ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) หมายถึง กลุ่มอาการอักเสบของเซลล์กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ มักพบเป็นการอักเสบเรื้อรังได้บ่อยกว่าการอักเสบแบบเฉียบพลับ

 

อาการและอาการแสดง

แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • อาการทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ
  • อาการจากตัวกล้ามเนื้อที่อักเสบ เช่น กล้ามเนื้อบวมและเจ็บเมื่อจับคลำหรือเมื่อใช้งาน ถ้าจับจะรู้สึกร้อน ในระยะยาวกล้ามเนื้อจะลีบจากเซลล์กล้ามเนื้อกลายเป็นพังผืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ เช่น แขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ จากการอักเสบของกล้ามเนื้อแขนขา การกลืนลำบากจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อในลำคอ การหายใจลำบากหรือหายใจเองไม่ได้จากการอักเสบของกล้ามเนื้อซี่โครง เป็นต้น
  • อาการจากสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากโรคมะเร็ง กล้ามเนื้ออักเสบจากเชื้อไวรัส กล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมันในเลือดสแตติน (Statins) เป็นต้น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หากพบว่ามีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น ปวด ร้อน บวม แดง ต่อเนื่องกันนานเกิน 3 วัน หรือ ลองรักษาด้วยตัวเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามความเหมาะสม

 

สาเหตุ

แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  • กลุ่มที่ยังไม่ทราบแน่ชัด (Idiopathic inflammatory myopathy) แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของตนเอง หรือกล้ามเนื้ออักเสบอาจเป็นอาการแสดงส่วนหนึ่งของโรคออโตอิมูนก็ได้ กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักเป็นแบบเรื้อรัง รักษาไม่หาย ตัวอย่างเช่น
    • Polymyositis (PM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกัน พบบ่อยในกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา กล้ามเนื้อหลอดอาหาร
    • Dermatomyositis (DM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกับมีผื่นผิวหนังอักเสบ แดง เป็นสะเก็ดร่วมด้วยเสมอ โดยมักพบที่ใบหน้า ลำคอ รอบตา และผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดดเป็นประจำ โรคนี้พบเกิดร่วมกับโรคมะเร็งได้ประมาณ 10%
    • Inclusion body myositis (IBM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อทุกมัดแต่มักเป็นซีกเดียวกันเช่นซ้ายหรือขวา โดยจะค่อย ๆ แสดงอาการ จนมีอาการกล้ามเนื้อลีบ โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นปี
  • การติดเชื้อ (Infectious myositis) จากการที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคฉี่หนู เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อมักเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน และมีการพยากรณ์โรคที่ดี เนื่องจากสามารถรักษาให้หายไปพร้อม ๆ กับโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ได้ ในเด็ก อาจพบอาการกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง ตามหลังการติดเชื้อ เช่น อักเสบกล้ามเนื้อน่องจนเดินไม่ได้จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • การมีหินปูนจับ (Myositis ossification) มักเกิดหลังจากการบาดเจ็บจนฟกช้ำ มีเลือดออกภายในกล้ามเนื้อ ร่างกายจะมีการซ่อมแซม จนเกิดเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเจ็บปวดเมื่อคลำหรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักไม่รุนแรง โดยทั่วไปสามารถรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ร่างกายดูดซึมหินปูนหรือกระดูกที่เกิดขึ้นให้หมดไปได้
  • ยา (Drug-induced myositis) ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โดยอาการมักเกิดหลังเริ่มรับประทานยา หรือหลังใช้ยานั้นเป็นเวลานาน หรือใช้ยาหลายตัวพร้อมกัน เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ยารักษาโรคเกาต์ (Cochicine) ยา Interferon เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยจาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา การตรวจร่างกาย การตรวจคลำกล้ามเนื้อมัดที่เกิดอาการ การตรวจเลือด เช่น CBC ที่บอกถึงการติดเชื้อ ค่าเอนไซม์ที่บอกถึงมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ (CK, Creatine kinase หรือ CPK, Creatine phosphokinase) ค่าสารภูมิต้านทานหรือสารก่อภูมิต้านทานของโรค การตรวจสภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

 

การรักษา

แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ

  1. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ในกรณีที่มีการอักเสบไม่มาก
    • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) (Paracetamol, Acetaminophen) การประคบร้อนและประคบเย็น ในช่วง 1 – 3 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ
    • พักใช้งานกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ และการใช้อุปกรณ์ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบนั้นเกิดการเคลื่อนไหวหรือให้เคลื่อนไหวได้น้อยที่สุด
    • การยืดและบริหารกล้ามเนื้อเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการยึดติด รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อที่อักเสบเมื่ออาการดีขึ้น เป็นต้น
  2. การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
  3. การรักษาสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ แนวทางนี้จะแตกต่างกันขึ้นกับโรคหรือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น การปรับวิธีการรักษามะเร็ง เมื่อมีการอักเสบของกล้ามเนื้อจนส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตผู้ป่วย การหยุดหรือเปลี่ยนยา เมื่อการอักเสบของกล้ามเนื้อเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึง การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ปฏิบัติตามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำโดยรับประทานยาให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง เข้ารับการตรวจรักษาตามนัดหมายทุกครั้ง อาจไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด หากอาการที่เป็นแย่ลง เช่น ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น หรืออาการผิดปกติหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ มีไข้ มีผื่น ปัสสาวะขัด เป็นต้น
  • ในส่วนการป้องกันจะเน้นการป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไป เช่น
    • ป้องกันการใช้กล้ามเนื้อผิด โดยออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหม มีการวอร์มอัพและคูลดาวน์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
    • ป้องกันการติดเชื้อ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ใช้หน้ากากอนามัย
    • ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เมื่อซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

 

แหล่งข้อมูล : www.medlineplus.gov  www.healthline.com  www.pobpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com


1.jpg

ฝ้า เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้ม ส่วนมากจะขึ้นที่บริเวณใบหน้าส่วนที่ถูกแสงแดดมาก ๆ เช่น หน้าผาก โหนกแก้มทั้งสองข้างและดั้งจมูก นอกจากนี้ อาจพบได้ที่คอ และแขนด้านนอก มักเป็น 2 ข้างเท่า ๆ กัน บางคนอาจมีรอยดำที่หัวนม รักแร้ ขาหนีบ หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในระหว่างตั้งครรภ์ และในวัย 30 – 40  ปีขึ้นไป

 

ประเภทของฝ้า

ฝ้ามี 2 ชนิด คือ 1) แบบตื้น (Superficial type)  ลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด ขึ้นเร็ว หายเร็ว รักษาโดยการใช้ยาทาฝ้าอ่อน ๆ และยากันแดด 2) แบบลึก (Deep type) ลักษณะเป็นสีม่วง ๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัดเจน ไม่หายขาด การทายาฝ้าอ่อน ๆ และยากันแดดพอทำให้ดีขึ้นได้

 

การรักษาฝ้าด้วยสมุนไพร

ไม่มีสมุนไพรที่รักษาฝ้าได้ แต่มีสมุนไพรที่ช่วยป้องกันและลดการเกิดฝ้า ดังนี้

  1. ว่านหางจระเข้ ช่วยลดการอักเสบเนื่องจากแดด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้า
  2. ขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย ช่วยบำรุงผิวให้สดใส ลดริ้วรอย รักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ ฟื้นฟูสภาพผิว
  3. ว่านสากเหล็ก ช่วยทำให้ผิวขาวสดใส กัดฝ้า ควรใช้แต่พอดี เพื่อความเหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละท่าน
  4. แตงกวา แก้หน้าเป็นฝ้า โดยหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ใช้แปะไว้ให้ทั่วใบหน้า
  5. หัวไชเท้า หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ถูบริเวณที่เป็นฝ้า เช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง ช่วยแก้หน้าเป็นฝ้าได้
  6. แครอท ช่วยบำรุงผิว มีคุณสมบัติในการช่วยดูดซับแสง UV และกระชับรูขุมขน
  7. ไพล แก้ผิวหนังอักเสบ บำรุงผิว

อย่างไรก็ตาม ฝ้าเป็นสิ่งที่รักษาให้หายจนผิวเนียนเรียบเสมอกันไม่ได้ แต่ทำให้ผิวค่อย ๆ จางลงจนเกือบเป็นปกติได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า ที่สำคัญ คือ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด อย่าถูกแดดมาก (เวลาออกกลางแจ้ง ควรใส่หมวก หรือกางร่ม) ควรหลบแสงไฟแรง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม และเครื่องสำอาง พักผ่อนให้เพียงพอและอย่าให้อารมณ์เครียด

 

ภาพประกอบจาก: www.lovepik.com


.jpg

ข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบในข้อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อยู่ภายในข้อ เช่น หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อนหุ้มผิวข้อ เยื่อบุภายในข้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก เกิดการอักเสบ เสียหายและบาดเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดข้อ ข้อบวม กดเจ็บ เกิดข้อติดขัด ไม่สามารถขยับข้อได้อย่างปกติ ข้ออักเสบพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ พบทั้งในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 65 ปี และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

 

อาการ ข้ออักเสบ

ข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันได้ โดยสามารถแบ่งอาการข้ออักเสบเป็น อาการบริเวณข้อและอาการนอกบริเวณข้อ

  • อาการบริเวณข้อ จะพบอากาดังนี้ ปวด บวม แดง ร้อน หรือกดเจ็บบริเวณข้อ มีภาวะข้อยึดติด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวได้น้อย ขยับข้อได้ลำบาก ยืดข้อได้ไม่สุด และอาจมีข้อผิดรูป เช่น ข้อ งอ โก่ง ข้อปูดบวมได้
  • อาการนอกบริเวณข้อ เป็นอาการที่เกิดร่วมกับอาการบริเวณข้อ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบ เช่น อาการของโรคออโตอิมมูน อาการจากภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นต้น

สำหรับข้ออักเสบชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis: OA) เป็นโรคที่มีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ อาจมีปุ่มงอกบริเวณข้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ โดยมักปวดตื้อ ๆ ที่บริเวณข้อ ปวดทั่วๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้ มักปวดเรื้อรัง และมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้งานหรือลงน้ำหนักที่ข้อนั้นเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะมีภาวะข้อฝืด โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังจากพักข้อเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีข้อบวมผิดรูป และจะค่อย ๆ สูญเสียการทำงานหรือการเคลื่อนไหวที่บริเวณข้อนั้น ๆ  โรคข้อเสื่อมมักพบที่ข้อเข่า ข้อกระดูกสันหลังบริเวณเอว ข้อสะโพก ข้อมือ และต้นคอ
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis: RA) มักเกิดในผู้หญิงอายุ 30 ถึง 50 ปี มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อของกระดูก อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ร้อน และบวมตามข้อ โดยเฉพาะข้อต่อเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า และมักเกิดสมมาตรกัน โดยหากเกิดข้ออักเสบด้านขวาก็จะเกิดด้านซ้ายด้วยเช่นกัน และพบตรงบริเวณข้อใหญ่ ๆ ได้น้อย อาการปวดมักมีอยู่แม้ในขณะพักไม่ได้ใช้ข้อ หลังจากตื่นนอนจะมีอาการข้อต่อติดแข็งเป็นเวลานานกว่าชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เมื่อยล้า มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และอาจพบก้อนรูมาตอยด์ใต้ผิวหนังบริเวณข้อศอกและข้อมือได้ โดยก้อนรูมาตอยด์เป็นปุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกินเซลล์ต่าง ๆ ที่ตายแล้ว

 

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์

เนื่องจากกิจกรรมบางอย่าง เช่น การยกของหนัก ออกกำลังกาย อาจทำให้เกิดการปวดข้อได้ อย่างไรก็ตามหากพักข้อหรือคอยดูอาการหลายวันแล้ว ไม่บรรเทาลงหรืออาจมีอาการเพิ่มขึ้น ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุพร้อมวางแผนการรักษาทันที

 

ผลข้างเคียง

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่ไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ อาจมีภาวะข้อผิดรูปและสูญเสียการทำงาน จนถึงขั้นพิการ ทั้งนี้ไม่นับรวมผลข้างเคียงจากโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ข้ออักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดผลเสียเช่นเดียวกัน

 

สาเหตุ ข้ออักเสบ

ข้ออักเสบมีสาเหตุหลายอย่าง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ข้อเสื่อมตามอายุ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้สูงอายุจะมีเซลล์เนื้อเยื่อข้อเสื่อมลงเป็นส่วนใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือหลังวัยหมดประจำเดือน
  • ข้ออักเสบจากการใช้ข้อซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การเล่นกีฬาอาชีพ การยกของหนัก การก้มหรือการนั่งงอเข่านาน ๆ
  • ข้อเสื่อมจากข้อรับน้ำหนักมากต่อเนื่อง เช่น ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินทำให้เกิดแรงกดปริมาณมาก ไปยังข้อที่รับน้ำหนักของร่างกาย เช่น ข้อเข่าและสะโพก
  • โรคออโตอิมมูน โรคของความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในร่างกาย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อที่บริเวณข้อต่อ หรือน้ำเลี้ยงข้อต่อ ทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบในที่สุด ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น
  • ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เชื้อสาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้อาจพบเชื้อรา และเชื้อไมโคแบคทีเรียร่วมด้วย
  • โรคจากความผิดปกติในการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร เช่น โรคเกาต์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อ หรือโรคเกาต์เทียม ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต
  • อุบัติเหตุต่อข้อ เกิดจากข้อได้รับบาดเจ็บที่ข้อโดยตรง เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย

 

การวินิจฉัย ข้ออักเสบ

  • การซักประวัติอาการต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต อาชีพ กิจกรรม การออกกำลังกาย การทำงาน และซักหาอาการสำคัญอื่น ๆ เช่น ช่วงเวลาการเกิดอาการเจ็บปวด รูปแบบการปวด ความสมมาตร อาการข้อติดขณะพัก หรือหลังตื่นนอน ปัจจัยกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงหรือทุเลาลง เป็นต้น
  • การตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะตรวจดูข้อที่มีอาการและข้อต่าง ๆ ที่ปกติ อาจมีการตรวจภาพข้อด้วยการเอกซเรย์ การทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อติดตามหรือประเมินความรุนแรงของโรค
  • การตรวจสืบค้นที่ซับซ้อนเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือด เพื่อดูสารภูมิต้านทาน แอนตี้บอดีจำเพาะ รูมาตอยด์แฟกเตอร์ ตรวจหาการติดเชื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเจาะตรวจของเหลวจากข้อ การตัดชิ้นเนื้อเยื่อบริเวณข้อไปตรวจ หรือตรวจภาพข้อด้วยวิธีจำเพาะอื่น ๆ เช่น เอ็มอาร์ไอ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรง ควรเข้าพบเพื่อรับการตรวจรักษา จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อโดยตรง

 

การรักษา ข้ออักเสบ

ข้ออักเสบมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป การรักษานอกจากควบคุมอาการปวดเฉพาะที่แล้ว ยังจำเป็นต้องควบคุมสาเหตุของโรคด้วย แนวทางการรักษาโรคข้ออักเสบจึงแบ่งเป็น

  1. การรักษาการอักเสบบริเวณข้อ การรักษาการอักเสบบริเวณข้อ จะใช้ยาที่สามารถลดการปวดและอักเสบ โดยเป็นยาในกลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ชื่อเต็มคือ Non-Steroidal Anti-Inflammatory เป็นกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวด บวม หรืออักเสบต่าง ๆ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) ไดโคลฟิเน็ก (Diclofenac) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะใช้บรรเทาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง เช่น การแพ้ยา กระเพาะอาหารอักเสบ ไตวาย และโรคหัวใจ โดยบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อลดการอักเสบแบบเฉียบพลัน และมักใช้ในกรณีข้ออักเสบรูมาตอยด์
  2. การรักษาที่สาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบ โดยการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของข้ออักเสบ เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบจากการติดเชื้อจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ผู้ป่วยข้ออักเสบจากโรคออโตอิมมูน อาจต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นต้น

นอกจากนี้การรักษาข้ออักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาแบบผสม โดยแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด พร้อมการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ควบคุมน้ำหนัก ใช้อุปกรณ์พยุงข้อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อหรือใส่ข้อเทียม การหลีกเลี่ยงการใช้ข้อหรือการพักข้อเมื่อข้ออักเสบเกิดจาการใช้งานข้อซ้ำๆ หรือเกิดอุบัติเหตุ การดูดของเหลาวที่คั่งอยู่ในข้อออกลดภาวะข้อบวม การฉีดยาลดการอักเสบเข้าบริเวณข้อ ซึ่งเหล่านี้ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ และสาเหตุการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายในขณะนั้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคข้ออักเสบ

การดูแลตนเองเมื่อมีข้ออักเสบ

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รับประทานยาให้ถูกต้อง ตรงเวลา ที่สำคัญไม่หยุดยาเอง โดยเฉพาะยา กลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ยกเว้นเมื่อมีอาการปวดรุนแรง และไม่ควรรับประทานยากลุ่มนี้ติดต่อเป็นเวลานาน เนื่องจากเสี่ยงเกิดการแพ้ยา หรือเกิดอาการข้างเคียง ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไตวาย โรคหัวใจ และอื่น ๆ
  • โรคข้อเสื่อม เป็นโรคเรื้อรัง อาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในผู้ที่มีอาการในระยะเริ่มแรกควรหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังเพื่อชะลอการดำเนินของโรคให้ได้มากที่สุด หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่เป็นอันตรายต่อข้อ ลดน้ำหนัก บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรง หรือพักข้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งระยะและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามสภาพผู้ป่วยแต่ละคน แม้ไม่สามารถย่นระยะเวลาการเป็นโรคได้ แต่การรักษาแต่เนิ่น ๆ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยคงสภาพการทำงานของร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
  • ควรประคบข้อที่อักเสบด้วยการประคบร้อน/ประคบอุ่น หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูกให้แข็งแรง

การป้องกัน

ข้ออักเสบเป็นภาวะที่ป้องกันได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะข้ออักเสบที่เกิดจากอิมมูน อย่างไรก็ตามโรคข้อเสื่อมซึ่งมักพบได้ในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้โดยปฏิบัติดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการนั่งย่อหรือนั่งงอเข่าเป็นเวลานาน
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เนื่องจากภาวะอ้วนจะเพิ่มแรงกดทับที่บริเวณข้อต่อที่รับน้ำหนักของร่างกาย
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ โดยเฉพาะที่บริเวณข้อเข่า ให้แข็งแรง ใช้ข้อต่าง ๆ และเคลื่อนไหว ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
  • ออกกำลังกาย โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักบริเวณข้อมากเกินไป เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น

 

แหล่งที่มา

  1. www.mayoclinic.org 
  2. th.wikipedia.org 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-กัดต่อย.jpg

อาการแพ้อักเสบที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือสัมผัสสิ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ เช่น ยุงกัด แมลงกัด ถูกแมงกะพรุนไฟ ผึ้งต่อย มักปรากฏอาการเป็นผื่น มีตุ่มน้ำ หรือจุดแดงเล็ก ๆ รู้สึกคัน ถ้าเกาอาจมีน้ำเหลือง หรืออักเสบเป็นหนองได้ ชาวบ้านมักเรียกว่าน้ำเหลืองไม่ดี อาการนี้อาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง ส่วนผู้ที่เป็นมากและเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ริมฝีปากบวม หนังตาบวม มีลมพิษขึ้นทั่วตัว คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจหอบ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 15 – 30 นาที

 

ในกรณีที่ถูกแมลงที่มีเหล็กในจำพวกผึ้ง แตน แมลงภู่ หรือหมาร่ากัดต่อย ควรรีบเขี่ยออกทันที โดยใช้มีด หรือปลายเข็มที่สะอาดขูดออก หรืออาจใช้กระดาษสก๊อตเทปปิดทาบแล้วดึงออก เหล็กไนจะหลุดออกมาด้วย หรือจะใช้ปลายหลอดกาแฟแข็ง ๆ หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่น ครอบจุดที่ถูกต่อยแล้วกดลงให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา จากนั้นจึงใช้คีมคีบออก ควรป้องกันโดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้ หรือแมลงเหล่านั้น

 

สมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในการบรรเทาอาการอักเสบจากพิษ มีอยู่ด้วยกันหลายตัว คือ

  1. ขมิ้น ใช้ส่วนของเหง้าสดและแห้ง โดยนำเอาเหง้าของขมิ้นยาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการแพ้คัน อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
  2. ตำลึง โดยใช้ใบสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย
  3. ผักบุ้งทะเล ใช้ใบสดและเถาสด ต้มเป็นยาแก้คันตามผิวหนัง
  4. พญายอ ใบพญายอรักษาอาการอักเสบเฉพาะที่ (ปวด บวมแดง ร้อน แต่ไม่มีไข้) จากแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น ตะขาบ แมงป่อง ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น โดยเอาใบสด 10 – 15 ใบ (มากน้อยตามบริเวณที่เป็น) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมเหล้าขาวพอชุ่มยา ใช้น้ำและกากทา พอกบริเวณที่บวม หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ทาซ้ำบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย
  5. เสลดพังพอน ใบสดของเสลดพังพอนรักษาอาการแพ้อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเอาใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น หรือต่ำผสมเหล้าหรือแอลกอฮอล์เช็ดแผลเล็กน้อยก็ได้

 

ภาพประกอบจาก: www.commons.wikimedia.org


-ใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง.jpg

สับปะรด (Pineapple) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ananas comosus (Linn.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ Bromeliaceae สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย และจัดเป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมรับประทาน เนื่องจากมีกากใยสูง และมีเอนไซม์บรอมีเลน (bromelain) ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยโปรตีนได้ดี

 

ในส่วนของแพทย์แผนโบราณนั้น สับปะรดสามารถนำมาทำเป็นยาได้ทุกส่วน และมีสรรพคุณแตกต่างกันดังนี้

  1. เหง้า หรือตะเกียง รสหวานเย็น มีสรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด ระดูขาว แก้หนองใน
  2. เนื้อผล รสเปรี้ยวหวาน มีสรรพคุณ ขับเสมหะ แก้อักเสบ แก้บวม แก้ลักปิดลักเปิด ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เนื้อนุ่ม
  3. เปลือกผล รสเฝื่อนเปรี้ยว มีสรรพคุณ บำรุงไต แก้กระษัย ขับปัสสาวะ
  4. ใบ รสเฝื่อน มีสรรพคุณ ขับพยาธิ

 

ตำรับยาพื้นบ้านที่ใช้สับปะรดเป็นส่วนผสม เช่น

  1. แก้ขัดเบา ใช้เหง้า หรือตะเกียงสับปะรด ต้มกับน้ำดื่ม
  2. แก้ท้องผูก น้ำสับปะรดสด 1 ถ้วย ใส่เกลือพอควรรับประทานตอนเช้าช่วงท้องว่าง
  3. แก้มุตกิด ใช้เหง้าสับปะรด ต้นบานไม่รู้โรย โคกกระสุน หน้าวัว รากลำเจียก รากหญ้าคา หัวหญ้าชันกาด หนักสิ่งละ 2 บาท ข้าวเย็นเหนือ-ใต้ สิ่งละ 5 บาท สารส้มหนัก 2 สลึง ต้มกินแก้มุตกิด ระดูขาว มุตฆาต เน่าร้ายภายใน ขับหนองใน

นอกจากนี้ หลายประเทศมีการสกัดเอนไซม์บรอมีเลน (bromelain) จากสับปะรด เพื่อช่วยในการให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น รวมทั้งลดอาการอักเสบ แผลบวม หรืออาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมทั้งมีการทดลองใช้บรรเทาอาการอักเสบจากริดสีดวงทวาร อาการเกี่ยวกับเส้นเลือดดำ โรคกระดูก และข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เกาต์ และอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าฤทธิ์ย่อยโปรตีนอย่างเป็นธรรมชาติของบรอมีเลน อาจช่วยลดการเกาะกันเป็นลิ่มเลือดของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกหลายชนิด

นอกจากมีเอนไซม์บรอมีเลน ยังสามารถช่วยย่อยอาหารได้ทั้งในสภาวะเป็นกรดและด่าง จึงเหมาะมากที่จะไปช่วยย่อยในกระเพาะซึ่งเป็นกรด ก่อนจะตามไปย่อยต่อในลำไส้เล็กซึ่งเป็นด่าง และถ้าจะให้ดีก็เอาสับปะรดสุกปั่นกับมะละกอสุก ๆ ชิ้นประมาณเท่าฝ่ามือ ก็จะทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยย่อยที่ดีมาก เพราะในมะละกอมีน้ำย่อยธรรมชาติอีกตัว ชื่อปาเปน จะช่วยให้การย่อยมีพลังมากยิ่งขึ้น สามารถดื่มหลังอาหารมื้อที่หนักไปทางเนื้อสัตว์ ลดอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย

 

ภาพประกอบจาก: www.pixabay.com


-PM-2.5-เสี่ยงเป็นโรคไต.jpg

“พฤติกรรมการบริโภคเค็ม” อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหลังจากมีการศึกษาพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5  มีความเสี่ยงที่จะมีส่วนร่วมทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละออง PM 2.5 (Particulate matter 2.5) คืออนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่เห็นลอยในบรรยากาศ โดยมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ที่พบและเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 – 10 ไมครอน และ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลจากยานพาหนะ ควันเสียจากการใช้พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม การปิ้ง เผาประกอบอาหาร และการเผาชีวมวลในช่วงก่อน-หลังฤดูการเพาะปลูก ในเขตเมืองจะประสบปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า เพราะมีหลายปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาชีวมวลร่วมกับฝุ่นจากเขตเมือง ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  เพราะเป็นละอองที่ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเขตเมืองมีอาคารสูง จึงเกิดลมนิ่งได้ง่ายกว่าทำให้มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  1. ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งโรคไต
    ฝุ่นละอองเป็นปัญหาและภัยต่อสุขภาพได้ทุกรูปแบบ ในช่วงแรกได้มีการตระหนักถึงภัยต่ออาการทางเดินหายใจและโรคหัวใจเป็นหลัก อย่างไรก็ดีฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งไตด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในประเทศจีน 282 เมือง พบว่า ผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตอักเสบ ชนิด membranous nephropathy โดยที่ระดับฝุ่นที่ผู้ป่วยสัมผัสมีปริมาณ ตั้งแต่ 6 – 114 ug/m3 (เฉลี่ย 52.6 ug/m3) การสัมผัสฝุ่นทุก ๆ 10 ug/m3 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคไตขึ้นร้อยละ 14 การศึกษาในสหรัฐอเมริกา US Veterans กว่า 2 ล้านคนพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ในไต้หวันก็พบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และสตรีผลจะรุนแรงขึ้น
  2. ความดันโลหิตสูง
    นอกจากนี้อากาศเป็นพิษหรือฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการยืนยันการศึกษาจากหลายประเทศร่วมกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับการที่ไตขับโซเดียมลดลง มีการคั่งของโซเดียมในร่างกายและเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  3. เบาหวานเพิ่มขึ้น
    ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ยังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในยุโรปและอิหร่านพบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง PM และ NOx เป็นเวลานาน จะสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี


โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 จึงเป็นทั้งสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ กลไกคือมีทั้งการกระตุ้นภาพประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบ มีความผิดปกติของเซลล์บุหลอดเลือด (endothelium) ทำให้หลอดเลือดหดตัว ผลระยะยาวจากความดันโลหิตสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่ม เช่น สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนและเบาหวาน ก็จะทำให้โอกาสเป็นโรคไตสูงมาก สรุป ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลต่อทุกอวัยวะ สารการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากฝุ่นนี้จะเข้าสู่ร่างกายแพร่กระจายไปทุกอวัยวะ รวมทั้งมีผลโดยตรงต่อไป เราต้องร่วมมือกันหาแนวทางลดมลภาวะ PM 2.5 เช่น ลดการเผาไหม้ หาแหล่งพลังงานใหม่ และหลีกเลี่ยงจากฝุ่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


-จากการเล่นกีฬา-H2C00-h2c.jpg

สำหรับหลาย ๆ ท่านที่อยู่ในวัยทำงาน คงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไปไม่ได้ วันนี้เรามาดูผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ กรณีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด จากการเล่นกีฬา ไม่นับรวมกรณีการบาดเจ็บรุนแรง จนกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน

 

สาเหตุการบาดเจ็บ แบ่งได้เป็น 3 แบบ

  1. เกิดจากแรงภายนอกมากระแทก เช่น ถูกเตะที่ขา หกล้มข้อเท้าพลิก บิดเอี้ยวตัวมากเกินไป
  2. เกิดจากแรงภายใน มีการหดตัวอย่างรุนแรง เช่น เอ็นร้อยหวายฉีกขาดในนักกีฬากระโดดสูง กล้ามเนื้อต้นขาฉีกขาดในนักฟุตบอล กล้ามเนื้อต้นแขนฉีกขาดในนักเทนนิส
  3. เกิดจากการใช้งานมากเกินไป และซ้ำ ๆ เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง แต่เกิดซ้ำที่เดิมบ่อย ๆ
    ซึ่งมักเกิดจากเทคนิคในการเล่นกีฬา และใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ เส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ กล้ามเนื้อหลังอักเสบ

 

ระดับความรุนแรง และแนวทางการรักษา

สำหรับแนวทางการรักษานั้น โดยจะขึ้นอยู่กับระดับของความรุนแรง ในเบื้องต้นมี 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 มาดูกันว่า แต่ละระดับมีรายละเอียดเป็นอย่างไร

  • ระดับหนึ่ง เส้นใยของเอ็นยึดข้อบางเส้นใยฉีกขาด ทำให้เวลากดหรือเคลื่อนไหวข้อนั้นจะรู้สึกปวดเล็กน้อย แต่จะบวมไม่มากหรือไม่มีเลย สามารถเดินลงน้ำหนัก หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ใกล้เคียงปกติ ประมาณ 2 – 3 วัน ข้อที่บวมไก็จะยุบเหมือนปกติ แต่อาจมีอาการปวดอยู่บ้าง ซึ่งใช้เวลา1 – 2 อาทิตย์ ก็จะหายสนิท
    • การรักษา ใช้ผ้ายืดพัน หรืออุปกรณ์พยุงข้อ 1 – 2 อาทิตย์

 

บาดเจ็บ-จากการเล่นกีฬา

https://www.today.com/health/pain-when-working-out-signs-you-need-stop-or-keep-I518455

 

  • ระดับสอง เอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร มีบวมและฟกช้ำมากขึ้น ยังพอเดินได้หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ กว่าจะยุบบวมอาจต้องใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ ใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะหายสนิท

    • การรักษา ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์ แล้วต่อด้วย อุปกรณ์พยุงข้อ 2 – 4 อาทิตย์
  • ระดับสาม เอ็นยึดข้อเกิดการฉีกขาดทั้งหมด จะมีอาการปวดมาก ข้อบวมและฟกช้ำมาก
    ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักได้ ขยับข้อนิดหน่อยก็ปวด

    • การรักษา ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น

  

แนวทางรักษา

ในเบื้องต้นจะขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ แต่จะต้องรีบทำการปฐมพยาบาล โดยใช้หลัก RICE

  1. R (Rest) พัก = ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ เช่น ไม้ดาม ผ้ายืดพัน เฝือก หรือใช้ไม้เท้า
    พยุงเดิน
  2. I (Ice) น้ำแข็ง = ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บาดเจ็บ เมื่อเกิดการบาดเจ็บในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็นครั้งละ 5 – 10 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยให้เลือดไม่ออกมาก ช่วยลดการบาดเจ็บ ลดการอักเสบ และลดบวม
    ห้าม ใช้ความร้อน เช่น ยาหม่อง น้ำมัน หรือครีมนวด ไม่ว่าจะทาแล้วร้อนหรือทาแล้วเย็น เพราะจะทำให้เลือดออกมาก บวมมากขึ้นได้
  3. C (Compress) รัด = ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ รอบข้อที่เคล็ด เพื่อให้อยู่นิ่ง และ ไม่ให้เลือดออกมากขึ้น
  4. E (Elevate) ยก = ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ ช่วยลดบวมและลดปวดได้ เช่น ถ้าข้อเท้าแพลง เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยเท้า หรือ เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
  • ถ้าปวดมาก อาจรับประทานยาพาราเซตตามอล ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ ส่วนยาต้านการอักเสบที่ไมใช่สเตียรอยด์ (Nsaids) จะมีผลข้างเคียงเรื่องแผลในกระเพาะอาหาร จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หลังจาก 24 – 72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ให้ประคบด้วยความร้อน เพื่อทำให้เลือดที่คั่งถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น เช่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน อัลตร้าซาวด์ ครีม โลชั่น น้ำมัน
    สเปรย์ เป็นต้น
  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ โดยทั่วไป ถ้าเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้าอาการปวดหรือบวม ไม่ดีขึ้นในสามวัน ก็ควรไปพบแพทย์
  • ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อเคล็ดชนิดรุนแรง ปวดมาก บวมมาก ขยับข้อไม่ได้ เดินลงน้ำหนักไม่ได้  หลังจากประคบด้วยน้ำแข็งแล้วให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้ารักษาช้าเกินไปหรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการข้อบวม ปวดข้อเรื้อรัง และรู้สึกว่าข้อไม่มั่นคง ข้อหลวม การรักษาจะยากมาก และผลการรักษาก็จะไม่ค่อยดี 

 

ข้อแนะนำเพื่อฟื้นฟูสภาพ

  • เส้นเอ็นที่ฉีกขาด ใช้เวลา 4 – 6 อาทิตย์ จึงจะเริ่มติด อาการปวดบวมลดลง แต่กว่าเส้นเอ็นจะติดสนิท แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องใช้เวลา 4 – 6 เดือน ถ้าบาดเจ็บรุนแรงก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น และ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หายใกล้เคียงปกติ คือการบริหารกายภาพบำบัด การดูแลฟื้นฟูสภาพ
  • ในระยะแรกที่ยังมีการอักเสบ มีอาการปวด บวม ควรบริหารข้อและกล้ามเนื้อใกล้เคียงที่ไม่บาดเจ็บ โดยไม่ให้ส่วนที่บาดเจ็บเคลื่อนไหว เช่น เจ็บที่ข้อเท้า ก็ให้บริหารขยับเคลื่อนไหว ข้อเข่าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น
  • เมื่อพ้นระยะอักเสบ ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ ต้องออกกำลังกายและเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการพักนานเกินไป เช่น กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ข้อติดแข็ง เป็นต้น
  • ข้อควรระวังคือ ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก ค่อย ๆ ทำ และเริ่มเบา ๆ ก่อน ใช้ความรู้สึกเจ็บเป็นตัวกำหนด ถ้ารู้สึกเจ็บมากขึ้น แสดงว่าทำมากหรือรุนแรงเกินไป ก็ให้ท้าน้อยลง หรือ หยุดพัก

 

แนวทางการฟื้นฟูสภาพ

หลังจาก 4 – 6 อาทิตย์ ก็จะต้องพยายามฟื้นฟูร่างกายให้คืนสู่สภาพปกติ มีแนวทางทั่วไปคือ

  1. เริ่มออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น ใช้การถ่วงน้ำหนัก และค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น
  2. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานควบคู่ไปด้วยซึ่งทำได้โดยใช้น้ำหนักต้านที่เบา ๆ หนักประมาณ 20 – 40% ของน้ำหนักที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็นข้างปกติสามารถยกได้มากที่สุด แต่ต้องยกติดต่อกันหลายๆครั้ง
  3. เพิ่มความทนทานให้ระบบหัวใจหลอดเลือดและปอด โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  4. ออกกำลังกายเคลื่อนไหวข้อที่บาดเจ็บให้มากขึ้น แต่จะต้องเพิ่มช้า ๆ ไม่เช่นนั้น อาจทำให้ข้อนั้นเกิดบาดเจ็บซ้ำอีก

 

จะกลับไปเล่นกีฬาได้เมื่อไร

ปัญหาที่พบบ่อยหลังจากรักษา คือ เกิดการบาดเจ็บซ้ำขึ้นอีก เนื่องจากใจร้อนกลับไปเล่นกีฬาในสภาพที่ร่างกายยังไม่พร้อม คิดว่าไม่เจ็บแล้วน่าจะเล่นได้ หลักพิจารณาเบื้องต้นคือ

  • ในกรณี เล่นกีฬาทั่วไป (ไม่มีการแข่งขัน) ก่อนที่จะเล่นกีฬาจะต้องรู้สึกว่ากล้ามเนื้อและข้อปกติ ไม่มีอาการปวด บวมหรือเสียว ในกล้ามเนื้อหรือในข้อ ขณะเล่นกีฬาควรใช้ผ้ายืดรัดบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ค่อยๆปรับเพิ่มความเร็ว-ความหนักของกีฬา เพื่อประเมินอาการ ถ้าเล่นกีฬาแล้วรู้สึกผิดปกติ รู้สึกเจ็บมากขึ้นให้หยุดเล่น หรือลดความเร็ว-ความหนักลง
  • ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน เล่นกีฬาอย่างเต็มที่ เหมือนก่อนการบาดเจ็บ ต้องมีการทดสอบความพร้อมของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมมากกว่า 95% ขึ้นไป จึงจะลงแข่งขันได้

 

ภาพประกอบ : https://www.today.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก