ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis) เป็นหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลำไส้ โดยเกิดจากเนื้อเยื่อบุผิวภายในลำไส้เกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งมีทั้งลำไส้เล็กอักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบ บางรายอาจมีกระเพาะอาหารหรือทวารหนักอักเสบร่วมด้วย โรคนี้สามารถแบ่งตามระยะเวลาในการแสดงอาการเป็น “ลำไส้อักเสบฉับพลัน” และ “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง”

 

อาการ

  • ปวดมวนท้อง ปวดท้องแบบบิด ๆ ร่วมกับท้องเสียหรือท้องร่วง
  • อุจจาระมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ มีมูกหรือมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นคาว มีสีซีดกว่าเดิม
  • มีไข้ ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาวสั่น เหนื่อย อ่อนเพลีย ซึม
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ถ้าท้องเสียมาก ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการจากภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาโหล มือเท้าเย็น ใจสั่น ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หน้ามืดจะเป็นลม อาจหมดสติได้

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

เมื่ออาการข้างต้นไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงใน 24 ชั่วโมง ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ถ้ามีไข้สูง ปวดท้องมาก และ/หรืออาการจากภาวะขาดน้ำตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องรีบไปโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินทันที

 

สาเหตุ

เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • ลำไส้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ปรสิต และเชื้อรา
  • เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยและทำให้ลำไส้อักเสบ ได้แก่ เชื้อ coli เชื้อ S.aureus เชื้อนี้ยังสามารถทำให้เกิดโรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรคอีกด้วย
  • เชื้อไวรัสที่ทำให้ลำไส้อักเสบ ได้แก่ เชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) เชื้ออดีโนไวรัส (Adenovirus) เชื้อซีเอมวีไวรัส (Cytomegalovirus) เป็นต้น
  • ปรสิต ได้แก่ อะมีบา (Amoeba) ไกอาเดีย (Giadia) พยาธิตัวกลม เป็นต้น
  • ส่วนเชื้อรา มักพบในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
  • ลำไส้อักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ พบได้ไม่มาก เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ทานอาหารที่มีสารพิษหรือสารเคมีปะปน ทานอาหารไม่ตรงเวลา ความเครียดและวิตกกังวล เกิดอุบัติเหตุ ลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

  1. สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การใช้ห้องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหารที่ไม่สะอาด การใช้ภาชนะในการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
  2. พฤติกรรมการกินไม่ถูกโภชนาการ และขาดสุขลักษณะนิสัยที่ดี เช่น การกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ การกินอาหารเก่าเก็บหรืออาหารที่ทิ้งไว้นาน การใช้สิ่งของ จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น การรับประทานอาหารโดยไม่ล้างมือ เป็นต้น
  3. กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่ภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรง ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ ผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวลสูง อาจส่งผลทำให้ให้ภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรง

 

ภาวะแทรกซ้อน

ลำไส้อักเสบ นอกจากสร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น โรคกระดูกพรุน ท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis, PSC) ลำไส้โป่งพอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการลุกลามเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ทะลุ หรือลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยหาสาเหตุโดย

  • การซักประวัติต่าง ๆ เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัย ประวัติการเดินทาง ประวัติการติดต่อกับผู้ป่วย การระบาดของโรค เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย เน้นการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนัก
  • การตรวจเลือด ดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count, CBC) ซึ่งอาจสูญเสียไปกับการขับถ่าย ภาวะโลหิตจาง การดูค่าเกลือแร่ต่างๆ ที่อาจเป็นผลจากการขาดน้ำ เป็นต้น
  • การตรวจอุจาระ เพื่อการตรวจหาเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบและอื่น ๆ

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม ตามอาการและความผิดปกติที่ตรวจพบ เช่น

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูการอักเสบบริเวณผนังลำไส้ และนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจทางพยาธิเพิ่มเติม
  • การสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ซึ่งอาจมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้อง
  • การทำ CT-Scan เพื่อตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนและขอบเขตของการอักเสบ

 

การรักษา

สำหรับการรักษาโรคลำไส้อักเสบ แพทย์จะทำการรักษาทั้งแบบตามอาการและแบบตามสาเหตุ

การรักษาแบบตามอาการ ที่สำคัญ ได้แก่

  • การให้ทานผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรืออาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยขาดน้ำมาก
  • การให้ยาแก้ท้องเสีย การให้ยาแก้ปวด การให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว รวมถึงการให้ผู้ป่วยทานธาตุเหล็กเสริมเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • การให้ยาต้านการอักเสบ เพื่อควบคุมอาการอักเสบ

การรักษาแบบตามสาเหตุ ที่สำคัญ

  • การให้ยา เช่น การให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น
  • การให้ยากดภูมิต้านทานเพื่อระงับการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายหรือยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นต้น

ในกรณีที่ลำไส้อักเสบรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมีผลข้างเคียง แพทย์จะพิจารณาในกรณีที่วิธีอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน ลำไส้อักเสบ

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่

  1. การดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อนที่ปรุงสดใหม่
  2. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองเช่น ปลาร้า ปลาจ่อม หอยดอง เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  4. งดการสูบบุหรี่
  5. ใช้ส้วมในการขับถ่ายเพื่อลดการระบาดของโรค
  6. พักผ่อนอย่างเหมาะสม
  7. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และอย่าลืมไปพบแพทย์ตามกำหนด
  8. ปรับปรุงสภาพของที่อยู่อาศัยให้สะอาด รักษาความสะอาดของห้องครัวและอุปกรณ์ทำอาหาร หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สกปรกและแออัด
  9. ล้างมือทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหาร
  10. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและผลไม้สุกเนื้อนิ่มเพื่อช่วยในการขับถ่าย เช่น กล้วย มะละกอ แก้วมังกรเป็นต้น
  11. รับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน เพื่อสร้างความแข็งแรงแก่ลำไส้ เช่น ฟักทอง ผักคะน้า แตงโม แคนตาลูปเป็นต้น
  12. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลหิตจาง เช่น ปลา กุ้ง ผักโขม เป็นต้น
  13. ระมัดระวังการนำสิ่งของเข้าปากในเด็กเล็กซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
  14. ผ่อนคลายความเครียดโดยเลือกกิจกรรมที่ไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย เช่น การปฏิบัติธรรม การดูหนัง การฟังดนตรี เป็นต้น
  15. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย

 

แหล่งข้อมูล : www.medicalnewstoday.com  www.nakhonthon.com  www.podpad.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก