ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-1.jpg

อายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงกังวล เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรวงอก ที่ไม่มีใครอยากให้หย่อนยานกลายเป็นถุงกาแฟ หรือเกิดความผิดปกติใด ๆ

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจัยที่ทำให้หน้าอกเปลี่ยนแปลง มีหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดหรือให้นมบุตร และการก้าวสู่ช่วงวัยทอง เรียกได้ว่าหน้าอกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทุกปี! ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย และเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ลองมาฟังคำแนะนำ ที่รวบรวมมาให้คุณดูแลตามวัยกันค่ะ

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 30

ผู้หญิงวัยนี้ ยังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาวะฮอร์โมนในร่างกาย ยังทำงานเป็นปกติ หน้าอกจึงยังไม่หย่อนคล้อย การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้หน้าอกใหญ่ขึ้น แต่หลังจากคลอดและให้นมบุตร หน้าอกจะเล็กลงประมาณครึ่ง-1 คัพ เนื่องจากต่อมน้ำนมในหน้าอกทำงาน และหดตัวลงตามธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า หญิงที่เลี้ยงดูให้นมบุตรหลังอายุ 25 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ส่วนคนโสดมักมีปัญหาหน้าอกทั่วไป นั่นคือ เจ็บหรือคัดตึงหน้าอก การคลำเจอก้อนถุงน้ำ หรือซีสต์ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้น ก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ที่ไม่ส่งผลต่อร้ายสุขภาพ และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ถุงน้ำมีโอกาสยุบหายได้เอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรให้แพทย์วินิจฉัย และติดตามว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือไม่
ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท สาว ๆ ตั้งแต่วัย 25 ปีขึ้นไป ว่าควรทำการตรวจเต้านมตนเองทุก ๆ 1 – 2 เดือน แม้ว่าวัยนี้จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ไม่มีโอกาสเป็น เพราะถ้าตรวจคัดกรองดี ก็จะรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้

สมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ASC) ยังแนะนำให้หญิงที่มีพ่อแม่ หรือพี่น้องซึ่งเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ตรวจ Mammogram ก่อนช่วงอายุเดียวกันของคนในครอบครัว ที่ตรวจพบมะเร็ง 10 ปี เช่น ถ้าแม่เป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรได้รับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจโดยการเอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติการเกิดโรคในครอบครัว และความเหมาะสมของแต่ละคน 

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังการมีประจำเดือน 7 – 10 วัน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ความผิดปกติทุก 3 ปี
  • ตรวจ Mammogram ตามความจำเป็นของปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

 

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 40

หน้าอกของหญิงวัยนี้จะมีความหย่อนคล้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากต่อมไขมันในเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มวลน้ำหนักมากขึ้น และคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก

ส่วนความผิดปกติของเต้านมของหญิงวัยนี้ คงไม่แตกต่างอะไรจากกลุ่มวัย 30 นั่นคือ อาจคลำเจอถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา ที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้นตาม

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พบว่า หญิงอายุ 40 – 49 ปี เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 34.3% ทำให้การตรวจคัดกรองในช่วงอายุนี้ ต้องละเอียดและเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกปี โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่อาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน

แม้ว่าจะมีงานวิจัยอ้างว่า การรับประทานฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันหลายปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อย ลงความเห็นให้รับประทานต่อไป เพราะมันสามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลา ของการรับประทานฮอร์โมนทดแทน ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำคุณ ซึ่งแพทย์ก็มักจะแนะนำ ให้คุณหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเองทุกเดือน และทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

คำแนะนำทั่วไป 

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงประมาณ 80 – 90% จะตรวจพบความผิดปกติได้เอง
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับบุคลิกภาพให้ดี และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย พยายามนั่งตัวตรง แอ่นหน้าอก และเน้นบริหารหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเต้านมจะประกอบด้วยไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ทำให้กลับไปเต่งตึงหรือกระชับดังเดิมได้ยาก แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงก็ยังช่วยให้ดูกระชับมากขึ้นได้

ดูแลเต้านมให้สุขภาพดี สำหรับสาววัย 50 ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน มีผลทำให้ต่อมไขมันและเนื้อเยื่อเต้านมไม่ตึงตัว หน้าอกของหญิงวัยนี้ จึงมีสภาวะหย่อนคล้อย และผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของหญิงกลุ่มนี้ มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 40 – 49 ปี นั่นคือ ประมาณ 27% แต่การทำแมมโมแกรมของหญิงวัยนี้ น่าจะทำได้สะดวกกว่าหญิงอายุน้อย เพราะสภาพเต้านมมีความยืดหยุ่นจากไขมันมากขึ้น อำนวยให้เครื่องสามารถตรวจสอบ หาความผิดปกติได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หญิงวัยนี้พึงทำควบคู่กับการดูแลทรวงอกให้มีสุขภาพดี คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหลังวัยทอง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อไม่เต่งตึง และทำให้ไขมันสะสมตามเอว หน้าท้อง สะโพกและต้นขาได้ง่าย

จากการวิจัยของสาธารณสุขการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ผู้หญิงที่เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ต่ำกว่าคนที่รับประทานตามใจปาก ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 มีใยอาหาร และหมั่นออกกำลังกายควบคู่กัน สามารถป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

คำแนะนำทั่วไป

  • หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน
  • นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย บริหารหน้าอกด้วยการยกดัมเบลล์ เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าทั้งสอง ข้างขึ้น แขนทั้งสองยกดัมเบลล์ขึ้นชูเหนือระดับหน้าอก หายใจออก และลดระดับแขนจนข้อศอกตั้งฉากกับหัวไหล่ นับ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 8 – 12 ครั้ง 3 เซต

 

Tips การดูแลหน้าอกหลังผ่าตัด

สำหรับหญิงที่ได้รับการผ่าตัดหน้าอก เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายบริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยาง ขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2 – 3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา และเมื่อแผลหายดี ให้พยายามหลีกเลี่ยง

  • การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การเจาะเลือด หรือวัดความดันข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
  • การสวมเสื้อที่มีแขนรัด หรือสวมกำไลข้อมือ นาฬิกาหรือแหวน ที่รัดนิ้วหรือแขนข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.majiciristhaiherbs.com.(2009).ดูแลเต้านมให้สุขภาพดีทุกวัย.4 พฤษภาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.majiciristhaiherbs.com
ภาพประกอบจาก: www.yourhealthyguide.com


.jpg

เมื่อมีอาการคัน หรือมีตกขาวปริมาณมาก สตรีมักจะนึกถึงการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นสาเหตุแรก ๆ ทำให้ไปหาซื้อยามาใช้เอง ใช้ครบบ้างไม่ครบบ้าง จนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังขึ้นมา อันที่จริงแล้วอาการคันและตกขาวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือแม้กระทั่งไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย เช่น การตกขาวปกติร่วมกับความเป็นกรดของช่องคลอด สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในช่องคลอด เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อยามาใช้เองควรได้รับการประเมินจากสูติ-นรีแพทย์ก่อน โดยเฉพาะในการเป็นครั้งแรก

เชื้อราในช่องคลอด ช่องทางของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง เป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ บางชนิด การพบเชื้อดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสตรีรายนั้นเป็นโรค พบมากถึงร้อยละ 41 ของสตรี จะมีเชื้อราในช่องคลอดโดยไม่มีอาการ ทั้งนี้ ขึ้นกับอายุ ฐานะ ภูมิภาคที่อยู่อาศัย เชื้อราชนิดที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ส่วนใหญ่คือ เชื้อ Candida albicans เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี นอกจากนี้ เชื้อ Candida ยังสามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้โดยไม่ก่ออาการอีกด้วย โดยสามารถตรวจพบเชื้อรานี้ในอุจจาระของประชากรร้อยละ 65

 

เชื้อ Candida albicans

Candida albicans เป็นเชื้อราที่เมื่อย้อมสีแกรมจะติดสีน้ำเงิน ปรากฏให้เห็นเป็นสองรูปแบบ คือ ยีสต์และสายรายาว สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งบนพื้นผิว และในสารคัดหลั่งของร่างกาย โดยเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นรูปแบบยีสต์ที่มีการแตกหน่อจำนวนมาก ขณะที่เจริญแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนรูปร่างเป็น เส้นใยที่มีและไม่มีผนังกั้น

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การอักเสบในช่องคลอดจากเชื้อรา พบได้น้อยในเด็กหญิงก่อนมีวัยประจำเดือน และสตรีวัยหมดประจำเดือน ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน คือ ปริมาณไกลโคเจนในสารน้ำในช่องคลอดและความชื้น ดังนั้น ภาวะนี้จึงพบได้มากในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภูมิประเทศที่อาการร้อนและมีความชื้นสูง ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังพบบ่อย ในผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง ทำให้การกำจัดหรือการลดจำนวนของเชื้อราได้ช้าลง

 

อาการและอาการแสดง

อาการแสดงที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการคัน ซึ่งมักจะคันค่อนข้างมาก อาการมักจะดีขึ้นเมื่อมีประจำเดือน เชื่อว่าเกิดจากความเป็นด่างของเลือดประจำเดือน โดยอาการคันจะครอบคลุมบริเวณฝีเย็บด้วย หากคันเฉพาะบริเวณแคมใหญ่ ควรคิดถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือการติดปรสิตบางชนิด หากคันทั้งที่ในช่องคลอดและฝีเย็บอาจเกิดจากเชื้อ T. vaginalis, Human papilloma virus โดยควรได้รับการตรวจแยกโรคที่สถานพยาบาล อาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือแสบเมื่อปัสสาวะ โดนบริเวณอักเสบก็สามารถพบได้บ่อย สำหรับอาการตกขาวจะไม่ชัดเจนในบางรายโดยหากมีตกขาวผู้ป่วยมักจะมีอาการคันนำมาก่อน

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของช่องคลอดอักเสบร่วมกับผลการตรวจข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ตรวจตกขาว Wet smear (saline, 10% KOH) หรือ Gram stain พบ yeast, hyphae, หรือ pseudohyphae
  2. เพาะเชื้อหรือการตรวจอื่นแล้วพบยีสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง

โดยการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญ สำหรับการเป็นครั้งหลัง ๆ ผู้ป่วยอาจลองซื้อยามาใช้เองได้ แต่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและครบตามจำนวน

 

การรักษา

  • ยาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา หรือยาเหน็บ ยากลุ่มนี้ ทั้งครีมและยาเหน็บเป็น Oil-based ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับ Latex condom ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้ แต่จะไม่ทำให้แพ้ทั้งร่างกาย
  • ยารับประทาน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือปวดศีรษะได้ สำหรับยารับประทานกลุ่ม Azole พบมีรายงานทำให้เมีเอนไซม์ตับสูงขึ้น ภาวะข้างเคียงจะพบมากขึ้นหากใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น Astemizole, Calcium channel antagonists, Cisapride, Cyclosporine A, Oral hypoglycemic agents, Phenytoin, Protease inhibitors, Tacrolimus, Terfenadine, Theophylline, Trimetrexate, Rifampin, และ Warfain

 

สามีต้องรักษาด้วยหรือไม่

ภาวะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงยังไม่มีข้อสรุปให้รักษาในทุกราย หากคู่นอนมีอาการ ก็ควรที่จะรักษาร่วมกันไปด้วย

 

กรณีที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

  • อาการไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำในสองเดือน หลังการรักษา
  • การมีอาการอย่างน้อย 4 ครั้งใน 1 ปี พบได้ในน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสตรีทั่วไป
  • อาการรุนแรง คือ อวัยวะเพศบวมแดงมาก มีผิวเป็นขุย จนถึงอาจมีรอยแตกของผิวหนัง กลุ่มนี้มักจะตอบสนองต่อยาระยะสั้นทั้งรูป รับประทานหรือทายาเฉพาะที่ระยะสั้นได้ไม่ดี
  • ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง

 

ผู้เขียน: รศ. พญ. เจนจิต ฉายะจินดา. หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. 2554.
แหล่งที่มา: www.si.mahidol.ac.th
ภาพประกอบ: http://www.ultrabeauty.it/


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก