยื่อหุ้มสมองที่อักเสบ หรือหูชั้นกลางที่อักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก) และมีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิส ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต (ไปเชื้อโรค)
    • การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (toxic labyrinthitis) ได้แก่ ยาที่มีพิษต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน เช่น ยาต้านจุลชีพ กลุ่ม aminoglycoside, quinine, salicylate, sulfonamide, barbiturate
    • การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้มีเลือดออกในหูชั้นใน ฐานสมอง ก้านสมอง หรือสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
    • การได้รับแรงกระแทก การบาดเจ็บจากเสียงดัง เช่น ระเบิด ประทัด การยิงปืน หรือการผ่าตัดบริเวณหู
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)
  • โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (benign paroxysmal positional vertigo หรือ BPPV) ซึ่งอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ศีรษะหันไปทางใดทางหนึ่ง และมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ (เป็นวินาที มักไม่เกิน 1 นาที)
  • โรคของทางเดินประสาท และสมอง
  • เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (vestibular neuronitis)
  • เนื้องอกของประสาททรงตัว (vestibular schwannoma)
  • โรคของระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่
    • ความผิดปกติของกระแสโลหิตที่ไปเลี้ยงระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัวไม่พอ อาจเกิดจากไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ (สารนิโคติน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว) การดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (สารกาเฟอีน ทำให้เส้นเลือดตีบตัว) เบาหวาน เลือดข้นผิดปกติ ซีด กระดูกคอเสื่อม หรือมีหินปูนบริเวณกระดูกคองอกไปกดหลอดเลือดขณะมีการหันศีรษะหรือแหงน เครียด หรือวิตกกังวล (ทำให้เส้นเลือดตีบตัวชั่วคราว) โรคหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจขาดเลือด)
    • การเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
    • การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (hypothyroidism) โรคเลือด (มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดสูงผิดปกติ ซีด เลือดออกง่ายผิดปกติ) โรคหลอดเลือดแข็งและตีบจากโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกคอเสื่อม โรคไต ระดับยูริกในเลือดสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคภูมิแพ้
  • ไม่ทราบสาเหตุ

 

กลุ่มเสี่ยง โรคบ้านหมุน

คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคบ้านหมุนคือ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู ทางเดินประสาท และสมอง ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งโรคของต่อมไทรอยด์ โรคเลือด และหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกคอเสื่อม และโรคไต

 

อาการที่ปรากฏ

สัญญาณเตือนที่ควรระวังของโรคบ้านหมุน ได้แก่ มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเคลง รู้สึกมึน ๆ งง ๆ เบา ๆ โหวง ๆ มีตากระตุก เดินแล้วเซ จะล้ม มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วย

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยสาเหตุของโรคบ้านหมุนจะอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจทางหู คอ จมูก การตรวจตา การตรวจเส้นประสาทสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง การวัดความดันโลหิตในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า) และการตรวจพิเศษ เช่น

  • การเจาะเลือดเพื่อหาภาวะซีด เลือดข้น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดมากผิดปกติ เบาหวาน ระดับไขมันในเลือดที่สูง ระดับยูริกในเลือดที่สูง การอักเสบของร่างกาย (erythrocyte sedimentation rate: ESR) ซึ่งอาจบ่งถึงโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไต การติดเชื้อซิฟิลิส หรือเอดส์ การทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเกินไป
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่
  • การตรวจการได้ยิน เพื่อดูว่ามีโรคของหูชั้นกลาง หรือหูชั้นในหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่
  • การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง (brainstem electrical response audiometry) โดยใช้เสียงกระตุ้นทางเดินประสาทที่ผ่านหู ตั้งแต่หูชั้นใน ประสาทสมองที่เกี่ยวกับการได้ยินไปสู่ก้านสมอง และผ่านไปกลีบสมอง วิธีนี้สามารถตรวจความผิดปกติของโรคในสมองส่วนกลางได้รวดเร็วและแม่นยำ
  • การตรวจระบบประสาททรงตัว โดยเครื่องวัดการทรงตัว เพื่อแยกความผิดปกติของภาวะข้อเสื่อมจากโรคหูชั้นในและโรคของสมอง
  • การถ่ายภาพรังสีกระดูกคอ เพื่อดูว่ามีกระดูกคอเสื่อมหรือไม่
  • การถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อดูว่ามีโรคของทางเดินประสาท หรือสมองหรือไม่
  • การตรวจการไหลเวียนของกระแสโลหิตผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่สมอง โดยใช้อัลตราซาวน์ ซึ่งจะบอกแรงดันเลือด ความเร็วของการไหล และความไม่สมดุลของการไหลเวียนของกระแสโลหิตได้

 

การรักษา โรคบ้านหมุน

การรักษาตามอาการ ได้แก่

  • ให้ยาที่กดการรับรู้ของประสาททรงตัว เพื่อให้หายจากอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • ให้ยาสงบ หรือระงับประสาท
  • ให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ซึ่งการให้ยาดังกล่าวนี้ เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ
  • เมื่ออาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนน้อยลงแล้ว ควรให้เริ่มการบริหารระบบทรงตัว (head balance exercise) เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลของระบบประสาททรงตัวได้ การบริหารดังกล่าวเป็นการฝึกฝนการปรับวิสัยการทรงตัวต่อตัวกระตุ้นสมมุติที่สร้างขึ้น ซึ่งจะสร้างนิสัย “เคยชิน” ต่อสภาวะนั้นๆ ให้เกิดขึ้นในอวัยวะทรงตัว เพื่อให้สามารถทรงตัวได้อย่างดีในสภาวะต่างๆ ได้แก่ การฝึกบริหารสายตา ฝึกกล้ามเนื้อ คอ แขนขา ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ รวมทั้งการเดิน และยืน
  • ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะ บ้านหมุนแล้ว ควรป้องกันไม่ให้มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนอีก โดย
  • หลีกเลี่ยงเสียงดัง
  • ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาททรงตัว เช่น aspirin, aminoglycoside, quinine
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
  • ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารกาเฟอีน) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)
  • พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดที่จะไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ลดความเครียด วิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


การรักษาตามสาเหตุของโรค

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องขณะเวียนศีรษะ บ้านหมุน

  • เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนขณะเดิน ควรหยุดเดิน และนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ บ้านหมุน อาจทำให้ผู้ป่วยล้มเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียน หรือบ้านหมุนมาก ควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนน้อยลงค่อยๆ ลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วง หรือเพลียได้ ถ้าง่วง แนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นหลังตื่นนอน
  • ไม่ควรว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนป่ายที่สูง เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หรือเดินบนเชือกข้ามคูคลอง ขับรถ หรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออันตราย
  • หลีกเลี่ยงสารกาเฟอีน (ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และกาแฟ) และการสูบบุหรี่ ซึ่งจะลดเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว
  • พยายามอย่ารับประทานอาหารหรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
  • พยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ในระหว่างเกิดอาการ ได้แก่ การหมุนหรือหันศีรษะไวๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม เงยคอ หรือหันอย่างเต็มที่
  • พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สารก่อภูมิแพ้ (ถ้าแพ้) การเดินทางโดยทางเรือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เวลามีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนให้รับประทานยาที่แพทย์ให้ ดังนั้นควรพกยาดังกล่าว ในช่วงเวลาเดินทางเสมอ
  • ถ้าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


...เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้.jpg

ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่น ๆ คือ

 

ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง หลายท่านคงร้อง อ๋อ แต่ช้าก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีความเหมือน หรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่น ๆ คือ มีประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และก่ออาการข้างเคียง หรืออันตรายหากใช้ไม่ถูก

 

ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร 

มารู้จักยาคุมกำเนิดกันก่อน เดิมเรียกว่า “ยาคุมกำเนิดหลังเพศสัมพันธ์” แต่ต่อมาเพื่อความเข้าใจและการใช้ที่ถูกต้อง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน” ซึ่งจริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า “ยาคุมฉุกเฉิน” แท้จริงแล้วไม่ใช่ยา แต่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสูงกว่ายาคุมกำเนิดโดยทั่วไปถึง 2 เท่า และมี 2 ชนิด คือ

1. ยาคุมฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว 

มีชื่อทางการค้าว่า โพสตินอร์ จะมีส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียว คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม โดยลีโวนอร์เจสเตรลนี้จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาขึ้น และยากต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเหนียวข้นออกมา จึงทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม และระดูมาผิดปกติ โดยอาจมาเร็วขึ้น หรือช้าก็ได้ บางครั้งอาจพบเลือดออกกะปริบกะปรอย ดังนั้น ถ้าขาดระดู หรือระดูมากะปริดกะปรอยหลังใช้ยานี้ จำเป็นจะต้องตรวจให้ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์ หรือเป็นผลของยา ในกรณีที่ป้องกันไม่ได้ ยังมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่าปกติอีกด้วย

2. ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม 

หรือที่เรียกว่า Yuzpe regimen เป็นการใช้ฮอร์โมน ethinyl estradiol 0.1 มิลลิกรัม และ Levonorgestrel ขนาด 0.5 มิลลิกรัม โดยยาจะไปขัดขวางการปฏิสนธิของสเปิร์มและไข่ ยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเตียมก็ได้ ทั้งนี้ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่มีข้อเสีย คือ มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบแรก

 

การกินยาคุมฉุกเฉิน อย่างไรถูกต้อง 

ตามคำแนะนำบอกไว้ว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินต้องกิน 2 ครั้ง โดยเม็ดแรกต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงจึงรับประทานยาเม็ดที่ 2 แต่ถ้าหลังจากทานยาเข้าไปแล้วไม่ว่าครั้งแรก หรือครั้งหลังแล้วเกิดการอาเจียนภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง จะต้องทานยานั้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ วิธีการรับประทานยาข้างต้นก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว ทางกรมอนามัย ยังได้แนะนำวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินอีกหนึ่งวิธี ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้กัน ก็คือ  ให้รับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันเลยใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งวิธีดังกล่าวได้รับการยอมรับในหลายประเทศ รวมทั้งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ว่าใช้ได้ผล และเป็นการป้องกันการลืมกินยาเม็ดที่ 2 ได้ดี แต่ในประเทศไทยยังรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก

 

ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินเทียบเท่ายาคุมแบบปกติไหม 

ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินย่อมไม่เทียบเท่ายาคุมกำเนิดปกติแน่นอน สำหรับยาคุมฉุกเฉินนั้นมีประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ราวร้อยละ 58 – 95 ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ที่ถูกวิธีและระยะเวลาที่เริ่มใช้ด้วย แต่ยังไม่พบว่า การกินยามากกว่าขนาดที่กำหนดจะทำให้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือจะมีผลข้างเคียงมากขึ้น

ทั้งนี้ หากคุณรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 72 หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้วตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75% แต่หากรับประทานยาเม็ดแรกเข้าไปไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการป้องกันก็จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 10% ดังนั้น หากต้องการผลที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุด ก็ควรจะรีบทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดนั่นเอง

 

ยาคุมฉุกเฉิน มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง 

แน่นอนว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินย่อมสร้างปัญหาบางอย่างให้กับคุณผู้หญิงแน่นอน เบาะ ๆ ก็คือ จะทำให้ประจำเดือนผิดปกติ มาช้า หรือมาแบบกะปริบกะปรอย และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่หากใช้บ่อยและต่อเนื่อง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว จากข้อมูลจากแพทย์ระบุว่าในชีวิตไม่ควรจะใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะจะมีผลกับร่างกายของผู้หญิง เช่น กระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรือกระทบต่อรังไข่ มดลูก และร่างกายทั่วไป ซึ่งจะส่งผลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน 

สำหรับในประเทศไทย การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อการพกพา วิธีการกินไม่ยุ่งยากเหมือนยาคุมกำเนิดทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ก็ได้เตือนสาว ๆ ที่มักนิยมใช้ยาคุมฉุกเฉินว่า ยาดังกล่าวจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ ได้อย่างที่เข้าใจกัน

สำหรับคนที่เข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินทำให้แท้งได้ ข้อนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิดเช่นกัน เพราะจริง ๆ แล้วยาคุมฉุกเฉินเพียงแค่ป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะต้องรับยาเข้าไปก่อนที่ไข่จะฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่ายาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้งนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนั้นแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีข้อมูลที่ระบุว่า ในประเทศไทยมีคนใช้ยาคุมฉุกเฉินราว ๆ ปีละ 8 ล้านแผง ขณะที่บางคนรับประทานยาคุมฉุกเฉินถึง 20 แผงต่อเดือน โดยคิดว่า ยาคุมฉุกเฉินสามารถรับประทานได้เรื่อย ๆ เหมือนกับยาคุมกำเนิดแบบปกติ แต่หากทานมากขนาดนั้นอันตรายถามหาแน่นอน

ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่ผลิตคิดค้นออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นเท่านั้น โดยจะเกิดผลดีหากใช้ในทางที่ถูกต้อง ในผู้ที่มีการวางแผนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะเป็นต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.(2010).ยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้.22 มิถุนายน 2558.
แหล่งที่มา: www.pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบจาก: www.ppat.or.th


...เพื่อสุขภาพคนไทย.jpg

ข่าวคราวการลงมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต (Paraquat) ครอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) และไกลโฟเซต (Glyphosate) โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายหลังได้มีฝ่ายที่ออกมาสนับสนุน และฝ่ายที่ออกมาต่อต้านมติดังกล่าว โอกาสนี้กองบรรณาธิการ ขอนำเสนอเรื่องของสารเคมีเหล่านี้กัน

 

มีการใช้สารดังกล่าวในการกำจัดศัตรูพืชทั่วโลก มาอย่างยาวนาน

พาราควอตถูกผลิตและจัดจำหน่ายครั้งแรกโดยบริษัท ICI จากประเทศอังกฤษช่วงต้นปี 1962 ต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในอังกฤษ อเมริกา ยุโรป เอเชีย ด้วยข้อดีในเรื่องของประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช เช่น การฆ่าหญ้า และเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าสารเคมีตัวอื่น

ส่วนไกลโฟเซตเริ่มผลิตจำหน่ายโดยบริษัทจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นสารกำจัดวัชพืชที่สามารถใช้ได้ทั้งการฉีดพ่นหรือหยอดที่ยอด โดยมีปริมาณการใช้งานมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านการทำเกษตรและการตกแต่งสวน ปัจจุบันสิทธิบัตรที่เป็นแบรนด์หรือชื่อทางการค้าตั้งต้นได้หมดลง จึงมีการผลิตและจำหน่ายไกลโฟเซตในท้องตลาดออกมาอีกหลายแบรนด์

สำหรับครอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตจำหน่ายโดยกลุ่มบริษัทจากสหรัฐอเมริกามานานกว่า 50 ปี กรมวิชาการแนะให้มีการใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชทั้งชนิดปากกัดและปากดูด อาทิ หนอนเจาะสมอฝ้าย เสี้ยนดิน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น ด้วงงวงมันเทศ ผีเสื้อข้าวเปลือก ด้วงงวงข้าว ด้วงงวงข้าวโพด เป็นต้น โดยพืชที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันเทศ ข้าวเปลือกที่ใช้ทำพันธุ์ นุ่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และกล้วย

 

มีผลการศึกษาทางด้านความเป็นพิษ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังจากการใช้กันสารเคมีดังกล่าวอย่างแพร่หลาย มีผลของการศึกษาที่เกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากความเป็นพิษของสารเคมี เช่น ผิวหนังเป็นแผลพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียถ่ายเป็นเลือด โดยขึ้นกับปริมาณสารเคมีที่สะสมในร่างกายแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่าการใช้พาราควอตสามารถส่งผลเสียต่อตับ ไต หัวใจ ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงออกฤทธิ์ทำลายสมอง และทำให้เสี่ยงต่อการเป็นพาร์กินสันมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดย ศ. ดร. พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึง 17 – 20% และมีหลักฐานยืนยันว่าพาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้อง

ในส่วนของไกลโฟเซตนั้น สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็น “สารที่น่าจะก่อมะเร็ง” (probably carcinogenic to humans) ล่าสุดศาลที่สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตสารไกลโฟเซตรายใหญ่จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ป่วยมะเร็งซึ่งมีประวัติการใช้สารดังกล่าวเป็นประจำ และยังมีคดีฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวอีกกว่า 5,000 รายทั่วอเมริกา สำหรับครอร์ไพริฟอสมีการศึกษาพบความเป็นพิษต่อเด็กเป็นจำนวนมาก พบว่าสมองเด็กมีลักษณะผิดปกติ ความเป็นพิษต่อระบบประสาทโดยเฉพาะด้านการเรียนรู้และความจำ นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและลำไส้อีกด้วย

 

หลาย ๆ ประเทศมีการประกาศห้ามหรือจำกัดการใช้

ข้อมูลจากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านหรือ “แบน” การใช้สารดังกล่าว มีออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการประกาศห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีดังกล่าว อาทิ พาราควอตมีมากกว่า 50 ประเทศที่ประกาศห้ามใช้ เช่น อังกฤษ สวีเดน สเปน มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และอีกหลายประเทศที่จำกัดการใช้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ไกลโฟเซตมีหลายประเทศที่ประกาศห้ามใช้ เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เวียดนาม เป็นต้น และคลอร์ไพริฟอส มีหลายประเทศที่ประกาศห้ามใช้เช่นเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น

 

ล่าสุดประเทศไทยมีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว

ภาพประกอบจาก www.tcijthai.com

จากการข้อมูลผลกระทบสารเคมีปราบศัตรูพืช รวม 4 ปี มีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2,193 ราย เฉลี่ยค่ารักษากว่า 20 ล้านต่อปี ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมพิจารณาข้อมูลในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการลงมติอย่างเปิดเผย ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ทั้งนี้พาราควอตมีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค. 2562 จำนวน 20 คน มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค. 2564 จำนวน 1 คน และจำกัดการใช้ 5 คน ลำดับต่อไปกรมวิชาการเกษตร จะไปดำเนินการยกร่างประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามฝ่ายที่คัดค้านเรื่องดังกล่าว ยังสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอสิทธิ์คุ้มครองชั่วคราว และสอบถามถึงแนวทางการใช้สารทดแทน จากการแบนสารเคมีดังกล่าวด้วย

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

ข้อมูลจาก

  1. Wikipedia
  2. เคหการเกษตร, Kehakaset.com
  3. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  4. www.eht.sc.mahidol.ac.th

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก