โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการทางจิต โดยจะมีรูปแบบความคิดหรือความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล จนนำไปสู่การทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เพื่อที่จะลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น พบได้ร้อยละ 2 – 3 ในประชากรทั่วไป โดยเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยที่อายุ 20 ปี พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยอาจพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิค เป็นต้น
อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการย้ำคิดร่วมกับอาการย้ำทำ หรืออาจมีเฉพาะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- อาการย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เป็นความคิดซ้ำซากที่ผุดขึ้นมาซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดอาการย้ำทำตามมา จึงมักส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์และมีความวิตกกังวลจากความคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือคิดมากเกินพอดี เช่น กลัวความสกปรกจากการหยิบจับสิ่งของและการสัมผัสผู้อื่น วิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลา เช่น คิดว่าลืมปิดประตูบ้านหรือเตาแก๊ส ไม่สบายใจเมื่อเห็นสิ่งของจัดไม่เป็นระเบียบ หรือมีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น
- อาการย้ำทำ (Compulsion) เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออาการย้ำคิด เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความวิตกกังวลในใจ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้ลงมือทำ และด้วยการที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทำให้เสียเวลากับอาการย้ำทำวันละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง จนไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติได้ ตัวอย่างเช่น ล้างมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินจำเป็น ตรวจดูประตูหรือเตาแก๊สซ้ำแล้วซ้ำเล่า คอยตรวจนับหรือจัดสิ่งของซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่องคำพูดหรือบทสวดมนต์ในใจซ้ำ ๆ ชอบเก็บหรือสะสมสิ่งของในบ้านมากเกินไป เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติที่เรียกว่า Motor Tic/Movement Tic หรือการพูดผิดปกติแบบ Vocal Tic หรือมีอาการร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการย้ำคิดและย้ำทำ แม้ว่าจะเห็นว่าไม่มีเหตุผล แต่หยุดคิดและหยุดทำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ กันมากกว่า 1 ชม.ในแต่ละวัน ทำให้เป็นทุกข์ ไม่มีความสุขและไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้
สาเหตุ
โรคย้ำคิดย้ำทำมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยด้านการเรียนรู้ โดยปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ การทำงานเพิ่มขึ้นของสมองในส่วน Orbitofrontal cortex, Cingulate cortex, Caudate nucleusและ thalamus หรือความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน (Serotonin) รวมถึงทางด้านพันธุกรรม โดยพบว่าอัตราการเกิดโรคในแฝดไข่ใบเดียวกัน (Monozygotic twins) สูงถึงร้อยละ 60-90 ในขณะที่ในประชากรทั่วไป พบเพียงร้อยละ 2 – 3 สำหรับปัจจัยด้านการเรียนรู้ ผู้ป่วยจะเชื่อมสถานการณ์ปกติเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอันตราย จนเกิดความวิตกกังวล ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คลายวิตกกังวล ภายหลังทำแล้วดีขึ้นก็จะมีการทำซ้ำๆจนเกิดอาการ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากความรุนแรงในชีวิต จนก่อให้เกิดความเครียดแล้วกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงอาการย้ำคิดย้ำทำออกมา
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยและแยกโรคอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุออกไปเหลือเฉพาะโรคทางจิตเวชเป็นหลัก ซึ่งผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ความรุนแรงของอาการ รูปแบบความคิด พฤติกรรม และระยะเวลาที่หมดไปกับอาการย้ำคิดย้ำทำ
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจร่างกายหาร่องรอยที่เป็นสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคและอาจตรวจหาปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของไทรอยด์ การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด เป็นต้น
การรักษา
การรักษามุ่งเน้นการควบคุมอาการและการเพิ่มทักษะในการจัดการ เพื่อลดอาการย้ำคิดย้ำทำและอาการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ดังนี้
- การรับประทานยา แพทย์อาจพิจารณาให้ยาหลายชนิดเพื่อช่วยควบคุมอาการ เช่น
- ยาแก้ซึมเศร้า เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ปรับสารซีโรโตนิน (Serotonin) ในสมอง ให้อยู่ในระดับสมดุล โดยอาการของผู้ป่วยมักดีขึ้นหลังจากรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 8 – 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการหยุดปรับลดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลสูง อาจใช้ยาเพื่อช่วยคลายกังวลในระยะสั้น ๆ
- ยาต้านโรคจิต ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านโรคจิตควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- การรักษาทางจิตบำบัด เป็นการรักษาที่อาจต้องใช้ทั้งเวลา ความพยายามของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัว โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยฝึกปฏิบัติ พร้อมทั้งให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัว ถึงอาการ แนวทางการรักษาและบทบาทในการปฏิบัติต่อผู้ป่วย เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุดด้วย การรักษาด้วยวิธีนี้อาจได้ผลดี แม้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีอื่นเพิ่มเติม ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการก่อนหน้า เช่น การฝังขั้วไฟฟ้ากระตุ้นสมอง และการผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะรักษาโดยวิธีใด ผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์ตามนัดหรือตามแผนการรักษา เพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
การป้องกัน
- ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- แบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนส่วนตัวให้สมดุล เช่น จัดเวลาทำงาน เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูง เวลาทำงานอดิเรกและพักผ่อน ไม่หนักด้านหนึ่งด้านใดมากเกินไป
- เรียนรู้วิธีจัดการและรับมือกับอารมณ์ หรือความคิดที่ไม่เหมาะสมหรือเกินพอดี
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เป็นต้นเหตุของโรค เช่น เรื่องที่มักจะทำให้วิตกกังวล ซึมเศร้า คิดมาก เป็นต้น
- ไปพบแพทย์ทันทีหากคิดว่าตนเองมีอาการย้ำคิดย้ำทำ ไม่สามารถควบคุมและดำเนินชีวิตเป็นปกติได้
แหล่งข้อมูล : www.med.mahidol.ac.th www.podpad.com