มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น หลับยาก หลับไม่สนิท หรืออาการอื่น ๆ ซึ่งหากเป็นเพียง 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ยังสามารถปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับมากขึ้นได้ แต่หากปัญหาเหล่านี้ยืดเยื้อนานเป็นเดือน ๆ มีโอกาสที่จะทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้
อาการ
ในแต่ละวัยต้องการชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น ในวัยผู้ใหญ่ต้องการชั่วโมงการนอน 7 – 9 ชั่วโมง ในวัยสูงอายุอาจต้องการชั่วโมงการนอนที่น้อยลง อย่างไรก็ตามที่สำคัญยิ่งกว่าชั่วโมงการนอนคือ คุณภาพการนอนหลับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับ ผู้ที่เข้าข่ายโรคนอนไม่หลับจะมีอาการ ดังนี้
- หลับยาก หมายถึง ต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาที จึงจะหลับได้
- หลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกตัว ตื่นมากลางดึก แล้วหลับต่อไม่ได้
- ตื่นขึ้นมาเองตั้งแต่เช้ามืด ทั้งที่ยังรู้สึกเพลีย แต่ข่มตาให้หลับต่อไม่ได้
หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพและด้านอื่นๆได้
เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
เมื่อนอนไม่หลับมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน หรือ ภาวะนอนไม่หลับนี้ส่งผลต่อสุขภาพ กิจวัตรประจำวันและการทำงาน เช่น รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า ง่วงนอนตลอดเวลา ทำงานผิดพลาด ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและประเมินหาสาเหตุที่แท้จริงทันที
สาเหตุ
สามารถแบ่งโรคนอนไม่หลับเพื่ออธิบายสาเหตุได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
- โรคนอนไม่หลับแบบไม่เรื้อรัง (Acute Insomnia หรือ Transient Insomnia) โดยมักจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ มักจะมีสาเหตุจากพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ที่มากระทบชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ความเครียด กังวลจากงานที่ทำ การเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดไมเกรน ปวดท้อง ปวดแผลผ่าตัด-อุบัติเหตุ การนอนไม่หลับจากภาวะ Jet lag การทำงานเป็นกะดึก การกินอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน มากเกินไป รวมถึงการทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่ใช้รักษากล้ามเนื้ออักเสบอาจกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต ทำให้ร่างกายตื่นตัวจนนอนไม่หลับ เป็นต้น
- โรคนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง (Chronic Insomnia) จะเป็นผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ โดยมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 เดือน สาเหตุเกิดได้จากหลายประการ ดังนี้
- การเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน (GERD) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) โรคขากระตุกขณะหลับ (PLMD) โรคขาอยู่ไม่สุก (RLS) โรคมะเร็งชนิดต่างๆ และอื่นๆ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำหนัก ยาแก้หอบหืด ยาต้านซึมเศร้า ยากลุ่มเมทิล ฟีนิเดท (Methylphenidate) ยากลุ่มซูโดอีฟีดริน (Psudoepheridrine) เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ช่วงวัยทอง ช่วงตั้งครรภ์ วัยสูงอายุ เป็นต้น
- การกังวลว่าจะนอนไม่หลับ (Psychophysiological Insomnia ) มักเกิดกับผู้ที่เคยมีปัญหาในการนอนหลับมาก่อน และมีความกังวลว่าจะนอนไม่หลับ สามารถทำให้เกิดสภาวะ hyperarousal จนนอนไม่หลับได้
การวินิจฉัย
- การซักประวัติผู้ป่วย โดยเฉพาะรายละเอียดของการนอนไม่หลับ เช่น นอนไม่หลับเฉพาะตอนที่เพิ่งจะเข้านอนใหม่ ๆ หรือหลับแล้วตื่นบ่อย หรือพอหลับไปสักพักก็จะตื่นและนอนหลับต่อไม่ได้อีก รวมถึงระยะเวลาและความถี่ที่มีอาการ ลักษณะการนอน เวลาเข้านอน เวลาตื่นนอน จำนวนครั้งที่ตื่นตอนกลางคืน อาการอื่นที่เกิดขึ้นในระหว่างการนอนหลับ กิจกรรมก่อนเข้านอน สภาพแวดล้อมภายในห้องนอนและอุปกรณ์ในการนอน และสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน กิจกรรมและอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงประวัติครอบครัว เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจระบบประสาทเพื่อหาร่องรอยความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย โดยหากพบว่าเกิดจากโรคทางระบบประสาทหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ชัดเจนขึ้น
- การตรวจพิเศษ ในผู้ป่วยใหม่หรือผู้ป่วยที่รักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล อาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งแบบมามานอนค้างที่โรงพยาบาลจัดไว้ โดยจะมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด ตรวจวัดลมหายใจ ฯลฯ หรือแบบติดตั้งอุปกรณ์ที่ห้องนอนของผู้ป่วยเองเพื่อให้ใกล้เคียงกับสภาพจริงมากที่สุด นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาเลือกตรวจเป็นรายการเฉพาะได้ เช่น การตรวจลมหายใจ การเคลื่อนไหวหน้าอกและท้อง การวัดออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรน วัดลมหายใจช่วงนอนหลับ เป็นต้น
การรักษา
การรักษาจะพิจารณาตามสาเหตุ หากตรวจพบสาเหตุหลักมาจากโรคอื่น ก็จะวางแผนให้ผู้ป่วยรักษาโรคที่เป็นสาเหตุหลักควบคู่กับโรคนอนไม่หลับไปด้วย เช่น ตรวจพบว่าโรควิตกกังวลทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ แพทย์จะวางแผนให้ผู้ป่วยรักษาโรควิตกกังวลควบคู่ไปด้วย สำหรับโรคนอนไม่หลับ สามารถรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับการใช้ยา ดังนี้
- การรักษาโดยการใช้ยา ตัวอย่างยาที่ปัจจุบันนิยมใช้ ได้แก่
- ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ได้แก่ ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยาลอราซีแพม (Lorazepam) และ ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ซึ่งเป็นยาสำหรับลดอาการวิตกกังวลได้ด้วย สามารถทำให้นอนหลับได้ดี แต่แพทย์จะให้ใช้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา
- ยากลุ่มนอน-เบนโซไดอะซีปีน (Non-Benzodiazepines) เช่น ยาโซลพิเดม (Zolpidem) เป็นยาที่มีปัญหาการดื้อและอาการติดยาน้อยกว่ายากลุ่ม 1
- ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ได้แก่ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitryptyline) และยาไมแอนเซรีน (Mianserin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
- ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเมนไฮดริเนต(Dimenhydrinate) และยาไฮดร็อกซิซีน (Hydroxyzine)
- การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนยา ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนไม่หลับจากการใช้ยารักษาโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาเลือกการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนยา พร้อมให้คำแนะนำด้านพฤติกรรมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อลดอาการนอนไม่หลับ
- การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม โดยเป็นการเน้นการสร้างสุขอนามัยที่ดีของการนอน (sleep hygiene) เช่น
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ ไม่นอนกลางวัน หากง่วงให้งีบหลับ 10-15 นาที ฝึกการเข้าและตื่นนอนให้ใกล้เคียงกันเป็นประจำทุกวัน ไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้น หวาดกลัวหรือสมองทำงานหนักก่อนเวลานอน เช่น เล่นเกม ดูหนังผี ดื่มชา กาแฟ คาเฟอีนเป็นต้น ในทางกลับกันให้เน้นกิจกรรมที่เพิ่มความผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ เป็นต้น ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอน ควรปัสสาวะก่อนเข้านอนและไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอน เป็นต้น
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการนอน เช่น จัดบรรยากาศห้องนอนให้เงียบสงบ ปิดไฟขณะนอนหลับ มีม่านปิดเพื่อลดแสงไฟจากภายนอก ไม่ทำกิจกรรมทั่วไป เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ ทานขนม บนเตียงนอน ไม่เปิดอุปกรณ์สื่อสารทิ้งไว้ขณะนอน เป็นต้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน โรคนอนไม่หลับ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เปลี่ยนหรือหยุดยาเอง ควรปรึกษาและกระทำภายใต้คำสั่งแพทย์ โดยควรแจ้งแพทย์ถึงยาอื่นๆที่กินทั้งก่อนและระหว่างการรักษา
- ปรับพฤติกรรมทั่วไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการนอนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ดื่มชา กาแฟใกล้เวลานอน ไม่ทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน หากง่วงใช้การงีบหลับ 15 นาทีแทนการหลับยาวในเวลากลางวัน เป็นต้น
- จัดสภาพแวดล้อมให้เกิดสุขอนามัยที่ดีในการนอน
แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com www.nonthavej.co.th www.bangkokinternationalhospital.com