ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

GERD.jpg

โรคกรดไหลย้อน (Gastro Esophageal Reflux Disease: GERD) เป็นโรคที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร (Stomach acid) ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำย่อย (Gastric juice) น้ำดี (Bile) อื่น ๆ ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ทนต่อกรด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณหลอดอาหารเกิดการอักเสบ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไขการอักเสบจะรุนแรงขึ้น จนเกิดความผิดปกติตามมา เช่น หลอดอาหารเป็นแผล เกิดการตีบแคบ และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

 

ทั้งนี้ในภาวะปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัว (Peristalsis) เพื่อไล่อาหารลงสู่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูด (Lower esophageal sphincter – LES) และกระบังลมที่ทำงานสัมพันธ์กัน  คอยปิดเพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหาร ในคนปกติทั่วไปสามารถมีกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้ แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการหรือรอยโรคใด ๆ มากมายกับหลอดอาหาร  แต่ในกรณีที่หูรูดดังกล่าวทำงานบกพร่อง  กรดดังกล่าวจึงสามารถไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองต่อหลอดอาหาร และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้โรคกรดไหลย้อน สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักพบกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว

 

อาการ

อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • การปวดแสบปวดร้อนบริเวณอก (heartburn) โดยเฉพาะหลังกินอาหาร อาจแย่ลงในตอนกลางคืน
  • การจุกเสียดแน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อยเรอเปรี้ยว แสบคอ บางครั้งรู้สึกแน่นคอเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ ทำให้มีอาการแสบคอและกลืนอาหารได้ลำบาก นอกจากนี้ในกรณีที่มีกรดไหลย้อนในตอนกลางคืน ยังสามารถพบอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
  • ไอเรื้อรัง เสียงแหบในตอนเช้า เจ็บคอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ ในบางรายกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงโพรงหลังจมูก เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง นอกจากนั้นกรดไหลย้อนยังอาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการกำเริบได้

ในเด็กมักพบอาการไอเรื้อรัง อาการหอบเหนื่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจมีอาการปอดอักเสบ มีอาการอาเจียนหลังจากการดื่มนม อาจมีภาวะซีดเนื่องจากมีเลือดออกบริเวณหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด การเจริญเติบโตช้าผิดปกติ


ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

  • เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการร้าวปวดกรามหรือปวดแขน เหนื่อยมากขึ้น เพราะอาการดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจได้
  • เมื่อมีกลืนลำบาก อาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอเปรี้ยว โดยเฉพาะหลังทานอาหาร

 

สาเหตุ

สาเหตุหลักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter – LES) เช่น หูรูดหย่อนและปิดไม่สนิท ทำให้กรดและอาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร สำหรับปัจจัยที่ทำให้หูรูดบริเวณดังกล่าวหย่อน ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุให้หูรูดหย่อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกรดไหลย้อน โดยลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง ที่ทำให้มีอาการไอบ่อย ๆ การไอบ่อย ๆ เป็นชุด ๆ ทำให้เกิดกดไหลย้อนได้
  • สาเหตุทางด้านสรีระวิทยา เช่น การมีรูปร่างอ้วน หญิงในขณะตั้งครรภ์ การใส่กางเกงรัดรูปเป็นประจำ สรีระดังกล่าวเป็นการเพิ่มแรงดันบริเวณช่องท้อง ทำให้เพิ่มโอกาสในการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารขึ้นสู่หลอดอาหาร
  • สาเหตุด้านพฤติกรรมการกิน เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด และอาหารที่ย่อยยาก ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ตลอดจนการรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ โดยเฉพาะมื้อก่อนนอน ล้วนเพิ่มโอกาสในการเป็นกรดไหลย้อนได้
  • โรคเครียด และซึมเศร้า เป็นการเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร มีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก หากไม่พบสาเหตุหรืออาการที่ชัดเจน แพทย์จะพิจารณาการตรวจชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroendoscopy) เพื่อตรวจความรุนแรงของการอักเสบ แผล รอยตีบ ในหลอดอาหารรวมถึงกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น หรือโรคแทรกซ้อนที่อาจพบ เช่น แผลในกระเพาะ เนื้องอก รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมได้
  • การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal Manometry) เพื่อตรวจดูการบีบตัวของหลอดอาหาร โดยใช้เครื่องวัดความดันบริเวณผนังของหลอดอาหาร อีกทั้งยังช่วยดูการสำลักและการหย่อนของหูรูดได้

 

การรักษา

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน แพทย์สามารถพิจารณาเริ่มจาก

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค อาทิ การเลิก แอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ การควบคุมน้ำหนัก การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารมื้อก่อนนอน ในบางรายที่มีอาการรุนแรง
  2. เคี้ยวอาหารในแต่ละคำให้ละเอียดมาก ๆ ก่อนกลืน
  3. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด ไม่เปรี้ยว หลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่มีเส้นใย fiber มาก และถั่ว ซึ่งจะทำให้ย่อยยากท้องอืด
  4. การรับประทานยาร่วมด้วย ยาที่ใช้ในการรักษาแบ่งได้หลายกลุ่ม ได้แก่
    • ยาลดกรด ใช้บรรเทาอาการปวดแสบท้อง ยายับยั้งการหลั่งกรด ที่ใช้บ่อย ๆ เช่น ยายับยั้งการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง
    • ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร (prokinetic drugs) จะช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านจากหลอดอาหารไป กระเพาะ และลำไส้เล็กได้รวดเร็วขึ้น
  5. การผ่าตัดทางหน้าท้องหรือผ่อนกล้อง เพื่อซ่อมแซมหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารจะช่วยป้องกันกรดไหลย้อนได้ แพทย์จะพิจารณารักษาผู้ป่วยที่มีอาการกรดไหลย้อนรุนแรง ไม่สามารถหายได้ด้วยการใช้ยา หรือผู้ป่วยที่อาจมีอาการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากการหยุดยา

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. ปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรปรับปรุง เช่น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำย่อยหลั่งในขณะที่ท้องว่าง
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร เช่น อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มี gas
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลมในทางเดินอาหาร เช่น ถั่วทุกชนิด มันฝรั่งแห้ง ผักที่ย่อยยาก เช่น แตงกวา ดอกกะหล่ำ หัวหอม บร็อคโคลี่ ผลไม้ที่ย่อยยาก เช่น ลูกเกด กล้วย ฝรั่ง มะม่วงดิบ ลูกพรุน เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ครีม ซอสครีม นม เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้หูรูดหย่อนตัว รวมถึงลดการบีบตัวของทางเดินอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น
    • การรับประทานอาหารแต่ละมื้อควรทานอาหารปริมาณพอเหมาะ หรือการแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ ไม่ควรทานอาหารจนเต็มกระเพาะ และไม่ควรนอนหรือนั่งนาน ๆ ทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ในท่ายืน และเดิน อย่างน้อย ครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะนั่งหรือ 3 ชม. ก่อน นอนหลับ และควรนอนท่าตะแคงซ้าย
    • ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
    • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงการไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป อันเป็นการเพิ่มแรงดันที่กดช่องท้อง เพิ่มโอกาสในการที่กรดไหลย้อนสูงขึ้น
  2. กรณีที่แพทย์พิจารณาให้ใช้ยา รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และหากมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นอก ไอเรื้อรังรักษาไม่หายและเจ็บแสบคอมากกว่าปกติ เจ็บเวลากลืนหรือกลืนแล้วติดคอ สำลักบ่อย อาเจียนบ่อย อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้การปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่ถูกโภชนาการ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การตรวจสุขภาพตามความจำเป็น นอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคกรดไหลย้อนแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคชนิดอื่น ๆ ไปอีกทางด้วย

 

แหล่งข้อมูล : th.wikipedia.org  www.mayoclinic.org  www.medicalnewstoday.com  www.pobpad.com  รศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ โรคกรดไหลย้อน บทความวิชาการ จัดทำโดยสมมาคมประสาททางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหวไทย
ภาพประกอบ : www.freepik.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก