ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease) เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการแน่นหน้าอกเป็นครั้งคราว เช่น ขณะโกรธจัด รีบจัด เครียด หรือออกกำลังกาย เรียกอาการแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดว่า Angina pectoris โดยหากปล่อยไว้ไม่ได้ทำการรักษา อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรุนแรงจากการที่เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย และหากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลันทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ตามมาได้

 

โรคนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุมากขึ้นจะมีโอกาสพบมากขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดำเนินชีวิตที่ขาดกิจกรรมเคลื่อนไหว ขาดการใส่ใจในการกินอาหาร และออกกำลังกายไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงมากกว่าในผู้ที่มีการเคลื่อนไหว กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม

 

อาการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

กรณีที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงกลางอก โดยอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ซ้าย ด้านในของแขนซ้าย บางครั้งอาจปวดร้าวไปคอจนถึงขากรรไกรล่างได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่เกิด 10 นาที อาการจะทุเลาหายไปเมื่อได้พัก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย

กรณีที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงกลางอก เช่นเดียวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่า แม้ว่าได้พักอาการก็จะไม่หายไป ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเหงื่อออกมาร่วมด้วยได้ ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการหอบเหนื่อย จากภาวะหัวใจวายหรือเกิดภาวะช็อก โดยจะมีเหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเต้นเบาหรือ ความดันโลหิตตก ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตในทันทีได้

 

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) โดยการมีคราบไขมันเกาะสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจขาดความยืดหยุ่นและเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และไขมันที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยอื่น เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไตเรื้อรัง ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ รวมถึงการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น มีความเครียดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติสุขภาพผู้ป่วย ประวัติสุขภาพครอบครัวในส่วนของโรคที่เกี่ยวข้อง การตรวจร่างกายทางระบบหัวใจ ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, ECG) นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาตรวจพิเศษเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) การเดินสายพาน (Exercise stress test) การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography)

 

การรักษา

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง และอาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ และทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น แนวทางการรักษามีดังนี้

  • การรักษาด้วยยา โดยแพทย์อาจใช้ยาชนิดเดียว หรืออาจใช้ยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยในการรักษาเช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยากลุ่ม ACE inhibitor, ยากลุ่ม Calcium channel blocker, ยากลุ่ม Beta blocker, ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) หรือยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) ในกรณีที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น

บางกรณี แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนผ่านหลอดเลือดหัวใจไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

  • การรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (Balloon angioplasty) โดยการสอดท่อที่มีปลายติดอุปกรณ์คล้ายบอลลูน เข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดบริเวณที่อุดตันหรือตีบ นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งขดลวด (Stent) ที่สามรถกางออกเพื่อให้ผนังหลอดเลือดหัวใจในบริเวณดังกล่าวขยายอยู่ตลอดเวลา
  • การรักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass grafting) โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำที่บริเวณขาหรือหลอดเลือดแดงที่ทรวงอกหรือข้อมือมาเชื่อมหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเป็นทางเบี่ยงของการไหลเวียนของเลือดให้สามารถผ่านตำแหน่งที่มีการตีบไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้

 

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังหรือมีอาการเรื้อรัง อาจพบภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อกจากหัวใจ (Cardiogenic shock) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หัวใจวาย (Heart failure) หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  เป็นต้น

   

ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

  • ผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เป็นประจำ และควรพกยาขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ ซึ่งมีทั้งแบบยาอมใต้ลิ้นหรือยาแบบ spray
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภายหลังออกจากโรงพยาบาล ควรพักฟื้นที่บ้านสักระยะ หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก งดการร่วมเพศเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์หลังได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ โดยเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้แรงมาก ทั้งนี้นอกเหนือจากการกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปฏิบัติตัวเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ เช่น การกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว การออกกำลังกายให้เหมาะสม การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบ งดการสูบบุหรี่ในรายที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เป็นสิ่งจำเป็น
  • ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารในทุกมื้อ โดยไม่ควรรับประทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยเท่าที่พออิ่ม เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำ
    • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานในส่วนที่เกินจากปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน สำหรับการออกกำลังกายนั้นควรออกให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง อาจเลือกกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การวิ่ง เดิน หรือเต้น และเล่นกีฬาประเภทต่างๆ เมื่อมีโอกาส
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียดเรื้อรัง การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับน้อย เป็นต้น
    • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง อย่างเคร่งครัด
    • หากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรวางแผนรับมือ เช่น จดรายละเอียดยาที่ใช้ ยาที่แพ้ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้สะดวก รวมถึงผู้ป่วยควรพกข้อมูลติดต่อของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนในครอบครัวควรช่วยกันดูความผิดปกติ เพราะยิ่งพบเร็วก็จะทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น และสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้

 

แหล่งข้อมูล

  1. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2543) : 421-425
  2. www.thaiheart.org 
  3. Knuuti J, Wijns W, Saraste A, Capodanno D, Barbato E, Funck-Brentano C et al. 2019 ESC Guidelines for the diagnosis and management of chronic coronary syndromes. Eur Heart J. 2020;41(3):407-77.
  4. Roffi M, Patrono C, Collet JP, Mueller C, Valgimigli M, Andreotti F et al. 2015 ESC Guidelines for the management of acute coronary syndromes in patients presenting without persistent ST-segment elevation. Eur Heart J. 2016;37(3):267-315.
  5. Levine GN, Steinke EE, Bakaeen FG, Bozkurt B, Cheitlin MD, Conti JB et al. Sexual activity and cardiovascular disease. Circulation. 2012;125(8):1058-72.

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


h-exercise.jpg

ในชีวิตประจำวัน ร่างกายต้องการพลังงานเพื่อใช้ในกิจกรรมที่หลากหลายในแต่ละวัน เช่น เดิน ขึ้นบันได กวาดพื้น ตัดหญ้า ทำครัว เป็นต้น การออกกำลังกายจึงเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานเพิ่มเติม  เพื่อให้พลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวันสอดคล้องกันกับพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหาร และเพื่อเป้าหมายทางสุขภาพในด้านต่าง ๆ โดยหากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง อาจไม่ประสบความสำเร็จในการออกกำลังกายได้

 

ก่อนและหลังออกกำลังกาย ต้องอบอุ่นร่างกาย

การอบอุ่น (warm up) ร่างกาย ควรทำก่อนออกกำลังกายโดยใช้เวลา 5 – 10 นาที ด้วยการเคลื่อนไหว ลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเภทของการออกกำลังกาย เพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว กล้ามเนื้ออบอุ่นทำให้สามารถยืดหดตัวได้ดี ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ เช่น การวิ่งช้า ๆ การดริล (drill) แบบยกเข่าต่ำ ยกเข่าสูง ส้นเท้าแตะก้น สำหรับวิ่ง หรือการสไลด์ขาข้าง การหมุนแขน ไหล่ วิ่งคอร์ต สำหรับแบดมินตัน เป็นต้น ทั้งนี้ควรอบอุ่นร่างกายนานขึ้นหากเป็นการออกกำลังกายที่หนักและใช้เวลานาน และเมื่อจบการออกกำลังกาย ควรมีการคลายอุ่น (cool down) ซึ่งสามารถทำได้ในลักษณะเดียวกับการอบอุ่นร่างกาย ระยะเวลา 5 – 10 นาทีเช่นกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อบีบตัวไล่เลือดที่ค้างในกล้ามเนื้อกลับเข้าสู่หัวใจและหลอดเลือด ป้องกันอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลมที่อาจเกิดจากการที่ยังมีเลือดค้างอยู่ในกล้ามเนื้อมากเกิน

ออกกำลังกายให้หลากหลาย จะเกิดประโยชน์สูงสุด

จริง ๆ แล้ว การออกกำลังกายสามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยใช้เกณฑ์ในการแบ่งที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้การออกกำลังกายจะได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ออกกำลังกายควรพยายามออกให้ครบทุกอวัยวะ โดยจัดเป็นโปรแกรมลักษณะ Well – rounded exercise program เช่น ใน 1 สัปดาห์ ควรแบ่งการออกกำลังกายเป็น 1) ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ และปอด (Cardiorespiratory fitness) เช่น การวิ่งโซน 2 – 3 ติดต่อกันมากกว่าครึ่งชม. 3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป 2) ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ (Resistance exercises) เช่น การเล่นเวทเทรนนิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ และ 3. ออกกำลังกายแบบเพิ่มความยืดหยุ่นและความอ่อนตัว (Flexibility exercises) เช่น โยคะ พิลาทิส ไทชิ ชี่กง โดยผู้ที่ออกกำลังกายครบทั้ง 3 ลักษณะ ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายจะมีกล้ามเนื้อที่ทนทานแข็งแรง แต่สามารถยืดหยุ่นได้ดี ออกกำลังกายแบบแอโรคบิคติดต่อกันได้นาน โดยไม่เหนื่อยง่าย

 

ออกกำลังกายหนักเบาตามเป้าหมาย และสภาพร่างกาย

การออกกำลังกายโดยกำหนดความหนักเบาตามอัตราการเต้นของหัวใจ หรือที่เรียกว่า การออกกำลังกายแบบ In zone กำลังเป็นที่นิยมและมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ผู้ออกกำลังกายจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การวัดติดตัว เช่น สายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือสายคาดอก โดยควบคุมการออกกำลังกายให้หัวใจเต้นอยู่ในระดับเป้าหมายที่ต้องการ โดยมีการแบ่ง Zone การเต้นของหัวใจ เป็น % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (Maximum heart rate, max HR) โดยนำอายุมาใช้ในการคำนวณ เช่น นาย ก อายุ 40 ปี ค่า max HR เท่ากับ 220 – 40 เท่ากับ 180 ครั้งต่อนาที การแบ่ง Zone อัตราการเต้นของหัวใจ จะเป็นดังนี้

 

 

สำหรับใครที่ยังไม่มีอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ อาจสังเกตอาการขณะออกกำลังกาย โดย Zone 1 รู้สึกสบาย ๆ ไม่เหนื่อย,  Zone 2  รู้สึกหายใจเร็วขึ้นกว่าปกติ แต่ไม่เหนื่อยมาก, Zone 3 รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น แต่พอพูดคุยได้, Zone 4 รู้สึกเหนื่อย หอบ ไม่สามารถพูดคุยได้ และ Zone 5 รู้สึกเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน

เป้าหมายและโซนการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม 

  • เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ควรออกกำลังกาย Zone 1 เพื่อกระตุ้นร่างกายให้ฟื้นตัว หรือมีความพร้อมสำหรับการออกกำลังกายหนัก ๆ ในอนาคต
  • เพื่อการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายอยู่ใน Zone ที่ 1 – 2 โดย Zone 2 เหมาะที่สุด เพราะร่างกายจะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานได้สูง และยังมีการสูญเสียกล้ามเนื้อค่อนข้างน้อย
  • เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความฟิต ควรออกกำลังกายอยู่ใน Zone 2 – 4 โดย Zone 3 เหมาะสมที่สุด โดยเป็นโซนที่ทำให้หัวใจและปอดและระบบที่เกี่ยวเนื่องแข็งแรงขึ้น
  • เพื่อเพิ่มสมรรถภาพ เพิ่มความเป็นเลิศ ควรออกกำลังกายอยู่ใน Zone 4 – 5 โดย Zone 4  ร่างกายมีการหายใจแบบ anaerobic จะเกิดกรดแลคติคสะสมในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการล้า การฝึกใน Zone นี้นาน ๆ จึงเป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อทนต่อกรดแลคติคหรือขีดจำกัดของร่างกาย สำหรับ Zone 5 เป็นการทำความเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ควรอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

อ่านเพิ่มเติม ร่างกายมีลำดับการใช้พลังงานอย่างไร 

 

ระยะเวลาและความถี่ ที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพดี โดยปกติแล้วคือ Zone 1 – 2 จะประมาณครั้งละ 60 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป ถ้า Zone 3 – 4 จะประมาณครั้งละ 30 – 60 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามควรปรับให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายและเป้าหมายในการออกกำลังกาย เช่น ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกาย Zone 2 – 3 ครั้งละ 60 – 90 นาที 5 – 6 วันต่อสัปดาห์ เสริมด้วยเวท เทรนนิ่ง 3 – 4 วัน เป็นต้น ทั้งนี้มีความจำเป็นต้องออกกำลังกายให้ได้ 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากกล้ามเนื้อถ้าอยู่เฉยๆจะเสียความแข็งแรงไป 1 ใน 5 ทุก ๆ 3 วัน ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต การหายใจ การย่อยอาหารและระบบประสาท นอกจากนี้ในการออกกำลังกาย ควรออกต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายมีการเผาผลาญไขมันจากการหายใจแบบแอโรบิคได้อย่างเต็มที่

 

สังเกตอาการเจ็บป่วย ขณะออกกำลังกาย

ในการออกกำลังกาย ร่างกายต้องใช้งานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น การบาดเจ็บของอวัยวะในระบบต่างๆสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด จึงควรสังเกตอาการของตนเองในขณะออกกำลังกาย สำหรับอาการเจ็บปวดในเบื้องต้น จะมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ หนึ่ง จากการคั่งของกรดแลคติคที่เกิดจากการออกกำลังกายที่หนัก และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดตะคริวในขณะออกกำลังกาย ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และหายไปได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และ สอง จากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ กระดูกและเอ็น โดยจากเรื่องบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จะมีอยู่หลายประเภท โดยมีแนวทางการรักษาในเบื้องต้น คือ RICE ประกอบด้วย R (Rest) พัก = ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ อาจต้องใช้ไม้ดาม ผ้ายืดพัน เฝือกหรือใช้ไม้เท้า, I (Ice) น้ำแข็ง = ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บาดเจ็บ,  C (Compress) รัด = ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ รอบข้อที่เคล็ด เพื่อให้อยู่นิ่ง และไม่ให้เลือดออกมากขึ้น, E (Elevate) ยก = ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ ช่วยลดบวมและลดปวดได้  ส่วนแนวทางการรักษาในขั้นต่อไปจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง

 

อาการแบบนี้ ไม่หยุดออกกำลังกาย อาจตายได้

จากเรื่อง วิ่งหรือเล่นกีฬาอย่างไร ไม่ตายปลอดภัยกลับบ้านแน่ ๆ นอกจากนี้ผู้ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาควรต้องสังเกต อาการเตือนที่สำคัญ ขณะออกกำลังกาย โดยถ้ามีอาการอย่าฝืน อย่าพยายามเล่นต่อเด็ดขาด อาการดังกล่าว ได้แก่

  1.  เจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง
  2.  เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือเหงื่อแตก ใจสั่น เพราะอาการในกลุ่มนี้ เป็นอาการเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการเพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาล หากไม่มีหน่วยช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

ข้อมูลจาก : 

  1. รศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล.(2010).การออกกำลังกายอย่างถูกวิธี. 4 กันยายน 2559. www.si.mahidol.ac.th
  2. ผศ.ดร.นพ.ภาสกร วัธนธาดา. ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา. เรื่องต้องรู้ก่อนออกกำลังกาย.
  3. พ.อ. นพ. กิจจา จำปาศรี ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลอานันทมหิดล. วิ่งหรือเล่นกีฬาอย่างไร ไม่ตาย ปลอดภัยกลับบ้านแน่. 16 กันยายน 2562. www.health2click.com

 

 


-ได้เวลาเปลี่ยนตัวเองด้วยการออกกำลังกาย.jpg

เพิ่มพลังฮึดสู้ เปลี่ยนตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ไม่ว่าใครก็อยากเริ่มต้นทุกวันของชีวิตอย่างปลอดโปร่งและมีสุขภาพดี…ลองนึกถึงการที่ได้ตื่นนอนตอนเช้าอย่างสดชื่น คึกคัก มีพลังเต็มเปี่ยม และอารมณ์ดีพร้อมสู้กับชีวิตวันใหม่อย่างเต็มร้อย วิธีง่าย ๆ ที่ทำได้ทันทีเลยก็คือ…การออกกำลังกายนั่นเอง

 

ชีวิตดีด้วยการออกกำลังกาย

หลายคนคงเคยมีคำถามในใจว่า…นอกจากการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพดีแล้ว จะทำให้ชีวิตดีด้วยได้อย่างไร? คำตอบนั้นไม่ยากเลย…นั่นเพราะการอกกำลังกายมีผลต่อการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารความสุขในร่างกาย เมื่อได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสารแห่งความสุขนี้ก็จะหลั่งออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากเราก็จะรู้สึกเบิกบานและสบายตัว

 

 

ออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สุขภาพดี หัวใจละหลอดเลือดแข็งแรง ผลที่ตามมาคือคุณจะ “อึด” ตั้งแต่ระบบภายในร่างกาย เพิ่มพลังฮึดสู้ มีพลังงานเหลือเฟือในการประกอบกิจกรรมประจำวัน ไม่อ่อนเพลียง่าย รวมไปจนถึงระดับคอเลสเตอรอลกับความดันโลหิตลดลง เพียงแค่ออกกำลังกายในระดับปานกลางวันละ 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้งเท่านั้น! ผลพลอยได้อื่น ๆ อีก อาทินอนหลับสนิทยิ่งขึ้นตอนกลางคืน ตื่นนอนแล้วไม่รู้สึกมึน เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับควรลองออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอีกนิด หลังจากได้หลับสนิทตลอดคืนคุณจะอารมณ์ดีไปทั้งวันเลยทีเดียว

 

เอ็นโดรฟิน… สูตรลับความสุขของร่างกาย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าหลังจากออกกำลังกาย จิตใจของคุณจะผ่องใสกระปรี้กระเปร่าเพราะระดับเอ็นโดรฟินเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเมื่อร่างกายจิตใจเบิกบาน สมาธิและความทรงจำระยะสั้นก็จะดีขึ้นด้วย  จิตใจกับสุขภาพจิตก็จะแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน  ใครที่มีอาการเซ็งบ่อย ซึมเศร้า ถ้าลองออกกำลังกายดูอาจพบทางสว่างที่ทำให้โลกของคุณหายห่อเหี่ยวก็ได้ นั่นเพราะการออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทและโปรตีนที่เรียกว่าสารแห่งความสุข (Neurotrophic Factors) ซึ่งจะสร้างการเชื่อมต่อประสาทใหม่  ๆ ขึ้น ทำให้อาการหดหู่เศร้าสร้อยลดน้อยลงได้ เพิ่มพลังฮึดสู้ ให้ตัวรู้สึกดีได้ทุกวัน

 

 

ออกกำลังกายแบบไหนให้เหมาะกับตัวเอง

นอกจากการออกกำลังกายในบ้านแล้ว การออกไปร่วมออกกำลังกายเป็นกลุ่มตามที่สาธารณะก็เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะสามารถเพิ่มความรื่นรมย์ ช่วยให้คลายความเหงา ได้พบคนหน้าใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ ๆ หรือบางคนอาจเจอคนถูกใจที่พัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น

โดยการออกกำลังกายที่ดีควรเลือกแบบที่สำพันธ์กับช่วงเวลา อย่างระหว่างวันมาลองทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างเอ็นโดรฟิน เช่น การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอดูที่ช่วยให้หัวใจอึดและแข็งแรง มีแรง ตอนเช้าควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ ซึ่งส่งผลดีต่ออารมณ์

มีงานวิจัยที่ระบุว่า เมื่อส่งผู้มีอาการวิตกกังวลหดหู่ไปฝึกโยคะเพิ่มเติมนอกเหนือจากการรักษาตามปกตินาน 6 สัปดาห์ อาการก็ดีขึ้นอย่างสังเกตได้เลยทีเดียว…สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ให้ดีคือ ต้องหาการออกกำลังแบบที่ชอบ เพราะหากไม่ชอบ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทรมานตัวเองให้จิตตกลงไปกว่าเดิม ลองหาการออกกำลังที่คิดว่าน่าสนุกและทำได้เพลิน ๆ เป็นเวลานานดีกว่า อีกอย่างที่สำคัญมากก็คือ อาหาร พยายามกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดของหวานลง กินโปรตีนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ แล้วร่างกายจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากหยาดเหงื่อที่เสียไปอย่างคุ้มค่า

 

สรุป

อย่าลืมหาการออกกำลังกายที่คุณชอบให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นบาสเก็ตบอล เทนนิส ฟุตบอล ขี่จักรยาน วิ่งจ็อกกิง หรือถ้าอากาศร้อนนักก็เข้าโรงยิมไปวิ่งบนสายพานก็ได้ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม หรือถ้าพาคนรักหรือลูกหลานไปออกกำลังด้วยก็จะยิ่งสนุกและกระชับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว คุณจะเพิ่มความอึด แรงฮึด ได้ทั้งพลังกายและพลังใจครบถ้วน พร้อมจะสู้กับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีพลังงานเหลือ ๆ ทุกวัน  เพียงแค่ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเท่านั้นเอง  

 

ภาพประกอบจาก : www.unsplash.com


-h2c.jpg

ออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องเหงื่อท่วมกาย การออกกำลังแบบเบามีข้อดีคือ ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจได้ประโยชน์ในแง่แอโรบิกและสุขภาพโดยรวมน้อยไปหน่อย ส่วนการออกกำลังแบบหนักทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ แต่โอกาสบาดเจ็บก็มีสูง การออกกำลังระดับปานกลางจึงค่อนข้างประนีประนอมระหว่างสองฝั่ง

 

สำหรับผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากการออกกำลังระดับเบา แล้วค่อย ๆ ขยับถึงระดับปานกลางหรือหนักขึ้นไป คนที่จะออกกำลังแบบหนักควรสามารถออกกำลังแบบปานกลางได้ดีเสียก่อน จึงจะสามารถออกกำลังได้ดีและปลอดภัย เราอาจประเมินตนเองได้ว่าการออกกำลังกายที่เราทำอยู่นั้นเป็นการออกกำลังกายแบบไหนได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะการออกกำลังกายที่เบาสำหรับคนหนึ่งอาจเป็นการออกกำลังที่หนักสำหรับอีกคนก็ได้

 

ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเหงื่อท่วมกาย

  • ออกกำลังกายแบบเบา เช่น เดินช้า ๆ ขณะออกกำลังกายควรรู้สึกสบาย ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเล่น การออกกำลังกายแบบเบานี้จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน แต่ควรใช้เวลาในการออกกำลังกายนานเช่น 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง         
  • ออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดินเร็ว ๆ ขณะออกกำลังกายควรรู้สึกเริ่มเหนื่อย แต่ยังมีอารมณ์พูดคุยกับเพื่อนที่ออกกำลังกายด้วยกันได้ ให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่รีบเดินไปทำงานเมื่อใกล้ถึงเวลานัดและจะไปไม่ทันนั่นแหละ การออกกำลังกายแบบปานกลางนี้ควรออกกำลังอย่างน้อย 20 – 60 นาที สำหรับรูปแบบการออกกำลังกายแบบผสมผสานที่หมอแนะนำท้ายเล่มนี้ จัดเป็นการออกกำลังกายแบบปานกลางสำหรับคนโดยทั่วไป
  • ออกกำลังกายแบบหนัก เช่น วิ่งเร็ว ๆ สามารถประเมินได้ง่าย ๆ ว่า ใครที่ไม่สามารถออกกำลังกายต่อเนื่องได้นานถึง 15 นาทีขึ้นไป แสดงว่าการออกกำลังกายนั้นเป็นการออกกำลังกายแบบหนักถึงหนักมากสำหรับตัวเอง การออกกำลังกายแบบหนักนี้ถ้าตรวจแล้วไม่มีโรคภัยไข้เจ็บก็สามารถทำได้เองเลย แต่ควรค่อย ๆ เพิ่ม โดยค่อย ๆ สลับการออกกำลังกายแบบปานกลางกับการออกกำลังกายแบบหนัก ใช้วิธีปรับเพิ่มการออกกำลังกายแบบหนักทีละน้อย ยกตัวอย่างเช่น เดินเร็ว 10 นาทีสลับกับวิ่ง 2 นาที (หรือจนเริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยมากจนไม่อยากพูด) เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาของการวิ่ง ในขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลดระยะเวลาของการเดิน ในที่สุดก็วิ่งต่อเนื่องได้

เวลาหมอแนะนำให้คนไข้หัวใจเริ่มออกกำลังกายด้วยการเดิน คนไข้มักจะถามอยู่เสมอว่า เหงื่อไม่เห็นออกเลย จะได้ประโยชน์อย่างไร เหมือนไม่ได้ออกกำลังกาย หมอต้องขอปรับความเข้าใจกันเสมอว่า การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายจนเหงื่อหยดติ๋ง ๆ ก็ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อมีโรคหัวใจ (หรือโรคอย่างอื่นก็ตาม) ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในขณะที่ออกกำลังกายเป็นหลักถึงไม่มีโรคประจำตัว แต่อายุเริ่มเข้าใกล้วัย 40 แล้วก็ตาม ต้องมองว่าการออกกำลังกายที่ทำนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี ค่อย ๆ เริ่มและค่อยเป็นค่อย ๆ ไป ไม่ใช่คิดจะออกกำลังกาย (หลังจากที่ไม่ได้ออกมาเป็นปี ๆ ) ก็ลุกขึ้นมาซื้อรองเท้า แล้วก็ไปวิ่งทันทีด้วยความเร็วเหมือนจะวิ่งแข่ง โดยไม่มีวอร์มอัพ คูลดาวน์ เสียด้วยซ้ำ เพราะจำได้ว่าสมัยเรียนเคยทำได้ (ลืมไปว่านั้นคือเกือบ 20 ปีมาแล้ว) อย่างนี้ไม่ปลอดภัยแน่ หลักการออกกำลังกายที่ถูกต้องคือค่อย ๆ ปรับเพิ่มระดับการออกกำลังกายจากเบาหรือปานกลางแล้วไปหนัก (ถ้าทำได้) ถ้าออกกำลังกายแบบไม่หนักมากขอให้ใช้เวลาออกกำลังกายนานขึ้นก็แล้วกัน

การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายจนเหงื่อหยดติ๋ง ๆ ก็ได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน คนที่ออกกำลังกายแบบหนักอย่างเดียวอยู่เป็นประจำมาตลอด พออายุมากเข้าก็ควรจะต้องพิจารณาปรับการออกกำลังกายให้เหมาะกับวัยที่เพิ่มขึ้น

 

สิ่งจำเป็นที่เราต้องเตรียมก่อนเริ่มออกกำลัง 

  • ความรู้การออกกำลังกายทุกประเภท (นอกจากการเดินที่ทุกคนทำเป็นอยู่แล้ว) ล้วนต้องมีความรู้เบื้องต้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี ได้ประโยชน์เต็มที่และป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น
  • ต้องมีการเตรียมตัว เช่น การออกกำลังบางอย่างต้องใช้อุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งอายุเยอะขึ้นอุปกรณ์พวกนี้จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้มากเป็นต้นว่า จะไปวิ่ง เราต้องเลือกรองเท้าวิ่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจไม่ต้องแพง แต่ควรรู้ว่ารองเท้าที่เหมาะนั้นเป็นอย่างไร
  • คือควรรู้หลักการออกกำลังที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:  แพทย์หญิงปิยะนุช รักพาณิชย์ สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท.(2010).ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเหงื่อท่วมกาย.10 ธันวาคม 2559.
แหล่งที่มา : http://www.drnithi.com
ภาพประกอบจาก : www.thaigoodview.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก