
เมื่อผู้หญิงวัยประจำเดือนหมดก็มักจะถูกเรียกว่าวัยทอง หากอารมณ์แปรปรวน แต่วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ แอนโดรพอส โรควัยทองสำหรับผู้ชาย ว่ามีอาการอย่างไรบ้างค่ะ
แอนโดรพอสคืออะไร
แอนโดรพอส (andropause) คือ กลุ่มอาการถดถอยทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ชายวัยเกิน 40 ปีขึ้นไป โดยมีความสัมพันธ์กับการที่ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดระดับลง
ขณะที่ผู้หญิงมีเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ชายก็มีเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายจะถดถอยลงเป็นธรรมดา แต่มันจะค่อย ๆ ลดระดับลงช้า ๆ ใช้เวลาหลายปี ไม่ได้ลดลงฮวบฮาบแบบทันทีเพราะรังไข่หยุดทำงานแบบผู้หญิงตอนหมดประจำเดือน ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงในผู้ชายเกิดขึ้นที่ละเล็กทีละน้อย บางคนไม่รู้สึกตัวเลย แต่บางคนก็รู้สึกถึงสมรรถนะทางเพศที่ลดลง พลังงานลดน้อยลง อารมณ์หรือจิตใจที่ “ตก” ลงไปจากระดับเดิม สภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า อาการผู้ชายวัยทอง หรือแอนโดรพอส (andropause) เพื่อให้เป็นคนละเรื่องกับผู้หญิงหมดประจำเดือน หรือ menopause แพทย์บางคนไม่ยอมรับคำนี้ และพอใจที่จะเรียกภาวะนี้ว่า “อาการจากอวัยวะผลิตฮอร์โมนลดลงในผู้ใหญ่ (SLOH) บ้างก็เรียกว่า “ภาวะขาดแอนโดรเจนในคนสูงอายุ (ADAM) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นชื่อเรียกเรื่องเดียวกัน… คือ ผู้ชายหมดประจำเดือน
เนื่องจากอาการเหล่านี้มักมาเกิดขึ้นในวัยที่ผู้ชายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายในชีวิตของตัวเอง หรือเริ่มมองเหลียวหลังและระทดระท้อกับชีวิตที่ผ่านมาโดยไม่สำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงเป็นการยากที่จะบอกให้ได้ว่าอาการเหล่านี้เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายลดลง หรือเกิดจากเหตุภายนอกเช่นความล้มเหลวในหน้าที่การงานหรือการเสียจังหวะในชีวิตกันแน่
ผู้ชายพออายุพ้น 40 ปีไปแล้วฮอร์โมนเพศก็เริ่มลดลง ประมาณปีละ 1% พอช่วงอายุ 45 – 50 ปีจะลงเร็วหน่อย แต่ก็มักจะไม่มีอาการอะไรให้เห็นจนอายุ 60 ปี เมื่ออายุถึง 80 ปีประมาณครึ่งหนึ่งของคุณผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศต่ำชัดเจน ทั้งนี้ มีความแตกต่างระหว่างคนต่อคน บางรายฮอร์โมนก็ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะชราแล้ว บางรายฮอร์โมนลดต่ำไปแล้วก็จริง แต่กลับไม่มีอาการอะไรให้เห็นก็มี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดเดาว่าใครจะมีระดับฮอร์โมนลดลงแค่ไหน ณ อายุเท่าใด หรือใครจะมีอาการหรือไม่มีอาการแอนโดรพอส ทางเดียวที่จะบอกได้ว่าฮอร์โมนลดต่ำลงจริงหรือไม่ก็คือเจาะเลือดดู
อาการของแอนโดรพอส
ในคนที่มีอาการจากฮอร์โมนลดต่ำ อาการอาจรวมถึงความต้องการทางเพศลดลง เป็นหมัน อวัยวะเพศแข็งตัวเองน้อยลง (เช่น เคยแข็งตัวตอนกลางดึกหรือตอนตื่นนอนเช้าเป็นประจำก็ไม่แข็งตัวอีกเลย) เต้านมตึงคัด ขนในที่ลับร่วง ลูกอัณฑะเล็กและเหี่ยว ความสูงของร่างกายลดลง กระดูกบางยิ่งขึ้น กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ร้อนวูบวาบตามตัวและเหงื่อออก พลังงานเสื่อมถอย แรงบันดาลใจและความมั่นใจลดลง รู้สึกเศร้า หรือซึม สมาธิเสื่อม ความจำเสื่อม มีอาการหายใจขัดขณะนอนหลับหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับแบบอื่น ๆ มีภาวะโลหิตจาง ร่างกายทำงานได้น้อยลง ในอดีตแพทย์มักมองอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการของภาวะซึมเศร้าหรืออาการชราตามวัย จึงมักกล่อมให้ผู้ป่วยยอมรับสภาพว่าอายุมากแล้วทำใจเสียเถอะ ทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ยากที่จะยอมรับได้ว่าตนเองมีอาการเหล่านี้อยู่ จึงพยายามเพิกเฉยต่ออาการเหล่านี้เสีย แต่ในปัจจุบันนี้มีการเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ระดับฮอร์โมนได้ง่าย ๆ ประกอบกับการมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าแอนโดรพอสทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด (แม้ว่าหลักฐานอย่างหลังนี้จะยังไม่แน่นหนานัก) ทำให้ผู้คนหันมาสนใจแอนโดรพอสและการใช้ฮอร์โมนทดแทนจริงจังมากขึ้น
ขณะที่ผู้ชายเราหลีกเลี่ยงภาวะฮอร์โมนเพศถดถอยเมื่ออายุมากขึ้นไม่ได้ และยังมีความลังเลว่า การใช้ฮอร์โมนทดแทนจะดีหรือไม่ดีกับตัวเอง แต่ก็มีหลายอย่างที่ช่วยได้แน่นอน เช่น กินอาหารให้ถูกต้อง ใช้ชีวิตแบบแอคทีฟกระตือรือล้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้คงระดับพลังงานไว้ที่ระดับสูง คงมัดกล้ามเนื้อไว้ไม่ให้เหี่ยวหาย และคงจิตใจอารมณ์ให้คมเฉียบอยู่ได้แม้วัยจะล่วงเลยไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นตัวช่วย ลองตอบคำถามต่อไปนี้อย่างจริงใจดูก่อน โดยตอบเพียงแค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
- คุณรู้สึกว่าเรี่ยวแรง พละกำลังถดถอยลงไปกว่าเดิม
- คุณสังเกตว่าคุณเล่นกีฬาหรือออกแรงได้น้อยกว่าเดิม
- คุณรู้สึกว่ามีความต้องการทางเพศน้อยลง
- คุณมีความรู้สึกเศร้า หรือหงุดหงิด มากกว่าแต่ก่อน
- ร่างกายของคุณเตี้ยลงกว่าเดิม
- คุณรู้สึกว่าตัวเองมีความรื่นเริงบันเทิงใจกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตลดลง
- คุณรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม
- อวัยวะเพศของคุณไม่แข็งตัวตอนตื่นขึ้นมากลางดึกหรือตอนตื่นนอนเช้า
- คุณม่อยหลับหลังอาหารเย็น
- คุณรู้สึกว่ากล้ามเนื้อของตัวเองลีบลงกว่าเดิม หรือลงพุง (รอบเอวมากกว่า 34 นิ้ว)
ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่” ตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป โดยที่มีข้อ 1 หรือข้อ 2 (ข้อใดข้อหนึ่ง) อยู่ในกลุ่มข้อที่ใช่ด้วย ก็เป็นตัวช่วยบอกว่าคงไม่เสียหลายถ้าคุณจะหาโอกาสไปพบแพทย์เพื่อหารือเรื่องแอนโดรพอส เจาะเลือดดูฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และรับฟังความเห็นและข้อแนะนำของแพทย์ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะไปทางไหนต่อดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: chaoprayanews(2010).แอนโดรพอส วัยทองสำหรับผู้ชาย. 1 เมษายน 2558.
แหล่งที่มา : http://www.chaoprayanews.com/2014/02/28/แอนโดรพอส-วัยทองสำหรับผ/
ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com