ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทำได้ 2 แบบ คือ แบบ active (กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง) และแบบ passive (ให้ภูมิคุ้มกันของคน หรือสัตว์ที่เกิดขึ้นแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแบบ active ได้แก่ การให้วัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ท็อกซอยด์ (toxoid)

ใช้ป้องกันโรคที่เกิดขึ้นเป็นผลจากพิษ หรือท็อกซินของแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง เช่น โรคคอตีบ หรือโรคบาดทะยัก ทำได้โดยทำให้พิษของแบคทีเรียหมดไป แต่ความสามารถให้การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันยังมีอยู่ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

โดยทั่วไปเมื่อฉีดพวกนี้เข้าไปจะไม่มีไข้ หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่ นอกจากเคยฉีดมาแล้วหลายครั้ง หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีเช่นนี้อาจเกิดปฏิกิริยาอิมมูนบริเวณที่ฉีด ทำให้มีอาการบวมแดง เจ็บบริเวณที่ฉีด และมีไข้ได้

 

กลุ่มที่ 2 วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated หรือ killed vaccine)

  • ทำจากแบคทีเรีย หรือไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว (whole cell vaccine) พวกที่ทำจากเชื้อแบคทีเรียมักเกิดจากปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด บางครั้งอาจมีไข้ด้วย อาการมักจะเริ่มเกิดหลังฉีด 3 – 4 ชั่วโมง และจะมีอยู่ประมาณ 1 วัน บางครั้งอาจมีปฏิกิริยาอยู่นานถึง 3 วัน ตัวอย่างของวัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ วัคซีนพวกนี้มักจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ห้ามเก็บในตู้แช่แข็ง เพราะจะทำให้แอนติเจนเสื่อมคุณภาพ
  • ใช้เฉพาะส่วนของแบคทีเรีย หรือไวรัสที่เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้นมาทำเป็นวัคซีน (subunit vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกัน  โรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type b) วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis vaccine) วัคซีนป้องกัน ไทฟอยด์ชนิดวีไอ (Vi vaccine)

 

กลุ่มที่ 3 วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live attenuated vaccine)

เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนสำหรับไวรัส ส่วนวัคซีนสำหรับแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) วัคซีนป้องก้นโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดกิน ส่วนวัคซีนสำหรับไวรัสที่ใช้ในประเทศไทย คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคสุกใส วัคซีนในกลุ่มนี้เมื่อให้เข้าไปในร่างกายแล้ว จะยังไม่มีปฏกิริยาทันที จะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเริ่มมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด จะมีอาการไข้ประมาณ วันที่ 5 ถึงวันที่ 12 หลังฉีด วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องเก็บไว้ให้ดีเป็นพิเศษ เพราะถ้าเชื้อตายการให้วัคซีนจะไม่ได้ผล นอกจากนี้ ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง เช่น ได้รับอิมมูโนโกลบุลิน หรือเดิมที่เรียกกันว่า แกมมาโกลบุลิน อาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของวัคซีน การให้วัคซีนในกลุ่มนี้จะต้องระวัง ถ้าให้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ หรือผู้ที่ได้รับยา หรือสารกดภูมิคุ้มกันอยู่ อาจมีอันตรายได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2009).การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค.24 มีนาคม 2559.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.psychcentral.com


-อันตรายต่อมนุษย์-อย่างไร.jpg

“ไวรัส” คืออะไร ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร

ไวรัส (Virus) เป็นเชื้อก่อโรคขนาดเล็กมาก ต้องขยายนับแสนเท่าจึงจะมองเห็น มีโครงสร้างหลักเพียงสายพันธุกรรม DNA หรือ RNA หุ้มด้วยโปรตีน ลักษณะสำคัญคือ ไวรัสไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง การมีชีวิตและเพิ่มจำนวนของไวรัส จะเป็นลักษณะของการรุกรานเข้าไปภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น แล้วควบคุม ปรับเปลี่ยนกลไกต่าง ๆ ให้เซลล์นั้น ทำหน้าที่ช่วยให้ไวรัสแบ่งตัว เพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ ต่อมาเซลล์ดังกล่าวค่อย ๆ ตายลง ไวรัสจะเคลื่อนย้ายเข้าไปยึดครองเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง ถ้าเซลล์ของอวัยวะนั้น ๆ ถูกทำลายไปจำนวนมาก จากเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส รวมทั้งปฏิกิริยาหรือภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตที่ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อด้วย จะก่อให้เกิดโรคขึ้น

สำหรับเชื้อก่อโรคชนิดอื่น ๆ นอกจากไวรัส ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว พยาธิ เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งเซลล์ในการแบ่งตัวแบบไวรัส

“ไวรัส” เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไร ทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง

ไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางผิวหนังและเยื่อบุ ทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไวรัสจะเข้าไปในเซลล์ได้ต้องอาศัย “กุญแจจำเพาะที่จะไขเปิดประตูแต่ละบาน” ของเซลล์ได้  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสแต่ละแบบ แต่ละสายพันธุ์ ส่งผลให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในอวัยวะที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดการก่อโรคในอวัยวะหรือในระบบที่แตกต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น ไวรัสในโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ไวรัสยังทำให้เกิดกาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออก โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

 

โรคติดเชื้อไวรัสรักษาอย่างไร เหมือนหรือต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ หรือไม่

จากข้อก่อนหน้า ไวรัสจะรุกราน อาศัยและเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น คล้ายกับเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเอง จึงเป็นการยากในการค้นคว้าหายาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโดยไม่กระทบเซลล์ปกติ ขณะเดียวกันไวรัสชนิด RNA ยังกลายพันธุ์เก่งเพื่อเอาตัวรอดจากยาได้ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การก่อโรคของไวรัสหลายชนิดค่อนข้างช้า จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตื่นตัวและสร้างแอนติบอดีและภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ มาทำลายเชื้อและเซลล์ติดเชื้อ ทำให้โรคติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่หายได้เอง

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสในปัจจุบัน จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการในโรคที่หายได้เอง เช่น การให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ลดการไอ ลดการอักเสบ เป็นต้น ส่วนการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งมีใช้อยู่ในบางโรคที่ก่อโรครุนแรง เช่น ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาต้านไวรัสตับอักเสบ B และ C ยาต้านไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการทำลายเชื้อหรือยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อในเซลล์  ทำให้เชื้อลดจำนวนลงและหายจากโรคได้ ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา จะช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่รุกรานร่างกายโดยตรงได้ด้วย  แต่เชื้อไวรัสบางชนิดก็ยังกบดานหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ได้ เช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเริ่ม เป็นต้น ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมาก่อโรคได้อีกเมื่อไม่ได้กินยาต้านไวรัส

 

ภูมิคุ้มกันของร่างกายคืออะไร ทำไมถึงจัดการกับไวรัสได้

ระบบภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งในระบบหลัก ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดโรค ประกอบด้วย 2 ระบบย่อยทำงานประสานกันคือ ระบบภูมิคุ้มกันทั่วไปและภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ โดยการกำจัดไวรัสแบบจำเพาะนั้น ร่างกายต้องใช้เวลาระหว่าง 1 – 7 วัน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเร่งผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เพื่อสร้างแอนติบอดี ที่มีความสามารถในการเข้ากำจัดเชื้อไวรัสชนิดที่รุกรานเซลล์โดยตรง และมีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์เพื่อไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งการสร้างเซลล์ความจำให้จำไวรัสได้และพร้อมที่จะผลิตภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ ออกมาต่อต้านเชื้อไวรัสตัวเดิมเมื่อถูกรุกรานอีก อย่างไรก็ตาม การสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะจะทำได้ดีและมีประสิทธิภาพเมื่อร่างกายของผู้รับเชื้อมีความแข็งแรงเพียงพอด้วย

 

วัคซีนต้านไวรัส (Antiviral vaccines) สำคัญและมีบทบาทอย่างไรในการป้องกันโรคจากไวรัส

จากการที่ภูมิต้านทานของร่างกายแบบจำเพาะ ต้องรอให้ไวรัสรุกราน และอาศัยระยะเวลาหนึ่ง ถึงจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับที่จัดการกับเชื้อไวรัสได้ ในระหว่างนั้นผู้ติดเชื้ออาจเสี่ยงหรือเป็นโรคไปแล้ว

วัคซีนจึงเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่ เสมือนไวรัสเทียมที่รุกรานเข้ามาในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสหรือตำแหน่งตรงผิวไวรัสที่เป็น “กุญแจจำเพาะ” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงต่อตำแหน่งที่ผิวไวรัสชนิดนั้น ๆ ขึ้นมา ก่อนที่ร่างกายจะติดเชื้อจริง เมื่อมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือการฉีดครบโดส ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่รุกรานจะขึ้นสูงพอที่จะต่อสู้กับไวรัสตัวจริงที่อาจรุกรานร่างกายในอนาคต

ทั้งนี้วัคซีนบางชนิด อาจมีการแนะนำให้ฉีดทุกปี เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันให้สูงพอ และเพื่อให้มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อที่ระบาดในปีนั้น ๆ

 

ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) มีบทบาทอย่างไร

ปัจจุบันยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงเป็นยาที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสทั้งในเซลล์และห้ามเชื้อมิให้หลุดออกมาจากเซลล์หรือเข้าไปในเซลล์ได้ใหม่ ยาต้านไวรัสชนิดต่าง ๆ จึงถูกพัฒนาเพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย ทำให้อวัยวะที่ติดเชื้อไม่ถูกทำลายต่อไปและหยุดยั้งการดำเนินโรคหรือปฏิกิริยาที่รุนแรงมากกว่าปกติจากภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการติดเชื้อ ทำให้มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างภูมิต้านทานแบบจำเพาะต่อไวรัสที่รุกรานและโรคไม่กำเริบได้ การมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงจะเป็นอีกทางเลือกในการที่แพทย์จะนำมาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากไวรัส และป้องกันการติดเชื้อในคนปกติ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสได้
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้  |  ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ  |  ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : 
ศ.เกียรติคุณ นพ. อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 

 


-01.jpg

เมื่อพูดถึง ” วิตามินซี ” หลายคนคงนึกถึงผลไม้รสเปรี้ยว อย่างเช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะขามหวาน มะขามป้อมและอีกมากมาย ขอเพียงแต่เป็นผักผลไม้สด ๆ เป็นใช้ได้ หรือบางคนอาจนึกถึงยาเม็ดสีส้ม สีเหลือง ที่มีรสชาติออกเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ไว้กินเวลามีเลือดออกตามไรฟัน ในความเป็นจริงแล้ว” วิตามินซี “มีประโยชน์มากมายกว่านั้น

 

วิตามินซีมีประวัติการค้นพบตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มีการสังเกตว่า ทหารเรือออกเดินเรือเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้รับประทานผักและผลไม้สด จึงมักป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด และสุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็มีคนสังเกตเห็นว่าไม่พบอาการดังกล่าวในทหารเรือที่รับประทานมะนาวเป็นประจำ ต่อมาจึงได้หาสารอาหารที่เป็นต้นเหตุได้ คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbicacid) หรือวิตามินซีนั่นเอง

 

วิตามินซี ประโยชน์ที่ได้รับ

ประโยชน์ของวิตามินซีมีมากมาย นอกเหนือจากที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัดทำให้หายเร็วขึ้นถึง 21% คือ

  • วิตามินซีช่วยปกป้องเซลล์เสริมภูมิคุ้มกันสุขภาพและความแข็งแรงของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นและคอลลาเจน
  • วิตามินซีช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมและรักษาตัวเอง โดยการไปเสริมสร้างผนังเซลล์ทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและต่อต้านการอักเสบจึงทำให้แผลหายเร็ว
  • วิตามินซีช่วยให้เหงือกมีสุขภาพแข็งแรง โดยจะไปช่วยรักษาเซลล์ที่ถูกทำลาย และช่วยให้แผลที่เหงือกหายเร็ว
  • วิตามินซีช่วยเพิ่มความต้านทานต่อโรคหัวใจ โดยการไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานร่วมกับวิตามินอี โดยจะไปลดการเกาะของไขมันที่ผนังหลอดเลือด
  • วิตามินซีช่วยในการป้องกันโรคต้อกระจก เนื่องจากวิตามินซีสามารถช่วยปกป้องเลนส์ตาจากอันตรายต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ แสงอัลตราไวโอเลต ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก
  • วิตามินซีช่วยป้องกันไมเกรน เมื่อรับประทานร่วมกับ Pantothenic acid โดยวิตามินซีจะไปช่วยร่างกายในการต่อสู้กับความเครียดได้ดีขึ้น
  • วิตามินซีช่วยลดความเครียด และยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนกรดอะมิโน ให้กลายเป็นสารในสมอง ซึ่งมีความจำเป็นต่อสมองและหน้าที่ของระบบประสาทด้วย
  • วิตามินซีช่วยเพิ่มความแข็งแรงของภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาว

 

การรับประทานวิตามินซี

การรับประทานวิตามินซี ภาวะปกติปริมาณที่แนะนำให้ทานคือ 60 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีจะต้องรับประทานอย่างน้อย 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน คนที่มีความเครียด ควรรับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่นิยมรับประทานวิตามินซีไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับในปริมาณที่มากเกินไป เพราะสามารถละลายในน้ำได้ดี หากร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะมีการขับออกมาได้ทางปัสสาวะ อีกทั้งยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับพิษที่เกิดจากการรับประทานวิตามินซี แม้รับประทานในปริมาณที่สูงกว่า 6,000-18,000 มิลลิกรัม

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อพึงระวังในการรับประทานวิตามินซี การรับประทานในปริมาณสูงๆ อาจจะมีผลต่อการดูดซับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น Copper Selenium อาจมีผลต่อความผิดพลาดของผลการตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะได้ วิตามินซีทำให้การดูดซึมแร่ธาตุเหล็กได้ดี จึงอาจจะเกิดภาวะได้รับแร่ธาตุเหล็กเกิน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: นพ.ครรชิต อมาตยกุล.(2008).เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิตามินซี.12 เมษายน 2558.
แหล่งที่มา: www.hilight.kapook.com
ภาพประกอบจาก: www.livestrong.com


-2019-เรื่องต้องรู้-หากจะรับมือให้ได้.jpg

ไวรัสโคโรน่า และไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 มีที่มาที่ไป การแพร่ระบาด และการเข้าสู่ร่างกายอย่างไร 

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus, CoV) เป็นไวรัสที่ก่อโรคทั้งในสัตว์และคน โดยในคนมักทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ ความรุนแรงแตกต่างตามสายพันธุ์ ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาจนถึงโรคปอดติดเชื้อ และอักเสบรุนแรงจนเสียชีวิต เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 600 คน โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 900 คน

ไวรัสโคโรน่า 2019 (Coronavirus disease 2019, COVID-19) ที่กำลังระบาดและก่อให้เกิดโรคโควิด 19 คาดกันว่า มีศูนย์กลางการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ กลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลกข้อมูลจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 164 ล้านราย ผู้เสียชีวิต 3.4 ล้านราย (วิกิพีเดีย 18/5/2021)

ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสโควิด 19 แพร่ติดต่อในลักษณะหยดละออง (droplet) จากการพูด ตะโกน ไอ จามของผู้ติดเชื้อ เข้าสู่ร่างกายผู้ใกล้ชิดในระยะ 1 – 2 เมตร และละอองฝอย (aerosol) ลอยในอากาศไปได้ไกล 8 – 10 เมตร ในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ผ่านทางจมูก ทางเดินหายใจ ลงปอด และการสัมผัสสารคัดหลั่งจากหยดละอองที่ติดตามพื้นผิวสัมผัสในบริเวณใกล้เคียง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน โดยผู้สัมผัสนำมาแคะจมูก ขยี้ตา ซึ่งเป็นบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อน ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้

 

เมื่อเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มีการดำเนินของโรคอย่างไร แพร่เชื้อได้ตอนไหน เมื่อไรจะหาย

เชื้อไวรัสโควิด 19 หลังจากเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนขึ้นมาระดับหนึ่ง เรียก ระยะฟักตัว ระหว่าง 2 – 14 วัน  โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 วัน แล้วจึงเริ่มมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูก ต่อมาเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างที่เรียกว่า “โควิดลงปอด” จะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงเสมหะในปอด เสมหะมีเลือดปน ในรายที่รุนแรงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด

ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนหน้าวันมีอาการ ระหว่าง 1 – 3 วัน ดังนั้น หากผู้ติดเชื้อมีอาการ 10 วัน ผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ใกล้ชิดได้มากกว่า 10 วัน

สำหรับระยะเวลาการรักษาตัว ผู้ที่ภูมิต้านทางแข็งแรง และมีอาการน้อย ร่างกายจะกำจัดเชื้อหรือหายได้เองประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่เชื้อลงปอดและมีอาการรุนแรง ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 8 สัปดาห์ กรณีอาการรุนแรงมาก ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียู ต้องใช้เวลานานเป็นหลาย ๆ เดือนในการรักษาให้หายกลับมา

 

จะรู้แน่ ๆ ได้อย่างไรว่า เชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว

การตรวจหาเชื้อโควิด หากตรวจเจอหรือผลตรวจเป็นบวก แสดงว่ามีการติดเชื้อจริง หากตรวจไม่เจอหรือผลตรวจเป็นลบแสดงว่า ตรวจไม่พบเชื้อ ต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 5 – 7 วัน เนื่องจากมีบางสาเหตุที่อาจทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ เช่น เพิ่งรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ตำแหน่งที่เก็บเชื้อ เชื้ออยู่ในระยะฟักตัว เป็นต้น

 

เชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว มีอาการอย่างไร อาการรุนแรงมากน้อยอย่างไร

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก 80% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 20%  มีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (WHO, Q&A on COVID-19) 5% อาการรุนแรงมาก ต้องรักษาห้อง ICU และ 2.0% เสียชีวิต โดยอาการที่พบส่วนใหญ่จะเป็น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และอาจหายได้เอง ในรายที่ไม่หายจะมีอาการ “โควิดลงปอด” เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ในรายที่เป็นรุนแรงหรือรุนแรงมาก จะมีอาการปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว อาจมีภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการใด ๆ เลยและหายได้เอง สามารถแพร่เชื้อได้ไหม

ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ไม่มีอาการใด ๆ ทั้งก่อนและหลังการตรวจพบเชื้อ สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ใกล้ชิดได้ เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการ เรื่องนี้สำคัญมากเนื่องจากอาจมีคนจำนวนมากที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ ยังไม่ได้กักตัว (Quarantine) ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ ยังไม่ได้แยกตัว (Isolation) โดยใช้ชีวิตปกติ และแพร่เชื้อไปยังผู้ใกล้ชิดจำนวนมาก

ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และเสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไหน

ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ/หรือมีโรคประจำตัวหลัก ๆ คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคอ้วน โรคมะเร็ง
.

การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ทำอย่างไร

การรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 หลัก ๆ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อฟื้นฟูอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดเชื้อได้ทันเวลา ในเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

หากตรวจพบผู้ติดเชื้อจะมีมาตรการแยกตัว (Isolation) ไปรพ.สนามหรือ Hospitel

  • กรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะมีการสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิ วัดความดัน ให้ยาบรรเทาอาการในบางราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 14 วัน
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น จะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาให้ยาและรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การเอกซเรย์ปอด การวัดค่าออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
  • หากรุนแรงกว่านั้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ให้การรักษาด้านอื่น ๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน รวมทั้งพิจารณาย้ายผู้ป่วยเข้าห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) ในกรณีอาการยังไม่ดีขึ้น

 

ไวรัสโควิด 19 มีสายพันธุ์ย่อยหรือมีการกลายพันธุ์ไหม มีผลต่อการรักษาอย่างไร

ปัจจุบันพบไวรัสโควิด 19 หลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ S และ L เริ่มที่จีน โดยสายพันธุ์ S มาระบาดรอบแรกในไทย สายพันธุ์ L ระบาดในยุโรป แล้วพัฒนาเป็นสายพันธุ์ G และ V โดยสายพันธุ์ G แพร่ระบาดไปทั่วโลก และพัฒนาเป็น GH และ GR พบสายพันธุ์ G (GH) มาระบาดที่ประเทศไทยด้วย ส่วนที่ยุโรปจะเป็น สายพันธุ์ GR เป็นส่วนใหญ่ โดยมีที่กลายพันธุ์ คือ B.1.1.7(GR,G) พบที่อังกฤษ สายพันธุ์ B.1.351(GH,G) พบที่แอฟริกาใต้ สายพันธุ์ P.1(GR) พบที่บราซิล สายพันธุ์ B.1.617.2 พบที่อินเดีย ทั้งนี้บางสายพันธุ์ แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธ์ุอื่น ส่งผลให้ควบคุมได้ยาก บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วลุกลามได้เร็ว อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย ทำให้แพทย์ต้องติดตามการรักษาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยอาจติดเชื้อคนละสายพันธุ์ (ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ)

 

กรณีติดเชื้อแล้วหายเป็นปกติแล้ว ร่างกายโดยเฉพาะการทำงานของปอดจะเหมือนเดิมไหม

ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และอาการน้อย น่าจะหายได้โดยไม่มีผลในระยะยาว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีแนวโน้มที่ปอดจะเสียหาย หากดูจากโรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง อาจต้องมีการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย (ECMO) และอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ ในการฟื้นสภาพการทำงานของปอดให้กลับมาใกล้เคียงปกติอีกครั้ง

สามารถอ่านอัพเดทสถานการณ์ โรคโควิด 19 ได้ที่ www.ddc.moph.go.th/viralpneumonia

.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร  |  ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ  |  ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


-19.jpg

โรคโควิด 19 : แนวทางจัดการ

โรคโควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่อ ที่มีแนวทางการจัดการเน้นที่ 1) การป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่ม โดยลดการสัมผัสเชื้อ หรือหากสัมผัสแล้วมีภูมิต้านทานที่จะลดการเจ็บป่วย และ 2) การควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

การป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เพิ่ม มี 2 ข้อหลัก คือ

  • การลดการสัมผัสเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับบุคคลอื่น การล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ การเว้นระยะห่างกับผู้อื่น และมีมาตรการทางสังคมเพิ่มเติมตามสถานการณ์ เช่น ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ทำงานจากที่บ้าน เป็นต้น
    .
    .
  • การฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (SARS-CoV-2) โดยฉีดวัคซีน การฉีดตั้งแต่ 70% ขึ้นไป ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) เป็นประโยชน์กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดอีกด้วย
    .

การควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 โดยตรวจคัดกรองแยก ผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงติดเชื้อสูง ผู้เสี่ยงติดเชื้อต่ำ แล้วมีมาตรการรองรับแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อโควิดสูง ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด ถ้าพบว่าติดเชื้อต้องแยกตัว (Isolation) และรับการรักษาที่เหมาะสม โดยผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต้อง ไปยังโรงพยาบาล ในห้องที่มีการควบคุมการระบาด ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง จะถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ซึ่งมีระบบดูแลป้องกันการแพร่ของเชื้อ
    .
    สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด ได้แก่ 1) ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และมีปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางเข้าออกจากพื้นที่ระบาด 2) ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และอาการหนักขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจไม่เต็มอิ่ม โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยเสี่ยง 3) ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และมีอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว
    .
    .
    ทั้งนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจ ก่อน/ระหว่างรอผล/หลังทราบผลเป็นลบ ต้องใช้มาตรการกักตัวเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อ โดยผลการตรวจเป็นลบหมายถึง ตรวจไม่พบเชื้อยังคงต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน และอาจต้องมีการตรวจซ้ำ
    .
    ปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่ควรพิจารณารับการตรวจ เมื่อ
    .การสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย จนถึงขั้นเสี่ยงสูง ต้องไปตรวจโควิดทันที มีเกณฑ์ดังนี้

      • เจอกับผู้ติดเชื้อโดยตรง ในพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เกิน 15 นาที
      • เจอและพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ในระยะไม่เกิน 1 เมตร นานมากกว่า 5 นาที
      • อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อในระยะไม่เกิน 1 เมตร โดยต่างคนต่างไม่ใส่หน้ากากอนามัย หรือเครื่องป้องกันอื่น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
      • ไอ หรือจามใส่กัน โดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือเครื่องป้องกันอื่น ๆ
      • รับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มจากภาชนะเดียวกัน อุปกรณ์รับประทานอาหารชิ้นเดียวกัน
      • อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในสถานที่เดียวกันกับที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

การเดินทางเข้าออกจากพื้นที่ระบาดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ระบาด การเคลื่อนย้ายต้องมีการกักตัวสามารถติดตามได้จาก คลิก www.moicovid.com.

  • กลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด ต้องเฝ้าระวังโดยวิธีการกักตัว (Quarantine) เพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งสามารถกักตัวได้ที่บ้าน (Home Quarantine) หรือสถานที่กักตัวทางเลือกอื่น หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องพบแพทย์และรับการตรวจเชื้อโควิดทันที.
    สำหรับผู้ที่ต้องกักตัว ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางเข้าออกจากพื้นที่ระบาด
    .
  • กลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อต่ำ ใช้วิธีสังเกตอาการ โดยหากอาการไม่หายภายใน 3 – 4 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที.
    สำหรับผู้ที่ต้องสังเกตอาการ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางเข้าออกจากพื้นที่ระบาด.

หมายเหตุ เป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น สอบถามเพิ่มเติม เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1668 กรมการแพทย์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร  |  โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้  |  ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : ผศ. (พิเศษ) พญ. จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 


-19-ต้องทำอย่างไรบ้าง.jpg

เชื้อไวรัสโควิด 19 อยู่ในละอองฝอย และตามพื้นผิววัสดุต่าง ๆ  สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก ตา ช่องทางหลักที่เชื้อเข้าสู่ปอด วิธีการป้องกันมีดังนี้

 

การลดการสัมผัสเชื้อโดยเคร่งครัด 3 ประการ คือ

  • สวมหน้ากากอนามัย
    เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลาย น้ำมูก เสมหะจากการไอ จาม ของผู้สวมใส่แพร่กระจายสู่อากาศภายนอก ทำให้ผู้ใกล้ชิดติดเชื้อได้ และช่วยป้องกันไม่ให้ละอองฝอยจากผู้ที่ไอหรือจามเข้าสู่ร่างกายผู้สวมใส่ด้วย โดยเลือกประเภทหน้ากากอนามัย การใส่ ทำความสะอาดและทิ้งอย่างถูกต้อง

    .
    สวมหน้ากากอนามัย.
    ประเภทหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม

    • กรณีมีอาการทางเดินหายใจ ให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีชั้นกรองตรงกลางเท่านั้น และควรเปลี่ยนใหม่ทุกวัน มีข้อมูลว่าการสวมหน้ากากอนามัย แล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้า ทำให้การป้องกันดียิ่งขึ้น
    • กรณีไม่มีอาการ เลือกใช้หน้ากากที่สามารถป้องกันละอองฝอยทะลุผ่านได้ เช่น หน้ากากอนามัยทั่วไป หน้ากากอนามัยกันฝุ่น กันกลิ่น หน้ากากผ้า เป็นต้น สำหรับหน้ากากผ้าต้องซักทุกวัน ด้วยน้ำอุณหภูมิสูง 60 – 80 องศา ตากแดดจัดก่อนนำมาใช้ใหม่
  • หลักการสวมใส่: ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่ ใส่และถอดโดยจับที่สายคล้อง คล้องสายที่หูโดยไม่จับที่ตัวหน้ากาก ระหว่างการใช้งานไม่จับที่ตัวหน้ากากเช่นเดียวกัน
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ
    หากมีเชื้อโควิดที่มือ เชื้อสามารถผ่านเข้าร่างกายจากการแคะจมูก ขยี้ตา หยิบอาหารด้วยมือเปล่า เป็นต้น
    • วิธีการล้างมือให้ถูกต้อง ให้ใช้น้ำสะอาด ล้างโดยฟอกด้วยสบู่หรือแชมพูล้างมือ (ไม่จำเป็นต้องผสมสารฆ่าเชื้อ) จนขึ้นฟอง ไม่ต่ำกว่า 20 วินาที โดยถูให้ทั่วทั้งหน้าและหลังมือ รวมถึงซอกนิ้ว ซอกเล็บต่าง ๆ ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด
      .
      วิธีล้างมือ.
    • กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 60 – 70% ในรูปเจลหรือสเปรย์ ทาให้ทั่วมือที่ไม่เปียก แล้วปล่อยให้แห้งเอง (ถ้ามือเปียก แอลกอฮอล์จะเจือจางจนฆ่าเชื้อไม่ได้) ห้ามล้างหน้าหรือใช้มือล้างอย่างอื่นต่อ เพราะน้ำอาจล้างแอลกอฮอล์ออกหมด
    • หากมือมีคราบสกปรก ควรหาน้ำล้างคราบสกปรกออกก่อน เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคที่เกาะอยู่ที่คราบเปื้อนได้
      .
  • เว้นระยะห่างกับผู้อื่นให้เพียงพอ
    การเว้นระยะห่างในทางปฏิบัติ ทำได้โดย

    • การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นขั้นต่ำ 1 เมตร และห่างจากคนที่มีอาการไอหรือจาม 2 เมตร
    • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสื่อสารใกล้ชิด เว้นระยะห่างการสื่อสารให้เหมาะสม
    • ไม่หันหน้าเผชิญผู้ติดต่อ ผู้สนทนาในระยะที่ไอ จามใส่กันได้
    • แยกทานอาหารคนเดียว ไม่ทานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
    • หลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน การไปในที่มีคนหนาแน่น รีบกลับให้เร็วที่สุด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ กรณีที่ใช้ให้หันหน้าเข้าผนังหรือตามที่มีสัญลักษณ์ตำแหน่งยืนในลิฟต์
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ราวบันไดเลื่อน ประตูเปิดปิดร้านสะดวกซื้อ โต๊ะสาธารณะ เป็นต้น เมื่อเจอสถานการณ์ที่ต้องสัมผัสบ่อย ๆ ให้ล้างมือทันที
      .
      การเว้นระยะห่าง.
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
    การฉีดวัคซีน COVID-19 ได้รับการยืนยันแล้วว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 โดยจะต้องทำควบคู่ไปกับการสวมหน้ากาก ล้างมือให้บ่อย และการเว้นและรักษาระยะห่าง ทั้งนี้มีการศึกษาที่ว่า การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดโอกาสในการติด ลดความรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิตหากติดหลังฉีดลงได้ ผู้ที่สนใจฉีดสามารถจองคิวฉีดวัคซีนได้ทาง “Line OA หมอพร้อม”, รพ.ใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา, อสม.หรือ รพ. สต. ในพื้นที่

.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19  |  “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร  |  โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้  |  ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ  |  การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง  |  การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19  |  ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : ผศ. (พิเศษ) พญ. จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์
ภาพประกอบ : www.freepik.com

 

 


-edit.jpg

ไข้หวัด หรือโรคหวัด (Common Cold) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ประกอบด้วย จมูก คอ ไซนัส กล่องเสียง พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่า โดยเฉลี่ยปีละ 6 – 12 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่ ส่วนผู้ใหญ่ติดเชื้อหวัดโดยเฉลี่ยปีละ 2 – 3 ครั้ง

 

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิดจาก 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังมีไวรัสกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) กลุ่มฮิวแมน พาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Human para-influenza virus) กลุ่มอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) กลุ่มอาร์เอสไวรัส (Respiratory syncytial virus-RSV) กลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus)  กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และกลุ่มเฮิร์บ ซิมเพลคไวรัส (Herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคหวัดขึ้นในแต่ละครั้ง จะเกิดจากการได้รับเชื้อหวัดหรือเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว หลังจากนั้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น โดยการเกิดโรคหวัดในครั้งต่อไปจะเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผ่านทางการไอ จาม หายใจรดกัน ทำให้ละอองอากาศที่มีเชื้อหวัดลอยเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจติดอยู่ตามข้าวของ เครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส ภายหลังนำมือไปจับบริเวณตา ปาก และจมูกทำให้เชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกาย  ทั้งนี้พบว่าการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าการหายใจเอาละอองอากาศเข้าไป นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ การอยู่ในสถานที่แออัด ห้องเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก มีโอกาสสัมผัส ไอ จามใส่กันได้ง่าย เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหวัดมากขึ้น หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสะสม ผู้ที่ติดบุหรี่ สารเสพติด ล้วนเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์แน่ชัดว่าจากสาเหตุใด อากาศที่เปลี่ยนทำให้ระบบทางเดินหายใจมีความไวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีการติดหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูดังกล่าว

 

อาการ

อาการสำคัญของโรคไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะด้วยเล็กน้อย มักเป็นเสมหะขาว เจ็บคอ หายใจไม่สะดวกจากเยื่อบุจมูกบวมหรือน้ำมูกอุดตัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อตัว ในเด็กมักมีไข้ เด็กเล็กอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย วัยผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้หรือไข้อ่อน ๆ

ถ้าเป็นอยู่นานหลายวัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนจากใส เป็นน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว อาจมีไข้สูงขึ้น และอาจมีอาการจากการที่เชื้อติดซ้ำลุกลามไปจนเกิดการอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ทอนซิลบวมโต มีหนองจากการเป็นทอนซิลอักเสบ ปวดมึน หนักหน้าผาก โหนกแก้ม รวมถึงมีเสมหะข้นเหลืองเขียวจากการเป็นไซนัสอักเสบ เสียงแหบ เจ็บหน้าอก เสมหะขุ่นข้นจากการเป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น


เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

ผู้ใหญ่มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 2 วัน มีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายไปแล้ว เจ็บคออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีดและหายใจหอบเหนื่อย หรือ ปวดบริเวณโหนกแก้มหรือไซนัส ในเด็กแรกเกิด ถึง 12 สัปดาห์ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 1 วัน อาการของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เด็กมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง หรือมีอาการงอแงมากขึ้น

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยอาการไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัวจนมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนอาการไข้หวัดทั่วไป จะมีความรุนแรงไม่มาก มีเพียงอาการ ไข้ ไอและน้ำมูกไหล และเจ็บคอเป็นอาการเด่น

 

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยโรคหวัดส่วนใหญ่ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในรายที่มีไข้สูงมาก อาการซับซ้อนหรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่อาการในระยะแรกคล้ายกับโรคหวัด  เช่น ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่น เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ ประวัติการระบาดของโรค และตรวจร่างกายในกรณีที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหวัดทั่วไป ทั้งนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเบื้องต้นจะแยกได้จากตำแหน่งที่แสดงอาการ เช่น โรคหวัดจะมีอาการทางจมูกเป็นหลัก โรคคอหอยอักเสบจะมีอาการบริเวณลำคอเป็นหลัก โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอเป็นหลัก โดยทั่วไปจะไม่สามารถระบุประเภทของไวรัสได้จากอาการ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยเอกซเรย์ และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก การตรวจเลือด เพื่อใช้ในการยืนยันผล หรือในรายที่มีไข้สูง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดครบ (Complete Blood Count) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรือการตรวจดูค่าเกล็ดเลือด เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

 

การรักษา

ไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในกรณีที่รู้แน่ชัดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา การรักษาจึงไม่มีวิธีการเฉพาะ โดยมักเป็นการปฏิบัติตัวของคนไข้ ร่วมกับการใช้ยาประคับประคองตามอาการ ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย  จึงจะให้ยาปฏิชีวนะ ในเบื้องต้นควรดูแลรักษา ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและอาการไข้หวัดรุนแรงขึ้นได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ ในการทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อและน้ำมูก การรับประทานอาหาร ช่วงแรก ๆ อาจเป็นอาหารอ่อน ที่ยังเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูร่างกายให้กลับสู่ปกติ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น เช็ดตัวช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ขึ้นสูง
  • อาจมีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ในผู้ใหญ่ ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล มีอาการน้ำมูกมาก ใช้ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้  มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ เจ็บคอใช้ยาอม สมุนไพรหรือสเปรย์พ่นคอเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการลงได้
  • ในกรณีที่มีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ influenza A B แพทย์ สามารถที่จะสั่งยาต้านไวรัส โอเซลตามีเวีย ให้แก่ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหญิงตั้งครรภ์

สำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งจะมียาและอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะจะปลอดภัยที่สุด

  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีอาการแพ้และผลข้างเคียงกับผู้รับประทานยา เว้นแต่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดแม้อาการจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจทำให้เกิดภาวะปวดอักเสบนิวโมเนีย โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

บุคคลทั่วไป

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหวัด โดยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อของผู้ป่วย หมั่นล้างมือก่อนการรับประทานอาหารหรือสัมผัสบริเวณหน้า เพื่อลดปริมาณเชื้อที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางตา ปากและจมูก หากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าร่างกายทางการหายใจ
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในข่ายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไปยังสถานที่แออัด สถานที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง ๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มิถุนายน ก่อนเข้าหน้าฝน

ผู้ป่วย

  1. หมั่นล้างมือ หลังการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก และควรสวมหน้าการอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมชน เนื่องจากในช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อหวัดไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้

 

พ.อ. นพ. ยศวีร์ วงศ์เจริญ
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แหล่งที่มา : นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ. ตำราการตรวจและรักษาโรคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544.   www.mayoclinic.org   www.medicinenet.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 


-นอนไม่พอ.jpg

หลาย ๆ คนที่อ่านเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการนอน จะคิดว่าคนเราต้องนอนให้ได้ 8 ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ แต่จริง ๆ แล้วตัวเลข 8 ชั่วโมง เป็นแค่ค่าเฉลี่ย การนอนให้เพียงพอ ของแต่ละคนคือ การนอนจนรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเอง และสามารถอยู่ได้จนไม่เพลียตลอดทั้งวัน ซึ่งค่าเฉลี่ยการนอนแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ อาทิ

 

[supsystic-tables id=24]

 

รู้ได้อย่างไร นอนหลับไม่พอ

  • เมื่อตื่นมาตอนเช้า เรารู้สึกยังไม่สดชื่น อยากจะนอนต่อไปอีก
  • ในระหว่างวัน เรามีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เรื่อย ๆ
  • ถ้ามีโอกาสได้นอนในตอนกลางวัน เราอาจหลับไปภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น

การนอนหลับไม่พอมีผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน ถ้าเรานอนหลับน้อยไปเพียงหนึ่งวัน อาจไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงนัก อย่างมากก็แค่ง่วงซึมบ้างในช่วงกลางวัน แต่ครั้นพอตกกลางคืนเมื่อได้นอนอย่างเต็มอิ่มอีกครั้งร่างกายก็จะฟื้นตัวกลับมาสดชื่นได้อีกในวันรุ่งขึ้น แต่ถ้ายังนอนไม่พอ ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น

 

ผลกระทบจากการนอนหลับไม่พอ

กระทบต่อกระบวนการคิดและความจำ การนอนหลับมีบทบาทสำคัญต่อการคิดและการเรียนรู้ หากมีการนอนไม่พอโดยเฉพาะช่วงที่สมองมีการจัดระเบียบความคิด ความจำ เชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่กับข้อมูลเก่า จะส่งผลต่อกระบวนการคิด ความสามารถในการใช้เหตุผล ความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง ลืมง่าย ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้

กระทบต่อสุขภาพร่างกาย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้องใช้เวลาในช่วงของการนอนหลับ ผลิตไซโตไคน์ (Cytokines) เซลล์ และแอนติบอดี้สำหรับต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ผู้ที่นอนน้อยหรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับเรื้อรัง มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าคนปกติ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และโรคอ้วน

นอกจากนี้ ยังมีผลเสียต่อร่างกายทางด้านอื่น ๆ เช่น มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาน้อย ทำให้ผิวเสียและตาบวม มีการหลั่งโกรทฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยในการเจริญเติบโตน้อย ส่งผลต่อมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกระดูก

กระทบต่อความต้องการทางเพศ การนอนน้อยส่งผลให้แรงขับทางเพศและความสนใจการร่วมเพศลดลง โดยผู้ชายที่ประสบภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น จะมีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลง ซึ่งส่งผลให้แรงขับทางเพศลดลง รวมถึงอาจประสบภาวะมีลูกยาก ทั้งในชายและหญิง

กระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า ผู้ที่นอนน้อยหรือมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับนอนหลับ เกิดอาการซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ ภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนที่พบได้มากที่สุด และเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะซึมเศร้าอย่างเด่นชัด เนื่องจากภาวะนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้เป็นอันดับแรกของโรคซึมเศร้า นอกจากนี้การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิด อาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ระแวงกลัวคนมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ได้

 

ทำให้เกิดอาการงีบหลับสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน”

เกิดจากการที่สมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ของคนที่นอนไม่พอ จะหยุดทำงานช่วงสั้น ๆ แบบชั่วคราว อาจเป็นวินาทีหรือนานถึงครี่งนาที ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใด ๆ หรือรับรู้ได้ช้า บางคนเรียกภาวะนี้ว่า “หลับใน” ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถหรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำ

 

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.pobpad.com  www.bangkokhealth.com
ภาพประกอบจาก : www.huffingtonpost.com


.jpg

ปัจจุบันนี้ โรคเอดส์กำลังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งโรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ มีเพียงยาต้านไวรัสเท่านั้น ที่จะช่วยให้เชื้อไวรัสเอดส์ลดลง ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งข้อดี คือ ทำให้ไวรัสลดลง มีภูมิคุ้มกัน CD4 เพิ่มขึ้น แต่ข้อเสีย คือ มีผลทำให้เกิดภาวะผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคไต ปลายประสาทอักเสบ ปวดเมื่อยตามข้อตามตัว มีผื่นขึ้นตามตัว เกิดภาวะไขมันเคลื่อนย้าย แก้มตอบ แขนขาลีบ

 

แนวคิดในการรักษา

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แนวคิดในการรักษาเปลี่ยนไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีรักษาแบบ 2 ทางที่เรียกว่า Complementary treatment หมายถึง การรักษาระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปกับแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

  1. ใช้ต้านไวรัสเพื่อลดจำนวนเชื้อไวรัส จนไม่สามารถตรวจพบได้ ปริมาณไวรัสต่ำกว่า 50 ตัวต่อลบ.มม.
  2. ใช้วิธีป้องกันข้อเสียของยาต้านไวรัส โดยการซ่อมสร้างร่างกายที่เรียกกันว่าแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เช่น การใช้ยาสมุนไพรแบบสกัด ที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ว่ามีฤทธิ์ในการปกป้อง ซ่อมสร้างร่างกาย เช่น ปกป้องตับ โดยการใช้เห็ดหลินจือ ชะเอมเทศ ฯลฯ ใช้มะระขี้นกซึ่งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ใช้น้ำมันปลาในกลุ่มโอเมก้า 3 ป้องกันไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถช่วยปกป้องผลข้างเคียงที่เกิดจากยาต้านไวรัสได้

 

สมุนไพรที่ใช้ในการเพิ่มภูมิต้านทานในผู้ติดเชื้อเอดส์

  1. ลูกใต้ใบ พบว่า สารสกัดจากลูกใต้ใบสามารถยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ของ HIV-1 ได้
  2. ฟ้าทะลายโจร พบว่า สาร dehydroandrographlide succinic acid monoester ซึ่งสังเคราะห์ได้จากสาร andrographolide จากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV-1 และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อด้วย
  3. ขมิ้นชัน พบว่า มีสารสีเหลือง curcumin ในขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ protease ของ HIV-1 และ HIV-2 และยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ integrase ของเชื้อ HIV-1 จึงได้มีการนำ curcumin ไปทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยเอดส์อยู่ในขณะนี้
  4. เห็ดหลินจือ พบว่า มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV-1 ได้ผลดี โดยป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายในช่วงแบ่งตัวของไวรัส
    และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และยังพบอีกว่ามีสาระสำคัญที่ช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอาการภูมิแพ้ ตุ่มคันตามผิวหนัง
  5. มะระขี้นก พบว่า มีเมล็ดแก่ของมะระขี้นก มีโปรตีน TBG-P 29 ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV โดยการยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase  ผลอ่อนใช้เป็นยาเจริญอาหาร รักษาอาการเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ได้ดี

 

ภาพประกอบจาก: www.th.wikipedia.org


-เกี่ยวกับเอนไซม์-Enzyme.jpg

สำหรับหลาย ๆ คน คงจะเคยได้ยินเรื่องของเอนไซม์ (Enzyme) กันมาบ้างแล้ว วันนี้กองบรรณาธิการได้เรียบเรียงเนื้อหาเบื้องต้น เป็นการทบทวนความรู้อีกครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีมากยิ่งๆขึ้น

เอนไซม์ ( Enzyme) เป็นโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ให้มีประสิทธิภาพ โดยลดพลังงานที่จะใช้ในปฏิกิริยาเหล่านั้น มีข้อมูลพบว่า มากกว่า 5,000 ปฏิกิริยาชีวเคมี ที่มีเอนไซม์เป็นตัวร่วมที่สำคัญ โดยเอนไซม์จะเปลี่ยนสารตั้งต้นให้เป็นสารอื่น ๆ เพื่อทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องทำงานได้ดี เช่น ระบบย่อยอาหาร จะมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งในการย่อยอาหาร จากสารโมเลกุลใหญ่ให้เป็นสารโมเลกุลเล็ก ในระดับที่สามารถผ่านผนังเซลล์ของแต่ละเซลล์ในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามที่เรารับประทาน นอกจากนี้เอนไซม์ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สลายสารพิษ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด และช่วยลดความเครียดของตับอ่อนและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งบางครั้ง ถ้าไม่มีเอนไซม์ ปฏิกิริยาทางเคมีอาจใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จสิ้น หรืออาจจะไม่เกิดเลยก็ได้

 

คุณสมบัติของเอนไซม์

  • เอนไซม์มีโครงสร้างทางเคมีเป็นโปรตีน ประกอบไปด้วยโพลีเปปไทด์ (Polypeptide) ม้วนกันเป็นก้อนกลม มีโครงรูปที่จำเพาะ กำหนดโดยลำดับการเรียงตัวของกรดอะมิโน โดยเอนไซม์บางชนิดต้องอาศัยโคแฟกเตอร์ (Cofactor) หรือโคเอนไซม์ (Coenzyme) ถึงจะทำงานได้ ทั้งนี้ในการทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมี เอนไซม์จะกลับคืนสภาพเดิม ขณะที่โคเอนไซม์จะหมดเปลืองไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่ร่างกายต้องหามาเสริม
  • เอนไซม์แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะตัว โดยจะทำปฏิกิริยาเคมีจำเพาะกับสารตั้งต้นหรือซับสเตรด (Substrate) ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น เช่น เอนไซม์ชนิดย่อยไขมันจะไม่ย่อยแป้ง และเอนไซม์ย่อยแป้งจะไม่ย่อยโปรตีน เป็นต้น
  • เอนไซม์มีความไวต่อปฏิกิริยามาก แม้ในปริมาณน้อยก็สามารถเร่งปฏิกิริยาได้ ถ้าไม่มีเอนไซม์ปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดจะเกิดขึ้นช้ามาก จนชีวิตไม่สามารถรอดอยู่ได้
  • การแช่แข็งจะไม่ทำลายความสามารถของเอนไซม์ส่วนใหญ่ แต่เอนไซม์จะถูกทำลายได้โดยง่ายที่ความร้อนสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส
  • อัตราการทำงานของเอนไซม์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อุณหภูมิ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานอยู่ในช่วง 25-40 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเบส โดยส่วนใหญ่จะทำงานได้ดีในช่วงค่า pH 6-7 ปริมาณของเอนไซม์และซับสเตรด ถ้าปริมาณไม่สมดุลจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์ได้
  • เอนไซม์แต่ละชนิดที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจะมีชีวิตหรืออายุได้เพียง 20 นาที และจะต้องมีเอนไซม์ใหม่เข้ามาทดแทนอยู่เรื่อย ๆ แต่อาจมีบางชนิดที่อยู่ได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
  • เอนไซม์ที่กระตุ้นปฏิกิริยาเคมี จะถูกยับยั้งด้วย “ตัวยับยั้งเอนไซม์” ซึ่งมีแบบที่เป็นการยับยั้งแบบถาวร การยับยั้งแบบชั่วคราว และการยับยั้งแบบย้อนกลับ

 

ชนิดของเอนไซม์

เอนไซม์สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

  • เอนไซม์จากอาหาร (Food enzyme) คือ เอนไซม์ที่พบได้ในอาหารสด อาหารดิบทุกชนิด ทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ เอนไซม์ชนิดนี้จะช่วยในการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยความร้อนสามารถทำลายเอนไซม์ในอาหารได้โดยง่าย
  • เอนไซม์ย่อยอาหาร (Digestive enzyme) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นโดยร่างกาย ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากตับอ่อนเพื่อใช้ในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า
  • เอนไซม์ในการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic enzyme) คือ เอนไซม์ที่ผลิตในเลือด ในเซลล์เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อช่วยในการเผาผลาญสารอาหารและสร้างพลังงาน สร้างภูมิต้านทาน ความเจริญเติบโตให้กับร่างกาย รวมไปถึงการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะภายใน และช่วยบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ของร่างกาย

 

การขาดเอนไซม์

เอนไซม์ที่มีระดับต่ำในร่างกาย จะมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมของอวัยวะและระบบต่างๆในร่างกาย ถ้าเอนไซม์มีระดับต่ำมาก โรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมดังกล่าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.medthai.com  www.britannica.com
ภาพประกอบจาก : www.medicalnewstoday.com


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก