ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคเหน็บชา (Beriberi) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบี 1 หรือไธอามีน (Thiamine) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างในระบบประสาท และระบบเผาผลาญสารอาหารของร่างกาย การขาดวิตามินบี 1 เกิดได้จากหลายสาเหตุ และพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

 

อาการ

ผู้ป่วยมักจะมีอาการเหน็บและชา ซึ่งอาการสามารถแยกกันเกิดได้ ความแตกต่างระหว่างอาการทั้ง 2 นี้คือ

  • อาการเหน็บ คือ อาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะคล้ายกับอาการที่นั่งทับขาตนเองเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ส่วนที่ถูกทับเกิดอาการเจ็บปวดเกร็ง จนในบางครั้งส่วนนั้นอาจอ่อนแรงจนเหยียดไม่ออกและลุกขึ้นไม่ได้
  • อาการชา คือ อาการที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง มีการรับรู้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป บางครั้งอาจเหมือนมีเข็มเป็นพันเล่มมาจิ้มที่บริเวณนั้น ๆ ในบางรายชาแล้วจะรู้สึกเจ็บ บางรายก็ร้อนหรือเย็น หรืออาจจะรู้สึกหน่วง ๆ ทื่อ ๆ และบางรายที่มีอาการชามากอาจจะไม่รู้สึกที่อวัยวะส่วนนั้นเลย

.
ทั้งนี้โรคเหน็บชายังสามารถแบ่งได้เป็นโรคเหน็บชาในเด็ก (Infantile Beriberi) และโรคเหน็บชาในผู้ใหญ่ (Adult Beriberi) มีอาการดังนี้

  • เหน็บชาในเด็ก (Infantile Beriberi) พบได้บ่อยในทารกที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 เดือน โดยเกิดจากการที่มารดากินอาหารไม่เพียงพอ ขาดวิตามินบี 1 ทำให้ทารกที่ต้องกินนมจากมารดานั้น ขาดวิตามินบี 1 ไปด้วย ซึ่งอาการนั้นจะเกิดขึ้นหลายอย่างร่วมกัน เช่น หน้าเขียว ตัวเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม ซึม ร้องไม่มีเสียง เสียงร้องผิดปกติ ทั้งนี้ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากเด็กยังเล็กมากไม่สามารถบอกความเจ็บปวดแก่ผู้ปกครองให้ทราบได้ แต่ปัจจุบันระบบสาธารณสุขดีขึ้น ทำให้พบโรคเหน็บชาในเด็กน้อยลง
  • เหน็บชาในผู้ใหญ่ (Adult Beriberi) ในระยะแรกนั้นจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกชา ต่อมาจะเริ่มมีอาการชามากขึ้นและชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ต่อมาจะเป็นตะคริว ไม่สามารถขยับแขนขาได้ ลุกไม่ได้ เมื่อขยับจะเจ็บและปวดกล้ามเนื้อรุนแรง และถ้าเป็นมากและรุนแรง อาจเป็นถึงขั้นอัมพาตได้เลย โดยโรคเหน็บชาในผู้ใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
    • โรคเหน็บชาชนิดผอมแห้ง (Dry Beriberi) ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหน็บชาชนิดนี้มักจะผอมซูบอย่างมาก บางรายอาจเห็นซี่โครง มีอาการชาตามปลายมือและเท้า กล้ามเนื้อแขนและขาไม่ค่อยมีกำลัง เดินได้ลำบากและเมื่อให้ลุกขึ้นเองจากท่านั่งยอง จะไม่สามารถทำได้ จากการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงและวิตามินบี 1
    • โรคเหน็บชาชนิดเปียก (Wet Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการชาร่วมกับบวมปลายมือและเท้า ร่วมกับการมีน้ำคั่งในช่องท้องและปอด ร่วมกับภาวะทางหัวใจคือใจเต้นเร็วและหัวใจโต หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้หัวใจวาย และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
    • โรคเหน็บชาแบบจากสุราเรื้อรัง หรือ Wernicke-Korsakoff Syndrome พบได้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยมักจะเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ เดินเซและทรงตัวไม่ได้ การเคลื่อนไหวของลูกตาน้อย มีความผิดปกติทางจิตใจ มีปัญหาในด้านความทรงจำ สามารถเกิดอาการโคม่าและหัวใจล้มเหลียว จนถึงเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

สาเหตุหลักของโรคเหน็บชา

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นสาเหตุหลักที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหน็บชา คือ การขาดวิตามินบี 1 หรือไธอามีน (Thiamine) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญหลัก ๆ ในร่างกาย 2 ประการ คือ การทำหน้าที่เร่งกระบวนการหรือปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคส ทำให้ร่างกายสามารถนำเอาน้ำตาลไปใช้งานได้ และการมีส่วนสำคัญในระบบประสาทหรือการเหนี่ยวนำของกระแสประสาทให้ทำงานได้ดีเป็นปกติ

ภาวะขาดวิตามินบี 1 นี้ ก็จะสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ทั้งจากอาหารการกินที่ไม่เหมาะสม และจากโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ โดยอาหารที่พบวิตามัน บี 1 ในปริมาณมาก คือ ข้าวกล้อง ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี นมถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน และเนื้อหมู
  • ทานอาหารที่มีสารทำลายและยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 มากเกิน โดยเฉพาะของหมักและดอง เช่น ใบเมี่ยง หมากพลู ใบชา หอยลายดิบ ปลาร้า ปลาส้มดิบ แหนมดิบ ปลาน้ำจืดดิบ เป็นต้น
  • อยู่ในภาวะที่ร่างกายมีการเพิ่มอัตราการเผาผลาญ ทำให้ร่างกายต้องการวิตามินบี 1 มากขึ้นกว่าปกติเช่น หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เด็กในช่วงวัยเจริญเติบโต หญิงให้นมบุตร ผู้ใช้แรงงานหรือต้องทำงานหนัก ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อ ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) โดยแอลกอฮอล์จะมีผลยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่บริเวณลำไส้เล็ก ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมักทานอาหารน้อยกว่าคนปกติ ทำให้ขาดวิตามินอีกด้วย
  • คนที่เป็นโรคหรือได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหาร
  • ผู้ป่วยไตระยะสุดท้าย (ESRD) ที่ได้รับการฟอกไต (Hemodialysis)

 

การวินิจฉัย

ในการวินิจฉัยโรคเหน็บชานั้น แพทย์จะซักประวัติถึงเรื่องของอาหารการกินเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่กินอาหารจำเพาะ เช่น กินเจ กินมังสวิรัติ หรือเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์และข้าวบางชนิด ซึ่งอาจทำให้มีการขาดสารอาหารได้ และยังเน้นไปที่ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย และแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจ หรือตรวจร่างกายเพิ่มเติมตามภาวะความผิดปกติที่สงสัย ซึ่งอาจแตกต่างไปในแต่ละราย โดยอาจใช้วิธีการตรวจดังนี้

  • ตรวจการเคลื่อนไหว โดยให้ผู้ป่วยนั้นลองนั่งยอง ๆ ลงแล้วลุกขึ้น บางรายอาจพบว่าผู้ป่วยลุกขึ้นไม่ได้ และอาจจะตรวจพบรีเฟล็กซ์ทางระบบประสาท (reflex) มีการตอบสนองที่ลดลงด้วย
  • สำหรับในทารก แพทย์จะตรวจวินิจฉัยจากอาการหอบเหนื่อย ตากระตุก ตัวเขียว ขาบวม หรือพบชีพจรที่เต้นเร็ว อาจพบการตอบสนองรีเฟล็กซ์ที่น้อยหรือไม่พบเลย
  • ตรวจร่างกายทางระบบประสาท จะทดสอบการทำงานสัมพันธ์กันของร่างกาย และการตอบสนองของร่างกาย เนื่องจากในบางรายที่ขาดวิตามินบี 1 มากๆหรือเป็นเหน็บชาขั้นรุนแรง นั้นจะทำให้เกิดอาการหลงผิด (Delusion) หรืออาจส่งผลเสียต่อความจำ มีอาการสับสนได้
  • ตรวจร่างกายทางระบบหายใจและหัวใจ เพื่อดูปัญหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ระบบ เช่น อาการหายใจหอบเหนื่อยติดขัด ตัวเขียว หัวใจโตและเต้นเร็ว เป็นต้น
  • ตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ ทำให้สามารถวัดระดับวิตามินบี 1 ที่อยู่ในร่างกายได้ ซึ่งอาจจะพบวิตามินบี 1 ปะปนมาในปัสสาวะในผู้ที่มีปัญหาการดูดซึมของวิตามินนี้
  • ตรวจทางรังสีวิทยา ด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือ ซีทีสแกน (CT-Scan) เพื่อตรวจสอบดูการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกิดจากภาวะทางสมองขาดวิตามิน บี 1

 

การรักษา

การรักษาโรคเหน็บชานั้น แพทย์จะพิจารณาแยกเป็น 2 กรณีคือ

  • กรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์จะให้กินวิตามินบี 1 แบบเม็ดหรืออาจเป็นวิตามินบีรวม และปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ให้กินข้าวไม่ขัดสีและธัญพืชมากขึ้น รวมไปถึงขนมปังแบบโฮลวีทด้วย
  • กรณีที่รุนแรง แพทย์จะทำการฉีดวิตามินบี 1 ในขนาด 10 – 20 มิลลิกรัม วันละ 2 – 3 ครั้ง ผ่านทางหลอดเลือดดำหรือทางกล้ามเนื้อ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ใช้ชนิดฉีดขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 – 7 วัน จากนั้นจึงให้กินวิตามินบี 1 แบบเม็ดและติดตามอาการต่อไป หรือในรายที่สงสัยว่าจะมีภาวะหัวใจวาย แพทย์จะฉีดวิตามินนี้ 25 – 50 มิลลิกรัมร่วมกับการให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อประคองอาการเอาไว้

 

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเหน็บชานั้น อาจจะทำให้เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตได้ ในบางรายจะพบอาการทางจิต สับสนและหลงผิด อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบประสาทอย่างมาก ๆ ทั้งสมอง หัวใจ หรือกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน และอาจพบปัญหาเรื่องการมองเห็นหรือปัญหาด้านความทรงจำในผู้ป่วยบางราย

 

การป้องกันและดูแล โรคเหน็บชา

การป้องกันการเกิดโรคเหน็บชานั้นทำได้ไม่ยาก เนื่องจากภาวะของโรคนั้นคือการขาดวิตามินบี 1 จึงควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่ไม่ขัดสี โดยเฉพาะ ข้าวกล้องหรือธัญพืชต่าง ๆ เนื้อหมูไม่ติดมัน ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว นม ไข่แดง เป็นต้น และต้องลดการกินอาหารที่ไปขัดขวางการดูดซึมของวิตามินบี 1 เช่น ของหมักดอง รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่าง ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ลดการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลงหรือเลิกขาด และหากมีอาการเหน็บชาควรได้รับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

 

แหล่งข้อมูล : www.healthline.com  www.pobpad.com  www.medthai.com 

ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก