ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ปัจจุบันโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease: CKD) ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของโลก เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตต่ำ และอัตราการเสียชีวิตสูง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยังมีมูลค่าที่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ในระยะที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า การล้างไต (dialysis) โดยข้อมูลของประเทศไทยในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่กำลังได้รับการล้างไตอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 70,000 คน และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึงประมาณปีละ 16,000 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะแรก ๆ อีกจำนวนมากที่ยังไม่แสดงอาการแต่มีโอกาสที่จะเกิดไตเสื่อมลงจนต้องกลายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในอนาคต โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์มากที่สุดถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคไตให้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ  เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมสามารถชะลอการเสื่อมของไตออกไปได้

 

คำจำกัดความและการแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง (Definition and classification of CKD)

การจะวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังจะต้องตรวจพบความผิดปกติทางด้านโครงสร้างหรือการทำงานของไตอย่างใดอย่างหนึ่งมานานกว่า 3 เดือนดังต่อไปนี้

  1. มีหลักฐานที่แสดงถึงการที่ไตถูกทำลาย (kidney damage) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ การตรวจพบไข่ขาวในปัสสาวะ (albuminuria) มากกว่า 30 มก./วัน หรือ
  2. อัตรากรองของเสียของไต (glomerular filtration rate: GFR) ลดลงต่ำกว่า 60 มล./นาที/1.73 ตร.ม. ค่าปกติประมาณ 90-110 ทำให้แพทย์บางคนเรียกค่า GFR นี้ว่า เปอร์เซ็นต์การทำงานของไตเพื่อให้ผู้ป่วยเห็นภาพได้ง่าย

ในปัจจุบันเราแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังออกตามระดับของ GFR (% การทำงานของไต) และระดับของไข่ขาวปัสสาวะ แต่โดยทั่วไปในทางปฏิบัติแพทย์โรคไตจะแจ้งผู้ป่วยตามระยะของ GFR  เป็นหลักซึ่งแบ่งออกเป็นระยะที่ 1 ถึง 5 ซึ่งในระยะที่ 5 (GFR < 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม.) จะเป็นระยะที่ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวเข้ารับการล้างไต โดยข้อมูลจากการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่า ประชากรมีโรคไตเรื้อรังจำนวนสูงถึงร้อยละ 17.5 % โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1 และ 2 ร้อยละ 8.9 และระยะที่ 3-5 อีก ร้อยละ 8.6

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าประชากรไทยมีภาวะโรคไตเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 17.5 ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะยังไม่แสดงอาการจนกว่าจะเข้าสู่ระยะท้าย ๆ (GFR น้อยกว่า 30 มล./นาที/1.73 ตร.ม. หรือระยะที่ 4 และ 5) ซึ่งเป็นระยะที่ไม่สามารถชะลอการล้างไตออกไปได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังคือ การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของไตที่ซ่อนอยู่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นแม้ว่าจะไม่มีสัญญาณหรืออาการใด ๆ

 

“ใครบ้างควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง”

ผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการตรวจหาโรคไตเรื้อรังคือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
  • ตรวจพบนิ่วในไต
  • เคยได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต (โดยเฉพาะยาแก้ปวดและสมุนไพร)
  • มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มีประวัติโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง
  • มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
  • อายุมากกว่า 60 ปี

 

“การตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง ต้องตรวจอะไรบ้าง”

โดยทั่วไปการตรวจหาความผิดปกติของไตทำได้ไม่ยาก ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปจะรวมการตรวจสุขภาพไตขั้นต้นอยู่แล้ว ได้แก่

  1. วัดความดันโลหิต
  2. ตรวจปัสสาวะ โดยเฉพาะการตรวจหาไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ
  3. ตรวจเลือดหาระดับ “คริอะตินิน” เพื่อไปคำนวณค่า GFR (% การทำงานของไตที่เหลืออยู่)

ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้สามารถบอกได้ขั้นต้นว่ามีโรคไตระยะแรกซ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งการตรวจร่างกายประจำปีของกองเวชศาสตร์ป้องกัน กรมแพทย์ทหารอากาศ ได้มีการตรวจครบทั้ง 3 อย่างในข้าราชการที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป โดยหากตรวจพบว่า มีความผิดปกติของไตก็ควรที่จะพบอายุรแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตตลอดจนป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

 

“กลเม็ดเคล็ดลับ ทำอย่างไร ไตไม่วาย”

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือมีแค่ความผิดปกติของไตระยะแรก ๆ นั้น เรามีกลเม็ดเคล็ดลับป้องกันไตวายอะไรบ้าง มาดูกันดังนี้

  1. ทำการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังและติดตามค่าการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง
  2. รักษาโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไต ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอสแอลอี โรคเก๊าท์ นิ่วในไต การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ ควรพบแพทย์และตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  3. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรควบคุมความดันโลหิต ให้ไม่เกิน 130/80 มม.ปรอท
  4. ผู้ป่วยเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำกว่า 130 มก.ต่อเดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) < 7 %
  5. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เป็น “สาเหตุของไตเสื่อมเฉียบพลัน” เช่น ป้องกันอย่าให้เกิดโรคเก๊าท์กำเริบ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกระดูก ยาหม้อ และสมุนไพร
  6. รับประทานอาหารเค็มต่ำ (low salt) เกลือโซเดียม 2 กรัม (เทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา) โดยอาหารที่มีเกลือสูง ได้แก่ อาหารแปรรูปทั้งหลาย เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไมดอง เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ผงชูรส หมูแผ่น หมูหยอง ไส้กรอก แฮม เบคอน ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก เป็นต้น
  7. สนใจสุขภาพตนเองกินอาหารที่มีคุณค่าสูง ออกกำลังกายเป็นประจำควบคุมน้ำหนักตัวให้ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่

 

น.อ. นพ. พงศธร คชเสนี
อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุยเดช
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก