นายแพทย์โรเบิร์ต แอทกิ้นส์ (Dr. Robert Atkins) แพทย์หัวใจชาวอเมริกันเป็นผู้ค้นคิดสูตร Atkins Diet ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 และได้ถูกปรับเปลี่ยนมาหลายเวอร์ชั่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเน้นการกินคาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูง เพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันในร่างกาย ทำให้น้ำหนักลด และประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม Atkins Diet เป็นหนึ่งในสูตรอาหารลดน้ำหนักที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเน้นการทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยมีหลักการว่า การทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล ผลไม้ แป้ง ข้าว จะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ซึ่งเชื่อว่ามีผลต่อความหิว และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น
โดยหลักในการทำงาน คือ การปรับลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานให้เหลือน้อย ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ Ketosis ซึ่งร่างกายจะดึงไขมันที่เก็บสะสมไว้มาเผาผลาญเป็นพลังงานแทนน้ำตาล ช่วยให้น้ำหนักตัวและไขมันส่วนเกินในร่างกายลดลง ผู้ที่ทำตามโปรแกรมนี้ นอกจากจะสามารถลดน้ำหนักลงได้แล้ว ยังช่วยรักษาระดับน้ำหนักให้คงที่ มีสุขภาพที่ดี แข็งแรงไม่เจ็บป่วย
อาหารที่ควรทานและไม่ควรทาน
ควรทานอาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยอาหารที่มีค่าไกลซิมิคต่ำ (Glycemic Index – GI) ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มช้า ทำให้รู้สึกอิ่มนาน ถือเป็นอาหารที่ดี ตัวอย่างอาหารที่ควรทาน ได้แก่ เนื้อสัตว์ เนื้อหมู เบคอน เนื้อปลา อาหารทะเล อาโวคาโด ไข่ นม ผักใบเขียว ถั่วและเมล็ดธัญพืชที่มีแป้งน้อย ไขมันดีจากน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอาโวคาโด เป็นต้น
ส่วนอาหารที่ไม่ควรทาน จะอยู่ในอาหารที่มีค่าไกลซิมิคสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน เค้ก ลูกกวาด ธัญพืช เป็นต้น ซึ่งหลังจากทานไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมอาหารอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเร็ว และมีการหิวเร็ว โดยการทานอาหารตามสูตรนี้ ควรที่จะบริโภคแร่ธาตุให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น
4 ระยะหลักของการกินแบบ Atkins Diet
- ระยะเริ่มต้น ช่วงแรกของการเริ่มรับประทานอาหารสูตรนี้ จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานให้เหลือน้อยกว่า 20 กรัมต่อวัน (และมี Atkins 40 plan ซึ่งเป็นอีกสูตรที่มีการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ที่รับประทานให้เหลือน้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน แทนที่จะเป็น 20 กรัมต่อวัน) โดยได้คาร์โบไฮเดรตจากสลัด และผักคาร์โบไฮเดรตต่ำ และอาหารจำพวกโปรตีนและไขมันสูง จากการที่ระบบเผาผลาญจะดึงไขมันที่เก็บสะสมไว้มาเผาผลาญเป็นพลังงานแทนน้ำตาล ทำให้อาจมีอาการข้างเคียงในระยะนี้ คือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ท้องผูก มีกลิ่นปากได้
- ระยะน้ำหนักลดต่อเนื่อง ค่อย ๆ เพิ่มคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่น ๆ โดยเน้นอาหารประเภทที่ให้พลังงานต่ำ และมีกากใยสูง โดยเพิ่มปริมาณ 25 กรัมภายใน 2 อาทิตย์แรก เพิ่ม 30 กรัมช่วงอาทิตย์ที่ 2 และเพิ่มทุก ๆ สัปดาห์จนน้ำหนักไม่ลดแล้ว จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานเข้าไป 5 กรัมทุก ๆ วันจนน้ำหนักเริ่มจะลดลงอีก
- ระยะก่อนเข้าสู่ระยะน้ำหนักคงตัว อัตราการลดน้ำหนักของคุณจะค่อย ๆ ลดลง คุณสามารถเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานได้ 10 กรัมต่อสัปดาห์ จนรู้สึกว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างช้า ๆ
- ระยะน้ำหนักคงตัว เมื่อคุณสามารถลดน้ำหนักได้ถึงระดับที่ต้องการ คุณจะเริ่มเข้าสู่ระยะน้ำหนักคงตัว และอาจเริ่มเพิ่มการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ ได้ แต่ต้องเป็นแบบที่มีค่าไกลซิมิคต่ำ ๆ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดดี โดยหากคุณเริ่มกลับมามีน้ำหนักเพิ่ม คุณอาจเริ่มการรับประทานอาหารสูตรนี้ใหม่อีกครั้ง
การทานอาหารตามสูตรจะช่วยในการลดน้ำหนัก และช่วยป้องกันโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ทานอาหารตามสูตรนี้ หยุดปฏิบัติหลังจากผ่านไป 2 – 3 ปี โดยช่วงแรกมีรายงานของอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการปวดศีรษะ เวียนหัว อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ท้องผูก ซึ่งอาจเกิดจากการใช้พลังงานจากไขมัน ทำให้เกิดการสะสมของคีโตน และอาจนำไปสู่อาการดังกล่าว นอกจากนี้ อาหารตามสูตรนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ใช้ยาขับปัสสาวะ ฉีดอินซูลิน ใช้ยาเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มทานอาหารแบบ Atkins diet ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อน รวมถึงผู้ที่จะปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารแบบทันทีทันใด ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนการปรับเปลี่ยน
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.medicalnewstoday.com
ภาพประกอบ: www.freepik.com