ครบเครื่องการดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การป้องกันโรค การเงินเพื่อสุขภาพ สำหรับวัยทำงาน

-จะต้องประคบร้อนหรือเย็น.jpg

รู้ได้อย่างไรว่า จะต้องประคบร้อนหรือเย็น การประคบร้อนหรือเย็นเป็นวิธีหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ ทั้งอาการปวดที่เกิดจากการเจ็บป่วย มีไข้ หรือการได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา วิ่งเล่น ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่ การหกล้ม ศีรษะกระแทกจากการปะทะ การบาดเจ็บ ฟกช้ำของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

การจะเลือกใช้ความร้อนหรือเย็นนั้นมีข้อที่ต้องพิจารณาเบื้องต้น คือ ถ้าเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับมีการบวม ควรเลือกใช้ความเย็น เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลงและช่วยลดบวมได้ แต่ถ้าเป็นการปวด แบบเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการมานานหรือเรื้อรัง หรือปวดร่วมกับมีอาการตึงกล้ามเนื้อ ควรใช้ความร้อน เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนเลือดดีขึ้นจึงลดอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อได้

 

ประคบเย็นเมื่อ…

หากมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที (ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง) ประคบนาน 20 – 30 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศรีษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือปวดบวมบริเวณอื่น ๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ ๆ

อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูป หรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะแล้วเติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งอย่างละครึ่งลงไปในถุง ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขาหรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยแช่นานประมาณ 15 – 20 นาที

 

ประคบร้อนเมื่อ…

การประคบร้อนจะเริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ให้ประคบครั้งละ 15 – 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดความปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูป ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนานหรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่ออักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน

 

เมื่อไร่ถึงไม่ควรประคบร้อนหรือเย็น

การประคบเย็นไม่สมควรทำเมื่อ ร่างกายหนาวสั่น การประคบร้อนไม่สมควรทำเมื่อ ร่างกายร้อน เหงื่อแตก เนื่องจากว่าสมองจะมีการแปลผลว่าการกระทำของเราเป็นอันตรายต่อร่างกายมากขึ้น และสมองจะแปลผลการประคบของเราเป็นอาการปวดมากขึ้นแทน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สื่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
แหล่งที่มา : https://www.hsri.or.th/people/media/care/detail/5833
ภาพประกอบจาก : http://blog.elivatefitness.com


-จากการเล่นกีฬา-H2C00-h2c.jpg

สำหรับหลาย ๆ ท่านที่อยู่ในวัยทำงาน คงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไปไม่ได้ วันนี้เรามาดูผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ กรณีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด จากการเล่นกีฬา ไม่นับรวมกรณีการบาดเจ็บรุนแรง จนกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน

 

สาเหตุการบาดเจ็บ แบ่งได้เป็น 3 แบบ

  1. เกิดจากแรงภายนอกมากระแทก เช่น ถูกเตะที่ขา หกล้มข้อเท้าพลิก บิดเอี้ยวตัวมากเกินไป
  2. เกิดจากแรงภายใน มีการหดตัวอย่างรุนแรง เช่น เอ็นร้อยหวายฉีกขาดในนักกีฬากระโดดสูง กล้ามเนื้อต้นขาฉีกขาดในนักฟุตบอล กล้ามเนื้อต้นแขนฉีกขาดในนักเทนนิส
  3. เกิดจากการใช้งานมากเกินไป และซ้ำ ๆ เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง แต่เกิดซ้ำที่เดิมบ่อย ๆ
    ซึ่งมักเกิดจากเทคนิคในการเล่นกีฬา และใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ เส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ กล้ามเนื้อหลังอักเสบ

 

ระดับความรุนแรง และแนวทางการรักษา

สำหรับแนวทางการรักษานั้น โดยจะขึ้นอยู่กับระดับของความรุนแรง ในเบื้องต้นมี 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 มาดูกันว่า แต่ละระดับมีรายละเอียดเป็นอย่างไร

  • ระดับหนึ่ง เส้นใยของเอ็นยึดข้อบางเส้นใยฉีกขาด ทำให้เวลากดหรือเคลื่อนไหวข้อนั้นจะรู้สึกปวดเล็กน้อย แต่จะบวมไม่มากหรือไม่มีเลย สามารถเดินลงน้ำหนัก หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ใกล้เคียงปกติ ประมาณ 2 – 3 วัน ข้อที่บวมไก็จะยุบเหมือนปกติ แต่อาจมีอาการปวดอยู่บ้าง ซึ่งใช้เวลา1 – 2 อาทิตย์ ก็จะหายสนิท
    • การรักษา ใช้ผ้ายืดพัน หรืออุปกรณ์พยุงข้อ 1 – 2 อาทิตย์

 

บาดเจ็บ-จากการเล่นกีฬา

https://www.today.com/health/pain-when-working-out-signs-you-need-stop-or-keep-I518455

 

  • ระดับสอง เอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร มีบวมและฟกช้ำมากขึ้น ยังพอเดินได้หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ กว่าจะยุบบวมอาจต้องใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ ใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะหายสนิท

    • การรักษา ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์ แล้วต่อด้วย อุปกรณ์พยุงข้อ 2 – 4 อาทิตย์
  • ระดับสาม เอ็นยึดข้อเกิดการฉีกขาดทั้งหมด จะมีอาการปวดมาก ข้อบวมและฟกช้ำมาก
    ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักได้ ขยับข้อนิดหน่อยก็ปวด

    • การรักษา ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น

  

แนวทางรักษา

ในเบื้องต้นจะขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ แต่จะต้องรีบทำการปฐมพยาบาล โดยใช้หลัก RICE

  1. R (Rest) พัก = ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ เช่น ไม้ดาม ผ้ายืดพัน เฝือก หรือใช้ไม้เท้า
    พยุงเดิน
  2. I (Ice) น้ำแข็ง = ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บาดเจ็บ เมื่อเกิดการบาดเจ็บในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็นครั้งละ 5 – 10 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยให้เลือดไม่ออกมาก ช่วยลดการบาดเจ็บ ลดการอักเสบ และลดบวม
    ห้าม ใช้ความร้อน เช่น ยาหม่อง น้ำมัน หรือครีมนวด ไม่ว่าจะทาแล้วร้อนหรือทาแล้วเย็น เพราะจะทำให้เลือดออกมาก บวมมากขึ้นได้
  3. C (Compress) รัด = ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ รอบข้อที่เคล็ด เพื่อให้อยู่นิ่ง และ ไม่ให้เลือดออกมากขึ้น
  4. E (Elevate) ยก = ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ ช่วยลดบวมและลดปวดได้ เช่น ถ้าข้อเท้าแพลง เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยเท้า หรือ เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
  • ถ้าปวดมาก อาจรับประทานยาพาราเซตตามอล ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ ส่วนยาต้านการอักเสบที่ไมใช่สเตียรอยด์ (Nsaids) จะมีผลข้างเคียงเรื่องแผลในกระเพาะอาหาร จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หลังจาก 24 – 72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ให้ประคบด้วยความร้อน เพื่อทำให้เลือดที่คั่งถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น เช่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน อัลตร้าซาวด์ ครีม โลชั่น น้ำมัน
    สเปรย์ เป็นต้น
  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ โดยทั่วไป ถ้าเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้าอาการปวดหรือบวม ไม่ดีขึ้นในสามวัน ก็ควรไปพบแพทย์
  • ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อเคล็ดชนิดรุนแรง ปวดมาก บวมมาก ขยับข้อไม่ได้ เดินลงน้ำหนักไม่ได้  หลังจากประคบด้วยน้ำแข็งแล้วให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้ารักษาช้าเกินไปหรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการข้อบวม ปวดข้อเรื้อรัง และรู้สึกว่าข้อไม่มั่นคง ข้อหลวม การรักษาจะยากมาก และผลการรักษาก็จะไม่ค่อยดี 

 

ข้อแนะนำเพื่อฟื้นฟูสภาพ

  • เส้นเอ็นที่ฉีกขาด ใช้เวลา 4 – 6 อาทิตย์ จึงจะเริ่มติด อาการปวดบวมลดลง แต่กว่าเส้นเอ็นจะติดสนิท แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องใช้เวลา 4 – 6 เดือน ถ้าบาดเจ็บรุนแรงก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น และ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หายใกล้เคียงปกติ คือการบริหารกายภาพบำบัด การดูแลฟื้นฟูสภาพ
  • ในระยะแรกที่ยังมีการอักเสบ มีอาการปวด บวม ควรบริหารข้อและกล้ามเนื้อใกล้เคียงที่ไม่บาดเจ็บ โดยไม่ให้ส่วนที่บาดเจ็บเคลื่อนไหว เช่น เจ็บที่ข้อเท้า ก็ให้บริหารขยับเคลื่อนไหว ข้อเข่าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น
  • เมื่อพ้นระยะอักเสบ ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ ต้องออกกำลังกายและเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการพักนานเกินไป เช่น กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ข้อติดแข็ง เป็นต้น
  • ข้อควรระวังคือ ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก ค่อย ๆ ทำ และเริ่มเบา ๆ ก่อน ใช้ความรู้สึกเจ็บเป็นตัวกำหนด ถ้ารู้สึกเจ็บมากขึ้น แสดงว่าทำมากหรือรุนแรงเกินไป ก็ให้ท้าน้อยลง หรือ หยุดพัก

 

แนวทางการฟื้นฟูสภาพ

หลังจาก 4 – 6 อาทิตย์ ก็จะต้องพยายามฟื้นฟูร่างกายให้คืนสู่สภาพปกติ มีแนวทางทั่วไปคือ

  1. เริ่มออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น ใช้การถ่วงน้ำหนัก และค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น
  2. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานควบคู่ไปด้วยซึ่งทำได้โดยใช้น้ำหนักต้านที่เบา ๆ หนักประมาณ 20 – 40% ของน้ำหนักที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็นข้างปกติสามารถยกได้มากที่สุด แต่ต้องยกติดต่อกันหลายๆครั้ง
  3. เพิ่มความทนทานให้ระบบหัวใจหลอดเลือดและปอด โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  4. ออกกำลังกายเคลื่อนไหวข้อที่บาดเจ็บให้มากขึ้น แต่จะต้องเพิ่มช้า ๆ ไม่เช่นนั้น อาจทำให้ข้อนั้นเกิดบาดเจ็บซ้ำอีก

 

จะกลับไปเล่นกีฬาได้เมื่อไร

ปัญหาที่พบบ่อยหลังจากรักษา คือ เกิดการบาดเจ็บซ้ำขึ้นอีก เนื่องจากใจร้อนกลับไปเล่นกีฬาในสภาพที่ร่างกายยังไม่พร้อม คิดว่าไม่เจ็บแล้วน่าจะเล่นได้ หลักพิจารณาเบื้องต้นคือ

  • ในกรณี เล่นกีฬาทั่วไป (ไม่มีการแข่งขัน) ก่อนที่จะเล่นกีฬาจะต้องรู้สึกว่ากล้ามเนื้อและข้อปกติ ไม่มีอาการปวด บวมหรือเสียว ในกล้ามเนื้อหรือในข้อ ขณะเล่นกีฬาควรใช้ผ้ายืดรัดบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ค่อยๆปรับเพิ่มความเร็ว-ความหนักของกีฬา เพื่อประเมินอาการ ถ้าเล่นกีฬาแล้วรู้สึกผิดปกติ รู้สึกเจ็บมากขึ้นให้หยุดเล่น หรือลดความเร็ว-ความหนักลง
  • ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน เล่นกีฬาอย่างเต็มที่ เหมือนก่อนการบาดเจ็บ ต้องมีการทดสอบความพร้อมของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมมากกว่า 95% ขึ้นไป จึงจะลงแข่งขันได้

 

ภาพประกอบ : https://www.today.com


-การดูแลและการป้องกัน.jpg

การรักษาอาการตะคริว

โดยปกติ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการได้ด้วยตัวเอง เช่น การประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการตะคริว ประคบเย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เกิดอาการ ทั้งนี้เมื่อหายจากการเป็นตะคริวแล้วสามารถกินยาแก้ปวด หรือทายานวดเพื่อบรรเทาอาการปวดได้

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการบริหารร่างกาย หลัก ๆ คือ การยืดเส้นหรือการนวดที่กล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดตะคริว เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้ทำการเหยียดเท้าไปด้านหน้า ดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่า หรือยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร โน้มตัวใช้แขนยันกำแพง โดยวางฝ่าเท้าด้านที่เป็นตะคริวราบไปกับพื้น ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาด้านหน้า ให้นั่งคุกเข่า หรือนอนคว่ำ พับขาข้างที่เป็นมาด้านหลังให้เต็มที่ ถ้าเป็นตะคริวต้นขาด้านหลัง ให้นั่งเหยียดขาทั้งสองข้าง แล้วโน้มตัวมาข้างหน้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการตะคริวบ่อย หรือเกิดผลข้างเคียงจากการเป็นตะคริว เช่น ขาบวมแดง ผิวหนังเกิดความเปลี่ยนแปลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าจีบเกร็ง หรือเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาทันที

 

การป้องกันการเป็นตะคริว

โดยหลักการคือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นไปได้ในการเกิดตะคริว ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยหลักการได้แก่

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีเกลือแร่ ออกกำลังกายที่มีความหนักพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือใช้กล้ามเนื้อที่หนักหรือนานเกินกำลัง เช่น วิ่งระยะไกล เล่นกีฬาต่อเนื่องหลายชั่วโมง การยกของหนัก โดยกรณีที่ต้องออกกำลังกาย ควรทำการยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลัง และควรมีการฝึกการออกกำลังกายจากเบาไปหนักอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความคุ้นชิน
  • หลีกเลี่ยงการนั่ง นอน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุควรค่อย ๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก ๆ
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรดื่มน้ำก่อนการออกกำลังกาย เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณน้ำที่อาจเสียไป ในระหว่างออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างการออกกำลังกายหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนหรือมีเหงื่อออกมาก เพื่อรักษาสมดุลของเกลือแร่
  • สวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะรองเท้าในขนาดที่พอเหมาะกับร่างกาย ไม่รัดจนเกิดอุปสรรคในการไหลเวียนของเลือด โดยเฉพาะในขณะออกกำลังกาย
  • ควรสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดตะคริว แล้วหลีกเลี่ยงเสีย
  • ผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรนอนยกขาให้สูงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร โดยใช้หมอนรอง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในตอนกลางคืน และก่อนนอนควรบริหารยืดกล้ามเนื้อหรือปฏิบัติตามแพทย์สั่ง
  • ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ในบริเวณที่มักเป็นตะคริวอยู่บ่อย ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เพราะตะคริวมักเกิดกับกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ทั้งนี้โดยพื้นฐานการฝึกยืดกล้ามเนื้อควรทำอย่างน้อยวันละ 1 – 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3 – 5 นาที และในครั้งสุดท้ายของวันควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน แต่ก่อนทำการยืดกล้ามเนื้อควรทำการอบอุ่นร่างกายทุกครั้งด้วยการเดินเบา ๆ ประมาณ 5 นาที และเมื่ออาการตะคริวห่างหายไปแล้ว ก็สามารถลดการทำเหลือเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนเข้านอนก็ได้ แต่ยังควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอดไป
  • ในรายที่มีสาเหตุมาจากโรค ต้องรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ โดยเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นก็จะเกิดตะคริวบ่อย ๆ

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

ข้อมูลจาก :

  1. ตะคริว (ออนไลน์). สืบค้นจาก www.pobpad.com (27 ส.ค. 2562)
  2. ตะคริว อาการ สาเหตุและวิธีแก้ (ออนไลน์) สืบค้นจาก www.medthai.com (27 ส.ค. 2562)

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก