สับปะรด (Pineapple) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ananas comosus (Linn.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ Bromeliaceae สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย และจัดเป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมรับประทาน เนื่องจากมีกากใยสูง และมีเอนไซม์บรอมีเลน (bromelain) ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยโปรตีนได้ดี
ในส่วนของแพทย์แผนโบราณนั้น สับปะรดสามารถนำมาทำเป็นยาได้ทุกส่วน และมีสรรพคุณแตกต่างกันดังนี้
- เหง้า หรือตะเกียง รสหวานเย็น มีสรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด ระดูขาว แก้หนองใน
- เนื้อผล รสเปรี้ยวหวาน มีสรรพคุณ ขับเสมหะ แก้อักเสบ แก้บวม แก้ลักปิดลักเปิด ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เนื้อนุ่ม
- เปลือกผล รสเฝื่อนเปรี้ยว มีสรรพคุณ บำรุงไต แก้กระษัย ขับปัสสาวะ
- ใบ รสเฝื่อน มีสรรพคุณ ขับพยาธิ
ตำรับยาพื้นบ้านที่ใช้สับปะรดเป็นส่วนผสม เช่น
- แก้ขัดเบา ใช้เหง้า หรือตะเกียงสับปะรด ต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ท้องผูก น้ำสับปะรดสด 1 ถ้วย ใส่เกลือพอควรรับประทานตอนเช้าช่วงท้องว่าง
- แก้มุตกิด ใช้เหง้าสับปะรด ต้นบานไม่รู้โรย โคกกระสุน หน้าวัว รากลำเจียก รากหญ้าคา หัวหญ้าชันกาด หนักสิ่งละ 2 บาท ข้าวเย็นเหนือ-ใต้ สิ่งละ 5 บาท สารส้มหนัก 2 สลึง ต้มกินแก้มุตกิด ระดูขาว มุตฆาต เน่าร้ายภายใน ขับหนองใน
นอกจากนี้ หลายประเทศมีการสกัดเอนไซม์บรอมีเลน (bromelain) จากสับปะรด เพื่อช่วยในการให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น รวมทั้งลดอาการอักเสบ แผลบวม หรืออาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมทั้งมีการทดลองใช้บรรเทาอาการอักเสบจากริดสีดวงทวาร อาการเกี่ยวกับเส้นเลือดดำ โรคกระดูก และข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เกาต์ และอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าฤทธิ์ย่อยโปรตีนอย่างเป็นธรรมชาติของบรอมีเลน อาจช่วยลดการเกาะกันเป็นลิ่มเลือดของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกหลายชนิด
นอกจากมีเอนไซม์บรอมีเลน ยังสามารถช่วยย่อยอาหารได้ทั้งในสภาวะเป็นกรดและด่าง จึงเหมาะมากที่จะไปช่วยย่อยในกระเพาะซึ่งเป็นกรด ก่อนจะตามไปย่อยต่อในลำไส้เล็กซึ่งเป็นด่าง และถ้าจะให้ดีก็เอาสับปะรดสุกปั่นกับมะละกอสุก ๆ ชิ้นประมาณเท่าฝ่ามือ ก็จะทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยย่อยที่ดีมาก เพราะในมะละกอมีน้ำย่อยธรรมชาติอีกตัว ชื่อปาเปน จะช่วยให้การย่อยมีพลังมากยิ่งขึ้น สามารถดื่มหลังอาหารมื้อที่หนักไปทางเนื้อสัตว์ ลดอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
ภาพประกอบจาก: www.pixabay.com