รางจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia Laurifolia Linn จัดอยู่ในวงศ์ Acanthaceae สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า รางจืดรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่น ๆ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง และแก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่าง ๆ ใช้แก้พิษเบื่อเมา เนื่องจากเห็ดพิษ สารหนู ผักหวาน ว่านพิษ พิษจากสัตว์ หรือแม้ยาเบื่อประเภทยาสั่ง ได้ผลชะงัดนักแล สรรพคุณที่เป็นรูปธรรมของรางจืดยังมีอีกมาก เช่น สามารถแก้อาการท้องร่วง อาการแพ้ ผื่นคัน เนื่องจากอาหารเป็นพิษ
วิธีใช้
จะใช้ชนิดสด หรือแห้งก็ได้ ชนิดสดโดยนำใบรางจืดมา 4 – 5 ใบ ตำผสมน้ำ หรือน้ำซาวข้าวยิ่งดี แล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้รางจืดแห้ง 300 กรัม (3 ขีด) ต่อน้ำ 1 ลิตร และให้ดื่มน้ำรางจืด 200 cc. ทุก 2 ชม. แต่หากท่านใดสนใจจะชงดื่มเป็นชา มีวิธีชงดังนี้ นำใบรางจืดแห้ง 1 หยิบมือ ชงกับน้ำเดือด 1 กาเล็ก (ใส่น้ำประมาณ 8 แก้ว) ดื่มต่างน้ำทั้งวัน ชงดื่มได้ทุกวันโดยไม่มีอันตรายใด ๆ นอกจากจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงบ้างเล็กน้อย
การศึกษาวิจัย
ส่วนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ใบรางจืดสามารถลดอัตราการตายของหนูจากพิษโฟลิดอลได้ดีพอควร โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรีได้ทำการศึกษา ใช้รางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาฆ่าหญ้า ตัวสำคัญ คือ “พาราควอท” (ชื่อการค้า กรัมม็อกโซน) พบว่า จากการใช้รางจืดรักษาควบคู่กับวิธีของทางโรงพยาบาล สามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตร้อยละ 51 เปรียบเทียบจากเดิมไม่ใช้รางจืด ผู้ป่วยเสียชีวิต
ส่วนสรรพคุณที่กล่าวถึงมากในปัจจุบัน คือ แก้อาการเมาค้าง หรือดื่มหนัก โดยใช้วิธีกินสด ๆ และแห้ง คือ เอาใบสด 4 – 5 ใบ ใส่ครกตำผสมน้ำ ถ้าได้น้ำซาวข้าวยิ่งดี แล้วคั้นเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้ส่วนที่เป็นราก และเถารางจืดสดตำคั้นก็ได้ ส่วนวิธีแห้ง ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลานี้ คือ การนำใบแห้งมาชงกับน้ำดื่มเหมือชงชาจีน ส่วนความเข้มของยาแล้วแต่จะชงอ่อนชงแก่ แต่จากความคิดเห็นโดยแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ กล่าวว่า รางจืดตามสรรพคุณยาไทยแล้วจะใช้ถอนพิษไข้ ถอนพิษจากการรับประทานอาหารที่เป็นพิษ เช่น เห็ดพิษต่าง ๆ หรือทำลาย และขับสารพิษของสารเคมีที่ร่างกายได้รับจากการฉีดยาฆ่าแมลง ส่วนกรณีที่ใช้รางจืดในการถอนพิษจากการดื่มสุรา หรือดับฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยมาก่อน
ภาพประกอบจาก: th.wikipedia.org