“วัยทอง” หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนรู้ว่าจะเกิดขี้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องทั้งหมดจะถูกต้องตามความเข้าใจ เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดตามมาหลังจากหมดประจำเดือนนั้น ย่อมแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และวัยทอง ก็ไม่ได้น่าหวาดกลัว หรือแย่เสมอไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง มาติดตามกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
วัยทองของทุกคนจะเริ่มที่อายุ 50 เท่านั้น
ความเข้าใจที่ว่าผู้หญิงจะหมดประจำเดือน ในช่วงเข้าสู่วัย 50 เท่านั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด ความจริงขึ้นอยู่กับการทำงานของรังไข่ในแต่ละคน ว่าจะชะลอจนถึงหยุดผลิตไข่ในช่วงอายุเท่าใด ทั้งนี้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ขึ้นไป โดยจะมีอาการก่อนหมดประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามาก-มาน้อยกะปริดกะปรอย ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย อื่นๆ เป็นอาการนำ
การเปลี่ยนสู่วัยทองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ใช้เวลาไม่นาน
การเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนอย่างแท้จริงนั้น รังไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ส่งผลให้เกิดความผันผวนของระดับระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จนเกิดอาการต่างๆอันเป็นสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่วัยทอง เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ทั้งในช่วงเวลาสั้นๆ หรือนานเป็นปีๆสำหรับในบางคน
วัยทองทุกคนมีอาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes) เหมือนกัน
อาการร้อนวูบวาบ เกิดขึ้นบ่อยในช่วงแรกๆของวัยทอง โดยจะมีลักษณะร้อนตามตัว เหงื่อออกมากผิดปกติ ใบหน้าแดง อื่นๆ แตกต่างกันไปจากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อชาติ สุขภาพ อายุ พฤติกรรม โดยพบอาการนี้ได้ในผู้หญิง 70-75% เมื่อเข้าสู่วัยทอง
อาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes) เป็นอาการเดียวที่สัมพันธ์กับอาการวัยทอง
การหมดประจำเดือน อาจส่งผลกระทบต่ออาการหรือโรคอื่นๆที่เป็นอยู่ ให้แย่ลงด้วย เช่น มีการศึกษาพบว่าคนไข้ที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวแตกต่างกันไปตามพฤติกรรม น้ำหนัก การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ เป็นต้น
ทางเดียวในการลดอาการวัยทอง คือ การทานฮอร์โมนทดแทน
มีทางเลือกมากกว่านั้น เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือถ้าให้ดีคุณอาจจะต้องศึกษาว่ามีเหตุผลใดบ้างที่อาจส่งผลให้อาการวัยทองรุนแรงขึ้น เช่น น้ำหนักมาก นอนดึกมาก กินเหล้า สูบบุหรี่ เมื่อพบสาเหตุ ให้รีบปรับแก้โดยด่วน ก่อนที่จะต้องพิจารณาทานฮอร์โมนทดแทน
ทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนทางเพศ
หากก่อนหน้าช่วงวัยทอง คุณมีแรงขับเคลื่อนทางเพศสูง ไม่ได้หมายความว่าช่วงวัยทองหรือช่วงหมดประจำเดือน คุณจะมีแรงขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวต่ำลงเสมอไป เพราะเรื่องนี้ขึ้นกับสุขภาพของทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม อาจเจอปัญหาช่องคลอดแห้ง ความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว จนส่งผลต่อความต้องการทางเพศอยู่บ้าง
อ้วนขึ้นแน่ ๆ หลังจากเข้าสู่วัยทอง
จริงอยู่เมื่อฮอร์โมนในร่างกายผันผวน ระบบเมตาบอลิซึมอาจแปรปรวนตามไปด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายถึงน้ำหนักตัวจะต้องเพิ่มขึ้นเสมอไป ในทางปฏิบัติการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ สัปดาห์ละ 5 วัน นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้แล้ว ยังช่วยรักษามวลกระดูกและกล้ามเนื้อของคุณได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าอาการช่วงก่อนหมดประจำเดือน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และสามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ใจสุขภาพ เลือกทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ปรับจิตใจให้แจ่มใส มองโลกแง่ดี ทุกคนจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างปกติ
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.mindbodygreen.com
ภาพประกอบ: www.pexels.com