วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความจำเป็นแค่ไหน ประเทศไทยพบโรคไข้หวัดใหญ่ ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน พบมากในฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และฤดูหนาวช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม แต่พบได้ประปรายตลอดปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เหตุผลที่ควรฉีด
เหตุผลที่ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่เสมอ ทำให้เกิดเชื้อใหม่ในสัตว์และในคนอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์และในคนที่มีอยู่เดิม อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น คงอยู่ไม่นานและมักจะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน หรือปี ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี จึงเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เหมาะสมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มาใหม่แต่ละปี และมีระดับที่สูงอยู่ตลอดเวลาสำหรับรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามาสู่ร่างกายของเรา
ชนิดของวัคซีน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จะประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ สายพันธุ์ A 2 subtypes (H1N1 และ H3N2) และสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์ย่อย โดยองค์การอนามัยโลกจะคัดเลือกสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่พบการระบาดหลายแห่งทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเชื้อต้นเหตุในปีถัดไปของซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ เพื่อเป็นข้อกำหนดให้ใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับปีถัดไป ในปัจจุบัน พบว่า มีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดที่มี 3 สายพันธุ์ย่อย (Trivalent Vaccine; TIV) และ 4 สายพันธุ์ย่อย (Quadrivalent Vaccine; QIV) ของ influenza virus ซึ่งคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสำหรับปี พ.ศ. 2558 – 2559 มีดังนี้
- สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มี 3 สายพันธุ์ย่อย (Trivalent Vaccine; TIV) ควรประกอบด้วย
- InfluenzaA/California/7/2009 (H1N1) pdm 09-like virus;
- InfluenzaA/Switzerland/9715293/2013 (H3N2)-like virus;
- InfluenzaB/Phuket/3073/2013-like virus.
โดยการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ย่อย (Quadrivalent Vaccine; QIV) อาจมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อ Influenza B ชนิดที่เพิ่มขึ้นในวัคซีนนี้ และเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Influenza B และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
กลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้ฉีด
กลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 เข็ม ตามสายพันธุ์ที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ได้แก่
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
- บุคคลที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- บุคคลที่เข้ารับการบำบัดอยู่ใน nursing home และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรัง
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคระบบหัวใจไหลเวียน รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคหอบหืดด้วย
- ผู้ใหญ่ หรือเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกัน
- เด็ก หรือวัยรุ่น(6 เดือน – 18 ปี) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพรินเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น Reye’s Syndrome หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
- กลุ่มที่อาจแพร่โรคไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง
- แพทย์-พยาบาล บุคลากรอื่น ๆ ในโรงพยาบาล
- เจ้าหน้าที่ใน nursing home และสถานที่บำบัดผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
- บุคคลที่เข้าพักอยู่ในบ้านเดียวกันกับคนที่มีความเสี่ยงสูง
- กลุ่มอื่น ๆ
ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีดเพื่อป้องกันการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยคนที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดบวมบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน แต่อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 1 – 2 วัน สำหรับบุคคลที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่แบบรุนแรง เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผลิตจากไข่ไก่ฟัก และผู้ที่มีไข้สูง หรือมีอาการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน ควรรอให้อาการไข้ลดลงก่อนแล้วจึงไปเข้ารับการฉีดวัคซีน
ผู้เขียน: อาจารย์ จันทนา ห่วงสายทอง
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แหล่งที่มา: www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/staff/jantana.ho