ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

.jpg

แบ่งตามลักษณะการใช้

  • ชนิดฉีด
  • ชนิดกิน

 

แบ่งตามลักษณะของ antigen

  • ชนิดเชื้อตาย (killed vaccine)
  • ชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine)

 

วัคซีนชนิดเชื้อตาย (killed vaccine) อาจแบ่งออกได้เป็น

  • Whole-cell vaccine เช่น วัคซีนไทฟอยด์ วัคซีนอหิวาต์ และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
  • Subunit vaccine การนำเอาชิ้นส่วนของจุลชีพมาใช้ทำวัคซีน เช่น
    • ผลิต Antigen โดย extract จากเชื้อจุลชีพโดยตรง เช่น Plasma-derived hepatitis B vaccine
    • ผลิต antigen โดยวิธี recombinant DNA technology เช่น Yeast-derived hepatitis B vaccine
    • สังเคราะห์ antigen ในหลอดทดลอง (peptide synthetic vaccine)
  • Killed whole cell-subunit vaccine เช่น Oral B subunit-whole cell cholera vaccine
  • Toxoid ผลิตจาก toxin ของแบคทีเรีย เช่น tetanus toxoid และ diphtheria toxoid
  • Anti-idiotypic vaccine โดยนำ antigen ไปฉีดกระตุ้นให้มีการสร้าง antibody จากนั้นนำ antibody (Ab1) ฉีดเข้าสัตว์ทดลองอีกครั้ง สัตว์ทดลองจะสร้าง anti-idiotypic antibody (Ab2) ซึ่งจะมีลักษณะภายใน (internal image) เลียนแบบคล้ายเป็น antigen ตัวเริ่มต้น (antigen-mimic) นำไปผลิตเป็นวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพก่อโรคต้นกำเนิดได้ วัคซีนชนิดนี้อยู่ในขั้นศึกษาทดลอง
  • Nucleic acid vaccine ปัจจุบันมีการศึกษาในสัตว์ทดลอง นำ DNA ที่มี gene ของเชื้อโรคที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิด protective antibody ฉีดเข้าไปใน host cell เพื่อให้มีการสร้างโปรตีนที่ต้องการขึ้นในร่างกาย และเป็น antigen กระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้น จากการศึกษาในสัตว์ พบว่า nucleic acid vaccine สามารถนำเข้าสู่ host ได้หลายวิธี เช่น นำ DNA มา coat บน gold particles เล็ก ๆ และยิงเข้าสู่ skin cell โดยใช้ special DNA gun หรืออาจทำได้โดยการเชื่อม DNA เข้ากับสารไขมันที่เรียกว่า cationic lipids เข้าสู่ host โดยการพ่นในรูป aerosol ทางจมูก หรือคอ

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พัฒนาการผลิตวัคซีนในรูปของผักผลไม้ ซึ่งจะเป็นการให้วัคซีน โดยการรับประทาน (oral immunization) โดยอาศัยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม และ transgenic plants เช่น ต้นยาสูบและมันฝรั่ง ผักผลไม้ที่มี protein antigen สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ได้ วัคซีนที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาทด ลองใช้กับวิธีดังกล่าว ได้แก่ hepatitis B vaccine และ cholera vaccine เป็นต้น

 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine)

วัคซีนประเภทนี้ทั้งหมดเป็น whole cell vaccine ผลิตโดยนำจุลชีพจากธรรมชาติที่ยังมีฤทธิ์ก่อให้เกิดโรค มาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือลดความรุนแรงลง แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ วิธีการทำให้จุลชีพอ่อนฤทธิ์ มีดังนี้

  1. การเพาะเลี้ยงไปเรื่อย ๆ จนจุลชีพอ่อนฤทธิ์
  2. การ treat จุลชีพด้วยสารเคมีบางชนิด
  3. การ treat ด้วยแสง UV
  4. การใช้ recombinant DNA tecnology เปลี่ยนแปลงสภาพ gene ฃองจุลชีพ

ปัจจุบันการผลิต live anttenuated vaccine ยังผลิตได้ในรูปของ hybrid vaccine โดยการ insert gene ที่สามารถ express antigen ของจุลชีพก่อโรคชนิดหนึ่งเข้าไปอยู่ในจุลชีพอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอ่อนฤทธิ์ลงแล้ว นำจุลชีพอ่อนฤทธิ์ที่มีการ insert gene มาผลิตเป็นวัคซีน เมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกายก็จะมีการสร้าง antigen ที่ควบคุมโดย gene ที่ insert กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพที่เป็นเจ้าของ gene

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: dmsc.(2010).ประเภทวัคซีน.10 มิถุนายน 2558.
แหล่งที่มา: www.biology.dmsc.moph.go.th
ภาพประกอบจาก: www.healthimpactnews.com


.jpg

คุณผู้อ่านอาจคุ้นหูกับคำว่าวัคซีนกับเซรุ่มกันมาบ้าง แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสับสนกับความหมายของคำสองคำนี้ วันนี้เรามาคุยกันถึงคำ 2 คำนี้กันครับ

 

วัคซีน (Vaccine)

เป็นยาชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่เป็นอันตราย ใช้สำหรับฉีด หรือกิน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อนั้น ๆ เช่น วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคคอตีบ ก็ประกอบด้วยเชื้อคอตีบ (ซึ่งเป็นแบคทีเรีย) ที่ตายแล้ว เมื่อเอามาฉีดให้เด็กขณะที่ยังแข็งแรงดี ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคคอตีบ ต่อมาถ้าหากเด็กคนนี้อยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคคอตีบ แม้จะรับเชื้อเข้ามา ก็มีภูมิคุ้มกันคอยช่วยทำลายเชื้อคอตีบที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาได้ ก็จะไม่เกิดเป็นโรคคอตีบ

เปรียบเสมือนการซ้อมรบของกองทหาร คือ เอาศัตรูปลอม ๆ (เทียบได้กับวัคซีน) ทำทีว่าเข้ามารุกรานประเทศของเรา เพื่อให้ทหารหาญของเรา (เทียบได้กับเม็ดเลือดขาว และกลไกการสร้างภูมิคุ้มกัน) เกิดความตื่นตัว และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับศัตรู เมื่อเกิดมีศัตรูจริง (เทียบได้กับภูมิคุ้มกัน) เข้ามา ทหารหาญของเราที่เตรียมพร้อม (ภูมิคุ้มกันโรค) ก็จะทำลายศัตรูได้ฉับพลันทันที ในปัจจุบันมีโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น วัณโรค ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไทฟอยด์ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี สมองอักเสบ เป็นต้น

 

เซรุ่ม (Serum)

เป็นของเหลวสีเหลืองใส ที่สกัดจากเลือดม้า หรือเลือดคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว (ซึ่งเตรียมขึ้นโดยการฉีดเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือมีฤทธิ์อ่อนเข้าไปในม้า หรือคน เพื่อกระตุ้นให้ม้า หรือคนนั้นสร้างภูมิคุ้มกันโรค แล้วก็เอาเลือดของม้าหรือคนนั้นมาสกัดอีกที)

การฉีดเซรุ่มเข้าไปในคน ก็เท่ากับเอาภูมิคุ้มกันโรคจากม้า หรือคนมาใช้แทนร่างกายของเรา ในการทำลายเชื้อโรค จึงมักจะฉีดหลังจากที่ร่างกายติดเชื้อโรคชนิดหนึ่งชนิดใดเข้าไปแล้ว

เปรียบเสมือนประเทศที่ถูกข้าศึกรุกราน (เทียบได้กับการติดเชื้อ) แล้วขอร้องให้กองทัพพันธมิตร (เปรียบได้กับเซรุ่ม) เข้ามาช่วยทำลายข้าศึก (เชื้อโรค) นั่นเอง โรคที่สามารถใช้เซรุ่มช่วยในการรักษา เช่น บาดทะยัก คอตีบ พิษสุนัขบ้า พิษงู เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป

วัคซีน เป็นเชื้อโรคที่ไม่มีพิษ ฉีด หรือกินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาเอง จะให้เมื่อร่างกายแข็งแรง (ยังไม่ได้รับเชื้อ หรือได้รับเชื้อในระยะแรก) และต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะอยู่คงทนถาวรตลอดไป

เซรุ่ม เป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ได้โดยตรงจากเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ๆ ฉีดให้ร่างกายหลังจากติดเชื้อในระยะที่อาจเป็นอันตราย ได้ผลทันทีต่อการต่อสู้กับเชื้อโรค แต่จะอยู่ได้เพียงระยะสั้น ๆ ก็สลายตัวไป มักจะใช้กับคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนต่อโรคนั้น ๆ มาก่อน

ข้อเสียของเซรุ่ม คือ ทำให้ร่างกายแพ้ยา ซึ่งอาจรุนแรงถึงตายได้ เพราะเป็นเลือดของสัตว์ หรือคนอื่น ส่วนวัคซีนไม่ทำให้เกิดการแพ้ที่เป็นอันตราย โดยแพทย์จะเลือกใช้วัคซีนสำหรับการป้องกันโรคในระยะยาว และใช้เซรุ่มสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อที่อยู่ในระยะที่อาจเป็นอันตราย

ถ้าไม่อยากเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม ก็ควรรีบหาทางฉีดวัคซีนเสียแต่เนิ่น ๆ กันเถอะครับ!

 

ข้อมูลจาก: ภาษิต ประชาเวช. นิตยสารหมอชาวบ้าน. 2529. “วัคซีน/เซรุ่ม”. (ระบบออนไลน์).
แหล่งที่มา: www.doctor.or.th


-ทำอะไรบ้าง.jpg

การดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เพราะโรคต่าง ๆ ไม่คอยใคร บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ต้องสอนลูกหลาน ลูกศิษย์ เกี่ยวกับการมีพฤติกรรมในทางที่ดี  ในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่าง ๆ เพราะตั้งแต่มนุษย์เกิดมาหลอดเลือดทั่วร่างกาย เราจะเริ่มต้นตีบทีละเล็กละน้อย จนตีบร้อยละ 70 จึงจะมีอาการ ซึ่งจะสายไปเสียแล้ว

 

คนไทย 10 ล้านคนที่เป็นโรคความดันโลหิต อาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย ฉะนั้น แพทย์ บิดา มารดา สังคม จึงต้องแนะนำเยาวชนให้กินอาหารเพิ่มสุขภาพ (ผัก ปลา ผลไม้ เป็นหลัก) ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์) ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด เมื่อถึงเวลาต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิต ไม่เล่นการพนัน

 

ทั้งนี้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ควรดูแลให้ดัชนีมวลกาย (body mass index – BMI) อยู่ต่ำกว่า 23 (BMI คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) และพุงชายเล็กกว่า 90 เซนติเมตร พุงหญิงเล็กกว่า 80 เซนติเมตร

 

ถ้าปฏิบัติได้ก็จะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย โดยไม่เสียงบประมาณอะไรมากมาย ถึงแม้ทำทุกอย่างตามนี้แล้ว ก็น่าจะไปพบแพทย์เมื่ออายุ 30 ปี หรือเร็วกว่านี้ ถ้ามีกำลังทรัพย์ (หรือถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ตับ มะเร็ง ฯลฯ)

ถึงแม้จะสบายดี เพื่อคุยกับแพทย์ แพทย์จะได้มีประวัติข้อมูลเบื้องต้นไว้ เช่น ความสูง ความดันเลือด ชีพจร น้ำหนักตัว เป็นพื้นฐานไว้ เพราะคนไทย 10 ล้านคนที่เป็นโรคความดันโลหิตอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย แต่ถ้าไม่ไปตรวจอาจอยู่ดี ๆ เป็นอัมพาตไปเลย จากหลอดเลือดในสมองแตก

ถ้าสบายดี เมื่อไรจึงควรไปตรวจ แล้วแต่เศรษฐฐานะ ความอ้วน ญาติพี่น้อง ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่

 

การตรวจร่างกายอาจพิจารณาเลือกตรวจ ดังนี้

 ปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะจะบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น การมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ อาจนึกถึงการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ การมีนิ่ว หรือการที่มีไข่ขาว (อัลบูมิน) อาจต้องคิดถึงโรคไต

อุจจาระ

ดูลักษณะของอุจจาระ สี มูก ดูว่ามีเลือดสดหรือไม่ อุจจาระมีไขมันหรือไม่ ดูเม็ดเลือดแดง ขาว เชื้อโรค จากกล้องจุลทรรศน์ จะช่วยบอกว่ามีเลือดออกจากระบบทางเดินอาหารหรือไม่ ดูไข่พยาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินปลาร้าดิบ ถึงแม้นานมาแล้ว เพราะอาจพบไข่ของพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งถ้าไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับได้

เลือด

  • การตรวจดูเม็ดเลือดแดง ขาว เกล็ดเลือด (Complete blood count, CBC ดูว่าเลือดจางหรือไม่ เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำ มีการติดเชื้อโรคหรือไม่ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อโรคเม็ดเลือดขาวอาจสูง สำหรับผู้ที่มีเชื้อไวรัส เม็ดเลือดขาวอาจอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ถ้ามีเกล็ดเลือดน้อยไป อาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออก
  • น้ำตาลกลูโคสเพื่อดูโรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ ปกติค่าน้ำตาลระหว่างที่อดอาหารควรจะอยู่ ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  ถ้าน้ำตาลอยู่ระหว่าง 101 – 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็น “ว่าที่” เบาหวาน การตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือด ควรทำหลังอดอาหารมาแล้ว 12 ชั่วโมง เช่น กินอาหารค่ำ 19.00 น. แล้วไม่กินอะไรเลย ยกเว้นน้ำเปล่า และควรตรวจเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงหลังจากนั้น คือ 17.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ไขมันในเลือด แพทย์มักตรวจคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และหาค่าเอชดีแอล (HDL – high density lipoprotein เป็นไขมันที่ดีช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) แอลดีแอล (LDL – low density lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากไป และต้องควรควบคุมให้ต่ำกว่า 130 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนธรรมดา แต่ในผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ต้องควบคุมให้ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ดูโรคเกาต์ (กรดยูริก) ดูการทำงานของไต ตับการแข็งตัวของเลือด
  • อาจตรวจหาเชื้อไวรัสตับเอ บี และซี ถ้าไม่มีเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี ถ้ามีเชื้อบีและซีแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อได้จากการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยต่าง ๆ ที่ดิบ หรือดิบ ๆ สุก ๆ ส่วนไวรัสตับอักเสบ บี ซี ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และจากการใช้ยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีดที่สกปรกร่วมกัน

สำหรับการตรวจต่าง ๆ ถึงแม้ท่านไม่มีอาการท่านอาจมีความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีตับอักเสบ หรือมีเชื้อไวรัสบี ซี ของตับได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งของตับได้

การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ร่วมกับการไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ ถึงแม้จะสบายดี เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

ผู้เขียน ศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์. นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่ 347. มีนาคม 2551. “การตรวจสุขภาพ ทำอะไรบ้าง”
แหล่งที่มา: https://www.doctor.or.th/article/detail/1183 (14 พฤษภาคม 2560)
รูปภาพจาก: https://pixabay.com


-เคล็ดลับการเพื่อสุขภาพดี-จากอดีตจนถึงปัจจุบัน.jpg

ท่ามกลางวัฒนธรรมการดื่มชาอันเก่าแก่ หนึ่งในชาที่ถูกยกย่องในเรื่องของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็คือ “ ชาเขียว ” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรามักจะเห็นชาชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทต่าง ๆ รวมไปจนถึงงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาเขียวมากมาย

 

ชา = ศาสตร์การเยียวยาโบราณ

“ชา” ถูกใช้ทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในกลุ่มชาวมณฑลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว หรือราว 1,100 – 200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับช่วงราชวงศ์ถัง พวกเขาเชื่อว่าการดื่มชาสามารถช่วยรักษาความสมดุลในร่างกาย ความนิยมนี้ก่อให้เกิดธุรกิจการค้าใบชาขนาดใหญ่ในประเทศจีนยุคนั้น กระทั่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และ “ชาเขียว” ก็เป็นหนึ่งในประเภทของชาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

“ชาเขียว” คือ ใบชาที่ไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก เป็นใบสดที่เข้าสู่กระบวนการอบแห้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สามารถเก็บได้จากต้นชาที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Camellia sinensis  ทำให้รสสัมผัสที่ได้จากเครื่องดื่มชาประเภทนี้ มีความหอม สดชื่น และยังมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าใบชาประเภทอื่น ๆ อาทิ วิตามินบี วิตามิอี วิตามินซี, Polyphenol, EGCG, Catechin รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างชนิดอีกมากมาย

หากพิจารณาเฉพาะสรรพคุณในการเยียวยาโดยแพทย์แผนโบราณ จะพบว่าชาเขียวนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบใบชา หรือแบบผงมัทฉะ ล้วนส่งผลดีต่อการบรรเทาอาการปวดศีรษะ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมอง นอกจากนั้น ยังแก้ร้อนใน ปรับสมดุลในร่างกาย ขับเหงื่อ และช่วยกระตุ้นความเจริญอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ชักนำให้ชาเขียวกลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ จากการวิจัยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกหลายท่าน

 

ชาเขียว และประโยชน์ทางการแพทย์ยุคปัจจุบัน

  1. ชาเขียวลดคอเลสเตอรอล
    จากผลการวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2011 พบว่า การดื่มชาเขียวทั้งในรูปแบบเครื่องดื่ม หรือการรับประทานในรูปแบบแคปซูลสกัด ล้วนส่งผลต่อการลดระดับ LDL หรือคอเลสเตอรอลประเภทไม่ดีในร่างกาย จึงเหมาะกับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก หรือต้องการรักษาความสมดุลร่างกายโดยรวม
  2. ชาเขียวลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
    จากผลการวิจัยตีพิมพ์ใน “Journal of the American Medical Association” เมื่อปี 2006 พบว่า การดื่มชาเขียวลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคาเตชิน (Catechin) เป็นสารที่มีผลต่อการป้องกันความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด
  3. ชาเขียวลดความเสี่ยงเส้นโลหิตแตกเฉียบพลัน
    จากผลการวิจัยตีพิมพ์ใน “Journal of the American Heart Association” พบว่า การดื่มชาเขียวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน โดยเจ้าของงานวิจัยนี้ คือ รศ. ดร. โยชิฮิโกะ โคคุโบะ ได้กล่าวแนะนำว่า อย่างน้อยควรดื่มชาเขียวทุกวัน ในเวลาของมื้ออาหารใดก็ได้
  4. ชาเขียวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    มีงานวิจัยทางคลินิก พบว่า ชาเขียวส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยเช่นกัน เนื่องจากในกลุ่มผู้ทดลองทั้งมนุษย์ และสัตว์ ล้วนมีอัตราการทำงานของเซลล์ที่ดีขึ้น ทั้งการสร้าง เติบโต ซ่อมแซม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่แข็งแรงนั่นเอง
  5. ชาเขียวช่วยบำรุงสมอง
    จากผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร “Psychopharmacology” แสดงให้เห็นว่า ชาเขียวสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดของสมอง โดยเฉพาะหน่วยความจำในการสั่งงาน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาเขียวอาจมีแนวโน้มในการรักษาความบกพร่องทางสติปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคสมองเสื่อมได้ด้วย
  6. ชาเขียวลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์
    จากผลการวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2011 พบว่า สาร  CAGTE หรือสารสกัดจากชาเขียวที่เก็บมาจากลำไส้ใหญ่ เพื่อทำการทดสอบว่าหลังจากชาเขียวถูกย่อย และดูดซึมนั้น จะส่งผลต่อโปรตีนในร่างกายของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า สาร Epigallocatechin-3-gallate (EGCG) ที่มีมากในชาเขียวอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
  7. ชาเขียวลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
    อ้างอิงจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่มีเป็นปริมาณมากในชาเขียวสามารถลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวเป็นปริมาณมาก พบว่า มีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งของประชากรต่ำกว่า อีกทั้งผลการศึกษาในขั้นตอนถัดมายังพบว่า ชาเขียวนั้นส่งผลในเชิงบวกต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ ลำไส้ใหญ่ ลำคอ ต่อมลูกหมาก ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร และยังส่งผลในแง่การป้องกัน ลดความเสี่ยงในกลุ่มผู้ทดลองอีกด้วย

 

จากหลักฐานงานวิจัยทั้งหมด บ่งชี้ได้ถึงคุณประโยชน์ซึ่งสามารถพิสูจจน์ได้จริงของชาเขียว จึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อวงการสุขภาพมากมายต่างยกย่องให้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอันดับหนึ่ง ที่สามารถดื่มได้ทันที ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องปรุงแต่งเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในทุก ๆ วัน ลองเพิ่มชาเชียวลงไปในมื้ออาหาร ตามเวลาที่สะดวก จะก่อนหรือหลังรับประทานอาหารก็ได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถดูดซึมประโยชน์ดี ๆ จากชาเขียวเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.shen-nong.com, www.medicalnewstoday.com
ภาพประกอบจาก: www.pixabay.com

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก