ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-ขณะออกกำลังกาย.jpg

มีข้อมูลพบว่า อันตรายขณะออกกำลังกาย โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิต ทั่วโลกอยู่ที่ 1 : 80,000 – 200,000 โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแฝง ที่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่รู้ หรือรู้และอยู่ในระหว่างการรักษาหรือการควบคุม โอกาสที่จะเสียชีวิตในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคแฝงจากกการออกกำลังหรือเล่นกีฬาโดยตรงนั้น มีโอกาสเกิดน้อยกว่า

 

สาเหตุการเสียชีวิต จากการออกกำลังกาย

สำหรับการเสียชีวิต ซึ่งเกิดในระหว่างการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา เช่น การวิ่งระยะไกล การเตะฟุตบอล การเล่นแบดมินตัน มักจะมาจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นหลัก โดยมีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันสูง ความดันสูง มีเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน เป็นต้น เมื่อต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ 3 – 5 ชม. และเมื่ออยู่ในสภาพที่มีความฟิตไม่เพียงพอ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเรื่องเครียดก่อนแข่ง นอนดึกก่อนแข่ง จึงมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตระหว่างการออกกำลังกายสูง

ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิต มาจากการที่มีลิ่มเลือดหรือก้อน plaque หลุดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวายและเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้ในการดำเนินชีวิตปกติอาจไม่มีอาการ นอกจากนี้การตรวจหลอดเลือดหัวใจตามปกติ เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ทรวงอก CT scan, MRI, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การวิ่งสายพาน (Exercise stress test: EST) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) อาจให้ผลเป็นปกติได้ ทำให้ผู้ออกกำลังกายหรือผู้เล่นกีฬาส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคแฝงอยู่ สำหรับในรายที่อายุน้อยกว่า 40 ยังอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม อีกทั้งมีการพบว่า มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สูง ในผู้ที่ปกติไม่ค่อยออกกำลังกาย แล้วจู่ๆไปออกกำลังกายหนักๆเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเกินหัวใจจะรับได้

นอกจากการเสียชีวิตจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว ยังมีการเสียชีวิตในขณะออกกำลังกายจากสาเหตุอื่น เช่น การสูญเสียเกลือแร่ จากโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่า

  

อาการเตือนถึงอันตรายขณะออกกำลังกาย

ทั้งนี้ผู้ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาควรต้องสังเกต อาการที่แสดงถึง อันตรายขณะออกกำลังกาย สำคัญ ๆ โดยถ้ามีอาการอย่าฝืน อย่าพยายามเล่นต่อเด็ดขาด อาการดังกล่าว ได้แก่

  1. เจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง
  2. เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือเหงื่อแตก ใจสั่น

โดยหากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการเพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลทันที หากไม่มีหน่วยช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

  

ข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต

  1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตรวจร่างกายตามระดับความเสี่ยง เช่น อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ อาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพานหรือการตรวจอื่นๆที่เหมาะสม ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายในการตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีแพคเกจเฉพาะออกมาเป็นระยะ โดยภายหลังการตรวจ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
  2. ควรมีการเตรียมร่างกาย ฝึกซ้อมก่อนเล่นหรือก่อนแข่งอย่างเพียงพอ โดยมีรูปแบบการฝึกทั้งแบบ interval หนักสลับเบา แบบ tempo หนักต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความทนทาน รวมถึงการฝึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นต้น
  3. ในการออกกำลังกาย หากมีความหนักหน่วง เช่น ออกกำลังกายในลักษณะที่อัตราการเต้นของหัวใจโซนสูง ๆ ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง ไม่โหมโดยไม่ดูกำลังตัวเอง และควรมีวันพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้มีการปรับตัว
  4. ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน ให้เล่นเหมือนกับที่ซ้อมมา อาจเข้มข้นขึ้นได้อีกเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายคุ้นเคยกับระดับความหนักของการออกกำลังหรือแข่งในระดับนี้มาแล้ว อันตรายมากหากไม่ค่อยได้เล่น ซ้อมน้อยหรือหยุดไปนาน แล้วมามุ่งมั่นเอาจริง เอาจังตอนแข่ง ซึ่งหัวใจจะโหลด และมีความเสี่ยงสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  5. หากพบอาการเตือน เช่น แน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม อย่าฝืนเล่นหรือออกกำลังกายต่อ ให้หยุดพัก แจ้งหน่วยพยาบาลหรือติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทันที
  6. นอกจากนี้ควรหาเวลาเข้าอบรมการทำ CPR หรือการปั้มหัวใจ เผื่อมีโอกาสในการช่วยผู้เล่นกีฬาคนอื่น ๆ ได้

การออกกำลังกายให้ถูกประเภท โดยมีความหนักและความถี่ที่เหมาะสม ผู้ออกกำลังกายจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอาการที่อาจเกี่ยวกับหัวใจ และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com
ข้อมูลอ้างอิง : ข้อมูลจาก พ.อ. นพ. กิจจา จำปาศรี. (2562). วิ่งหรือออกกำลังกายอย่างไร ให้ปลอดภัยกลับบ้านแน่ ๆ. www.health2click.com


.jpg

ท้องผูก เป็นภาวะที่พบบ่อย ประมาณร้อยละ 15 – 20 ของคนทั่วไปมักจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน บางคนหงุดหงิด ไม่สบายใจ บางคนแน่นท้อง ไม่สบายท้อง บางคนถึงกับนอนไม่หลับกระสับกระส่าย สมาธิการทำงานเสียไป ปัญหาท้องผูกมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ

 

จากการรวบรวมการศึกษาคุณภาพดี 13 การศึกษา (3 การศึกษาในเด็ก) พบว่า อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านกาย ใจ สังคมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กมักจะให้คะแนนคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์ และสังคมของเด็กต่ำกว่าที่เด็กให้คะแนนตัวเอง เพราะเด็กมักจะไม่คิดว่าท้องผูกเป็นปัญหาของตัวเอง

สำหรับผู้ใหญ่ อาการท้องผูกเรื้อรังมีผลด้านจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น มีผลต่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย มากกว่าความรู้สึกไม่สบายท้อง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังลดลงพอ ๆ กับผู้ป่วยเบาหวาน เข่าเสื่อมเรื้อรัง โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคภูมิแพ้เรื้อรัง สรุปว่า ท้องผูกเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ท้องผูกเป็นประจำในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด (Constipation and risk of cardiovascular disease among postmenopausal women. Salmorirago-Blotcher E.Am J Med2011; 124:714)

 

ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมแบบชาวตะวันตก รวมทั้งสังคมไทย (เขตเมือง)

ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนปี ค.ศ. 2000 มีการประเมินว่า คนอเมริกันพบแพทย์ด้วยปัญหาท้องผูก 2.5 ล้านคน/ปี และเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุจะมีปัญหาท้องผูกเรื้อรังมาก

ประเทศไทยยาแก้ท้องผูกเป็นยาที่ใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จากการศึกษาที่ผ่านมาบอกให้เรารู้ว่า ท้องผูกมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ท้องผูกเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย (ผัก ผลไม้) น้อยเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพิ่มโอกาสเบาหวาน ดังนั้น อาการท้องผูกน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาที่ชื่อว่า Women’s Health Initiative ในผู้หญิงชาวอเมริกัน 9 หมื่น 3 พันกว่าคน ที่ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 6.9 ปี จากข้อมูลการขับถ่ายที่รายงานโดยผู้หญิงในโครงการ 7 หมื่น 3 พันกว่าคน พบว่า อาการท้องผูกพบร้อยละ 34.7 แบ่งเป็นอาการไม่มาก (ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน) ร้อยละ 25.7 อาการปานกลาง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง) ร้อยละ 7.4 และอาการรุนแรง (รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากถึงมากที่สุด) ร้อยละ 1.6

 

อาการท้องผูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ (อายุยิ่งมาก โอกาสท้องผูกจะยิ่งมากขึ้น) ตามการสูบบุหรี่ เบาหวาน ไขมัน โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง อ้วน การออกกำลังกายน้อย รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ภาวะซึมเศร้า และประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย

สำหรับอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหรือใส่ขดลวดในหลอดเลือด และการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังปานกลางถึงรุนแรง เกิดโรคหรือภาวะดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 1.42 และ 1.91 ในเวลา 1 ปี เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก เกิดโรคดังกล่าวร้อยละ 0.96 หมายความว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ เพิ่มโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการท้องผูก แต่หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นแล้ว พบว่าผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเท่านั้น ที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีอาการท้องผูก สรุปว่า อาการท้องผูกเป็นตัวบ่งบอกพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น รับประทาน เส้นใยอาหารน้อย มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่) และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความอ้วน เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า) ขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยบอกโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเป็นประจำ

 

ทำอย่างไรดีถ้าท้องผูกเรื้อรัง

  • อันดับแรกคือ หาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราท้องผูก ตัวเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากหรือไม่ ควรรับประทานผักสดอย่างน้อย 2 ฝ่ามือ/มื้อ (ผักสุก 1 ฝ่ามือ/มื้อ) ผลไม้ 15 คำ/วัน ธัญพืชได้รับประทานบ้างหรือเปล่า
  • ยาหรืออาหารบางอย่างที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยาแคลเซียมเม็ด ฝรั่ง ชา กาแฟ
  • นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ยอมขยับทั้งวันหรือไม่มีโอกาสเดินเร็ว ออกกำลังกาย วันละครึ่งชั่วโมงหรือยัง เครียด หงุดหงิด ซึมเศร้าทั้งวัน ยิ่งเครียด ลำไส้ยิ่งไม่ทำงาน ท้องยิ่งผูก
  • ลงมือเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช เส้นใยอาหาร เช่น มะขาม มะละกอ ลูกพรุน ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายป็นประจำ อารมณ์เบิกบาน แจ่มใส คลายเครียด คลายกังวล

 

ถ้าอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นหลังเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุท้องผูกเรื้อรังและแก้ไขต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดโอกาสโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

 

ผศ.นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-PM-2.5-เสี่ยงเป็นโรคไต.jpg

“พฤติกรรมการบริโภคเค็ม” อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหลังจากมีการศึกษาพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5  มีความเสี่ยงที่จะมีส่วนร่วมทำให้เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน

 

ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละออง PM 2.5 (Particulate matter 2.5) คืออนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่เห็นลอยในบรรยากาศ โดยมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ที่พบและเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 – 10 ไมครอน และ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากควันเสียจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลจากยานพาหนะ ควันเสียจากการใช้พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม การปิ้ง เผาประกอบอาหาร และการเผาชีวมวลในช่วงก่อน-หลังฤดูการเพาะปลูก ในเขตเมืองจะประสบปัญหาภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า เพราะมีหลายปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาชีวมวลร่วมกับฝุ่นจากเขตเมือง ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ  เพราะเป็นละอองที่ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเขตเมืองมีอาคารสูง จึงเกิดลมนิ่งได้ง่ายกว่าทำให้มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่า

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

  1. ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งโรคไต
    ฝุ่นละอองเป็นปัญหาและภัยต่อสุขภาพได้ทุกรูปแบบ ในช่วงแรกได้มีการตระหนักถึงภัยต่ออาการทางเดินหายใจและโรคหัวใจเป็นหลัก อย่างไรก็ดีฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นมีผลกระทบต่อทุกอวัยวะรวมทั้งไตด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในประเทศจีน 282 เมือง พบว่า ผู้ที่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคไตอักเสบ ชนิด membranous nephropathy โดยที่ระดับฝุ่นที่ผู้ป่วยสัมผัสมีปริมาณ ตั้งแต่ 6 – 114 ug/m3 (เฉลี่ย 52.6 ug/m3) การสัมผัสฝุ่นทุก ๆ 10 ug/m3 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคไตขึ้นร้อยละ 14 การศึกษาในสหรัฐอเมริกา US Veterans กว่า 2 ล้านคนพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ในไต้หวันก็พบเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และสตรีผลจะรุนแรงขึ้น
  2. ความดันโลหิตสูง
    นอกจากนี้อากาศเป็นพิษหรือฝุ่นละอองจะสัมพันธ์กับการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการยืนยันการศึกษาจากหลายประเทศร่วมกัน พบว่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับการที่ไตขับโซเดียมลดลง มีการคั่งของโซเดียมในร่างกายและเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  3. เบาหวานเพิ่มขึ้น
    ฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ยังสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาในยุโรปและอิหร่านพบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง PM และ NOx เป็นเวลานาน จะสัมพันธ์กับอุบัติการณ์เบาหวานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตรีที่อายุน้อยกว่า 50 ปี


โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคต ดังนั้น ฝุ่นละออง PM 2.5 จึงเป็นทั้งสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ กลไกคือมีทั้งการกระตุ้นภาพประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบ มีความผิดปกติของเซลล์บุหลอดเลือด (endothelium) ทำให้หลอดเลือดหดตัว ผลระยะยาวจากความดันโลหิตสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเพิ่ม เช่น สูบบุหรี่ ภาวะอ้วนและเบาหวาน ก็จะทำให้โอกาสเป็นโรคไตสูงมาก สรุป ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลต่อทุกอวัยวะ สารการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากฝุ่นนี้จะเข้าสู่ร่างกายแพร่กระจายไปทุกอวัยวะ รวมทั้งมีผลโดยตรงต่อไป เราต้องร่วมมือกันหาแนวทางลดมลภาวะ PM 2.5 เช่น ลดการเผาไหม้ หาแหล่งพลังงานใหม่ และหลีกเลี่ยงจากฝุ่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com


6-พฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพ-หนุ่มสาววัยทำงาน.jpg

ด้วยภาระรับผิดชอบของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในเมือง ทำให้หลายๆ คนจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องการเดินทาง การกิน การทำงาน การพักผ่อน การออกกำลังกาย การปรับตัวดังกล่าวทำให้บางคนมีแบบแผนในการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เรื่องนี้ ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ที่ปรึกษาแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ได้บอกถึงสาเหตุ พร้อมแนะนำวิธีหลีกเลี่ยง ความเสี่ยงจากพฤติกรรมทำลายสุขภาพโดยเฉพาะในหนุ่มสาววัยทำงานไว้ ดังนี้

 

การอดอาหารเช้า หรือกินอาหารไม่ตรงเวลา

หากไม่รับประทานมื้อเช้า จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงเกิดสภาวะมีสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้อีกด้วย ขณะที่การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลานั้น อาจเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ภาวะกรดไหลย้อน ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ก็อาจจะเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้

 

การบริโภคอาหารไม่มีประโยชน์

การรับประทานแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารสำเร็จรูป ถึงแม้ว่าจะสะดวกสบาย และใช้เวลาน้อยก็ตาม แต่ถ้าหากเรากินอาหารพวกนี้เป็นประจำ ย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกายแน่นอน นอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังเป็นตัวการก่อโรคอีกหลายชนิดด้วย เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วนและโรคตับ เป็นต้น

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมาก กินหวานเค็มเกินมาตรฐานสุขภาพกว่า 2 เท่า โดยสาเหตุหลักมาจากการปรุงรสที่เกินพอดี ดังนั้นควรเริ่มต้นที่การลดปรุงหวาน มัน เค็ม ลงครึ่งหนึ่ง ตามการรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุข (สสส.) ขณะเดียวกันไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ควรทานสลับกับเมนูสุขภาพบ้าง จะได้ไม่เสี่ยงกับโรคต่าง ๆ ในอนาคต

 

การอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป

หลายคนต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการดวงตาตึงเครียด มองภาพได้ไม่ชัดเจน และมักจะเกิดอาการปวดศีรษะตามมา ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรพักสายตาทุก ๆ 1 ชั่วโมง โดยการมองออกไปในระยะไกลบ้างสัก 3 – 5 นาที การทำแบบนี้ทุกๆ ชั่วโมงก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

นอกจากปัญหาทางด้านสายตาแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่หนีไม่พ้นของหนุ่มสาววัยทำงานก็ คือ อาการปวดหลัง เมื่อยเอว หรือที่เรียกว่าโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเกิดจากการนั่งทำงานนานๆ ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ และปวดศีรษะด้วย ดังนั้นควรจะเปลี่ยนท่านั่ง และลุกออกไปเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง ไม่ควรนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ

 

นอนดึก

การนอนดึกย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายของเรา และยิ่งบางคนนอนดึกสะสมกันเป็นเวลานาน ก็เหมือนกับเราทำร้ายร่างกายของเราทุกๆวัน ทำให้เราทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่มีสมาธิในกิจกรรมที่เราต้องทำ ดังนั้นลองปรับเปลี่ยนเวลาการนอน และนอนให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง ก็จะทำให้ร่างกายของเราสดชื่นพร้อมทำงาน

 

ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ไม่มีผลดีต่อสุขภาพ และการสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคอีกมากมาย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ หรือโรคหัวใจ ดังนั้นผู้ที่ติดเหล้าและบุหรี่ควรลดปริมาณลง และหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนเพื่อสุขภาพที่ดี

 

ขาดการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง ทำให้เราไม่เจ็บป่วยง่าย ช่วยลดความวิตกกังวล ผ่อนคลายความเครียดได้ ดร.นพ.วิชช์ อยากให้หนุ่มสาววัยทำงาน จดจำสโลแกนชวนให้มาออกกำลังกายของ สสส.ไว้ให้ขึ้นใจว่า “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย” เพราะไม่ว่าจะเป็นการแกว่งแขน หรือลุกเดินอยู่ในที่ทำงาน ก็ช่วยให้เรามีกิจกรรมทางกายได้แล้ว ดังนั้นลองหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น

 

แหล่งที่มา : www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก : www.observatoire-sante.fr

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก